แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด

บ้านวังหาดกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สุโขทัย

อดีตของสุโขทัยในความคิดคำนึงของผู้คนแต่ก่อนก็ คือ ราชธานีแห่งแรกของไทยในทำนองว่าคนไทยเคลื่อนย้ายเข้ามาเพราะถูกคนจีนรุกราน จึงอพยพผ่านลงมาทางเชียงแสน เชียงราย ลุ่มน้ำปิง และในที่สุดก็ตั้งเมืองขึ้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมาโดยตลอดนี้ได้สร้างภาพลวงตาเกี่ยวกับสุโขทัยให้มีความสำคัญขึ้นมาในลักษณะที่ว่า กลุ่มชนชาติไทยได้รวมตัวสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างสุโขทัยจนกลายเป็นนครรัฐซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง มีเมืองหลวงที่เปรียบดังรุ่งอรุณแห่งความสุข มีการประดิษฐ์ตัวอักษรภาษาและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นแบบฉบับของตัวเองไม่เหมือนใครอะไรทำนองนั้น แต่ทว่าภายหลัง เมื่อมีผู้ค้นคว้าดูก็พบว่าทฤษฏีการอพยพเคลื่อนย้ายของคนไทยที่พูด ๆ กันมานั้นไม่มีร่องรอยชัดเจนแต่อย่างใด และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในประเทศไทยระยะแรก ๆ ก็มักมีขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางแถวลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาคใต้เป็นส่วนใหญ่สำหรับเขตลุ่มน้ำปิง ยม และน่านตอนล่าง คือเขตภาคกลางตอนบน รวมทั้งภาคเหนือนั้น ไม่น่าจะมีการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองจนกว่าจะเข้าสมัยหริภุญไชย เขตดังกล่าวนี้คงมีเส้นทางการค้าขายแลกเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งนำพาผู้คนที่หลากหลายเผ่าพันธุ์ผ่านเข้ามาพบปะสังสรรค์กันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ก็หาเคยปรากฏหลักฐานว่ามีการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองถาวรแต่อย่างใด ครั้นต่อมาเมื่อการเคลื่อนย้ายองผู้คนจากตะวันตก ตะวันออกมีมากขึ้น

จึงเพิ่งเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมืองกันในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 18

แต่ข่าวการพบแหล่งแร่ธาตุและแหล่งอุตสาหกรรมถลุงเหล็กขนาดใหญ่ในเขตบ้านตลิ่งชันและบ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ตลอดจนบริเวณเทือกเขาสูงอันเป็นต้นน้ำแม่รำพันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสุโขทัยอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะได้พบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะแร่เหล็ก

ซึ่งมีความหมายกับสังคมสมัยสุโขทัยมาก แสดงให้เห็นว่าต้องมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าไปตั้งถิ่นฐาน

ทำการสกัดแร่เหล็กมาถลุงและมีความสามารถในการทำเครื่องมือเครื่องเหล็กที่มีรูปแบบอันหลากหลาย

อาจกล่าวได้ว่าชุมชนบนที่สูงบ้านวังหาดก็คือชุมชนสมัยเหล็กตอนปลายซึ่งต่อเนื่องกับสมัยทวารวดี เพราะมีร่องรอยการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณที่ราบใกล้เคียง แต่ยังมีความล้าหลังกว่าในเรื่องของระบบความเชื่อ เพราะในขณะที่คนในที่ราบมีวัฒนธรรมแบบทวารวดีแล้ว คนเหล่านี้กลับยังนับถือผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ คือยังไม่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนานั้นเอง

