ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร???

                ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ภาษีทางอ้อมที่รัฐบาลจัดเก็บกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ในจัดเก็บพร้อมนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐบาล  ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดๆ และคิดว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาระ หรือ ต้นทุนของตนที่จะต้องเสียให้กับรัฐ นอกจากภาษีเงินได้ที่จะต้องจ่ายเพิ่มในทุก ๆ ปี แล้วก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอ ๆ ว่า "ทำยังไงให้ฉันไม่ต้องเสีย VAT หรือเสียให้น้อยที่สุด ไม่เสียภาษีตัวนี้ได้ไหม ขายก็ได้กำไรน้อยอยู่แล้ว ขายแล้วไม่เปิดบิล VAT ได้ไหม ฉันไม่อยากจะเสียภาษีส่วนนี้เลย"

 

แต่แท้จริงแล้วขอชี้แจงดังนี้ ว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่ภาษีที่ผู้ประกอบการต้องเสีย มันเป็นภาษีของผู้บริโภค หรือ ลูกค้าของผู้ประกอบการเสียให้กับรัฐ ทางคุณ(ผู้ประกอบการ) มีหน้าที่นำภาษีมูลค่าเพิ่มตัวนี้นำส่งให้กับรัฐแทนผู้บริโภค

 

 หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษี (สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น)

1.             ธุรกิจ ซื้อมา-ขายไป จะออกใบกำกับภาษีต่อเมื่อ

1.1.       ได้รับเงิน หรือ

1.2.       ได้ส่งสินค้า

3.             ธุรกิจบริการ หรือ ธุรกิจรับจ้างทำของ จะออกใบกำกับภาษีต่อเมื่อ ได้รับเงิน

ธุรกิจต่าง ๆ สามารถออกใบกำกับภาษีก่อนการได้รับเงิน หรือ ส่งมอบสินค้าก็สามารถทำได้ไม่ผิดแต่อย่างใด

 ใบกำกับภาษีที่ถูกต้องจะต้องมีรายการดังนี้

   มาตรา 86/4 ภายใต้บังคับมาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

    (1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

    (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี (ผู้ขาย)

    (3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

    (4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

    (5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

    (6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

    (7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

    (8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด    มีรายละเอียดดังนี้  

           8.1     ส่วนของผู้ออกใบกำกับภาษี  (ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ)

                     8.1.1  ระบุ สาขาของผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)

                   -  กรณีไม่มีสาขา ให้ระบุ ว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อ เช่น  “สนญ” “HO” “HQ” หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000)

                   -  กรณีมีสาขา ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..” โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 ,  สาขาที่ 01,    หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น “สาขาที่ ..” เช่น “Branch No. ..” “br. no. ..”   หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ ..” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษี

            8.2     ส่วนของผู้ซื้อ หรือผู้รับบริการ ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

                      8.2.1 ระบุสาขา ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

                      -  กรณีไม่มีสาขา ให้ระบุ ว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อ เช่น  “สนญ” “HO” “HQ” หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000)

                      -  กรณีสาขา ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ  ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..” โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 ,  สาขาที่ 01,    หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น “สาขาที่ ..” เช่น “Branch No. ..” “br. no. ..”   หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ ..” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษี

                       8.2.2  ให้ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

                สำหรับ  ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด ในข้อ 8  โดย ข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

       

                  ใบกำกับภาษีที่มีลักษณะเป็นแบบเอกสารออกเป็นชุด ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวม กับเอกสารการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรก ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

          (1)   ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรก แต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย

          (2)   ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ด้วย

          (3)   ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า "สำเนา" ไว้ทุกฉบับ

          ข้อความตาม (1) ถึง (3) ดังกล่าวข้างต้น จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้

 

                 ถ้ารายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

เว้นแต่

                        (1) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

                        (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

                        (3) คำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

                ถ้ารายการในใบกำกับภาษีตาม (1) (2) และ (3) ของทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบ คอมพิวเตอร์ รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีจึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

การออกใบเพิ่มหนี้

              ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว ได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

1.              มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง 

2.              มีการเพิ่มราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง 

     การออกใบลดหนี้

          ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้วได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

1.             มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง

2.             มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง 

3.             ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา

4.             ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย

5.             ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้าเงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

6.             มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

7.             มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

8.             มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากการให้บริการบกพร่องหรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

9.             มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา