ของโบราณ...กาลนานมา

ของโบราณ...กาลนานมา

ค้นหา...เพื่อเข้าใจและพัฒนา

เราเคยอ่าน เคยได้ยินมาว่า มีการค้นพบวัตถุโบราณ หรือโครงกระดูกที่มีอายุเป็นพัน ๆ หรือ ล้าน ๆ ปี.... หลายคนก็มักจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า รู้ได้อย่างไรนะ มั่วหรือเปล่า เพราะการระบุอายุสิ่งต่าง ๆ ที่มีอายุกว่าพันปี ล้านปี นี่ มันเชื่อค่อนข้างยากนะ แต่ก็มักจะเล่าต่อ ๆ กันมา บนความที่ยังไม่เข้าใจ จนเป็นเรื่องปกติ แม้ในใจจะยังไม่เชื่อเต็มร้อย หรือไม่เชื่อเลย นี่คงเป็นวัฒนธรรมของการสืบต่อความเชื่อต่าง ๆ ต่อ ๆ กันมาโดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ประหนึ่งว่าไม่จำเป็นต้องรู้ที่มาที่ไป เรามีหน้าที่แค่สืบต่อก็เพียงพอแล้ว ทำ ๆ ไปเถอะ

หากไตรตรองดี ๆ แล้ว จะเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่วัฒนธรรมการสืบทอดวิถีปฏิบัติ หรือความเชื่อดั้งเดิมที่ปราศจากเหตุผลที่เพียงพอ หรือไม่เข้าใจเลย แต่ต้องยอมรับและยอมสืบทอดต่อไปโดยดุษฎี จะเกิดความอัดอั้นและรอวันระเบิดในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวมีให้เห็นเยอะแยะไป ในปัจจุบัน

หากพูดถึง "สุโขทัย" แว๊บแรกก็ต้องนึกถึงเมืองเก่า ซากปรักหักพังอันน่าเสียดาย และหากเราคิดถึงเมืองโบราณในพื้นที่อันกว้างใหญ่ มีร่องรอยวัด กำแพง เจดีย์ พุทธปฏิมากร มันชวนสงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมมันร้างได้เพียงนี้ (นี่ไม่นับโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ได้รับการบูรณะแล้ว) แต่จากตำราและตำนานเล่าสืบต่อกันมา ก็เห็นจะเป็น เหตุการณ์ "เทครัว" ในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวร ชนะศึกพม่าที่แม่น้ำสะโตง ใน พ.ศ. 2127 แล้วโปรดให้นำชาวเมืองทั้งหมดในเมืองทางตอนเหนือ ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ สุโขทัย และหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง รวมทั้งเมืองพิษณุโลกด้วย

อีกชุดข้อมูลหนึ่งในด้านวิชาการ ก็มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มเติมว่า เหตุที่ทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวง โดยเฉพาะพิษณุโลกนั้น คือการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในปีเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ

นี่ก็เป็นเหตุผลชุดปัจจุบันที่อธิบายถึงเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตแต่กลายเป็นเมืองโบราณในวันนี้ เมืองที่ชื่อชวนฝันว่า "สุโขทัย เมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข" ....แล้ว "สุโขทัย" นี่เป็นชื่อดั้งเดิมจริง ๆ แล้วใช่ไหม...

หากเริ่มนับตั้งแต่การก่อตั้งกรุงสุโขทัย โดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์แห่งราชวงค์พระร่วง ในปีประมาณ พ.ศ. 1780 นั้น จนมาถึงวันนี้ สุโขทัย ก็จะมีอายุ 783 ปี แต่ท่านทราบไหมว่า ในจังหวัดสุโขทัยมีการค้นพบชุมชนที่ถูกสันนิฐานว่ามีอายุมากกว่านั้นอีก กว่า 2500 ปี...โอ้ พระเจ้า ถึงขนาดมีชื่อว่าเป็นเมืองก่อนประวัติศาสตร์(ยุคสมัยก่อนมีในการบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร) เสียด้วยซ้ำไป เหตุผลนะหรือ ก็เพราะที่นี่มีการค้นพบวัตถุโบราณอยู่ทั่วไปในชุมชน จากการทำมาหากิน ทำไร่ ไถนา หรือแม้แต่การเดินป่าหาของกิน อันเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ คนบ้าน "วังหาด" ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย

จึงเป็นความน่าสนใจและจำเป็น ที่นักโบราณคดีต้องรีบเข้ามาเพื่อศึกษาหาคำตอบ และสืบต่อเรื่องราวเหล่านี้อย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุผลน่าเชื่อถือเชิงวิทยาศาสตร์ แล้วเชื่อมโยง ประติดประต่อ ร้อยเรื่องราวให้มีความสัมพันธ์กัน เป็นองค์ความรู้ใหม่จากความรู้เดิมเพื่อเอามาศึกษา เปรียบเทียบ ต่อยอด ให้เป็นประโยชน์ต่อคนในยุคปัจจุบันมากที่สุดทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ที่ วังหาด มีการค้นพบวัตถุโบราณ ทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ ลูกปัด เครื่องประดับ เป็นเหล็ก สำริด และอื่น ๆ ซึ่งพบอยู่ทั่วไป อีกทั้งในพื้นที่ราบเชิงเขาก็พบเศษ ตะกลันโลหะ ขนาดต่าง ๆ พบร่องรอยเตาถลุง ซึ่งสันนิฐานว่า ที่นี่มีการถลุงโลหะมาใช้งานมาตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณ ว่าแต่ ขนาดของเตาถลุง ที่มีขนาดเพียง 2-3 เมตร ตามข้อมูลจากนักโบราณคดีนั้น มันสามารถทำให้เกิดความร้อนจนสามารถหลอมหลอมโลหะได้อย่างไร วัสดุที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดความร้อนคืออะไร ต้องใช้แค่ไหน อย่างไร วัสดุที่นำมาผลิตเตาถลุงให้สามารถเก็บความร้อนจนสามารถหลอมเหล็กได้ ทำมาจากอะไรบ้าง กรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งโลหะ คือ อะไร ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีวิวัฒนาการ เครื่องมือสุดล้ำอย่างในสมัยนี้ คนโบราณทำได้อย่างไร ใช้วิทยาการอะไร แล้ววิทยาการเหล่านั้นหายไปไหนแล้วหรือยัง ทั้งหมดนี้เป็นคำถามชวนคิดและเป็นภาระหนัก ที่นักโบราณคดีต้องสืบค้นให้ได้มาซึ่งคำตอบ อันจะยังประโยชน์ต่อผู้คนไม่น้อยเลยทีเดียว

จากการร่วมสำรวจข้อมูล แหล่งโบราณคดี(เตาถลุงโบราณ)อย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจกระบวนการ การศึกษาทางโบราณคดี เกิดความเข้าใจ มั่นใจในการกล่าวอ้างถึงจำนวนตัวเลข วันเวลาที่บ่งบอกอายุของวัตถุหรือสถานที่เก่าแก่ ว่าไม่ได้กล่าวอ้างอย่างลอย ๆ หรือเดาอย่างไร้เหตุผล แต่อาศัยขั้นตอน วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อถือได้มากที่สุด แม้คำตอบทางวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะเชื่อถือได้เพียงบางช่วงเวลา แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าความเชื่อนั้นอาจจะถูกลบล้างด้วยชุดเหตุผล บนความเชื่อใหม่

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หรือการร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ที่มักได้เห็นเสมอคือ ต่างคนต่างทำหน้าของตัวเอง แต่ได้ผลมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์และร่วมใช้ประโยชน์ร่วมกัน ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และน้อง ๆ ชาวบ้าน ที่พาไปชี้จุดสถานที่สำรวจ น้องตั้ม ธีระศักดิ์ ธนูศิลป์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยมหาบัณฑิตหนุ่มผู้มีความสามารถเกินอายุ ที่เป็นตัวหลักในการสำรวจและเก็บข้อมูล ครูแป๋ว ศุภรัตน์ คงที่ ครูอาสาฯ กศน. ครูกุ้ง สมชาย นาโตนด ครูกศน.ตำบลตลิ่งชัน คู้หูคู่จิ้นผู้รู้ทุกสิ่งอย่างในวังหาดและทุกคนก็รู้จักเขา ครูเน อมรเทพ จันทร์อินทร์ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนบ้านด่านลานหอย เจ้าพ่อเทคโนโลยี และนายสรวิศ ขับลำ หัวหน้าหน่วยศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำน้ำสิน ผู้เอื้อเฟื้อ อำนวยความสะดวกในการสำรวจ ผลที่เกิดขึ้นจากการสำรวจครั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันตามหน้างานของตัวเอง ที่สุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นของชุมชนในที่สุด

ยังมีอีกหลายกิจกรรม หลายโอกาส ที่จะเกิดบรรยากาศการบูรณาการงานอย่างนี้ขึ้นอีก สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ เมื่อลงมือทำสิ่งใด ๆ ก็จะเกิดความรู้ใหม่อยู่เรื่อย ๆ จึงไม่แปลกว่า ยิ่งทำยิ่งรู้ ยิ่งดูยิ่งเห็น เพราะการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา

การเรียนรู้...ไม่สิ้นสุด

เขียนและเรียบเรียง โดย

นายกรกฤช ชยังกุรวงค์

ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอบ้านด่านลานหอย