ใบความรู้ที่ 4.1 ประวัตินักดนตรีเอกของโลก


โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท

โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท

Wolfgang Amadeus Mozart

เกิดที่ ออสเตรีย วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2299

ถึงแก่กรรมที่ ออสเตรีย วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2334

โวล์ฟกังอมาเดอุส โมสาร์ท เกิดเมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2295 ที่เมืองซลาสสเบอร์ก (Salzburg) ประเทศออสเตรีย เป็นบุตรของ เลโอโปลด์ โมสาร์ท(Leopold Mozart) นักดนตรีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของออสเตรียกับ เฟรา อันนา โมสาร์ท เขามีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด 7 คน เสียชีวิตไป 5 คน คงเหลือมาเรีย แอนนา พี่สาวซึ่งมีอายุแก่กว่าเขา 4 ปี และตัวเขาเองเพียง 2 คนเท่านั้น โมสาร์ทเป็นคนมีรูปร่างสง่า หน้าตาดี ริมฝีปากงาม จมูกโด่ง มีแววตาอ่อนโยนคล้ายผู้หญิง ท่าทางสงบเสงี่ยม เป็นคนช่างคิดช่างฝัน เขามีความสามารถพิเศษ เรียนรู้อะไรได้อย่างรวดเร็ว พ่อของเขาจึงทุ่มเทเวลาให้ฝึกหัดดนตรีอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่อายุได้เพียง 4 ขวบ

โมสาร์ท สามารถแต่งเพลงได้เมื่ออายุได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น จนได้สมญานามว่า “ผู้วิเศษน้อย” เพลงแรกที่เขาแต่งคือ เพลงมินูเอ็ด (Minuet) เพลงนี้เขาแต่งต่อจากพ่อซึ่งแต่งค้างไว้ เพลงตอนที่โมสาร์ทแต่งต่อนั้นไพเราะมาก ทำความประหลาดใจให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างมาก ในวันคล้ายวันเกิดอายุครบรอบ 6 ขวบ เขาได้รับไวโอลินขนาดเล็กเป็นของขวัญคันหนึ่ง นี่คือจุดเริ่มต้นให้โมสาร์ทเริ่มสนใจไวโอลินตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เขาได้ขอร้องให้พ่อสอนให้ ตอนนั้นพ่อยังไม่ยอมสอนให้เพราะเห็นว่าขณะนั้เขากำลังฝึกเล่นคลาเวียร์และแต่งเพลงก็มากพออยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเขาได้พยายามฝึกฝนด้วยตนเอง ต่อมาไม่นานนักเขาก็ได้แสดงความสามารถทางไวโอลินให้ปรากฎออกมา คือ วันหนึ่งขณะที่มีการเล่นดนตรีกันที่บ้าน มีนักดนตรีหลายคนมาร่วมเล่นกับพ่อของเขา โมสาร์ทจึงของร่วมวงด้วย พ่อไม่อนุญาต แต่ในที่สุดก็ทนรบเร้าไม่ไหวจึงให้เล่นด้วย และกำชับให้เล่นเพียงเบาๆ เมื่อเล่นไปได้ครู่หนึ่งทุกคนประหลาดใจถึงกับหยุดเล่นมองดูตากันไปมา ปล่อยให้โมสาร์ทเล่นไปคนเดียวจนจบเพลง เขาเล่นได้อย่างมหัศจรรย์ จากความสามารถของโมสาร์ทครั้งนี้ พ่อของเขารู้สึกทึ่งเป็นอย่างมาก จึงสนับสนุนให้เขาศึกษาไวโอลินอย่างจริงจัง ได้ทำการฝึกซ้อมให้พร้อมกับพี่สาวเกือบทุกวัน และตั้งใจว่าจะปั้นลูกคนนี้ให้เป็นนักไวโอลินเอกของโลกให้จงได้

เมื่อพ่อได้ประจักษ์ในความสามารถของลูกชาย จึงพาโมสาร์ทพร้อมด้วยแอนนาออกเดินทางไปแสดงดนตรีในที่ต่างๆ หลายแห่งทั่วยุโรป ปรากฎว่าได้รับความสำเร็จอย่างงดงามทุกแห่ง ประชาชนชื่นชมในอัจฉริยาภาพของโมสาร์ทโดยทั่วกันชื่อเสียงเริ่มโด่งดังตั้งแต่ยังเด็ก เขาได้รับการยกย่องจากทุกวงสังคม โมสาร์ทได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากราชสำนักทุกแห่ง เช่น ราชสำนักออสเตรีย เยอรมัน ฝรั่งเศสและอังกฤษ การเดินทางไปแสดงดนตรีครั้งนี้พ่อของเขาต้องการให้ลูกชายและลูกสาวได้มีโอกาสแสดงฝีมือทางดนตรีและได้ท่องเที่ยวไปด้วย

คณะเขาเดินทางไปยังเมืองมิวนิค เยอรมันเป็นแห่งแรก ณ เมืองนี้สองพี่น้องได้เล่นดนตรีถวายเจ้าชายแห่งบาวาเรียและพระเจ้าโจเซฟที่ 3 แล้วก็เดินทางไปแสดงที่อื่นต่อเรื่อยๆ จากนั้นก็ได้เดินทางกลับมาเล่นดนตรีถวายพระนางเจ้ามาเรียเทเรซา พระราชินีผู้ยิ่งใหญ่แห่งออสเตรีย ณ กรุงเวียนนา เหตุการณ์ที่โมสาร์ทจะลืมไม่ได้คือในระยะเวลาที่แสดงดนตรีอยู่ในกรุงเวียนนาเขามีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับพระโอรส พระราชธิดาของพระนางเจ้ามาเรียเทเรซา ขณะนั้นโมสาร์ทอายุได้ 6 ขวบ ได้สนิทสนมกับพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ถึงกับกล่าวออกมาตามประสาเด็กๆ ว่า โตขึ้นเขาขอสัญญาว่า จะขอแต่งงานด้วย ขณะนั้นโมสาร์ทไม่ทราบหรอกว่าเขากำลังพูดอยู่กับราชินีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกองค์หนึ่ง เพราะต่อมาพระราชธิดาองค์นั้นก็คือ พระนางเจ้ามารี อังตัวเนตต์ (Marie Antoinette) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

หลังจากแม่ได้ถึงแก่กรรม เขาก็ได้เดินทางกลับซาลสเบอร์ก และได้เข้าร่วมอยู่ในวงดนตรีของอาร์ชบิชอบ โคลโลเรโด คณะดนตรีวงนี้ได้เดินทางไปแสดงที่กรุงเวียนนาโมสาร์ทเขาพอใจมาก เพราะเขาชอบกรุงเวียนนา ต่อมาโคลโลเรโดได้สั่งให้วงดนตรีย้ายไปเล่นที่อื่น เขาไม่พอใจจึงลาออก

ที่เวียนนานี้เอง โมสาร์ทได้ชอบพอและสนิทสนมกับคอนสตันซ์ เวเบอร์น้องสาวของอลอยเซีย เวเบอร์ คู่รักเก่านั่นเอง และได้แต่งงานกันในที่สุด เขาได้เอาชื่อของอลอยเซีย เวเบอร์ ไปตั้งเป็นชื่อนางเอกในอุปรากรที่เขาเขียนขึ้นเรื่องหนึ่งคือเรื่อง The Escape from the Seraglio เขาได้นำอุปรากรเรื่องนี้ออกแสดงที่กรุงเวียนนา แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จ คนดูเดินออกก่อนอุปรากรเลิกทุกรอบ แต่อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิ์โจเซฟ ชอบอุปรากรเรื่องนี้จึงรับโมสาร์ทไว้ในวงดนตรีของพระองค์ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่พอใจ เพราะได้รับเงินตอบแทนน้อยเกินไปไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยที่ได้พยายามสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคนอื่นจนสุดความสามารถ

งานในด้านเพลงของโมสาร์ทเด่นขึ้นเมื่อเขาได้รู้จักไฮเดิน (Haydn) นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงเวียนนา และได้สอนการแต่งเพลงแบบควอเต็ตให้แก่เขา จากนั้นโมสาร์ทก็เริ่มแต่งเพลงที่เขาแต่งทั้งหมด 6 เพลง ให้แก่ไฮเดินเพื่อตอบแทนบุญคุณ ความจริงไฮเดินก็ได้บางสิ่งบางอย่างไปจาก

โมสาร์ทเหมือนกัน ไฮเดินมีความชื่นชมในฝีมือการเล่นเปียโนของโมสาร์ทมาก

ในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวจากที่ได้แต่งงานได้ 9 ปี เขามีบุตรทั้งหมด 6 คนการดำรงชีพของเขาชักเริ่มฝืดเคือง เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว

งานของโมสาร์ทมีด้วยกันทั้งหมดมากกว่า 200 ชิ้น นับว่าเป็นผู้ที่สามารถแต่งเพลงได้ยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง เช่น เพลง String quartets ที่เด่นๆ 10 เพลง Piano quaretets 2 เพลง Piano quintets 2 เพลง Piano concertos 30 กว่าเพลง Violin concertos 7 เพลง Flute concertos 3 เพลง Opera 22 เรื่อง Symphony 41 บท ฯลฯ

งานด้านอุปรากรในปี พ.ศ. 2329 โมสาร์ทได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญประจำโรงละครในกรุงเวียนนา เขียนเรื่อง Marriage of Figaro อุปรากรเรื่องนี้ แสดงครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมามีผู้นำไปแสดงที่กรุงปร๊าค จึงได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ปีถัดมาก็เขียนอุปรากรสำเร็จอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง Don Giovanni

ในปี พ.ศ. 2331 ซิมโฟนีอันยิ่งใหญ่ของโมสาร์ทก็ได้สำเร็จอีก 3 เพลง ได้แก่ เพลง Symphony No. 39 E Flat Major, No. 40 G Minor, No. 41 C Major,(Jupiter) สำหรับซิมโฟนีหมายเลข 41 ชื่อว่า Jupiter นั้น มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวาง

โมสาร์ทได้เขียนเพลงไว้มากมาย ยิ่งเขียนมาก แนวการเขียนก็ยิ่งแปลกขึ้นทุกที ไม่ค่อยซ้ำแบบเดิม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักแต่งเพลงอื่นๆ โมสาร์ทได้พยายามแต่งเพลงเกี่ยวกับงานศพไว้เพลงหนึ่ง คือ เพลง Requiem เขาแต่งเพลงนี้ได้ไม่มากนักก็เสียชีวิตเสียก่อน เพลงนี้จึงเป็นเพลงเพื่องานศพของตนเอง

โมสาร์ทได้จากโลกนี้ไปด้วยไข้รากสาด(Typhus) ที่กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2334 เขาตายในขณะที่ยากจนแสนเข็ญ ภรรยาไม่มีเงินจะทำศพให้ จึงมีผู้ใจบุญรับภาระจัดการทำพิธีฝังศพให้ ขณะที่โมสาร์ทตายนั้นอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น เขาตายอย่างน่าอนาถเผชิญกับความหิวความหนาว ขณะที่นำศพไปฝังมีพายุฝนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนไม่สามารถติดตามไปฝังศพได้ แม้แต่ภรรยาของเขาเองก็ไปไม่ได้เพราะกำลังป่วย ฉะนั้นจึงไม่มีญาติมิตรคนใดไปร่วมในพิธีฝังศพเขาเลย คงปล่อยให้สับปะเหร่อ 2-3 คน จัดการไปตามลำพัง ณ ป่าช้าสำหรับคนอนาถาที่เซนต์มาร์กซ์ในกรุงเวียนนา โดยไม่ได้ทำเครื่องหมายอะไรไว้เลย เพราะทำไปอย่างรีบเร่ง จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง เมื่อจะระลึกถึงคุณค่าทางดนตรีของเขาขึ้นมา ต้องการที่จะคารวะศพและสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่เขาก็ไม่สามารถจะค้นหาหลุมฝังศพของเขาได้ นี่คือชีวิตของโมสาร์ท นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ชื่อก้องโลกผู้มีชีวิตอาภัพที่สุด


ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

Lugwig Van Beethoven

เกิดที่เยอรมัน วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2313

ถึงแก่กรรมที่ ออสเตรีย วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2370