กลุ่มคนบนที่สูงเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มพวกลัวะก็เป็นได้ จากการสำรวจของอาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัด แห่งคณะสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จังหวัดตากและกำแพงเพชรก็พบหลักฐานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกลัวะซึ่งทำการถลุงเหล็กทั้งสิ้น คนกลุ่มนี้น่าจะมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนที่อู่ในที่ราบด้วย จึงได้พบโบราณวัตถุประเภทแผ่นทองและเงินห้อยคอที่ทำเป็นรูปหน้าลิง รวมทั้งเหรียญเงินทวารวดีจำนวนหนึ่ง การแลกเปลี่ยนที่ว่านี้อาจไม่การซื้อขายแบบแทนค่าเงินตราเสมอไป แต่อาจเป็นไปในลักษณะนำของมีค่ามาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะลูกปัด ซึ่งพบเป็นจำนวนมากและมีรูปแบบที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นของมีค่าเหล่านี้จึงมีหน้าที่เป็นเครื่องประดับที่เพิ่มพูนสถานะทางสังคมให้แก่ผู้ครอบครองนั้นเอง ประเพณีเช่นนี้ยังสืบทอดมาถึงสมัยหลัง ๆ ด้วย เช่น พวกที่อยู่บนเทือกเขาก็มักเอาของป่ามาแลกเปลี่ยนกับภาชนะประเภทเครื่องเคลือบ ซึ่งผลิตโดยคนบนที่ราบ อันนับเป็นของมีค่าในทัศนคติของเขา

อาจกล่าวได้ว่า การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างคนบนที่ราบและที่สูงนี้มีมาอย่าชัดเจนตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้นแล้วร่องรอยของชุมชนตามริมน้ำแม่รำพันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำมาถึงวังตะคร้อ ซึ่งมีการพบหลักฐานจำพวกลูกปัด เขตนี้น่าจะเป็นเขตสำคัญเพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งของถ้ำพระรามหรือถ้ำเจ้าราม ที่มีกล่าวถึงไว้ในช่วงท้าย ๆ ของจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่าได้มีการประดิษฐ์ศิลาจารึกไว้ ซึ่งหากไม่มีความสำคัญอะไรก็คงไม่ทำการจารึกประดิษฐานไว้เป็นแน่

หลักฐานเหล่านี้สอดคล้องกับชุมชนรุ่นทวารวดีที่พบบริเวณวัดชมชื่น ศรีสัชนาลัย และสอดคล้องกับรายงานของนักวิชาการฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ได้พบภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีที่ ศรีสัชนาลัยด้วย นอกจากแร่ธาตุสำคัญแล้ว พัฒนาการของสุโขทัยยังมีฐานอยู่ที่ “ของป่า” ด้วย เมื่อครั้งที่มีการสำรวจแถบโว้งบ่อเพื่อจัดทำแผนแม่บทโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชาวบ้านบอกว่าที่โว้งบ่อมีถ้ำประดิษฐานรูปพระแม่ย่า ซึ่งเชื่อกันต่อ ๆ มาว่าคนโบราณที่เข้าไปตรงนั้นได้สร้างรูปขึ้นมาไว้สำหรับกราบไหว้บูชา แต่จริง ๆ แล้วรูปพระแม่ย่าอาจจะไม่ใช่รูปนางเสืองอย่างที่เคยเชื่อกัน หากแต่เป็นรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ในถ้ำนั้นเพื่อให้คนในท้องถิ่นเคารพบูชามาตั้งแต่เดิมก็ได้ระยะทางจากโว้งบ่อไปทางใต้อีกไม่ไกลเท่าใดถึงปรางค์บนยอดเขาปู่จ่าที่ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ บริเวณเขตนี้เป็นเขตที่คนเข้าไปแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติและของป่า การค้นพบถ้ำพระแม่ย่าที่โว้งบ่อนั้น ก็เป็นเพราะคนโบราณเข้าไปหาน้ำมันยางและสมุนไพร ช่วงหลังนี้ก็พบว่ามีแหล่งสมุนไพรอยู่ที่เขาหลวงด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องก็หาใช่เข้าไปแสวงหาความลี้ลับแต่อย่างใด เพระเนื่องจากบริเวณนี้ เป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญและของป่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว แหล่งโบราณคดีบ้าน

วังหาดคงมีอายุเก่าแก่ลงไปถึงยุคเหล็กตอนปลาย เพราะเส้นทางคมนาคมติดต่อกันได้เกิดขึ้นและเชื่อมโยงถึงบริเวณแถบนี้แล้วในสมัยนั้น หลักฐานก็คือกลองมโหระทึกพบที่อุตรดิตถ์ และแหล่งโบราณคดีที่เขาเข็น เขากา สุโขทัย

