กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมดินวังหาด

นางจุ่ม สมหารวงศ์ ปราชญ์ชาวบ้านผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองบ้านวังหาด อธิบายถึงการทอผ้าพื้นเมือง ดังนี้ การทอผ้าเริ่มต้นจากการปลูกฝ้ายใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน เก็บฝ้ายประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม เมื่อเก็บดอกฝ้ายแล้วจะนำมาตากให้แห้งสนิท เก็บสิ่งสกปรกที่ติดมากับดอกฝ้ายให้หมดนำไปแยกเม็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย เรียกว่า อิดฝ้าย หรือ อิ้วฝ้าย แล้วนำปุยฝ้ายไปดีดให้ปุยฝ้ายแตกตัวละเอียดฟู ด้วยแรงสั่นสะเทือนของสายดีด ซึ่งเรียกว่า กงดีดฝ้าย จากนั้นนำปุยฝ้ายที่ดีดจนเป็นปุยละเอียดดีแล้ว นำไปกลิ้ง หรือใช้ไม้ล้อคลึงบนแผ่นปุยฝ้ายที่วางอยู่บนกระดานล้อให้เป็นแท่งกลมยาวแล้วดึงไม้ล้อออก แท่งกลมยาวที่ล้อเสร็จแล้ว เรียกว่า ดิ้ว หลังจากนั้นนำไปปั่นให้เป็นเส้นใยโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เผี่ยน ที่มีสายพานเชือกโยงจากเผี่ยนไปปั่นเมื่อเต็มเหล็กในแล้วหมุนแกนเหล็กในเพื่อล้อฝ้ายให้เป็นเส้นใยพันม้วนอยู่กับแกนเหล็กในแล้วจึงจัดฝ้ายเข้าไม้ขาเปียเพื่อทำเป็นไจ หรือปอย โดยกะขนาดโดยประมาณ หลังจากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีตามที่ต้องการแล้วนำมาชุบน้ำข้าวเพื่อให้ฝ้ายมีความเหนียวคงทนไม่ขาดง่าย จากนั้นจึงนำไปใส่กงเพื่อกวักเส้นด้ายแล้วนำมาปั่นหลอดแยกเส้นฝ้ายออกเป็น2 จำพวก คือ เส้นยืน และเส้นพุ่ง เพื่อใช้ในการทอผ้า และด้ายไว้สำหรับผูกข้อมือทำพิธีต่าง ๆ

อุปกรณ์ในการทอผ้า

1) กี่ หรือ หูก เป็นอุปกรณ์ในการทอผ้าให้เป็นผืนตามลายที่ต้องการ

2) ฟันหวี หรือฟืม มีลักษณะคล้ายหวีเป็นซี่ถี่ ๆ แต่ละเส้นใช้เส้นด้ายยืนสอดเข้าไปในช่องละเส้นเรียงลำดับตามความกว้างของหน้าผ้าจัดเส้นยืนให้อยู่ตามความละเอียดของหน้าผ้า

3) ตะกอ หรือเขา มีลักษณะเป็นกรอบไม้ภายในทำด้วยลวดหรือซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ มีรูตรงกลางสำหรับรอยด้ายยืนตามปกติมี 2 ชุด ถ้าเพิ่มตะกอมากขึ้นจะสามารถสลับลายได้มากขึ้น

4) ไม้ไขว้ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จัดเส้นด้ายให้เป็นระเบียบ

5) ไม้ค้ำ เป็นไม้ที่สอดด้ายยืน เพื่อทำให้เกิดลวดลายในการทอด้วยเทคนิคพิเศษ

6) ไม้หาบหูก เป็นอุปกรณ์ในการดึงด้ายให้ตึง

7) ไม้ดาบหรือไม้หลาบมีขนาด 2-3 นิ้ว มีลักษณะแบนยาวใช้สอดผ่านด้ายยืนแล้วพริกขึ้นทำให้เกิดช่องว่างให้กระสวยพุ่งผ่าน

8) ไม้เป้นกี่ คือที่นั่งของผู้ทอ บางแห่งใช้ไม้แผ่นหรือไม้ไผ่

9) เชือกเขา ใช้ดึงเข้ากับไม้หางหูก ให้ตึง

10) แกนม้วนผ้า เป็นแกนที่อยู่ตรงข้ามกับแกนม้วนด้ายยืน ใช้ม้วนผ้าที่ทอเสร็จ