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน เกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2313 ที่ตำบลไรน์ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมัน บิดาชื่อโจฮันน์ ฟาน เบโธเฟน (Johann Van Beethoven) อาชีพเป็นนักร้อง มารดาชื่อ มาเรีย (Maria Magdalena) เบโธเฟนเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนทั้งหมด 7 คน เมื่อยังเล็ก เบโธเฟนมีชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ หาความสุขสบบายได้ยากเต็มที เพราะความยากจนของครอบครัวประกอบกับพ่อเป็นคนอารมณ์ร้ายและขี้เหล้า เบโธเฟนเป็นเด็กที่มีรูปร่างขี้เหร่ เงียบขรึมและขี้อาย พ่อเริ่มสอนให้เล่นไวโอลินและเปียโนตั้งแต่ก่อนอายุครบ 4 ขวบ พ่อของเขามีความใฝ่ฝันจะให้ลูกมีชื่อเสียงทางดนตรีเหมือนกับโมสาร์ท ดังนั้นเขาจึงพยายามเคี่ยวเข็ญให้ฝึกดนตรีอย่างเข้มงวดกวดขัน แม้กระนั้นอัจฉริยภาพในทางดนตรีของเบโธเฟนก็ยังไม่ปรากฎออกมา การเรียนเป็นไปอย่างทุลักทุเล บางครั้งพ่อและเพื่อนของพ่อกลับมาจากการร้องเพลง ก็ปลุกให้เขาลุกขึ้นมาท่องโน้ตและเล่นดนตรีให้ฟัง แม้จะง่วงแสนง่วงก็ถูกบังคับให้เล่น

จากความพยายามของพ่อนี้เอง ต่อมาเบโธเฟนก็เริ่มมีความรู้สึกชอบเสียงดนตรีและรักดนตรีขึ้นมาบ้าง อัจฉริยภาพทางดนตรีของเขาก็เริ่มเกิดขึ้นมาบ้างแล้ว ดนตรีต่างๆ ที่เคยถูกพ่อบังคับให้เล่นจนเอือมระอาและไม่ชอบมันเลย กลับชอบขึ้นมาได้อย่างประหลาดเขาจึงเต็มใจในการเล่นดนตรี โดยเริ่มฝึกฝนไวโอลินและออร์แกนอย่างเอาจริงเอาจัง จนมีความชำนาญพอที่จะออกโรงได้ เขาได้ออกโรงแสดงคอนเสริ์ตต่อหน้าประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ขวบ ปรากฎว่าได้รับการปรบมือจากผู้ชมอย่างเกรียวกราว ทำให้พ่อของเขามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จากความสามารถของเขานี้เองพ่อจึงได้ส่งเข้าโรงเรียนและให้เรียนดนตรีอย่างจริงจังกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียง ชื่อ เนเอเฟ (Neefe) ที่สำนักของเนเอเฟนี้เอง เบโธเฟนได้เอาใจใส่ฝึกฝนในการดนตรีอย่างจริงจัง เรียนอยู่ได้ 2-3 ปี ก็สามารถเล่นเพลงยากๆ ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้หลายเพลง เช่น เพลง Prelude Fugue ของบาค เล่นได้ทั้ง 48 เพลง ซึ่งนับว่าเก่งมากสำหรับเด็กอายุเพียง 11 ขวบ

เมื่อเบโธเฟนอายุได้ 12 ขวบ เขาได้เข้าประจำตำแหน่งนักออร์แกนประจำโบสถ์ต่อมาก็เป็นนักเปียโนและไวโอลินตำแหน่งมือรองของเนเอเฟ ประจำวงดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบอนน์ ต่อจากนั้นอีก 2-3 เดือน ก็ได้รับตำแหน่งหัวหน้าวงแทนเนเอเฟครูของเขาซึ่งได้ลาออกไป คนทั้งหลายได้ยอมรับในความสามารถทางดนตรีของเขา ชื่อเสียงทางเปียโนก็ลือเลื่องไปทั่วเมือง เจ้าเมืองได้ให้ทุนแก่เขาเดินทางไปยังกรุงเวียนนา ซึ่งที่นั่นมีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน เบโธเฟนได้ไปเรียนดนตรีกับโมสาร์ท นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง โมสาร์ทได้ฝึกหัดให้ 2-3 เพลง ก็ทดลองให้เบโธเฟนเล่นให้ฟัง เสียงเพลงเป็นที่พอใจของโมสาร์ทมาก

เบโธเฟนอยู่กับโมสาร์ทประมาณ 3 เดือน ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าแม่ป่วยหนัก จึงต้องรีบเดินทางกลับเมืองบอนน์ ในที่สุดเขาก็สูญเสียแม่บังเกิดเกล้า นำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่เขาเหลือที่จะประมาณ ขณะที่แม่ตายเขาอายุได้ 17 ปี ต้องรับภาระดูแลครอบครัวแทนแม่ เขาหาเงินช่วยเหลือครอบครัวโดยการสมัครเข้าเล่นดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบ้าง รับสอนเด็กๆที่ชอบดนตรีบ้าง และจากการแสดงเปียโนบ้าง

ในปี พ.ศ. 2335 เขาได้เดินทางไปยังกรุงเวียนนาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2และได้เรียนดนตรีกับไฮเดินเกือบปี ต่อมาเขาเกิดความคิดเห็นขัดแย้งกับครูของเขา ไฮเดินรู้สึกไม่พอใจ เบโธเฟนจึงออกไปเรียนกับอัลเบรซสเบอร์เกอร์ (Albrecntsberger) อยู่ 2 ปี และเรียนแต่งอุปรากรกับชาไลรี(Salieri) แต่ก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

จากความสามารถทางดนตรีของเขานี้เอง ทำให้เจ้าชายและเจ้าหญิงลิคนอฟสกี้ (Lichnowsky) นิยมในตัวเขา ได้เชิญเขาไปอยู่ในวัง จะรับเป็นผู้อุปถัมภ์ในด้านการเงินและอื่นๆ แก่เขา ถึงแม้เขาจะเป็นคนหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ มีกริยาท่าทางซุ่มซ่ามเป็นคนบ้านนอกแต่งกายปอนๆ มีอิสระเต็มที่ ไม่เกรงใจใคร เอาแต่ใจตัวเอง ขณะที่เขากำลังเล่นเปียโนให้ฟัง ถ้ามีใครพูดคุยกันและหัวเราะคิกคัก เขาจะโกรธมากและเลิกเล่นเดินหนีไปเฉยๆ แต่ก็ไม่มีใครรังเกียจ ทุกคนจะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเสียเพราะนิยมในความเป็นอัจฉริยะในทางดนตรีของเขา

ในปี พ.ศ. 2338 ขณะที่ชื่อเสียงของเขากำลังโด่งดังในฐานะนักแต่งเพลงเอก หูของเขาก็เริ่มมีอาการปวดและอื้อเมื่อ 2-3 ปีก่อนก็กำเริบขึ้นมา และหนวกอย่างสนิท เขาไม่สามารถฟังเสียงอะไรได้เลย จะพูดกับใครๆ ก็ต้องใช้วิธีเขียนหนังสือโต้ตอบไปมา เขาเริ่มคิดมากด้วยความขมขื่นในที่สุด บางครั้งก็คิดจะฆ่าตัวตาย จากความอัจฉริยะของเขานี้เอง ทำให้เขามีพลังใจเข้มแข็งและปลงตกในเรื่องความพิการ จึงได้ตั้งปณิธานว่าจะไม่ยอมสยบให้แก่ความเคราะห์ร้ายเป็นอันขาด และจะไม่ยอมให้ความพิการดึงตัวเองให้ต่ำลง เขาได้แต่งซิมโฟนีอันดับที่ 3 มีชื่อว่า เอรอยกา (The Eroica Symphony) เพลงนี้แสดงถึงความรู้สึกบูชาในวีระบุรุษ เดิมเพลงนี้ชื่อว่า โบนาปาร์ต (Bonaperte) เพื่ออุทิศให้แก่นโปเลียนที่กล้าหาญ หลังจากนโปเลียนได้สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส เขาโกรธมากที่นโปเลียนเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจึงได้ขีดชื่อโบนาปาร์ตออกและตั้งชื่อซิมโฟนีอนดับ 3 เสียใหม่ว่า EROICA ซึ่งแปลว่ากระบวนแห่ศพ (The funeral March)

เพลงซิมโฟนีเอรอยกา เป็นสัญลักษณ์ของเพลงแบบโรแมนติค(Romantic) ที่ได้เริ่มเป็นครั้งแรกแห่งโลกดนตรี โดยละทิ้งเพลงแบบคลาสสิค ตามแนวของโมสาร์ทและไฮเดินโดยสิ้นเชิง นับว่า เบโธเฟนเป็นผู้สร้างแนวใหม่และเป็นรากฐานของเพลงซิมโฟนีในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2348 เบโธเฟนได้แต่งอุปรากร ขึ้นเรื่องหนึ่ง ชื่อ Fidelio ขณะที่พักอยู่ในเวียนนา ได้นำออกแสดงครั้งแรกที่ Theater an der Wien เป็นอุปรากรเรื่องเดียวเท่านั้นในชีวิตของเขา และในปีต่อมาเขาก็เริ่มแต่งซิมโฟนีอีก เป็นซิมโฟนีอันดับ 4 แต่งขณะที่เขาตกอยู่ในอารมณ์ของความรัก เขาได้หลงรักหญิงสาวคนหนึ่ง เป็นสตรีสูงศักดิ์ของฮังการี จะแต่งงานกับคนธรรมดาไม่ได้ เป็นอันว่าเขามีความรักที่มีประเพณีขวางกั้น ในระยะนี้เบโธเฟนได้ใช้เวลาแต่งเพลง Rasumoffsky Quartet ไปด้วย เพลงซิมโฟนีอันดับที่ 4 ก็ได้สำเร็จลงในปี พ.ศ. 2350 และได้นำออกแสดงครั้งแรกที่วัง Lobkowitz พร้องกับเพลงเปียโนคอนแชร์โตอันดับที่ 4 จากนั้นก็เริ่มแต่งเพลงซิมโฟนีอันดับที่ 5 แต่ยังไม่เสร็จ และได้แต่งเพลง Overture Coriolan เสร็จก่อนแล้วได้นำออกแสดงครั้งแรกที่เมืองไอเซนสตัคท์ ซิมโฟนีอันดับที่ 5 ได้เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2351 แล้วก็แต่งซิมโฟนีอันดับที่ 6 ชื่อ Pastoral Symphony เพลงนี้ได้แต่งจากความรู้สึกที่มีความรักในธรรมชาติจากความทรงจำที่ได้พบเห็นมาจากการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ

เมื่อเขาเสนอผลงานชิ้นนี้ต่อประชาชน ก็ปรากฎว่าได้รับความสำเร็จอย่างงดงามและในปีเดียวกันเขาก็เริ่มทำงานเปียโนคอนแชร์โตอันดับที่ 5 จากนั้นอีก 4 ปี จึงได้นำออกแสดงให้ประชาชนฟัง ณ กรุงเวียนนา โดยให้ลูกศิษย์ชื่อ Czerny นำออกแสดง

ในปี พ.ศ. 2355 เบโธเฟนได้แต่งซิมโฟนีอันดับ 7 ปีนี้เป็นปีที่ยุโรปกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามนโปเลียนกรีฑาทัพเข้ายึดกรุงเวียนนา เบโธเฟนได้เดินทางออกไปยังเมืองต่างๆ หลายเมือง ระยะนี้ซิมโฟนีอันดับ 7 ก็เสร็จสมบูรณ์ แล้วก็เริ่มแต่งซิมโฟนีอันดับ 8 ขณะที่เขาเดินทางไปยังเมือง Teplitz และ Linz ในปีเดียวกัน

ในปีต่อมาได้แต่งเพลง Cantata Der Glorreiche Augenbick และในปีนี้เองเขาได้นำเอาซิมโฟนีอันดับ 7 ออกแสดงเป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยกรุงเวียนนนา เพื่อเก็บช่วยทหารออสเตรียและบาวาเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ปีต่อมาก็นำซิมโฟนีอันดับ 8 ออกแสดงเป็นครั้งแรกพร้อมกับอุปรากรเรื่อง Fidelio นับเป็นครั้งแรกที่ 3 ปีนี้ ได้นำผลงานเพลงต่างๆ ของเขาออกแสดงหลายเพลง

