ใบความรู้ 5.1 บทบาทของดนตรีไทยในการสะท้อนสังคม



ถ้าหากเราจะกล่าวถึงคำว่า “โลกาภิวัตน์” เราก็จะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสมัยนิยมในสังคม การพัฒนาและความก้าวหน้าของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเจริญในวัตถุนิยม แต่ไม่สามารถจะใช้กับการพัฒนาจิตใจของมนุษย์ ยิ่งในสังคมเมืองหรือสังคมที่มีการแข่งขันแย่งชิงกันยิ่งหาคำว่าน้ำใจได้ยาก เพราะมนุษย์ต้องเอาตัวรอดในสังคม ต้องทำทุกวิถีทางที่จะสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ ปัจจุบันนี้แม้แต่สังคมเกษตรกรรมหรือสังคมชนบท ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็เข้าไปถึงแล้ว ดูได้จากทุกบ้านทุกหลังคาเรือนมีโทรทัศน์ วิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว จากความเปลี่ยนแปลงของสังคมดังที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่วัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการบริโภค แต่ก่อนเราสามารถหาอาหารการกินได้ไม่ยาก หาผักตามริมรั้วริมทุ่ง หาปลาตามริมหนองริมบึง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณประโยชน์ตามหลักโภชนาการทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันนี้การนิยมบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู๊ดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว การแต่งกายก็เช่นเดียวกัน แต่เดิมคนไทยเรามีเอกลักษณ์ในเรื่องของการแต่งกายที่สวยสดงดงาม มีศิลปะอยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ได้มาจากความเพียรอุตสาหะ การใช้ภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมา ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ความปราณีตพิถีพิถันในการสร้างงานแต่ละชิ้นให้ออกมาแล้วผู้ที่สวมใส่เกิดความภาคภูมิใจ แต่เมื่อสังคมได้พัฒนาไป การแต่งกายก็เปลี่ยนไปด้วย การหาเครื่องแต่งกายที่ราคาแพง และต้องเป็นของนอก หรือที่เราเรียกติดปากว่าสินค้า “แบรนด์เนม” มาสวมใส่เพื่อที่ให้สังคมยอมรับ ให้ได้รับการนับน่าถือตาจากผู้คนรอบข้าง ซึ่งสินค้าแต่ละชิ้นก็ไม่ได้ซื้อหามาด้วยราคาถูก ผู้ที่มีรายได้น้อยก็พยายามที่จะหามาเพื่อที่จะให้เป็นที่ยอมรับของสังคม แม้จะเป็นหนี้เป็นสินก็ตามที

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากเราจะกล่าวว่าสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเดียวนั้นคงไม่ถูกต้องสักทีเดียวนัก ถ้าจะกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ค่านิยมในสังคมต่างหากที่เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องของดนตรีไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน บทบาทและหน้าที่ของดนตรีไทยแต่เดิมนั้น เป็นเรื่องของการผ่อนคลายและเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเมื่อหมดจากอาชีพหลักคือเกษตรกรรม การเรียนดนตรีไทยแต่เดิมนั้นไม่ได้เป็นแต่เพียงการศึกษาหาความรู้เพื่อเลี้ยงตัวเท่านั้น หากแต่ครูผู้สอนจะสอนทั้งวิชาดนตรีไทยและสอนการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การจะเรียนดนตรีในสมัยก่อนนั้นขั้นแรกผู้ปกครองจะพาไปฝากไว้กับบ้านของครู และจะทำการฝากเนื้อฝากตัวรับเป็นครูเป็นศิษย์กันด้วยขัน ธูป เทียน ดอกไม้ฯ ตามหลักจารีตประเพณี นั่นเป็นการแสดงถึงการมีสัมมาคารวะซึ่งเป็นสิ่งที่นานาอารยะประเทศไม่มีเหมือนชาติเรา เมื่อได้รับการยอมรับที่จะถ่ายทอดจากครูแล้ว ใช่ว่าศิษย์จะเริ่มเรียนเริ่มฝึกหัดได้เลย จะต้องช่วยงานครูต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืองานประจำตามแต่ครูจะเรียกใช้ ซึ่งเป็นการอบรมบ่มนิสัยและฝึกความอดทนไปในตัว พอเสร็จงานที่ครูมอบหมายแล้วจึงจะสามารถฝึกหัดดนตรีได้โดยครูผู้สอนจะทำการสอนหรือภาษาดนตรีจะเรียกว่า “ต่อเพลง” ให้ในขั้นพื้นฐานตามหลักโบราณาจารย์ที่ทำสืบต่อกันมา