เรื่องที่ 2 ความแตกต่างระหว่างจริยธรรมและการทุจริต

1.จริยธรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2554 ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า

จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติที่อบรมกิริยาและปลูกฝังลักษณะนิสัยให้อยู่ในครรลองของคุณธรรม หรือศีลธรรม (การสร้างผลิตผลในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ) คุณค่าทางจริยธรรมชี้ให้เห็นความเจริญงอกงามในการดำรงชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผน ตามวัฒนธรรมของบุคคลที่มีลักษณะทางจิตใจที่ดีงามประพฤติอยู่ในสังคมได้อย่างสงบ เรียบร้อย และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีคุณธรรม และมโนธรรมที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดี

จริยธรรม หมายถึง สิ่งที่ทำได้ในทางวินัยจนเกิดความเคยชิน มีพลัง มีความตั้งใจแน่วแน่ จึงต้องอาศัยปัญญา และปัญญาอาจเกิดจากความศรัทธาเชื่อถือผู้อื่น ในทางพุทธศาสนาสอนว่า จริยธรรม คือ การนำความรู้ ความจริงหรือกฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดีงาม (พระราชวรมุณี)

ดังนั้น สรุปได้ว่า จริยธรรม หมายถึง แนวทางซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นลักษณะที่สังคมต้องการ เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม บุคคลที่มีจริยธรรมอยู่ในตนเอง ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข เป็นคนที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนรวม

สภาพปัญหาการขาดจริยธรรม

1. ขาดการปลูกฝังค่านิยมพื้นฐานจากครอบครัวและสังคม

2. ขาดการปลูกฝังค่านิยม ความรู้ในการศึกษาเรื่องจริยธรรม และมาตรฐานการเรียนการสอนเกี่ยวกับจริยธรรม

3. ขาดต้นแบบของบุคลากรที่ดำรงตนเป็นตัวอย่างด้านจริยธรรม

4. ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

5. การทุจริต และมีการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพในกรณีอื่น

6. การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

7. ขาดการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบของสื่อมวลชนและประชาชน

หลักจริยธรรมในการดำรงตนให้ปราศจากอคติธรรม 4 ประการ ดังนี้

1. ปราศจากฉันทาคติ หมายถึง การทำให้จิตปราศจากความโลภ

2. ปราศจากโทษาคติ หมายถึง การทำให้จิตปราศจากความโกรธ พยาบาท จองเวร

3. ปราศจากภยาคติ หมายถึง การทำให้จิตปราศจากความกลัว กระทำจิตให้มั่นคง

4. ปราศจากโมหาคติ หมายถึง การทำให้จิตปราศจากความโง่เขลา ความหลง ไม่รู้จักความทุกข์ความดับ

2. การทุจริต

การทุจริตเป็นภัยร้ายแรงที่สำคัญที่ทำลายความมั่นคงของชาติ รัฐบาลจึงมีนโยบายสร้างมาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน

คำว่า ทุจริต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ดังนี้

“ทุจริต” หมายถึง ประพฤติชั่ว ประพฤติไม่ดี ไม่ชื่อตรง คดโกง ฉ้อโกง โดยใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง เพื่อให้ได้สิ่งที่ด้องการ

การทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึง การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติกรรมที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น ๆ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองและผู้อื่น

ลักษณะของพฤติกรรมการทุจริตพฤติกรรมการทุจริตมีหลากหลายทั้งในหน่วยงานราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

1. ฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ระเบียบแบบแผน หรือกฎข้อบังคับ

2. จูงใจ เรียกร้อง บังคับ ข่มขู่ หน่วงเหนี่ยว กลั่นแกล้ง หรือหาประโยชน์ใส่ตนเอง เครือญาติหรือพวกพ้อง

3. การสมยอม รู้เห็นเป็นใจ เพิกเฉย ละเว้นการกระทำในการที่ต้องปฏิบัติหรือรับผิดชอบตามหน้าที่

4. ยักยอก เบียดบังซึ่งทรัพย์สินของทางราชการ

5. การกระทำใด ๆ อันเป็นเท็จ

6. มีผลประโยชน์ร่วมในกิจกรรมบางประเภทที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ของตนบันดาลประโยชน์ได้