เบโธเฟนเริ่มแต่งซิมโฟนีอันดับ 9 ในปี พ.ศ. 2360 (Mammoth Nineh Symphony) เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมและยิ่งใหญ่ของเขา ใช้เวลาเขียนถึง 6 ปี เพลงอื่นๆ ที่แต่งเสร็จลงในปีนี้ได้แก่ Missa Solemnis ซึ่งได้แต่งให้แก่ Archduke Rudolph เพลงนี้ได้นำออกแสดงครั้งแรกที่ Petersburg ในปี พ.ศ. 2567เบโธเฟนก็ได้นำเพลงซิมโฟนีอันดับ 9 อันยิ่งใหญ่ของเขาออกแสดงเป็นครั้งแรก ณ กรุงเวียนนาหนังสือพิมพ์ลงข่าวการแสดงครั้งนี้อย่างครึกโครม เบโธเฟนกำกับเพลงด้วยตนเองท่ามกลางวงดนตรีวงใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย นักดนตรีและเครื่องดนตรีนับร้อย ทั้งนักร้องเดี่ยวและนักร้องหมู่อีกหลายสิบคนมีผู้เข้าฟังอย่างล้นหลาม เมื่อการบรรเลงได้เริ่มขึ้น เสียงเพลงจากชีวิตของเขากระหึ่มไปทั่วบริเวณ พาผู้ฟังเคลิบเคลิ้มไปสู่อีกโลกหนึ่ง ทุกคนนั่งนิ่งเหมือนถูกมนต์สะกด เสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดีจากผู้ฟังดังขึ้นสนั่น แต่เบโธเฟนผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นเลย การบรรเลงได้ดำเนินต่อไปจนจบ เพลงผู้ฟังเงียบอยู่ครู่หนึ่งจากนั้นเสียงตะโกนโห่ร้องปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จครั้งนี้ก็ดังขึ้นอีกและดังอยู่เป็นเวลานาน เบโธเฟนก็ยังคงสายตาจ้องอยู่หันหลังให้แก่ผู้ฟังเฉยอยู่ที่แผ่นโน้ตหน้าสุดท้ายจนกระทั่งมีผู้ไปสะกิดเขาเบาๆ ให้หันหน้ามาทางประชาชนผู้ฟังเขาจึงเห็นมือและใบหน้าแสดงความชื่นชมยินดีต่องานชิ้นนี้ของเขา เขารู้สึกตื้นตันใจมากจนน้ำตาไหล แล้วโค้งศรีษะรับความปลื้มใจที่สุด ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาปรากฏตัวต่อสาธารณะชน

การแสดงซิมโฟนีอันดับที่ 9 ผ่านไปได้ราว 2 ปี สุขภาพของเขาก็ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งเขามีความจำเป็นต้องนำรถฝ่าความหนาวเย็น ทำให้เขาเป็นหวัดและกลายเป็นโรคปอดบวมก็เป็นโรคดีซ่าน เขาต้องทรมานด้วยโรคนี้อยู่หลายเดือน หมอได้ทำการรักษาจนสุดความสามารถ บ่ายวันหนึ่งขณะเขากำลังป่วยหนักเกิดพายุปั่นป่วน ฟ้าคำรามแสงวูบวาบเข้ามาถึงห้องนอนเขาตกใจหงายหลัง สิ้นใจทันที เมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2370 อายุได้ 57 ปี


โจฮันน์ เซบัสเตียน บาค

โจฮันน์ เซบัสเตียน บาค

Johann Sebastian Bach

เกิดที่ เยอรมัน วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2228

ถึงแก่กรรม ที่เยอรมัน วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2293

โจฮันน์ เซบัสเตียน บาค เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2228 ณ เมืองไอเซนาค ประเทศเยอรมัน เป็นบุตรของ Johann Ambrosius Bach นักไวโอลินฝีมือดีแห่งเมืองไอเซนาค แม่ชื่อ Elisabeth Lammerhirt Bach ตระกูลบาคเป็นตระกูลใหญ่และเก่าแก่มาก ดำเนินอาชีพทางดนตรีสืบต่อกันมาเป็นเวลานานกว่าสอง ศตวรรษ “โจฮันน์เซบัสเตียน บาค เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในตระกูลนี้ ถ้าพูดถึง 3 B ผู้ยิ่งใหญ่แล้ว หมายถึงบาคร่วมอยู่ด้วย

บาคได้รับการศึกษาในชั้นต้นจากโรงเรียนประจำท้องถิ่น และขณะเดียวกันก็ได้เรียนไวโอลินและวิโอลา กับพ่อของเขาไปด้วย เมื่อบาคอายุได้ 9 ขวบ แม่ของเขาก็ถึงแก่กรรม ทำความเศร้าโศกให้แก่เขาเป็นอย่างมาก แม่ถึงแก่กรรมไม่นานนัก พ่อของเขาก็แต่งงานใหม่ และต่อมาไม่ถึงปีก็ต้องสูญเสียพ่ออันเป็นที่รักยิ่งของเขาไปอีก เขามีอายุเพียง 10 ขวบ เท่านั้นต้องกำพร้าทั้งพ่อและแม่ไม่ทราบจะไปพึ่งใคร จึงไปขออาศยอยู่กับพี่ชายคนโตชื่อ โจฮันน์ คริสโตฟ ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นนักออร์แกนประจำอยู่ที่โบสถ์เซนต์ไมเคิล(St. Michael) ในเมืองโอร์ดรูฟ(Ohrdruf) ซึ่งอยู่ห่างจกเมืองไอเซนาคประมาณ 30 ไมล์ พี่ชายได้อุปการะให้เรียนต่อที่โรงเรียนในท้องถิ่นนั้น บาครู้สึกว่าตนมีโอกาสดีอย่างยิ่งเพราะที่บ้านของพี่ชายมีเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด เขาได้ขอให้พี่ชายสอนคลาเวียร์ให้เป็นครั้งแรก และต่อมาก็ได้เรียนออร์แกน

บาคเรียนดนตรีทั้งสองได้รวดเร็วจนเกือบจะทัดเทียมพี่ชาย บางครั้งทำให้พี่ชายอิจฉาในความเป็นอัจฉริยะของเขา แสดงความไม่พอใจออกมาอย่างชัดแจ้ง เพราะกลัวน้องชายจะเก่งเกินหน้า จึงกีดกันเสมอๆ โดยห้ามไม่ให้น้องชายเอาโน้ตเพลงสำหรับออร์แกนของนักดนตรีชั้นเยี่ยมของเยอรมันที่เขาจะเก็บสะสมเอาไว้ไปดู ได้เก็บโน้ตเหล่านั้นใส่ตู้ใส่กุญแจอย่างแน่นหนา ด้วยเหตุผลที่บาคมีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะเล่นออร์แกนจากโน้ตชิ้นเยี่ยมๆ เหล่านั้นให้ได้ เขาพยายามหาโอกาสแอบเอาโน้ตที่พี่ชายซ่อนเอาไว้ออกมาคัดลอกไว้ที่ละน้อย ในตอนกลางคืนเดือนหงาย เพราะเขาไม่มีตะเกียงหรือแม้แต่เทียนไขสักเล่มเดียว บาคพยายามลอกโน้ตเพลงเหล่านั้นอยู่นานถึง 6 เดือน จึงสำเร็จ นับว่าเขามีความอุตสาหะอย่างยอดเยี่ยมจริงๆ วันหนึ่งพี่ชายของเขาได้เข้ามาพบในขณะที่เขากำลังเล่นคลาเวียร์ จากโน้ตที่เขาลอกไว้อย่างเพลิดเพลิน พี่ชายเขาโกรธมาก จึงคว้าเอาโน้ตเพลงทั้งหมดที่เขาพยายามลอกถึง 6 เดือนโยนเข้าเตาไปอย่างไม่ปราณี บาคนั่งมองด้วยความขมขื่นและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากเล่นดนตรีได้เก่งแล้วบาคยังสามารถร้องเพลงได้ไพเราะมากจนพวกเด็กๆนักร้องรุ่นเดียวกันสู้ไม่ได้ เมื่อบาคอายุได้ 15 ปี ฐานะทางครอบครัวของพี่ชายขาดแคลนถึงขั้นทรุดนัก จึงกระทบกระเทือนถึงการเล่าเรียนของบาคประจวบกับในเวลานั้น มีครูสอนดนตรีคนหนึ่งมาจากโบสถ์เซนต์ไมเคิล แห่งเมือง Luneburg มาพบบาคเข้าและเห็นว่าเป็นเด็กที่มีน้ำเสียงไพเราะและมีแววในทางดนตรีอยู่มาก จึงชักชวนบาคเป็นนักร้องหมู่ประจำโบสถ์เซนต์ไมเคิล บาคจึงตัดสินในไปเผชิญชีวิตด้วยตนเอง

บาคได้เดินทางติดตามครูดนตรีไปยังเมือง Luneburg ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโอร์ดรูฟขึ้นไปทางเหนือประมาณ 200 ไมล์ และได้เป็นนักรองประจำโบสถ์เซนต์ไมเคิลในปี พ.ศ. 2244 บาคอายุได้ 16 ปี เสียงที่เคยแหลมและไพเราะกลายเป็นเสียงแตกห้าว ร้องเพลงไม่ได้ จึงทำหน้าที่เป็นนักไวโอลินและวิโอลาแทนการขับร้อง ขณะที่บาคประจำอยู่ที่โบสถ์เซนต์ไมเคิลนี้ เขาได้เทคนิคการเล่นออร์แกนและหัดแต่งเพลงไปด้วย เขาอยู่ที่นี่ 3 ปี มีโอกาสดูตัวอย่างการเล่นออร์แกนของ Georg Bohm นักแต่งเพลงและนักออร์แกนชั้นเยี่ยมแห่งโบสถ์เซนต์จอห์น(St.John) ครั้งหนึ่งในปีเดียวกันนี้ บาคได้ทราบข่าวว่าที่เมืองแฮมเบอร์ก มีนักออร์แกนที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งชื่อ แจน อดัมส์ ไรน์แคน ซึ่งขณะนั้นอายุ 78 ปี กำลังเปิดการแสดงการเล่นออร์แกนอยู่บาคตั้งใจจะไปฟังให้ได้ พอถึงวันหยุดเรียนเขาจึงเดินทางไปยังเมืองแฮมเบอร์กซึ่งอยู่ไกลถึง 30 ไมล์ เมื่อได้เห็นและได้ฟังการเล่นออร์แกนของนักดนตรีผู้เฒ่าแล้ว มีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง เขาได้เดินทางไปฟังอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งเดินทางโดยเท้าทั้งสิ้น

เมื่อบาคอายุได้ 18 ปี้ เขาได้ลาออกจากโบสถ์เซนต์ไมเคิล แล้วเดินทางไปเมืองไวมาร์ เพื่อสมัครเป็นนักไวโอลินและออร์แกนประจำวงดนตรีของดยุค Johann Ernst ทำงานอยู่ที่เมืองนี้ไม่นานก็ได้ลาออกเกดินทางไปยังเมืองอาร์น สตัดท์ ที่เมืองนี้มีโบสถ์สร้างเสร็จใหม่ๆ ชื่อเซนต์โบนิเฟซ (St. Boniface) กำลังต้องการนักออร์แกนอยู่ บาคจึงสมัครเป็นนักออร์แกนประจำโบสถ์ ขณะที่ทำงานอยู่ทีโบสถ์แห่งนี้ บาคได้แต่งเพลงสำเร็จเพลงหนึ่งได้แก่เพลง Easter Cantata ต่อมาในปี พ.ศ. 2248 เขาได้รู้จักกับหญิงสาวสวยตระกูลเดียวกัน คนหนึ่งชื่อมาเรีย บาร์บารา (Maria Barbara) ได้สนิทสนมรักใคร่กันถึงกับตกลงว่าจะแต่งงานกัน ปีต่อมานักออร์แกนประจำโบสถ์เซนต์แบสีอุส( St. Blasius) แห่งเมืองมึลเฮาเซนได้ว่างลงเนื่องจากนักออร์แกนคนเก่าถึงแก่กรรมบาคได้ทราบข่าวนี้จึงคิดจะไปอยู่ที่นั่นเพราะบาคเคยมีเรื่องถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากลาหยุดงานไปฟังการเล่นออร์แกนของนักออร์แกนที่เชี่ยวชาญคนหนึ่งแห่งเมืองลือเบค มีกำหนดลา 1 เดือน แต่บาคมัวเพลิดเพลินกับการฟังเกือบ 4 เดือน

