เรื่องที่ 2 การเคารพสิทธิหน้าที่ต่อตนเองและผู้อื่นที่มีต่อสังคม
การเคารพสิทธิหน้าที่ต่อตนเองและผู้อื่นที่มีต่อสังคม เป็นกรอบที่สำคัญในการดำรงตนของประชาชนและพลเมือง กล่าวได้ว่า “พลเมือง” มีความแตกต่างจากคำว่า “ประชาชน” และ “ราษฎร” ตรงที่ว่า พลเมืองจะแสดงออกถึงความกระตือรือร้นในการรักษาสิทธิต่าง ๆ ของตน รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการแสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเป็นพลเมือง (Citizen) มีความหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของสมาชิกทางสังคมที่มีต่อรัฐ ต่างจากคำว่า ประชาชนที่กลายเป็นผู้รับคำสั่ง ทำตามผู้อื่น ทั้งนี้ทุกคนต่างก็ยึดมั่นในสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ และปฏิบัติตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดย่อมนำมา ซึ่งการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างมีความสุขส่งผลทำให้ประเทศชาติได้รับการพัฒนาสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
สิทธิ หมายถึง อำนาจหรือผลประโยชน์ที่ได้รับการคุ้มครองและรองรับตามกฎหมาย
ตัวอย่าง เรื่องของ “สิทธิ”
1. สิทธิที่เป็นสิทธิเฉพาะบุคคล ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในเคหะสถานสิทธิในครอบครัว สิทธิในการประกอบอาชีพ และสิทธิในชื่อเสียงและเกียรติยศ
2. สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน คือ สิทธิที่เจ้าของมีอยู่ในทรัพย์สินนั้นโดยการถือกรรมสิทธิ์ และสามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้ ตามที่เจ้าของทรัพย์สินต้องการ เช่น มีสิทธิในการให้ผู้อื่นเช่าบ้าน สิทธิในการขายที่ดินของตน
3. สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ได้แก่
3.1 สิทธิที่จะมีชีวิตรอด เด็กจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพและมีความปลอดภัย
3.2 สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กต้องมีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่ดีและภาวะโภชนาการที่เหมาะสม
3.3 สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง เด็กต้องได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากการทำร้ายการล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขายแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่น ๆ
3.4 สิทธิในการมีส่วนร่วม เด็กสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟังและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง
หน้าที่ หมายถึง ภาวะที่บุคคลต้องกระทำหรือการละเว้นการกระทำเพื่อประโยชน์โดยตรงของการมีสิทธิ หน้าที่เป็นสิ่งที่บังคับให้มนุษย์ในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือกฎหมายบัญญัติไว้จะไม่ปฏิบัติตามไม่ได้
ตัวอย่าง ของ “หน้าที่”
1. หน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
1.1 หน้าที่ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
1.2 หน้าที่ในการป้องกันชาติบ้านเมือง
1.3 หน้าที่ในการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง
1.4 หน้าที่ในการรับราชการทหาร
1.5 หน้าที่ในการเสียภาษีอากรตามกฎหมาย
1.6 หน้าที่ในการเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ
1.7 หน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริต
2. หน้าที่ของพลเมืองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น ๆ
2.1 หน้าที่ของบิดามารดาในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร
2.2 หน้าที่ในการปฏิบัติตามอาชีพที่ตนรับผิดชอบ
2.3 หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่กระทำไว้
3. หน้าที่ของพลเมืองในระดับท้องถิ่น
3.1 หน้าที่ทางการเมือง เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้ง การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนในท้องถิ่นของตน เป็นต้น
3.2 หน้าที่ทางเศรษฐกิจ เช่น การประกอบอาชีพสุจริต การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์การร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เป็นต้น
3.3 หน้าที่ทางสังคม เช่น การประพฤติดี การพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า เป็นต้น
เสรีภาพ หมายถึง ความเป็นอิสระของบุคคลที่จะกระทำการต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของตนโดยไม่ละเมิดต่อผู้อื่นและไม่ผิดกฎหมาย
ตัวอย่าง ของ “เสรีภาพ”
1. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
2. เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
3. เสรีภาพในร่างกาย
4. เสรีภาพในเคหะสถาน
5. เสรีภาพในการศึกษาอบรม
6. เสรีภาพในการเดินทาง
7. เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา
8. เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหกรณ์ และพรรคการเมือง
การปฏิบัติตนตามสิทธิภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญโดยไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้มีส่วนนำพาบ้านเมืองให้ได้รับการพัฒนา อีกทั้งการปฏิบัติตนด้วยการเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นในสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่จะช่วยจัดระเบียบให้สังคมมีความสงบสุข ซึ่งสมาชิกทุกคนในสังคมจะต้องไม่ละเมิดสิทธิของสมาชิกคนอื่นในสังคม การไม่ละเมิดสิทธิของสมาชิกคนอื่น ๆ ในสังคม มีแนวทางการปฏิบัติตนในการเคารพสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ดังนี้
1. ต้องเคารพในสิทธิของกันและกัน โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น สมาชิกทุกคนในสังคมสามารถแสดงออกได้หลายประการ เช่น การแสดงความคิดเห็น การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นต้น
2. ต้องรู้จักใช้สิทธิของตนเองและการแนะนำให้ผู้อื่นรู้จักการใช้สิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้อง
3. ต้องรู้จักการเรียนรู้และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสิทธิ และเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่อง สิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นต้น
4. ต้องปฏิบัติตนตามหน้าที่ของชาวไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การเสียภาษีการไปเลือกตั้ง เป็นต้น
การให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนในการเคารพสิทธิหน้าที่ต่อตนเองและผู้อื่นที่มีต่อสังคม จะเป็นส่วนสำคัญส่งผลให้ชุมชน สังคมเกิดการพัฒนาและเมื่อสังคมเกิดความมั่นคง เข้มแข็งจะส่งผลให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคงเข้มแข็งด้วยเช่นกัน