เอกลักษณ์ของศาสนาพุทธ

วันที่โพสต์: Apr 13, 2014 3:33:3 AM

เอกลักษณ์ของศาสนาพุทธ คือการยกปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด ชาวพุทธเราหากมีความจริงใจต่อพระศาสนา จึงต้องมุ่งมั่นให้เป็นผู้มีปัญญา พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าสมาธิเป็นบาทฐานของปัญญาประเภทที่รู้เห็นตามความเป็นจริง จนสามารถทำลายกิเลสได้ ส่วนปัญญาที่เกิดจากความจดจำหรือคิดไตร่ตรอง เป็นประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่ได้ผลดีเฉพาะเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างปกติ พอกิเลสเกิดขึ้น พอมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง มักจะลืมปัญญาระดับนี้เลย พออารมณ์ดับแล้ว เราจึงนึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้น ปัญญาแบบจำได้คิดได้ มีบทบาทจำกัดในการสร้างที่พึ่งภายใน เราจำเป็นต้องเสริมด้วยปัญญาที่สามารถยืนหยัดตลอดเวลา แม้ในยามวิกฤติ บัณฑิต

ผู้มีปัญญา เห็นเรื่องที่ควรคิด ควรพิจารณาก็คิดพิจารณาในเรื่องนั้น แต่บัณฑิตรู้จักกาละเทศะ เวลาไหนไม่ต้องคิดก็สามารถปล่อยวางได้ ท่านว่า สามารถอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการ ตามความต้องการคือสมาธิภาวนา จิตสงบแล้ว ถึงเวลาที่สมควรก็น้อมใจเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม เหมือนแมงมุม ไม่มีแมลงก็อยู่เฉยๆ อย่างมีสติ พอแมลงติดหยากไย่ก็ออกไปจัดการ ในสมัยปัจจุบันนี้ คนจำนวนมากเป็นทุกข์เพราะความคิดมากกว่าปัญหาในการเอาตัวรอดทางด้านวัตถุ แต่สังคมยังไม่ค่อยปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ยังไม่มีค่านิยมในการบริหารความคิด ระบบการศึกษาสอนแต่ให้คนรู้จักคิด เราจึงคิด คิด คิด อยู่ตลอดเวลา แต่หยุดคิดไม่ค่อยเป็น นอกจากเวลานอนหลับเท่านั้น และทุกวันนี้คนเครียดมากเสียจนนอนไม่ค่อยหลับก็มีเยอะ หรือถึงจะนอนหลับก็ยังต้องฝันอีก หลับแล้วต้องฝันเพราะอะไร เพราะความคิดยังคั่งค้างอยู่ ไม่ยอม

ปล่อยวาง ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ไม่สดชื่นเพราะสมองแช่อยู่ในความอยาก ความกลัว ความกังวลอยู่ทั้งคืน จะจัดการกับความคิด ไม่ให้มันเป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิตเรา อาตมาเชื่อว่าการฝึกจิตคือทางเดียวที่ได้ผล การฝึกสมาธิภาวนาจะประสพความสำเร็จอย่างเต็มที่ ต้องประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สิ่งที่ผู้ภาวนาจะขาดไม่ได้คือ ความเข้าใจในหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นกฎแห่งกรรม อริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ เป็นต้น จำเป็นต้องรู้ความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันของศีล สมาธิ ปัญญา ต้องไม่เชื่ออะไรที่ขัดกับความจริงของธรรมชาติ เช่นไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกคอยดลบันดาลชีวิตของมนุษย์ ไม่เชื่อว่านิพพานเป็นอัตตาเป็นต้น ถ้าอย่างนั้นผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นทำสมาธิได้ไหม ได้สิ และได้ผลคือความสงบสุขในระดับหนึ่งด้วย ที่ไม่ได้คือความตั้งใจมั่นซึ่งเป็นบาทฐานของวิปัสสนา อันเป็นอาวุธเดียวที่สามารถนำเราไปสู่ความเป็นอิสระจากกิเลสอย่างแท้จริง ความเห็นผิด ไม่ใช่อุปสรรคเดียวที่ควรระวัง ความอยากผิดก็อันตรายเหมือนกัน หลวงพ่อชาท่านสอนลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า อย่าปฏิบัติ

เพื่อเอาอะไร อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร จงปฏิบัติเพื่อละ ปฏิบัติเพื่อปล่อย ถ้านั่งสมาธิคิดอยากได้นั่น อยากเห็นนี่ อยากมี อยากเป็น การทำสมาธิจะเศร้าหมอง แล้วจะไม่เป็นสมาธิพุทธ เพราะการทำสมาธิด้วยตัณหา ไม่ใช่แนวทางเพื่อพ้นทุกข์ ทั้งนี้ก็เพราะมันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งในตัว คือถ้าเผื่อเราทำสมาธิเพื่อละตัณหาเป็นแรงบันดาลใจแล้วเราจะสำเร็จไหม เหมือนผู้นำประเทศเชิญเจ้าพ่อเป็นอธิบดีกรมตำรวจช่วยปราบคนพาล ครูบาอาจารย์ให้เราทำสมาธิด้วยฉันทะ คือความอยากไม่อยู่เกี่ยวกับกามหรืออัตตา เช่นต้องการให้จิตใจเรามีคุณธรรม ละกิเลสได้ เรานั่งหลับตาเพื่อทำให้จิตเราสงบจากกาม สงบจากอกุศลทั้งหลาย พอที่จะอำนวยความสะดวกแก่การทำงานของปัญญา