ในที่สุดบาคก็ได้ลาออกจากที่ทำงานเดินทางไปทำงานในตำแหน่งนักออร์แกนประจำโบสถ์เซนต์แบลสิอุส และได้แต่งงานกับมาเรีย บาร์บารา ในปี พ.ศ. 2250 ซึ่งขณะนั้นบาคมีอายุ 22 ปี เจ้าสายของเขาอายุ 23 ปี ทำงานอยู่ที่โบสถ์เซนต์แบลซิอุสได้เพียงปีเดียวก็ลาออก แล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองไวร์มาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เขาได้รับตำแหน่งนักออร์แกนประจำวงดนตรีของดยุค Wilhelm Ernst ในตอนนี้บาคมีชื่อเสียงในการเล่นออร์แกนโด่งดังมาก ปีต่อมาบาคมีลูกคนแรกเป็นหญิง หลังจากได้ลูกสาวคนแรกแล้วเขาได้แต่งเพลงออร์แกนขึ้นอีกหลายเพลง ปี พ.ศ. 2253 มีลูกคนที่ 2 เป็นชาย บาคได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เสมอ เพื่อไปติดตั้งออร์แกนใหม่ให้กับโบสถ์ประจำเมืองนั้นๆ ปี พ.ศ. 2257 บาคมีบุตรคนที่ 3 เป็นชาย ชื่อ คาร์ล ฟิลิปป์ เอมานูเอล และใน ปีพ.ศ. 2259 บาคมีบุตรคนที่ 4 และในปีนี้ได้แต่งเพลง Cantata ขึ้นเพลงหนึ่งชื่อ Was mir behagt

บาคทำงานอยู่ที่เมืองไวร์มาเป็นเวลานานถึง 9 ปี เริ่มตั้งแต่เล่นออร์แกนจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าวงดนตรี ต่อมาไม่นาน ตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีก็ว่างลงเนื่องจากคนเก่าถึงแก่กรรม บาคก็หวังจะได้ตำแหน่งนี้ แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เมื่อเขาผิดหวังเขาก็ตกลงใจที่จะไปเป็นผู้อำนวยการแก่ราชสำนักของเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) ตามที่ได้ทาบทามมา

ที่ราชสำนักของเจ้าชายเลโอโปลด์บาคควบคุมวงดนตรี ซึ่งมีนักดนตรีทั้งหมด 18 คน ขณะที่ประจำอยู่ที่นี่เขาได้แต่งเพลง Cantata ขึ้นหลายเพลง ในปี พ.ศ. 2262 บาคได้เดินทางไปอังกฤษ เยอรมันนีและแวะไปเยี่ยมบ้านเกิดของตนเองที่เมืองไอร์ซนาค ในระยะนี้ได้แต่งเพลงสำหรับคลาเวียร์และแชมเบอร์มิวสิคหลายเพลง

ในปี พ.ศ. 2263 บาคได้ติดตามเจ้าชายเลโอโปลด์ไปยังเมืองคาร์ลสบาค เมื่อเดินทางกลับถึงเมืองคูเธน ก็ได้ทราบข่าวร้ายภรรยาของตนได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว บาคเสียใจมาก เขาต้องประสบกับความยุ่งยากและลำบากอย่างยิ่ง เพราะต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกต่อไปแต่เพียงผู้เดียว ชีวิตของเขาต้องระเหเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ที่ไหนถูกใจก็อยู่ได้นาน ที่ไหนไม่ถูกใจก็เดินทางต่อไป ขณะที่เขาอยู่กับเจ้าชายเลโอโปลด์เขารู้สึกสะดวกสบายกว่าแห่งอื่น บาคได้สอนดนตรีให้แก่เจ้าชายทุกอย่างตามที่ต้องการ เจ้าชายจึงรักใคร่นับถือเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม บาคก็อยู่กับเจ้าชายได้ไม่นานนัก เนื่องจากชายาของพระองค์ไม่ชอบดนตรี แสดงความไม่พอใจบาค บาคจึงหางานใหม่ เขาได้ติดต่อไปยังโบสถ์เซนต์จาคอป(St. Jacob) ที่เมืองแฮมเบอร์ก เพื่อที่จะสมัครเป็นนักออร์แกนแต่ก็ผิดหวัง เขาจึงจำใจอยู่กับเจ้าชายต่อไป ปีต่อมาเขาได้แต่งเพลง Concerto สำเร็จ 6 เพลง มีชื่อว่า “Brandenburg Concerto” นอจากนั้นมีเพลง Suites, Sonata หลายเพลง เพลงสำหรับคลาเวียร์อีกหลายเพลง นอกจากแต่งเพลงแล้วบาคยังได้เขียนหนังสือแนวทางสำหรับการเรียนดนตรีไว้ 2 เรื่องมี Inventions และ The Little Note book of Anna Magdalena สำหรับให้ลูก ๆ ได้ศึกษาดนตรี ทั้งภาคทฤษฎีและแบบฝึกหัดต่างๆ

หลังจากภรรยาตายไปประมาณ 1 ปี เขาก็พบกับรักใหม่กับแอนนา แมกดาเลนา วิลเคน และได้แต่งงานกันในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2264 ซึ่งขณะน้นเจ้าสาวของเขาอายุเพียง 20 ปี และตัวเขาเองอายุ 36 ปี บาคได้สอนแอนนาเล่นคลาเวียร์จนกระทั่งสามารถเล่นได้เป็นอย่างดี นอกจากเล่นคลาเวียร์แล้วยังสามารถร้องเพลงได้อีกด้วยแอนนาช่วยเหลือบาคได้อีกด้วย แอนนาช่วยเหลือบาคได้มาก เช่นช่วยลอกโน้ตเพลงที่แต่งไว้ได้อย่างเรียบร้อย

ในปี พ.ศ. 2265 หัวหน้านักร้องประจำโบสถ์เซนต์ โธมัส (St.Thomas) ได้ถึงแก่กรรมตำแหน่งจึงว่างลง มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงไปสมัครหลายคน บาคก็ได้สมัครด้วย ในระหว่างที่บาคเดินทางไปสมัคร เขาได้เปิดการแสดงเพลงแคนตาตาที่เขาแต่งเองอีกด้วย จากนั้นก็กลับเมืองคเธนอีก เพื่อจะฟังผลการสมัครงานในไม่ช้าคณะกรรมการก็ตัดสิน ให้บาคเข้ารับตำแน่งดังกล่าว เมื่อบาคทราบข่าวก็ได้ลาออกจากสำนักของเจ้าชายเลโอโปลด์เดินทางไปยังเมืองไลพ์ซิก เพื่อรับตำแหน่งดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2283 นัยตาของบาคเริ่มพร่ามัวลง บาครู้สึกลำบากใจเกี่ยวกับสายตาอยู่มาก อย่างไรก็ตามบาคก็ได้อุตสาห์แต่งเพลงต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้งและต่อมาในปี พ.ศ. 2290 เขาได้เดินทางร่วมกับวิลเฮล์ม ฟรายด์มันด์ ลูกชายคนโตเพื่อไปร่วมในพิธีแต่งงานของ คาร์ล ฟิลิปป์ เอมานูเอล ลูกชายคนที่ 2 ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงอยู่ในสำนักของพระเจ้าเฟรเดริคมหาราชดังกล่าวแล้ว พระเจ้าเฟเดริคมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยดนตรี พระองค์ทรงโปรดขลุ่ย(Flute) มากที่สุดวันหนึ่งขณะที่พระองค์กำลังทรงขลุ่ยร่วมกับนักดนตรีของพระองค์ ได้ทราบข่าวว่าบาคได้เดินทางมาเยี่ยมบุตรชาย พระองค์ทรงตื่นเต้นและออกมาต้อนรับด้วยพระองค์เอง

หลังจากเสร็จธุระที่ปอตสดัมแล้ว บาคก็เดินทางกลับเมืองไลพ์ซิก เขาได้เริ่มแต่งเพลงอีกเพลงหนึ่งตามแนวของพระเจ้าเฟเดริคมหาราชคือเพลง “Musikalisches Opfer” เมื่อแต่งเสร็จก็ส่งไปถวายพระเจ้าเฟเดริคมหาราช

ปี พ.ศ. 2291 บาคได้เริ่มแต่งเพลง ใหม่อีกเพลง คือ “Die Kunst der Fugue” หลังจากนั้นสุขภาพก็เสื่อมโทรมลงมาก ตาที่เคยพร่ามัวอยู่แล้วก็เริ่มบอดไม่สามารถมองเห็นอะไรได้อีก เขากลายเป็นคนพิการ โบสถ์เซนต์โธมัสก็ปลดเขาออกจากงาน บาคได้รับการทรมานจากการเจ็บปวดลูกนัยน์ตาจนซูบผอม อาการป่วยก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ แม้เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม เขาก็ยังเป็นห่วงงานในด้านเพลงที่เขาแต่งค้างไว้ จึงได้พยายามที่จะแต่งต่อให้เสร็จ เขาพยายามแต่งต่อโดยวิธีให้คนอื่นจดโน้ตเพลงตามคำบอก เขาแต่งโดยวิธีนี้ต่อไปจนจบ 2 เพลง คือ เพลง When We are in Deepest Need และเพลง Before Toy Throne I come

บาคได้ให้หมอผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษทำการผ่าตัดลูกตาหลายหน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลับบอดสนิทยิ่งขึ้น หลังจากได้ทำการผ่าตัดลูกตาไม่กี่วัน อาการป่วยของบาคก็เพียบหนักลงทุกทีจนกระทั่งค่ำวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2293 รวมอายุได้ 65 ปี บาคก็สิ้นใจท่ามกลางความอาลัยของบรรดาลูกๆ ซึ่งมีทั้งหมดถึง 20 คน (เกิดจากภรรยาเก่า 7 คน ภรรยาใหม่ 13 คน) ภรรยา ลูกศิษย์และมิตรสหายทั้งหลาย ศพของเขาได้ทำพิธีฝังไว้ใกล้ๆ กับโบสถ์เซนต์จอห์น ณ เมืองไลพ์ซิก


ฟรันซ์ โจเซฟ ไฮเดิน

ฟรันซ์ โจเซฟ ไฮเดิน

Franz Joseph Haydn

เกิดที่ ออสเตรีย วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2275

ถึงแก่กรรมที่ ออสเตรีย วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2352

ฟรันซ์ โจเซฟ ไฮเดิน เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2275 ที่โรห์เรา(Rohrau) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ทางภาคใต้ของออสเตรีย บิดาชื่อ แมทเธียส ไฮเดิน(Matthias Haydn) มีอาชีพเป็นช่างทำล้อรถและทำฟาร์มเล็กๆ มารดาชื่อ มาเรีย(Maria) ไฮเดินเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 12 คน

วันหนึ่ง โจฮันน์ แมทเธียส แฟรงค์(Johann Mattias Franck) เป็นครูสอนดนตรีที่ไฮน์เบิร์ก (Hainburg) และเป็นญาติกับพ่อของไฮเดินด้วย ได้แวะมาเยี่ยมครอบครัวของไฮเดิน เมื่อได้ยินเสียงร้องเพลงของไฮเดิน ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 5 ขวบ ก็เกิดความสนใจ จึงขอรับไว้ให้อยู่ในความอุปการะของตน ด้วยความยินยอมของพ่อแม่ ไฮเดินจึงเดินทางไปอยู่กับแฟรงค์ที่ไฮน์เบอร์ก และไฮเดินก็ได้เริ่มเรียนดนตรีครั้งแรกในชีวิตจากแฟรงค์นี่เอง ไฮเดินได้เรียนฮาร์พซีคอร์ด ไวโอลินและการขับร้องเป็นเวลา 2 ปี Georg Reutter ผู้อำนวยการวงดนตรีของโบสถ์เซนต์สตีเฟน(St. Stephen) แห่งกรุงเวียนนา ได้พบไฮเดินกำลังร้องเพลง เกิดความพอใจเป็นอย่างยิ่งจึงได้ขอไฮเดินจากแฟรงค์ให้ไปอยู่กับตน ไฮเดินจึงเดินทางไปกรุงเวียนนาได้ไปเป็นนักร้องประจำอยู่ในโบสถ์ เซนต์สตีเฟน ที่กรุงเวียนนานั่นเอง

