ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งเสริมการขาย

ปุจฉา :  

     1.เงินสนับสนุนที่บริษัทA ได้รับจากบริษัทผู้แทนจำหน่าย กรณีการลดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือกรณีการลดภาระค่าใช้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้า บริษัทA จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และถือเป็นฐานภาษีในการนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่

     2. ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่แถมให้กับลูกค้า บริษัทA สามารถนำมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและนำใบกำกับภาษีซื้อมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หรือไม่

วิสัจฉนา : 

        1. กรณีบริษัทผู้แทนฯ จ่ายเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยค่าอัตราดอกเบี้ยหรือค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ซึ่งบริษัทผู้แทนฯ รับภาระแทนลูกค้าให้แก่บริษัทA เพื่อสนับสนุนการขายนั้น เงินที่บริษัทA ได้รับ เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการส่งเสริมการขาย บริษัทA ต้องนำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  โดยบริษัทผู้แทนฯ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 และเงินสนับสนุนที่บริษัทA ได้รับ ไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ  บริษัทA ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      

        2. กรณีค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทA ได้จ่ายไปจริงเพื่อส่งเสริมการขายตามข้อตกลงกับลูกค้าโดยทั่วไป หากบริษัทA มีหลักฐานแสดงว่า บริษัทA เป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยเพื่อส่งเสริมการขายให้แก่ลูกค้า เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทA จึงนำค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้าม  และภาษีซื้ออันเกิดจากการทำประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว บริษัทA มีสิทธินำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ถ้าไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม กรณีบริษัทA ส่งเสริมการขายโดยแถมประกันภัยรถยนต์ให้ลูกค้า หากเป็นการแถมตามนโยบายส่งเสริมการขายที่ให้แก่ลูกค้าเป็นการทั่วไปและมีมูลค่าไม่เกินค่าซื้อประกันที่พึงทำประกันภัยรถยนต์ตามปกติ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีเหตุอันสมควร บริษัทA จึงไม่ต้องนำมูลค่าของค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นของแถมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการให้บริการ และบริษัทA ต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุชนิด ประเภท เลขที่กรมธรรม์ที่แถมไว้ในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันกับที่ออกให้แก่ลูกค้าด้วย แต่ไม่ต้องนำมูลค่าของบริการที่แถมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี

ข้อกฎหมาย

ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้รับในอัตราร้อยละ 3

ตามมาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศลเว้นแต่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

และ (13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ

ตามมาตรา 79/3 (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือการให้บริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

ที่มา ข้อหารือ กรมสรรพากร เลขตู้ : 79/39982