การทอผ้า





ประวัติความเป็นมาของผ้าตีนจก

การทอผ้าตีนจก เป็นงานหัตถกรรมที่ลูกหลานเมืองลองมีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้สืบทอดรูปแบบที่ปรากฏบนผืนผ้า ลวดลายและสีสันที่วิจิตร แสดงถึงความละเอียดประณีตของผู้สืบทอด อันเนื่องมาจากความตั้งใจ และจิตใจที่อ่อนโยน สุขุมเยือกเย็น หล่อหลอมให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่งดงาม ทรงคุณค่ามาช้านาน ลวดลายบนผ้าทอของเมืองลองนั้นจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอันแสดงถึงความยึดมั่นในพระพุธศาสนา รูปสัตว์ ดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆล้วนเป็นตัวแทนและบ่งบอกถึงความสุขเป็นเรื่องราวที่มาจากวิถีชีวิตของชาวเมืองลองทั้งสิ้น

ในอดีตผู้ทอผ้าอำเภอลองเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์และความละเอียดมากอย่างยิ่ง มีการทอผ้าตีนจกเพื่อใช้ต่อกับซิ่นเป็นส่วนใหญ่ ผู้ทอผ้าอำเภอลองปัจจุบันมีเพียงไม่กี่รายที่ยังคงใช้วิถีการทอผ้าตีนจกแบบโบราณ คือ การจกลายด้วยผ้าขนเม่น ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความชำนาญ ผ้าตีนจกที่ได้จะเรียบเนียนงดงามแต่ใช้เวลานานมาก ผู้ทอส่วนใหญ่จึงหันมาใช้เทคนิคสมัยใหม่คือการใช้ “เขาฟืม” ซึ่งมีลวดลายสำเร็จรูป เป็นชุดนำไปประกอบบนกี่ทอผ้า แล้วทอโดยวิธียกเขาก็จะทำให้เกิดลวดลายได้ตามแบบ อาจใช้การจกด้ายเส้นยืนด้วยขนเม่นเพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้ที่มีความสามารถในการแกะดอกจะมัดเขาลายแบบสำเร็จรูป ลวดลายต่าง ๆ นี้ ขายเป็นชุด เรียกว่า “เครือ” เครือหนึ่งจะทอซิ่นได้สิบกว่าผืนโดยมีด้ายเส้นยืนชุดเดียวกัน เปลี่ยนสีแต่ละผืนได้ด้วยเส้นด้ายประดิษฐ์ การทอผ้าตีนจกด้วยวิธีนี้จะรวดเร็ว และสะดวกขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการทอผ้าตีนจกได้มาก

ผ้าตีนจกอำเภอลอง มีลวดลายนับร้อยลาย ผู้ทอส่วนใหญ่จะคิดค้นลวดลายเลือกสีสันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองโดยการนำลายพื้นฐานมาผสมกัน แต่ขาดการบันทึกชื่อเรียกลายที่คิดค้นขึ้นมาเป็นลายลักอักษรไว้ เพียงแต่บอกต่อๆ กันมา ทำให้ชื่อเหล่านั้นผิดเพี้ยนไปจากของเดิม และมีผู้รู้จักน้อยลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมผสมผสานกันกับลวดลายผ้าตีนจกจากถิ่นอื่น จนเกือบจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าลวดลายดั่งเดิมของอำเภอลองคือลายใดบ้าง

การทอผ้าตีนจก ในปัจจุบันได้ปรับสีผ้าให้เข้ากับความต้องการของตลาด โดยได้รับการฝึกฝน อบรม ผู้ทอผ้าในปัจจุบันมีความสามารถเลือกสีสันให้ได้สีที่นุ่มนวล การใช้สีเดียวเป็นสีหลัก โดยให้น้ำหนักสีเป็นหลายระดับ หรือถ้าต้องการเน้นพิเศษก็เพียงแต่เพิ่มสีอื่นไม่เกิน 1 – 2 สีเท่านั้น ผ้าตีนจกประเภทนี้สามารถนำไปดัดแปลงเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นนอกเหนือไปจากการต่อเป็นตีนซิ่นเพียงอย่างเดียว เป็นแนวทางที่ดีในการขยายตลาดผ้าตีนจกให้กว้างขึ้น

ในปัจจุบันแม้จะยังคงมีการทอตีนจกด้วยเส้นใยธรรมชาติ คือ ฝ้ายและไหมอยู่ แต่สีย้อมที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสีวิทยาศาสตร์เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายและคงทนกว่าสีธรรมชาติ และมีครบทุกสีตามต้องการ การพัฒนาลวดลายที่เกิดขึ้นใหม่แม้จะมีโครงสร้างหลักเช่นเดียวกับลวดลายโบราณ แต่ค่อยๆ พัฒนาดัดแปลงในรายละเอียดตามผู้ที่ทอที่เห็นสวยงาม จนไม่สามารถบอกได้ชัดเจนได้ว่าเป็นลายอะไร

ด้านการให้สีสันก็แปลกไปจากลายผ้าตีนจกโบราณซึ่งให้แม่สีแลเห็นเด่นชัด ผ้าที่มีสีสันร้อนแรง เช่นนั้นไม่สามารถนำมาใช้ตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มประจำวันได้ นอกจากใช้นุ่งเป็นซิ่นเท่านั้น ลวดลายในผ้าจกอำเภอลองที่นิยมใช้มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ มักใช้ขนาบบนและล่างของลายหลัก ถ้าเป็นตีนซิ่นลายประกอบไม่ต้องเป็นลักษณะสมมาตร แต่ถ้าทอเพื่อเป็นผ้าพาดบ่าหรือผ้าคลุมไหล่ก็จะเหมือนกันสองด้านของลายหลัก

ผ้าตีนจกเมืองลอง เป็นผ้าทอของชาวบ้านในอดีต ทอขึ้นเพื่อนำไปต่อเป็นเชิงผ้าถุง ทำให้ผ้าถุงที่ชาวเหนือเรียกว่า “ผ้าซิ่น” มีความสวยงามอย่างยิ่งขึ้น ผ้าซิ่นที่ต่อเชิงด้านผ้าตีนจกที่มีชื่อเรียกว่า “ซิ่นตีนจก” แม้ปัจจุบันจะได้มีการพัฒนารูปแบบการทอผ้าตีนจกไปเป็นผ้าจกชนิดอื่นๆ แต่คนทั่วไป ก็ยังนิยมเรียกผ้านี้ว่า “ผ้าตีนจก” ผ้าตีนจก มาจากคำว่า ตีน และ จก โดยคำว่าตีน มาจากคำว่า ตีนซิ่น ซึ่งภาษาไทยกลาง คือชายผ้าถุง ส่วนคำว่าจก เป็นคำกิริยาในภาษาถิ่นเหนือ หรือไทยยวน หมายถึง การล้วง ซึ่งในการทอผ้าชนิดนี้ของชาวไทยยวนจะมีลักษณะการทอลวดลาย บนผืนผ้าด้านการใช้ขนเม่นหรือไม้แหลมจก หรือล้วงเส้นด้ายสีต่างๆ ให้เป็นลวดลายตามที่ได้กำหนดไว้ ผ้าที่ทอจริงมีชื่อว่า ผ้าจก แต่ส่วนใหญ่ทอเพื่อนำไปต่อเป็นเชิงผ้าถุง ชาวบ้านจึงนิยมเรียก ผ้าชนิดนี้ว่า “ผ้าตีนจก”