ด้วยความสามารถในการร้องอันเป็นเลิศนี้เอง ทำให้เขาได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้านักร้องนำหมู่ ไฮเดินใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 9 ปี ขณะนั้นเขามีอายุ 17 ปี เสียงที่เคยแจ่มใสก็เริ่มแตก เป็นเสียงห้าวเครือ ซึ่งตามกฎเขาจะต้องออกจากโรงเรียน แต่ครูทั้งหลายยังรักเขาอยู่ จึงให้อยู่ต่อไป วันหนึ่งขณะที่เขาเห็นหางเปียของเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ด้วยความคะนองเขาจึงเอากรรไกรที่ซ่อนไว้มาตัดหางเปียเพื่อน เมื่อครูทราบจึงโกรธมาก ไฮเดินจึงต้องออกจากโบสถ์ เซนต์สตีเฟน ด้วยเหตุนี้เอง

เมื่อออกจากโบสถ์ ก็ไปร่วมวงกับพวกนักดนตรีข้างถนนในกรุงเวียนนาร้องบ้างเล่นบ้าง ในช่วงนี้เองเขาได้แต่งเพลง Serenade และทดลองเล่นกับวงนี้ วันหนึ่ง นิคโคโล ปอร์โปรา (Niccolo Porpora) เป็นนักแต่งเพลง และครูสอนดนตรีชาวอิตาลี ได้ยินก็เกิดความสนใจเมื่อทราบว่า ไฮเดินเป็นคนแต่ง จึงชักชวนไปอยู่กับตน ไฮเดินก็ตอบตกลง ในช่วงนี้ไฮเดินได้แต่งเพลงและศึกษาวิชาดนตรีไปด้วย ชื่อเสียงของไฮเดินเริ่มเป็นที่รู้จักบ้างแล้ว ไฮเดินได้รับเชิญให้ไปแสดงดนตรี Chamber Music ที่ปราสาทท่านเคานต์ Weinzierl และได้รู้จักกับท่านเคานต์ Furnberg ต่อมาเป็นผู้อุปถัมภ์ไฮเดิน ได้มอบหมายให้ไฮเดินเป็นหัวหน้าวงของท่านเคานต์เฟอร์ดินานต์ แมกซิมิเลียนฟอน มอร์ซิน (Count Ferdinand Maximilian von Morzin) ที่ Lukavec และที่นี่เอง ไฮเดินได้แต่ง Symphony ขึ้นเป็นครั้งแรกในกุญแจเสียง D major และ เป็น Symphony ชิ้นแรกของโลก ในขณะที่เขามีอายุได้ 27 ปีพอดี ไฮเดินจึงได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งซิมโฟนี” ไฮเดินได้แต่งงานเมื่ออายุ 28 ปีกับมาเรีย แอนนา เคลเลอร์ อายุ 32 ปี ชีวิตการแต่งงานไม่ค่อยจะราบรื่นนักเพราะมีอะไรหลายอย่างที่ไม่สามารถไปกันได้และในที่สุดก็เลิกรากันในระยะเวลาอันสั้นและในปีนี้เขาได้แต่ง Symphony No. 2 in C Major

พ.ศ. 2306 ท่านเคานต์มอร์ซิน ได้เลิกวงดนตรี พอดีกับเจ้าชาย ปอลแอนตัน อีสเตอร์ฮาซี่ (Prince Paul Anton Esterha’zy) ได้ให้เขาไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าวงที่ปราสาท Eisenstadt ในปีนี้ได้แต่ง Symphony No.3 in G Major, No.4 in D Major, No. 5 in A Major และเพลงอื่นๆ อีกมาก ต่อมาเจ้าชายอีสเตอร์ฮารีได้สิ้นพระชนม์ เจ้าชายนิโคลัส ซึ่งเป็นพระอนุชาได้เป็นผู้สืบรัชทายาทและได้สร้างปราสาทขึ้นใหม่ชื่อ Esterhaz ต่อมาหัวหน้าวงได้ถึงแก่กรรม ไฮเดินจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวง

เพลง Symphony ของไฮเดินนั้น เป็นเพลงที่มีความบันดาลใจอย่างลึกซึ้ง เขาเคยผ่านความยากจน เคยอยู่ใกล้ชิดเจ้านายสูงศักดิ์ ดังนั้น Symphony ของเขาจึงระคนไปด้วยสิ่งเหล่านี้ เพลง Symphony ที่เกิดจากความคิด อารมณ์ขันและเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจของเขาได้แก่ “Fare Well Symphony” เป็น Symphony No. 45 in F sharp Minor ซึ่งเมื่อเจ้าชายนิโคลัสได้ฟังจบแล้ว ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจพวกนักดนตรีทั้งหลายได้รับอนุญาตลากลับบ้านพักผ่อนและพบครอบครัวได้

ใน พ.ศ. 2316 ได้นำอุปรากร เรื่อง “ L’ Infedelta delusa” และ Symphony no. 48 in C Major ออกแสดงเพื่อต้อนรับพระนางมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa) ที่ได้เสด็จมาเยี่ยมปราสาท Esterhaz และได้ตั้งชื่อ Symphony บทนี้ว่า “Maria Theresa”

ในปี พ.ศ. 2324 ไฮเดินได้พบกับโมสาร์ทเป็นครั้งแรกที่เวียนนา มิตรภาพของคนทั้งสองเป็นไปอย่างรวดเร็ว โมสาร์ทไดเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากไฮเดิน โดยเฉพาะ String Quartet ซึ่งไฮเดินได้ยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งสตริงควอเต็ด” ในปี พ.ศ. 2324 เพลงชุดสตริงควอเต็ท 6 เพลง ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ ได้แก่ No 1 in B Minor, No 2 in E flat Major, No 6 in C Major , No 4 in B flat Major , No 5 in G Major , No 3 in D Major

ใน พ.ศ. 2333 ขณะที่ไฮเดินอายุ ได้ 58 ปี เจ้าชายนิโคลัสได้สิ้นพระชนม์ ทายาทคนใหม่ไม่ชอบดนตรีจึงเลิกล้มวงดนตรี ดังนั้นวงดนตรีที่ไฮเดินเป็นหัวหน้าวงก็ต้องสลายตัวและสิ้นสุดลง

ไฮเดินอำลาวังแห่งตระกูล อิสเตอร์ฮาซี่ ไปพักอยู่ในเวียนนา

อีกปีต่อมา เจ.พี. ซาโลมอน (J.P. Salomon) ผู้จัดการวงดนตรีแห่งกรุงลอนดอน ได้เดินทางมาพบไฮเดินที่กรุงเวียนนา เพื่อเชิญไปแสดง Concert เมื่อไฮเดินตกลงก็เดินทางไปลอนดอน ไฮเดินได้รับการต้อนรับอย่างมโหฬาร เราะชาวลอนดอนรู้จักชื่อเสียงของไฮเดินมาก่อนแล้ว ในโอกาสแรกที่เดินทางไปถึง ได้รับเชิญจากปริ๊นซ์ ออฟ เวลล์(พระเจ้ายอร์จที่ 4) ไปสู่วังเซนต์เจมส์ ในโอกาสนี้เขาได้ตกลงจะแต่งเพลงให้วงของ ซาโลมอน 12 เพลง และแต่งเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2338

มหาวิทยาลัย ออกฟอร์ด ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ทางดนตรี(Doctor of Music) ให้แก่ไฮเดิน โดยจัดพิธีอย่างใหญ่โตและนายกเทศมนตรีเป็นผู้มอบให้ นับเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของเขาที่ได้รับเกียรติอันนี้ และในปีนี้เองบีโธเฟนได้มาสมัครเป็นลูกศิษย์

ด้วยเกียรติประวัติอันดีงามที่ไฮเดินได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและชาติบ้านเกิดเมืองนอนของตน ท่านเคานต์ Harrach จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นเกียรติแก่ไฮเดิน ที่โรห์เรา บ้านเกิดของเขา เมื่อ พ.ศ. 2336

หลังจากกลับมาพักผ่อนในเวียนนา ได้รับเชิญจากพระเจ้ากรุงอังกฤษและพระราชินี ให้ไปพักผ่อนที่พระราชวังวินเซอร์ และในคราวนี้เขาได้แต่ง Symphony No 100 in G Major, No 101 in D Minor, No 102 in B flat Major, No 103 in E flat Major, และ No 104 in D Minor ซึ่งเป็น Symphony บทสุดท้ายในชีวิตของไฮเดิน

ไฮเดินได้กลับไปเยือนบ้านเกิดอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2339 และได้แต่งเพลงชาติเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ จักรพรรดิ ฟร้านซ์ ที่ 2 Emperor Franz II) เนื่องในวันพระราชสมภพ ต่อมาเพลงนี้เป็นเพลงชาติของออสเตรีย ไฮเดินถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2352 ด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ 77 ปี ไฮเดินตายในขณะที่ทหารฝรั่งเศส ภายใต้การนำของนโปเลียนกำลังยึดครองกรุงเวียนนาและทหารฝรั่งเศสก็ได้ทำพิธีฝังศพให้อย่างสมเกียรติ ณ โบสถ์ แห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา


ปีเตอร์ อีลิค ไชคอฟสกี

ปีเตอร์ อีลิค ไชคอฟสกี

Perter Ilich Tchikovsky

เกิดที่รุสเซีย วันนที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2383

ถึงแก่กรรมที่รุสเซีย วัยที่ 7 พฤศจิกายน พ.ซ. 2436

ปีเตอร์ อีลิค ไชคอฟกกี เกิดที่เมืองวอลท์กินสค์ (Voltknnsk) แคว้นเวียตตา (Vyatka) ประเทศรุสเซีย เมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของอิลยา เปโตรวิทซ์ ไชคอฟสกี (Ilya Petrovich Tchikovsky) เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจกิจการเหมืองแร่ของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่เมืองวอลท์กินสค์ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดต่อกัเอเซียตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคามา(Kama)เชิงเขาอูราล(Ural) มารดาชื่ออเลกซานดรา(Alexandra) เขาเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุได้ 4 ขวบ และเริ่มเรียนดนตรีเมื่ออายุได้ 5 ขวบ เขาสามารถเล่นเปียโนและอ่านโน้ตเพลงได้เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ในระหว่างนี้เขาไม่ได้คิดที่จะยึดดนตรีเป็นอาชีพ จึงไม่ได้เรียนดนตรีอย่างเอาจริงเอาจังเท่าใดนัก

บิดาของเขาได้อพยพครอบครัวไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก (St. Petersburg) และได้ตั้งแหล่งทำมาหากินอยู่ที่นั่น เมื่อไชคอฟสกีอายุ 10 ขวบ ก็ได้เข้าโรงเรียนกฎหมายและพร้อมกันนั้นก็ได้เริ่มฝึกหัดแต่งเพลงไปด้วย เมื่ออายุได้ 14 ปี ได้เกิดโรคระบาดไปทั่วเมืองแม่ของเขาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคระบาดครั้งนั้น ทำให้เขาเป็นคนมีอารมณ์เศร้าโดยตลอดมา เขาได้พยายามตั้งใจเรียนปริญญาตรีทางกฎหมายแล้วก็สมัครเข้าทำงานในกระทรวงยุติธรรม ณ เมือง เซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ทำอยู่ได้ไม่นานนักก็รู้สึกเบื่องานไม่อยากจะทำงานต่อไป เขาอยากจะดำเนินอาชีพทางดนตรีมากกว่า จึงได้ใช้เวลาว่างเที่ยวเตร่ตามที่ต่างๆ ดูคณะบัลเลต์และอุปรากรไปเรื่อยๆ นอกจากนั้นเขาก็หาเวลาฝึกซ้อมเปียโนอยู่เสมอๆ แต่ก็เป็นการฝึกหัดเล่นด้วยตนเอง เขาใฝ่ฝันที่จะเรียนดนตรีกับครูดนตรีที่มีความสามารถในทางนี้โดยเฉพาะ