เช่น ผู้ที่จะฝึกหัดปี่พาทย์ก็ต้องฝึกหัดการตีฆ้องวงใหญ่ในเพลงโหมโรงเช้า-โหมโรงเย็น ฝึกจนกระทั่งเกิดความชำนาญ จึงทำให้ศิษย์รู้ถึงคุณค่าของเพลง รู้ถึงการกตัญญูรู้คุณ ดังเห็นได้จากมีการจัดพิธีไหว้ครูบูชาครูต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของดนตรี นาฏศิลป์ หรือศิลปะ ศิษย์จะกินนอนอยู่ที่บ้านครูจนมีความรู้ความสามารถพอที่จะไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเอง โดยที่ครูไม่เคยจะคิดเป็นเงินเป็นทองแม้แต่นิดเดียว นั่นเพราะเป็นความรู้สึกที่อยากจะถ่ายทอด อยากจะรักษามรดกของชาติให้คงอยู่สืบไป ซึ่งถ้าจะกล่าวว่าเป็นสามัญสำนึกก็คงไม่ผิด คนแต่ก่อนแม้จะได้รับการศึกษาน้อย หากแต่ในเรื่องของจิตใจและความรู้สึกที่จะดำรงรักษาดนตรีไม่ได้น้อยตามเลย แต่กลับมากกว่าด้วยซ้ำไป แต่เมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาหาความรู้ในแบบเก่าก็เปลี่ยนไปด้วย วิชาดนตรีกลายเป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนถึงขั้นอุดมศึกษา ผู้เรียนก็ไม่ต้องขวนขวายดังแต่ก่อน เพราะครูผู้สอนจะมาสอนให้ การฝากเนื้อฝากตัวก็พบเห็นได้ยาก ความใกล้ชิดสนิทสนมก็น้อยลงตามสภาพการณ์ ศิษย์จึงไม่ค่อยรู้ถึงคำว่ากตัญญูรู้คุณ กลับมองว่าครูมารับจ้างสอน ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญ บางคนไม่อยากเรียนแต่ต้องฝืนใจเรียนเพราะเป็นไปตามหน้าที่ในความเป็นนักเรียน ซึ่งในความเป็นจริงดนตรีเป็นเรื่องของสุนทรีย์เป็นเรื่องของความงาม ถ้าหากสร้างเสียงโดยการฝืนใจแล้วก็ไม่น่าจะเรียกว่าเสียงดนตรี มนุษย์เราจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้ทำอย่างที่ตนเองต้องการ แต่เมื่อไรที่ถูกบังคับแล้วผลที่ออกมาจะไม่มีความหมายมีประโยชน์เลย อีกประการหนึ่งที่ทำให้ดนตรีไทยเสื่อมโทรมลงคือการหันมาสนใจเพลงสมัยใหม่ของเยาวชนไทย ใช่จะบอกว่าเพลงสมัยใหม่ไม่ดี ไม่มีความหมาย หากเพลงสมัยใหม่บางเพลงมีเนื้อหา มีแง่คิด มีคุณค่า และเกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังหากฟังแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน แต่รูปแบบและการประพันธ์เพลงบางเพลงก็ไม่มีคุณค่าพอที่จะให้เราเสียเวลาฟังเลย แต่กลับเป็นที่ถูกใจของเยาวชนไทยส่วนใหญ่ เพลงที่ว่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ มิได้สร้างขึ้นมาจากการมองเห็นคุณค่าในการสร้างสรรเลย คิดแต่เพียงให้ศิลปินถูกใจคนฟังและสามารถขายได้เท่านั้น กลายเป็นว่าคนที่ฟัง เล่น หรือสนใจดนตรีไทยเป็นคนที่น่าอาย เชย ล้าสมัย ไม่ตามสมัยนิยม ทั้งที่ดนตรีไทยได้ถูกสั่งสมบ่มรสชาติของมันมานานตั้งแต่สมัยบรรพกาล ถูกประพันธ์ขึ้นด้วยการมองเห็นคุณค่า ความงาม ความตั้งใจของผู้ประพันธ์ บทเพลงต่าง ๆ จึงมีความงดงามและทรงคุณค่าในตัวของมันเอง และคงจะงามเฉพาะในความรู้สึกของผู้ที่ศึกษาและสนใจ ถ้าเราจะกล่าวว่าดนตรีไทยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเข้าใจยากก็คงไม่ผิด แต่ทำไมเราไม่ลองฝึกหัดปฏิบัติลองศึกษาดู ทำไมเวลาเราฟังเพลงสากลก็บอกว่าเพราะทั้งที่บางทีเราก็ฟังไม่ออก นั่นเป็นเพราะเรากำลังหลงใหลไปกับค่านิยมในสังคมซึ่งตัวบุคคลเป็นผู้กำหนด ดนตรีไทยจึงเป็นสิ่งที่คนคิดว่าหาฟังได้ในงานศพเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วแต่ก่อนดนตรีเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทยแล้ว จากชีวิตที่เริ่มลืมตาดูโลกจนเหลือแต่เพียงร่างกายที่ไร้ลมหายใจ คนเราอาจไม่มีโอกาสรู้จักหรือได้ฟังดนตรีไทยเลยก็ได้ หากเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังคิดว่าดนตรีไทยเป็นเรื่องล้าสมัย เป็นสิ่งที่เชย ก็ไม่แน่ว่านอกจากคนต่างชาติรู้จักการไหว้ รู้จักการทำอาหารไทย เราอาจจะเห็นคนต่างชาติเล่นดนตรีไทยกันแพร่หลายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติเขาก็ได้