ถ้ำเจ้าราม

ถ้ำเจ้าราม อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย ณ บริเวณหน่วยพิทักษ์เขตห้าม

ล่าสัตว์ป่าวังตะเคียน เขตป่าสงวนแห่งชาติ แม่มอก - แม่ลำพัน หมู่ที่ 15 ตำบลวังน้ำขาว อยู่ห่างจากอำเภอบ้านด่านลานหอยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร

ความเป็นมาของถ้ำเจ้าราม

“ถ้ำพระราม” เดิมปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาชาวบ้านแถบนั่นเรียกเพี้ยนไปเป็น “ถ้ำเจ้าราม” จากหลักฐานและคำบอกเล่าสันนิษฐานว่าถ้ำเจ้ารามน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพ่อขุนรามคำแหง อยู่ 2 ประการ

ประการที่ 1 เป็นที่พักผ่อนของพ่อขุนรามฯ เพราะเป็นบริเวณถ้ำที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สวยงาม

ประการที่ 2 เป็นที่หลบภัยจากข้าศึกศัตรู เพราะในบริเวณส่วนกลางของถ้ำเป็นที่โล่งกว้างด้านบนมีปล่องแสงอาทิตย์ส่องลงมาได้ สามารถบรรจุคนได้มากพอสมควร และยังมีแผ่นศิลาจารึกเป็นภาษาสุโขทัยปรากฏอยู่ในถ้ำ

ชาวบ้านเชื่อกันว่าในระหว่างการเข้าชมถ้ำเจ้ารามไม่สมควรพูดจาหยาบคายหรือลบหลู่ และมิควรกระทำมิดีเพราะจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ เช่น มูลค้างคาว ซึ่งมีค่ามหาศาลทำให้เกิดความโลภของมนุษย์จนเกิดเพทภัยถึงแก่ชีวิตมาแล้วหลายคน

จากการบอกเล่าของชาวบ้านมีผู้ที่เคยเข้าไปสำรวจภายในถ้ำเจ้าราม พบว่ามีลักษณะแคบบ้างกว้างบ้างและยาวมาก กล่าวว่าท้ายถ้ำยาวไปถึงจังหวัดลำปาง สังเกตจากมูลค้างคาวถูกไฟไหม้ที่ปากถ้ำ แต่มีควันไฟไปออกที่ปลายถ้ำ ซึ่งเป็นบริเวณติดต่อดังกล่าว ภายในถ้ำมีสระน้ำขนาดใหญ่ และเคยมีผู้พบพระพุทธรูปสมัยเก่าหลายองค์ในน้ำ

จุดเด่นทางธรรมชาติ

ถ้ำพระราม เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวกินแมลงหลายชนิดที่สำคัญคือ ค้างคาวปากย่น มีประมาณแปดแสน - หนึ่งล้านตัน จะออกมาหากินในตอนเย็นโดยบินต่อกันเป็นทิวสาย สวยงามประทับใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

ต้นสักใหญ่ เป็นต้นสักขนาดใหญ่ที่ยืนต้น และยังมีชิวิตอยู่สูงประมาณ 25 เมตร

เส้นรอบวงประมาณ 630 เซนติเมตร อยู่ห่างจากถ้ำพระรามไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร

ดงจันทน์ผา เป็นสังคมพืชเขาหินปูน โดยมีต้นจันทน์ผาขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่อยู่หลังหน่วยพิทักษ์ป่าเชิงผาน้ำตกเชิงผา เป็นน้ำตกที่เกิดจากแหล่งน้ำซับที่ผุดขึ้นจากใต้ดินมี 3 ชั้น ชั้นบนสูงสุดประมาณ 20 เมตร

อ่างเก็บน้ำหนองเคาะ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่บริเวณหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าวังตะเคียน เป็นที่พักผ่อนของประชาชนในการตกปลา

ความรู้เกี่ยวกับค้างคาว เชื่อกันว่า “ค้างคาว” เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษของสัตว์กินแมลงที่หากินอยู่บนต้นไม้ มีการค้นพบฟอสซิลค้างคาวที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในยุค EOCENE หรือราว 50 ล้านปีมาแล้ว
ค้างคาว นับเป็นสัตว์ที่มีความมหัศจรรย์มาก คือ มีการติดต่อสื่อสารโดยการส่งคลื่นโซน่าร์ เพื่อหลบหลีกสิ่งที่กีดขวางต่าง ๆ