เขาได้เริ่มเรียนดนตรีกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อนิโคลลาส ซาเรมบาสมใจนึก เขาใช้เวลาตอนเลิกงานแล้วมาเรียนทุกวัน ขณะนั้นเขาอายุได้ 21 ปีแล้ว จึงนับว่าค่อนข้างจะสายเกินไป เพราะบรรดานักดนตรีที่มีชื่อสเยงของโลกแต่ละคนนั้นได้เรียนดนตรีกันตั้งแต่อาขยุยังน้อยทั้งนั้น เขาจึงเสียใจมากและเสียดายที่มัวแต่ไปเรียนกฎหมาย ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับเขา อย่างไรก็ตามเขาก็ได้มุมานะเอาดีทางดนตรีอย่างสุดความสามารถ

ไชคอฟสกีมีโอกาสได้เดินทางติดตามเพื่อนของพ่อของเขาท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปหลายประเทศด้วยกัน เช่น เยอรมัน เบลเยี่ยม อังกฤษและฝรั่งเศส เขาได้พบเห็นอะไรหลายอย่าง เขาได้เข้าชมอุปรากร เข้าฟังดนตรีและฟังการร้องเพลงของนักร้องเสียงโซปราโนที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 18 ดูละครคลาสสิคที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส เมื่อเขากลับถึงบ้านเขามีความมุ่งมั่นและตั้งใจเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เขาหวังจะเอาดีทางดนตรีให้จงได้ เขาทำงานและเรียนดนตรีไปพร้อมๆ กันมาเรื่อยๆ ใจก็นึกอยากจะลาออกจากงานมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนดนตรีอย่างเดียว พอดีกับในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการจัดสถาบันการดนตรีขึ้นในเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก เขาจึงได้สมัครเข้าเรียนเป็นคนแรก เข้าเรียนเฉพาะตอนเย็นในวิชา Orchestration เทคนิคการเล่นเปียโนและออร์แกน เขาทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 เขาตัดสินใจออกจากงานที่เขาทำประจำอยู่ และมุ่งเรียนดนตรีแต่เพียงอย่างเดียวหนักทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากความาานะพยายามจึงทำให้เขามีความสามารถในการเรียนดีเลิศจนได้รับคำชมเชยจากครูผู้สอน

ไชคอฟสกีได้แต่งเพลงสำเร็จเป็นครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2408 คือ เพลง Overture The Storm และเพลง Overture in C minor ขณะที่เขาแต่งเพลงนั้น การศึกษาทางดนตรีก็เกือบจะสำเร็จ ก่อนที่เขาจะได้รับปริญญาทางดนตรีนั้น เขาจะต้องเสนอผลงานทางวิทยานิพนธ์ด้วยการแต่งเพลงและนำออกแสดงให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตรวจและฟัง เพื่อรับรองเสียก่อน เขาได้เริ่มแต่งเพลงเพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ โดยได้แต่งเพลงประเภท Cantata สำหรับร้องและเล่นกับวง Orchestra เขาได้เลือกแต่งเพลงนี้จากบทกวีมีชื่อบทหนึ่งของ ชิลเลอร์ (Schiller) การพิจารณาของกรรมการให้รับปริญญาบัตรได้และกล่าวว่า เพลง Cantata เพลงนี้ดีมากทีเดียว ดีถึงขั้นได้รับรางวัลเหรียญเงินของสถาบันอีกด้วย

เมื่อเขาเรียนสำเร็จได้รับปริญญาแล้วก็เดินทางไปยังกรุงมอสโก โดยตั้งใจจะไปสอนวิชา Harmony ในสถาบันการแสดงดนตรีที่ตั้งใหม่ แห่งหนึ่งตามคำเชิญของสถาบันแห่งนั้น ขณะที่เขาพักอยู่ที่กรุงมอสโก 2-3 วันแรก เขาเกิดความคิดอยากจะนำเพลง Overture in C minor ของเขาออกแสดง เขาได้นำเพลงของเขาไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อน ปรากฎว่ายังไม่ดีพอยังนำออกแสดงไม่ได้ เขาจึงได้ส่งต้นฉบับเพลงนี้ไปให้เพื่อนรักของเขาคนหนึ่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ให้นำไปขอร้องครูเก่าของเขานำออกแสดงที่นั่น ก็ได้รับการปฏิเสธและหัวเราะเยาะอีก เพื่อนของเขาจึงได้นำไปของร้องผู้กำกับวงดนตรีของ Opera Concert ให้นำเพลงของเขาร่วมโปรแกรมด้วย ก็ได้รับการปฏิเสธอีก เพลงนี้จึงไม่ได้นำออกแสดงที่ไหนเลย จนกระทั่งไชคอฟสกีได้ตายไปแล้ว ถึง 38 ปี เพลงนี้จึงมีโอกาสได้นำออกแสดง

ไชคอฟสกี ได้หลงรักนักร้องสาวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ เดซิเร่ อาร์โสท์ เธอต้องตระเวณแสดงร้องเพลงไปเรื่อยๆ ทั่วยุโรป ทำให้ไชคอฟสกีต้องตกอยู่ในห้วงแห่งอารมณ์ฝันเขาต้องรอคอยวันแต่งงาน จึงทำให้เขาแต่งเพลงสำหรับเปียโนขึ้นเพลงหนึ่งคือเพลง Romance in F minor แต่ในที่สุดเขาก็ไม่ได้แต่งงานกันตามที่หวังไว้เนื่อจากเดซิเร่ได้ตัดสินใจแต่งงานกับคนอื่นไปเสียก่อน เหตุที่ทำเช่นนั้นก็เพราะเขาโกรธไชคอฟสกีที่ผิดนัดครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ไชคอฟสกีผิดหวังเรื่องความรัก เขาไดทำงานอย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้งหนึ่ง โดยหวังให้งานช่วยให้ลืมความหลังเสีย เขาได้นำอุปกรณ์เรื่อง The Voivoda เปิดการแสดงที่กรุงมอสโก ครั้งนี้ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก็มีนักวิจารณ์บางคนวิจารณ์ไปในทางไม่ดี เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม เขาเสียใจมากและได้ฉีกต้นฉบับเพลงประกอบอุปรากรเรื่องนี้ทิ้ง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ฐานะทางการเงินของเขาก็เริ่มฝืดเคืองเขาพยายามคิดแก้ปัญหา เขาไม่สามารถจะรวมเพลงต่างๆ จัดแสดงแบบวง Symphony Orchestra ได้ จึงได้คิดแต่งเพลงสำหรับวง Chamber เขาได้แต่งเพลง string Quartet ขึ้นเพลงหนึ่งชื่อ String Quartet in D Major เป็นเพลงที่แสดงถึงความเศร้าสร้อยเยือกเย็น แสดงถึงความหม่นหมองในใจ

ในปี พ.ศ. 2420 เขาได้แต่งเพลง Symphony No 4 in F minor และได้เขียนอุปรากรเรื่อง Eugene Oniegin ในระยะนี้ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงเขาเป็นจดหมายรักที่ฝ่ายหญิงสารภาพความรักก่อน เขาจึงประหลาดใจมากและได้ตอบจดหมายทำนองปลอบใจไปตามมารยาท ต่อมาเธอก็ได้เขียนจดหมายมาอีก โดยรบเร้าให้เขาแต่งงานกับเธอ เขายิ่งรู้สึกแปลกใจยิ่งขึ้น ครั้งนี้เขาก็ยังไม่ได้ให้ความหวังอะไรแก่เธอ จดหมายฉบับที่ 3 เป็นจดหมายยื่นคำขาดหากไม่ยอมแต่งงานกับเธอ เธอจะฆ่าตัวตายเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป ไชคอฟสกีก็เริ่มคิดหนัก ชักสงสาร ปกติเขาเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวอยู่แล้ว เขาจึงตัดสินใจยอมตกลงแต่งงานกับหญิงเจ้าของจดหมาย ชื่อ แอนโตนินา มิลยูคอฟ อยู่กันได้ไม่ถึงเดือน เมื่อเห็นกิริยามารยาทของเธอแล้วจึงแน่ใจว่าเขาตัดสินใจแต่งงานครั้งนี้ผิดพลาดไปเสียแล้ว เพราะเขาทำอะไรเหมือนแต่ก่อนไม่ได้จะปลีกตัวมาเอาใจใส่งานก็ถูกต่อว่าเอะอะโวยวาย บางครั้งถึงกับร้องไห้ดูเหมือนคนสติไม่ดี ทำให้เขาท้อแท้ในชีวิตมากทีเดียว ถึงกับคิดฆ่าตัวตาย เขาได้เดินออกจากบ้านเพื่อดับอารมณ์ เดินฝ่าหิมะไปตามถนนอย่างไม่มีจุดหมายเมื่อไปถึงสะพานแห่งหนึ่งเขาลงไปลอยคอในนำอ้อันเย็นเฉียบเป็นชั่วโมง เพื่อจะได้อาศัยความเย็นช่วยให้เขาเป็นโรคปอดบวมและตายเร็วขึ้น และไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้ขลาดฆ่าตัวตาย แต่เขาก็ไม่เป็นโรคปอดบวมสมใจเพียงแต่เป็นหวัดเท่านั้น อาการไข้หวัดของเขาเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการโรคประสาทแทรกด้วย ในการเจ็บป่วยคราวนี้ได้มีผู้อุปการะให้ค่าใช้จ่ายให้เขาไปพักรักษาตัวที่ประเทศสวิตซ์เซอร์แลนด์ จนกระทั่งเขามีอาการปกติ เมื่อมรสุมร้ายแห่งชีวิตผ่านพ้นไปแล้ว เขาก็คิดจะแต่งเพลงที่ค้างอยู่ต่อไปอีก โดยได้เริ่มแต่งเพลง Symphony อันดับ 4 ที่ได้แต่งค้างไว้ต่อไปอีก เขาได้เดินทางไปยังอิตาลี และได้แต่งอุปรากรเรื่อง Eugene Oniegin ซึ่งแต่งค้างไว้ก่อนแต่งงาน ตอนนี้ ซิมโฟนีอันดับ 4 ของเขาก็เสร็จสมบูรณ์ และต่อไปอีกไม่กี่วันอุปรากรก็เสร็จเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2430 เขาได้เปิดแสดงคอนเสริ์ตงานของเขาเองที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก นับเป็นครั้งแรกที่เขากำกับวงดนตรีด้วยตนเอง การปรากฎตัวต่อประชาชนครั้งนี้ ทำให้เขามีความกล้าและเกิดความคิดจะออกตระเวณแสดงคอนเสริ์ตไปตามนครตางๆ ในยุโรปโอกาสต่อไป ก่อนออกเดินทางตระเวณแสดงดนตรีเขาได้ฝึกซ้อมการกำกับดนตรีหลายครั้ง เขาเป็นคนขี้อายไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ต่างกับนักดนตรีคนอื่นๆ เขาเริ่มออเดินทางในเดือนมกราคมปีเดียวกันนี้ และได้ไปเปิดแสดงที่เมืองไลพ์ซิกแล้วได้เดินทางต่อไปยังเมืองแฮมเบอร์กและกรุงป๊าร์ค ณ กรุงปารฺคนี้ชาวเชโกสโลวเกียได้ให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี เขารู้สึกภาคภูมิใจมาก จากนั้นเขาก็เดินทางไปยังกรุงปารีส เมื่อท่องเที่ยวเป็นที่พอใจแล้วก็เดินทางกลับบ้าน จากนั้นเขาก็แต่งซิมโฟนีหมายเลข 5 คือ Symphony No 5 in E minor เขาแต่งในขณะที่เขาอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งท่ามกลางความงามองธรรมชาติอันประกอบด้วยภูเขา ป่า หมู่นกนานาชนิด ส่งเสียงร้องไม่ขาดระยะ สิ่งเหล่านี้บรรดาลใจถ่ายทอดมโนภาพออกมาเป็นเพลงอันเป็นผลงานยิ่งใหญ่และงดงามของเขา เขาได้ใช้เวลาประพันธ์เพลงนี้นานถึง 4 เดือน

