ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการให้บริการในต่างประเทศ

ปุจฉา : 

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการสนับสนุนการค้า การลงทุนเพื่อการส่งออก      ผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างให้บริษัทฯ หาผู้ซื้อและติดต่อประสานงานเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์รถยนต์     

         

           กรณีบริษัทฯ รับจ้างหาผู้ซื้อและผู้ขายทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ โดยส่งพนักงานไปต่างประเทศเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น แล้วนำข้อมูลมาสรุปผลในที่ประชุมในประเทศไทยและส่งผลไปให้ผู้ว่าจ้างในต่างประทศ และไม่มีผลต่อเนื่องหลังจากส่งรายงานไปแล้ว เมื่อเรียกเก็บเงินจากผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราใด และกรณีบริษัทฯ ได้รับรองปริมาณและคุณภาพของผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจของผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราใด

วิสัจฉนา :

  กรณีบริษัทฯ ให้บริการแก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ได้หาผู้ซื้อแบบผลิตภัณฑ์รถยนต์ และทำหน้าที่ประสานกับผู้ซื้อและผู้ผลิตรถยนต์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแบบผลิตภัณฑ์รถยนต์ตามความต้องการของผู้ซื้อ รวมทั้งการหาผู้ขาย ผู้ผลิตสินค้า เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักร หรือแม่พิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการหาผู้ซื้อ ผู้ขายดังกล่าว บริษัทฯ ได้ส่งพนักงานไปต่างประเทศเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น นำข้อมูลที่ได้มาทำการรวบรวม คัดกรอง คัดสรร และสรุปผลในที่ประชุมของผู้บริหารในประเทศ แล้วส่งผลสรุปในรูปแบบรายงานและแบบแปลนให้แก่ผู้ว่าจ้างในการตัดสินใจ โดยบริษัทฯ อาจมีการรับรองปริมาณและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของผู้ซื้อและผู้ขาย แต่บริษัทฯ ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการชี้ช่องให้ ผู้ว่าจ้างทำสัญญากับผู้ผลิตสินค้า ผู้ซื้อหรือผู้ขายในประเทศไทย หรือเข้ามาทำสัญญาในประเทศไทย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจคัดเลือกผู้ซื้อ ผู้ขายของผู้ว่าจ้าง แต่อย่างใด กรณีดังกล่าว ถือว่าเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการในต่างประเทศ แม้ว่าผู้ว่าจ้างในต่างประเทศอาจพิจารณาตัดสินใจเลือก ผู้ซื้อหรือผู้ขายในประเทศไทยในภายหลังก็ตาม หากบริษัทฯ มีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ในนามบริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

ข้อกฎหมาย

มาตรา 80/1 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามประเภท

ประกอบกับ ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543

ที่มา   ข้อหารือกรมสรรพากร เลขตู้ : 76/38738