ค้างคาว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บินได้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มค้างคาวกินผลไม้มี 166 ชนิด ในประเทศไทยพบ 18 ชนิด ค้างคาวชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของโลกเท่านั้น และมีกลุ่มหนึ่งเป็นค้างคาวกินแมลงมี 759 ชนิด ในประเทศไทยพบ 90 ชนิด จากการสำรวจค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำเจ้าราม ประมาณ 2 ล้านตัวพบว่ามีค้างคาวอยู่ 6 ชนิด คือ ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวปีกถุง ค้างคาวหน้ายักษ์กระบังหน้า ค้างคาวหน้ายักษ์สามลีบ ค้างคาว

ปากย่น และค้างคาวปีกพับใหญ่ ทั้ง 6 ชนิด เป็นค้างคาวกินแมลง

ข้อแนะนำในการเยี่ยมชมถ้ำเจ้าราม

1. การเดินทางไปถ้ำเจ้าราม สามารถเดินทางโดยทางรถยนต์ถึงบริเวณหน้าถ้ำ ระยะทางจากอำเภอบ้านด่านลานหอยถึงถ้ำเจ้ารามประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที

2. สิ่งของที่ต้องเตรียมไปสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมภายในถ้ำควรมีเสื้อไว้ผลัดเปลี่ยน เพราะภายในถ้ำมีมูลค้างคาวจำนวนมากอาจฟุ้งกระจายติดตัว และควรมีไฟฉายไปด้วยเพราะภายในถ้ำมืดมาก และสำหรับผู้ที่ต้องการชมฝูงค้างคาวควรเตรียมอาหารเย็นไปด้วยและหากต้องการพักค้างคืนบริเวณหน้าถ้ำเพื่อชมฝูงค้างคาวบินเข้าถ้ำควรนำเต้นท์และเครื่องนอนไปด้วย

3. ช่วงเวลาในการเยี่ยมชมถ้ำเจ้าราม

เวลา 14.00 น. ควรเดินทางถึงบริเวณหน้าถ้ำ

เวลา 14.00-17.00 น. เข้าเยี่ยมชมภายในถ้ำและทิวทัศน์รอบ ๆ ถ้ำ

เวลา 17.00 น. เตรียมพร้อมสำหรับชมฝูงค้างคาวบินออกจากถ้ำ เพื่อหากินในตอนกลางคืน

เวลา 17.30 น. ชมฝูงค้างคาวทยอยบินออกจากถ้ำพร้อมรับประทานอาหารและพักผ่อนตามอัธยาศัย

เวลา 06.00 น. ของวันถัดมาชมฝูงค้างคาวทยอยบินเข้าถ้ำ

เส้นทางคมนาคม

1. จากจังหวัดสุโขทัยไปตามถนนสายสุโขทัย-ทุ่งเสลี่ยม ระยะทาง 67 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อถนนลูกรัง รพช.สายทุ่งเสลี่ยม-บ้านด่านลานหอย 19 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้ารามรวมระยะทาง 86 กิโลเมตร

2. จากจังหวัดสุโขทัยไปตามถนนสายสุโขทัย - ตาก ถึง อำเภอบ้านด่านลานหอย ระยะทาง 27 กิโลเมตร แล้วเลี้ยงขวาเข้าถนนสายบ้านด่านลานหอย - ทุ่งเสลี่ยม 34 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้ารามรวมระยะทาง 61 กิโลเมตร

สถานที่ติดต่อเข้าเยี่ยมชมถ้ำเจ้าราม ผู้ที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมถ้ำเจ้ารามต้องติดต่อขออนุญาตจากหน่วยพิทักษ์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหนองเคาะก่อนถึงถ้ำเจ้ารามประมาณ 7 กิโลเมตร

ภาพจาก https://www.facebook.com/RamaCave/ ข้อมูลจาก (www.sukhothai.go.th/tour/tour_13.htm)