ปัจจุบันนี้ซิมโฟนีหมายเลข 5 เป็นเพลง ชั้นเยี่ยมของโลก ซึ่งเวลานี้มีอยู่เพียง 2-3 ชิ้นเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2435 เขาได้เดินทางไปแสดงอุปรากรที่กรุงปราค ปรากฎว่าการไปครั้งนี้ได้รับความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง เขามีชัยชนะอย่างงดงามเพราะว่าประชาชนทั่วยุโรปได้เรียกร้องที่จะฟังเพลงของเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาได้กลับบ้านในเดือนมกราคมในปีต่อมา และได้ลงมือแต่งซิมโฟนีหมายเลข 6 ขณะที่เริ่มแต่งอยู่นั้นเขาได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจส์แห่งประเทศอังกฤษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมแก่เขา ดังนั้นเขาจึงเริ่มออกเดินทาง ขณะที่เดินทางเพื่อไปรับปริญญาเอกนี้ เขาได้แต่งซิมโฟนีหมายเลข 6 ไปด้วย เมื่อพิธีประสาทปริญญาเรียบร้อยแล้วเขาก็เดินทางกลับรัสเซีย และเขียนซิมโฟนีที่ค้างไว้ต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์ เขาพอใจในวานชิ้นนี้มากที่สุด เพราะเขาเขียนขึ้นอย่างสุดฝีมือ เขาได้ตั้งชื่อว่า Pathethique งานชิ้นนี้ได้แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของเขา เขานำออกแสดงครั้งแรกที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่หวังเอาไว้ เขารู้สึกเสียใจที่ผิดหวังครั้งนี้

หลังจากที่แสดงซิมโฟนีผ่านไปไม่นาน วันหนึ่งหลังจากที่เขารับประทานอาหารแล้ว เขาได้ถือแก้วไปรองน้ำประปาจากก็อกดื่ม โดยไม่เฉลียวใจว่าขณะนั้นอหิวาต์กำลังระบาดที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กนี้อย่างหนัก เป็นคราวเคราะห์ร้ายของเขาจริงๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นานเขาก็มีอาการอ่อนเพลีย หน้าซีด ตัวเย็น มีตะคริวจับ อาเจียนและถ่ายอย่างรุนแรง หมอได้พยายามช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุดก็สิ้นใจ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 รวมอายุได้ 53 ปี เขาจากโลกไปแต่ร่างกาย ชื่อเสียงและผลงานอันเป็นอมตะยังคงเป็นมรดก อันล้ำค่าไว้แก่โลก โลกจะรำลึกถึงเขาอยู่ตลอดเวลา ไช คอฟสกี เป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่ชาวรัสเซียภูมิใจที่สุด


โรเบอร์ต ชูมันน์

โรเบอร์ต ชูมันน์

Robert Schumann

เกิดที่ เยอรมัน วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2353

ถึงแก่กรรมที่เยอรมัน วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2399

โรเบอร์ต อเลกซานเดอร์ ชูมันน์ กำเนิด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2353 ที่เมือง Zwickau แคว้น Saxony ประเทศเยอรมัน ห่างจากเมืองไลพ์ซิกประมาณ 40 ไมล์ เป็นลูกชายคนเล็กของ ฟรีดริค ออกัสท์ ชูมันน์ (Friedrich August Schumann) เจ้าของสำนักงานและร้านขายหนังสือ

ชูมันน์สามารถเล่นเปียโนได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และสามารถแต่งเพลงได้เมื่ออายุ 7 ขวบ ทำความภาคภูมิใจให้แก่ผู้เป็นพ่อมาก ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. 2361 ขณะที่ชูมันน์อายุ 8 ขวบ พ่อจึงให้เขาเรียนดนตรีกับครูคนหนึ่งชื่อ Johann Gottfried Kuntzsch ซึ่งเป็นนักออร์แกนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในขณะนั้น เขาสามารถเล่นเปียโนได้เป็นอย่างดีเคยแสดงเปียโนที่ Curus’s House และที่โรงเรียนที่เขากำลังเรียนอยู่ ปรากฎว่าได้รับความชมเชยจากผู้ฟังไม่น้อง

ต่อมา พ.ศ. 2369 ขณะนั้นชูมันน์มีอายุ 16 ปี พ่อของเขาก็ได้ถึงแก่กรรมลงจึงทำให้ขาดผู้สนับสนุนการเรียนทางดนตรีของเขาไป แม่ชองชูมันน์นั้นไม่สนใจในความสามารถทางดนตรีของเขาเลย แม่พยายามให้เขาไปเรียนกฎหมาย ดังนั้นแม่จึงส่งให้เขาไปเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก ขณะที่เขามีอายุ 18 ปี และตอนที่เรียนกฎหมายอยู่นั้นเขาก็เอาใจจดใจจ่ออยู่กับดนตรี ในระยะนี้เขาได้รู้จักเด็กหญิงคนหนึ่งอายุ 9 ขวบ ชื่อ คลาราวิค (Clara Wieck) ซึ่งเป็นผู้นำเขาไปรู้จักกับคุณพ่อของเธอชื่อ ฟริดริค วิค (Friedrich Wieck) ครูสอนเปียโนและนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในที่สุดชูมันน์ก็ตกลงเรียนเปียโนกับ ฟริดริค วิค เพราะเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงมาแต่เล็กๆ แล้ว เขากลายเป็นลูกศิษย์ที่ต้องมาเรียนเปียโนประจำบ้านนั้นทุกวันเขารู้สึกเลื่อมใสเพื่อนสาวตัวเล็กๆ อายุเพียง 9 ขวบ ของเขามาก เพราะเธอมีความสามารถเป็นอย่างสูงในการเล่นเปียโน

ต่อมาแม่ของชูมันน์ได้ทราบข่าวว่าลูกชายไม่ได้เอาใจใส่ในการเรียนกฎหมายเลยแม้แต่น้อย คงหมกมุ่นอยู่ในเรื่องดนตรี อันเป็นสิ่งที่แม่ไม่พึงปรารถนา ดังนั้นเพื่อที่จะแยกให้เขาห่างจากดนตรี แม่จึงได้ย้ายเขาจากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบอร์ก(Heidelberg)โดยคิดว่าเขาคงจะตั้งหน้าตั้งตาเรียนกฎหมายแต่อย่างเดียว แต่การเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไม่ทำให้ชูมันน์เปลี่ยนใจเลย เขาได้ทอดทิ้งวิชากฎหมายโดยเด็ดขาด เขาได้มีจดหมายไปบอกแม่ว่า “เขาตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะเอาดีทางดนตรี และจะประกอบอาชีพทางดนตรี” แล้วเขาก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย แล้วเดินทางกลับมาที่เมืองไลพ์ซิกอีกครั้งหนึ่ง และได้มาเรียนเปียโนกับฟริดริค วิค พ่อของคลาร่าต่อไปอีก คราวนี้เขาเรียนอย่างจริงจังอุทิศเวลาวันละ 6 ชั่วโมง โดยมีความหวังอยู่ว่าจะเป็นนักเปียโนเอกให้ได้ แต่แล้วไม่นานนักนิ้วมือของเขาก็ได้เกิดพิการ หงิกงอไม่สามารถจะเล่นได้คล่องแคล่วนัก สาเหตุที่มือของเขาพิการนั้นเป็นเพราะเขาคร่ำเคร่งต่อการเรียนเปียโนมากเกินไป เขารู้สึกเสียใจอยู่บ้างแต่ก็ได้หางทางแก้ไขและเขาก็เริ่มสนใจการแต่งเพลงขึ้นมา โดยหวังไว้อีกอย่างนึ่งว่าจะเอาชื่อเสียงทางแต่งเพลงสำหรับเล่นเปียโน และในที่สุดเขาก็ได้แต่งเพลงสำหรับเปียโนสำเร็จเป็นครั้งแรก ชื่อ Papillons ในปี พ.ศ. 2372 นั้นเอง

ในปี พ.ศ. 2375 เขาได้คิดประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นอันหนึ่งเพื่อบังคับนิ้วนางที่หงิกงอใช้การไม่คล่องแคล่วให้เหยียดตรง เพื่อจะได้ใช้นิ้วทั้งสี่เล่นเปียโนได้เป็นอย่างดี แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่เขาใช้เครื่องบังคับนิ้วเล่นเปียโนอยู่อย่างเพลิดเพลินนั้นเครื่องมือเจ้ากรรมเกิดหักและตำเข้าไปในฝ่ามือของเขา คราวนี้ทำให้นิ้วทั้ง 5 ของเขาไม่สามารถจะทำอะไรคล่องแคล่วนัก ถึงแม้ว่ารักษาหายแล้วก็ตาม ดังนั้นความหวังที่จะเป็นนักเปียโนเอกก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะเขาไม่สามารถบังคับนิ้วให้เล่นเปียโนได้ดั่งใจ เขาเสียใจในโชคชะตาครั้งนี้เป็นอย่างมาก ในที่สุดเขาก็ต้องอำลาฟริดริควิคและคลาร่าไป แต่ก่อนที่จะออกจากบ้านเขาได้บอกกับคลาร่าซึ่งขณะนั้นมีอายุ 13 ปีแล้วว่า “ขอให้เธอจงโชคดี ฉันคงไม่มีโอกาสเห็นความสำเร็จของเธอเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ตามฉันจะคอยฟังข่าวในความสำเร็จของเธอเสมอ”

หลังจากชูมันน์จากบ้านคลาร่าไปไม่นานนัก คลาร่ามีโอกาสได้แสดงฝีมือเปียโนในโรงละครแห่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นการแสดงครั้งแรกของเธอขณะที่มีอายุ 13 ปี เธอได้รับการต้อนรับและแสดงความยินดีจากผู้ฟังอย่างล้นหลาม เมื่อการแสดงจบลงผู้ฟังได้ปรบมือและโห่ร้องแสดงความยินดีอย่างกึกก้อง นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของเธอเช่นกัน เมื่อเธอกลับมาที่พักได้พบกับชูมันน์ ซึ่งไปคอยแสดงความยินดีต่อเธออยู่ที่นั่นแล้ว คลารามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับเขาอีกครั้งหนึ่ง เธอได้ตัดพ้อต่อว่าอย่างมากมายที่ไม่ส่งคราวข่าวให้เธอทราบเลยในระหว่างที่จากไป เธอได้บอกเขาว่าเธอเป็นห่วงเขามาก เพราะเคยรักใคร่นับถือและเป็นเพื่อนกันมา ชูมันน์ก็ได้ให้สัญญากับเธอว่า เขาจะไม่ละเลยที่จะส่งข่าวถึงเธออีกต่อไป การพบปะกันครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเป็นเรื่องที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นจนไม่สามารถแยกกันได้ในอนาคต

พ.ศ. 2376 ชูมันน์ได้รวบรวมเพื่อนฝูงกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในไลพ์ซิกตลอดจนนักเขียนวิจารณ์ดนตรีลงในหนังสือพิมพ์แล้วตั้งเป็นสโมสรให้ชื่อว่า “David Club” ได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อ “Die Neue Zeitschrift fur Musik” และได้ออกวางตลาดเป็นฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2377 ชูมันน์เป็นทั้งบรรณาธิการและหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในงานชิ้นนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตั้งขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ความเป็นจริงและไม่ยอมเป็นปากเสียงให้คนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะมีเข็มเป็นกลางเสมอ เขาได้เขียนบทความต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์นี้ด้วย โดยมากเขามักใช้นามแฝงหนังสือพิมพ์ของเขาเป็นที่ยอมรับนับถือและสนับสนุนจากวงสังคมทั่วไป

