แม่ประนอม ทาแปง

การปั่นฝ้าย

การเก็บดอก

การทอผ้า

การย้อมคราม

ประวัติส่วนตัว

นางประนอม ทาแปง เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2479 ณ บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องน้อง 4 คนของนายพัน ทาแปง และนางแก้วมูล ทาแปง

ประวัติการศึกษา

นางประนอม ทาแปง เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เริ่มเรียนรู้การปั่นผ้าฝ้าย ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนโดยรับการถ่ายทอดจากครูคนแรก คือ แม่แก้วมูล ผู้เป็นมารดา ตั้งแต่นางประนอม อายุเพียง 12 ปี นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้การทอผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง จาก นางบุญยวง อุปถัมภ์ ผู้เป็นป้าซึ่งนางประนอม ทาแปง เคารพเป็นครูคนที่สองผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ ด้านการศึกษาระดับประถมศึกษาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน แต่ด้วยปัญหาสุขภาพและฐานะทางบ้านที่ยากจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน จึงต้องหยุดเรียนหนังสือเมื่อเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แต่เมื่อมีโอกาสที่เอื้ออำนวยก็พากเพียร ใฝ่เรียนรู้ ทั้งในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตามอัธยาศัย นางประนอม ทาแปง ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นนักเรียนศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมป์ ทำให้ได้รับการศึกษาศิลปะเชิงช่างทอ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นยังคงพากเพียรกับการเรียนการศึกษาจนกระทั้งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา โดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตดิตถ์และผลงานจากความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกที่งดงามยอดเยี่ยมในเชิงช่างศิลป์และความสำเร็จในหน้าที่การงานทำให้ นางประนอม ทาแปง ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2546

ประวัติการทำงาน

หลังจากที่นางประนอม เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม (นามนวิทยาคาร) ก็ไม่ได้เรียนต่อในชั้นสูงขึ้นอีกเนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นได้เดินทางเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ พร้อมเพื่อนอีกหลายคน โดยทำงานเป็นแม่บ้านด้วยความที่เป็นคนขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ และอ่อนน้อยถ่อมตน จึงทำให้นายจ้างเอ็นดูมาก แต่เพราะร่างกายที่ไม่แข็งแรง จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ต่อมาได้สมัครเป็นลูกจ้างทำงานบ้านของคนที่รู้จักในจังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลาปีเศษ ก็ได้ลาออกและสมัครงานทำงานประเภทเดียวกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ปรากฏว่าประสบความยากลำบากมาก และตระหนักแล้วว่าการเป็นลูกจ้างคงไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม จึงได้กลับบ้านช่วยพ่อแม่ทำนา ทำไร่ ทำสวน ที่บ้าน เมื่อมีเวลาว่างก็ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ และฝึกทอผ้า จากป้าบุญยวง อุปถัมภ์ ผู้สืบสานการทอผ้าตีนจกลายโบราณดังเดิมของอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านติดกัน เมื่อใดที่ป้าบุญยวง พักรับประทานอาหาร ประนอมก็จะแอบเข้าไปทอผ้า และสามารถทอผ้าได้ถูกต้องสวยงามประณีตดี ด้วยความตั้งใจและสนใจจริง ป้าบุญยวงจึงถ่ายทอดการทอผ้าตีนจกให้

นางประนอม ทาแปง ได้ฝึกการทอผ้าตีนจกจากป้าบุญยวง ตั้งแต่ในวัยเด็กจนมีฝีมือสามารถจำหน่ายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2522 ได้นำผ้าซิ่นตีนจกลายของอำเภอลอง ทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกสาวชาวบ้านจังหวัดแพร่ และต่อมาคณะผู้แทนในพระองค์ ได้เดินทางมาที่บ้านและขอพบนางประนอม ทาแปง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยและมีความประสงค์จะส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าตีนจกให้มากขึ้น โดยผู้แทนพระองค์ได้กรุณามอบทุนดำเนินการให้ ต่อมาพัฒนากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลองและคณะกรรมการหมู่บ้านได้จัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้น ชื่อ “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 มีสมาชิกครั้งแรก 15 คน ใช้บริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้านบ้านนามนเป็นสถานที่ตั้งกลุ่มฯ โดยมีนางประนอม ทาแปง เป็นประธานกลุ่ม ต่อจากนั้นได้มีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกรมพัฒนาชุมชนและเงินกองทุนสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาชิกจึงมีเพิ่มมากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้กลุ่มสตรีบ้านนามนเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

จากการทำงานด้านอนุรรักษ์ศิลปหัตถกรรมสิ่งทอเป็นเวลา 30 ปีเศษ นางประนอมได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะผ้าทอตีนจก รวมถึงได้จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ โดยมีสมาชิก 400 คน และมีเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 17 จังหวัด ทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง และยังได้รับคัดเลือกเป็นประธานศูนย์เครือข่ายจังหวัดแพร่ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ความรู้แก่สมาชิกในเครือข่ายกลุ่มของสหกรณ์ตลอดมา

ในปี พ.ศ. 2553 ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านการบริหารจัดการปลูกฝ้ายผลิตเส้นด้าย และการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูและพัฒนาการย้อมสีครามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มฯ จนสามารถเปิดศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติขึ้น ในปี 2551

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยการนำของนางประนอม ทาแปง เช่น กลุ่มสตรีแม่บ้านนามน (พ.ศ.2522-2539) กลุ่มทอผ้าตีนจกบ้านประนอม (พ.ศ.2538 – ปัจจุบัน) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (พ.ศ.2539 – 2540) กลุ่มเครือข่ายสิ่งทอ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ (พ.ศ.2541- ปัจจุบัน) ตั้งศูนย์พิพัธภัณฑ์เพื่อการศึกษา (พ.ศ.2542 – ปัจจุบัน) กลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีธรรมชาติ (พ.ศ.2544 – ปัจจุบัน) สร้างศูนย์ฝึกอบรมถ่ายทอดการย้อมสีฝ้ายด้วยธรรมชาติ (พ.ศ.2546 – ปัจจุบัน) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ผ้าจก เมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติ (พ.ศ.2551 – ปัจจุบัน)