นอกจากนี้ ที่จังหวัดพิจิตรมีการขุดพบหลักฐานที่บ้านกำแพงดิน รวมทั้งยังมีแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่เขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร นอกจากนั้นเครื่องมือโลหะจำพวกขวานสำริดก็ยังคงพบอยู่เรื่อยไปถึงจังหวัดลำพูน แม้กระทั่งที่เวียงมโนก็ยังพบกลองมโหระทึกสำริดด้วยเช่นกัน

หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาวุธบางชนิดที่พบบริเวณบ้านวังหาดเป็นของที่เลียนแบบมาจากจีน เช่น พบดาบยาวเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ดาบธรรมดาอย่างแน่นอน แต่เป็นกั้นหยั่นยาว ๆ แบบจีน มีขั้วตรงโคนด้ามเป็นทรงกลม ๆ แสดงถึงการเลียนแบบมาจากจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีเครือข่ายการเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน จนกระทั่งในที่สุดหลักฐานเหล่านี้นำมาสู่ความเข้าใจได้ว่าสุโขทัยนั้นไม่ใช่เขตลี้ลับแต่อย่างใด เพราะมีทั้งทรัพยากร มีทั้งกลุ่มคนบนที่สูงอย่างชัดเจน มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนที่ราบ เพียงแต่ยังไม่มีการตั้งชุมชนให้เป็นเมืองใหญ่โต จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยสุโขทัย

สุโขทัยนั้นเป็นจุดผ่านที่ผู้คนต่างมาพบปะกันจริง ๆ ในช่วงหนึ่ง ตอนต้นของประวัติศาสตร์สุโขทัยจะเห็นว่ามีการปรากฏตัวของมะกะโทซึ่งเป็นพ่อค้า และยังมีขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดเข้ามาตีเมืองตากถึงกับชนช้างกับพ่อขุนรามคำแหง เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่ใช่การแย่งชิงเมืองโดยไม่มีที่มาที่ไปอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่คงเป็นผลมาจากการขยายตัวของพวกไทยใหญ่ซึ่งเข้ามาทางตะวันตกของสุโขทัยด้วยจุดมุ่งหมายบางอย่าง การที่สุโขทัยจะกลายเป็นจุดผ่านหรือจุดพบปะที่สำคัญได้นั้น ในตัวสุโขทัยเองจะต้องมีความสำคัญอยู่แล้ว กล่าวคือคงต้องไม่ใช่เป็นเมืองที่ผู้คนมาพบปะกันอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางผ่าน ไม่ใช่ผลจากสงคราม และไม่ใช่การถูกขับไล่ถอยร่นลงมาดังทฤษฎีเดิม ได้ว่าไว้

เมื่อใดก็ตามที่เราหันมาสนใจและพยายามทำความเข้าใจพัฒนาการของท้องถิ่นในแง่มุมที่ไม่ใช่เกิดจากข้าศึกศัตรูแต่อย่างเดียว เมื่อนั้นเราก็จะเริ่มมองเห็นความไม่สมเหตุสมผลของทฤษฎีเดิมที่เชื่อว่าคนไทยถูกขับไล่ลงมา ในทำนองเดียวกันเราอาจต้องพิจารณาทบทวนกลับไปถึงเหตุการณ์ครั้งที่มีการชิงเมืองสุโขทัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วก็ค่อย ๆ มองเห็นเครือข่ายกลุ่มเมืองเล็กเมืองน้อยต่าง ๆ ตั้งแต่อุตรดิตถ์ นครไทยลงมาตลอดจนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาผู้นำชุมชนที่ต่างคุมอำนาจอยู่ในเขตลุ่มน้ำปิง ยม น่านตอนล่างอย่างชัดเจน

เรื่องราวเหล่านี้ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความเข้าใจถึงพัฒนาการและการคลี่คลายของสุโขทัยในมุมมองใหม่ ศรีศักร วัลลิโภดม (2540)


ภาพโดย นายอมรเทพ จันทร์อินทร์ / ข้อมูลจาก หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชนบ้านวังหาด