เกี่ยวกับคลาราวิคนั้น เขาได้ติดต่อกันเรื่อยมาโดยทางจดหมาย จนความสัมพันธ์ของเขากลายเป็นความรักของหนุ่มสาวเพราะขณะนั้นชูมันน์มีอายุ 26 ปี คลารามีอายุ 14 ปี และกำลังมีชื่อเสียงในการเล่นเปียโนอย่างหาตัวจับยาก ชูมันน์ได้หลงรักคลาราอย่างมากมายจนไม่สามารถที่จะถอนตัวได้และคลาราก็รักเขามากเช่นเดียวกันเพราะเคยอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน ประการหนึ่งประกอบกับสงสารในความอาภัพของเขาด้วย คลารานั้นมีใจเด็ดเดี่ยวในเรื่องของความรัก เธอรักและบูชาชูมันน์โดยบริสุทธิ์ใจ การติดต่อระหว่างชูมันน์กับคลารานั้น ฟริคริค วิค พ่อของเธอไม่เห็นชอบด้วยเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าเฟริคริค วิคเคยชอบพอรักใคร่ชูมันน์อยู่มากก็จริง แต่ก็ไม่สามารถที่จะรับชูมันน์ไว้ในฐานะลูกเขยได้ เขาจึงได้พยายามขัดขวางความรักของทั้งสองคนอย่างเต็มที่ เพราะต้องการจะให้ลูกสาวแต่งงานกับคนที่มีฐานะดีกว่าชูมันน์ ชูมันน์และเฟรดริค วิคได้โต้เถียงกันในเรื่องนี้อย่างรุนแรงและเขาถูกพ่อคลาราดูถูกมากจนไม่สามารถทนฟังต่อไปได้ เขาถูกประนามว่าเป็นคนหลักลอยกินเหล้าเมายา

แต่ถึงแม้จะมีอุปสรรคขัดขวางก็ตาม ทั้งสองก็มีใจแน่วแน่ว่าจะแต่งงานกันให้ได้ ทั้งสองลอบพบปะกันเสมอ โดยไม่ฟังคำห้ามปรามของพ่อ พ่อพยายามให้ลูกสาวห่างจากชูมันน์โดยพาไปแสดงดนตรีตามเมืองต่างๆ จนถึงเดรสเดน ครั้งหนึ่งหลังจากเล่นเพลงคอนแชร์โตของฟรันซ์ลิสท์จบแล้ว คนฟังได้ปรบมือแสดงความชื่นชมอย่างกึกก้อง ในครั้งนี้เป็นการแสดงคอนเสริ์ตถวายพระเจ้าจักรพรรดิ์ด้วย การแสดงดำเนินต่อไปหลายเพลง มีครั้งหนึ่งเมื่อเล่นเพลงจบลงเธอได้ลุกขึ้นขอพระบรมราชานุญาตพระเจ้าจักรพรรดิ์ของเล่นเพลงของชูมันน์นักแต่งเพลงหน้าใหม่คนรักของเธอนั่นเอง เมื่อเพลงนั้นได้เริ่มขึ้นทุกคนรู้สึกว่าเพลงนั้นไพเราะจับใจมาก พอเพลงจบลงทุกคนปรบมือแสดงความชื่นชมอย่างเกรียวกราวและนานเป็นพิเศษ และในคืนวันนั้นเองเธอก็ได้บอกกับพ่ออย่างเด็ดขาดว่า เธอจะแต่งงานกับชูมันน์ในเร็วๆ นี้

แต่พ่อก็ไม่ยินยอมง่ายๆ พยายามขัดขวางทุกวิถีทางจนต้องขอพึ่งศาลเพราะในสมัยนั้นมีกฎหมายระบุว่า บิดามารดาสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งการแต่งงานของบุตรได้ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ พ่อของคลาราได้ให้เหตุผลว่า ชูมันน์เป็นคนไม่มีหลักแหล่ง เป็นนักดื่ม ไม่มีอนาคตที่จะดำเนินการเลี้ยงดูครอบครัวได้ การต่อสู้ในศาลดำเนินไปอย่างดุเดือดและเป็นเวลานาน และในระหว่างนี้เองทางมหาวิทยาลัยจีนา ได้มอบปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ให้แก่ชูมันน์ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ต่อมา

ฟรันซ์ ลิสท์ นักดนตรีเอกแห่งยุคก็ได้มาช่วยเขาเป็นพยานในศาล ลิสท์ได้ให้การต่อศาลว่า “ชูมันน์ไม่ใช่คนหลักลอย เพราะเขามีความเป็นอัจฉริยะในทางดนตรีซึ่งกำลังจะก้าวหน้าต่อไปแน่นอน” จากคำให้การของลิสท์นี้เองทำให้ศาลเชื่อ ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่า “การขัดขวางของเฟริคริค วิค ผู้พ่อของคลารานั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอและฟังไม่ขึ้นฉะนั้นจึงให้หนุ่มสาวทั้งสองนั้นแต่งงานกันได้”

ชูมันน์กับ คลารา วิค ได้แต่งงานกันเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2383 ทั้งสองมีความชื่นชมยินดีต่อกันมาก ขณะที่แต่งงานชูมันน์มีอายุ 30 ปีพอดี ส่วนคลารานั้นมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น ด้วยความสมหวังในชีวิตสมรสนี้เองได้ดลใจให้เขาแต่งเพลง Song Year ขึ้นในปีนี้ด้วย ชีวิตสมรสจนครอบครัวดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุขมากทีเดียว ชูมันน์ได้แต่งเพลงขึ้นในระยะนี้หลายเพลงด้วยกันแต่ละเพลงก็ล้วนแต่แสดงออกไปในทางแจ่มใสหมดจดงดงามเป็นพิเศษและเพียงปีแรกของการแต่งงาน เขาผลิตเพลงออกมาถึง 130 เพลง

พ.ศ. 2384 ชูมันน์แต่งเพลง Symphony สำเร็จเป็นครั้งแรกเขาให้ชื่อว่า Spring Symphony in B Flat major ชูมันน์เริ่มเขียนซิมโฟนีชิ้นนี้ในปลายฤดูหนาวซึ่งมีหิมะตกอยู่ทั่วไป แต่ขณะนั้นเขากำลังมีความสุขอยู่กับคลาราภรรยายอดรักของเขา ฤดูหนาวก็เหมือนฤดูสปริงของเขานั่นเอง เขาได้นำ Spring Symphony ออกแสดงให้ประชาชนฟังเมื่อวันที่ 31 มีนาคม จากนั้นก็ได้เริ่มแต่ง Symphony อันดับสองต่อไปและพร้อมๆ กันนั้นก็ได้เริ่มแต่งเพลง Piano Concerto ในปีนี้เองเขาและคลาราก็ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรกที่มีชื่อว่า แมรี่

ชูมันน์รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเกินไปในการตรากตรำแต่งเพลงของเขา โรคประสาทกำเริบหนักขึ้น บางคราวสมองของเขาไม่สามารถจะจำอะไรได้เลย เขามีความรู้สึกตัวกลัวว่าจะเป็นบ้า ดังนั้นเขาจึงพยายามทำงานให้น้อยลงเรื่อยๆ และเลิกการแต่งเพลงชั่วคราวในปี พ.ศ. 2386 แต่เขาก็หันไปรับสอนดนตรีและแต่งเพลงที่ Liepzing Conserva tory ปีนี้เองเขาเขาก็ให้กำเนิดลูกสาวคนที่สองชื่อ อีลิสส์ เมื่อลูกสาวเกิดขึ้นมาอีกคนหนึ่งก็ทำให้เขาคิดมากขึ้นอีก เพราะเท่าที่อยู่ขณะนี้ 2-3 คน ก็พากันเอาตัวแทบไม่รอดอยู่แล้วหนี้สินก็นับวันแต่จะพอกพูนยิ่งขึ้น เขาจะทำอย่างไรจึงจะให้ความสุขแก่เมียได้ เขาได้แต่คิด คิดและคิดอยู่คนเดียว และในที่สุดเขาก็นำเพลง Parodies and the Peri ออกแสดงเป็นครั้งแรกได้เงินมาบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้มากนัก

ปีต่อมา พ.ศ. 2387 เขาได้ลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เขาได้เดินทางไปเที่ยวรุสเซียกับคลาราเพื่อการพักผ่อน แต่พอกลับมาถึงบ้านโรคประสาทกำเริบหนักขึ้น คลาราจึงต้องพาชูมันน์ย้ายไปอยู่ที่เมืองเดรสเดนเพื่อพักฟื้นเพราะเดสเดนเป็นเมืองที่สงบเงียบเหมาะแก่การพักผ่อน ขณะที่พักผ่อนอยู่ที่เดรสเดนนี้ สภาพของเขาค่อยๆ ดีขึ้นที่ละน้อยๆ จนเกือบเป็นปกติ และในระยะนี้เขาเกิดมีความคิดอยากจะแต่งเพลงขึ้นมาอีก เขาจึงนำเอาเพลง Piano Concerto in A Minor ซึ่งแต่งค้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2384 ขึ้นมาแต่งต่อไปอีกและเสร็จลงในปี พ.ศ. 2388 และได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2389 โดยคลาราภรรยาของเขา

พ.ศ. 2397 ชูมันน์คิดมากในเรื่องหนี้สินที่พอกพูนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คลาราภรรยาของเขาซึ่งมีความรักต่อเขาอย่างมากเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สามีหาเงินเพียงคนเดียวเห็นจะไม่ไหว เธอจึงตัดสินใจใช้ความรู้ความชำนาญในการเล่นเปียโนของเธอ ออกตระเวณแสดงคอนเสริ์ตเพื่อหาเงินมาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว การแสดงคอนเสริ์ตของเธอได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม พอได้เงินมากพอควรเธอก็ดีใจรีบกลับบ้าน แต่พอมาถึงบ้านเธอก็ได้รับความเสียใจอย่างยิ่ง เพราะอาการป่วยทางประสาทของสามีได้กำเริบหนักจนถึงขั้นคลุ้มคลั่งเสียแล้ว เธอมิได้นิ่งนอนใจรีบหาหมอมาตรวจอาการ หมอต่างพากันลงความเห็นว่าอยู่ในขั้นรุนแรงยากที่จะรักษาให้หายได้ แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ จึงนำสามีสุดที่รักไปฝากไว้ที่โรงพยาบาลโรคจิต แล้วเธอก็ตระเวณออกแสดงคอนเสริ์ทต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อหาเงินมารักษาและเลี้ยงลูกซึ่งขณะนั้นมีถึง 6 คน อันเป็นภาระที่จะต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชูมันน์ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิตได้ไม่นานนักเขาก็แอบหนีออกจากโรงพยาบาลมาด้วยความคุ้มคลั่ง พอมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ เขาหยุดยืนสายตาเหม่อมองดูสายน้ำอันไหลเชี่ยวกราก ในฉับพลันทันทีชูมันน์ก็ตัดสินใจกระโดดลงไปในน้ำนั้น แต่ชะตายังไม่ถึงที่ตายจึงมีคนมาช่วยชีวิตของเขาไว้ได้และถูกนำตัวมายังโรงพยาบาลอีก พอข่าวนี้กระจายไปถึงหูคลารา เธอก็รีบรุดมาเยี่ยมสามีอาการบ้าคลั่งของชูมันน์หนักมากแม้เมียคู่ยากของตนเองก็ไม่สามารถจะจำได้เสียแล้ว คลาราได้นำเขาไปฝากไว้กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่เอนเดนนิค (Endenich) ใกล้ๆ กรุงบอนน์ใกล้แคว้นไรน์แลนด์(Roineland) จากนั้นคลาราก็ออกเดินทางตระเวณแสดงคอนเสริ์ตต่อไปเรื่อยๆ ชูมันน์คงป่วยอยู่ถึง 2 ปี คลาราได้รับข่าวว่าชูมันน์ป่วยหนักมากเธอรีบรุดมาเยี่ยมสามีทันที และเฝ้าพยาบาลตลอดเวลา และในที่สุดโรเบิร์ต ชูมันน์ก็สิ้นใจเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2399 เขาสิ้นใจภายในอ้อมแขนของคลาราภรรยาสุดที่รักของเขา ทิ้งความยุ่งยากทั้งมวลให้คลาราผจญต่อไป

ในชั่วชีวิต 46 ปี ของชูมันน์ เขาผลิตงานออกมามากมาย งานเหล่านั้นก็เป็นงานที่ทรงคุณค่าอยู่มาก แด่โลกดนตรี