ตำนาน...................เหรียญครูบาศรีวิชัย 2482    

พระเกจิอาจารย์ของทางภาคเหนือ รุ่นแรก ปี 2482 

     วัดบ้านปาง เป็นวัดที่ชาวบ้านในตำบลศรีวิชัยเรียกกันมานานแล้ว โดยชาวบ้านเรียกกันติดปากตามชื่อของหมู่บ้านนั่นเองเมื่อปีพ.ศ. 2439 ครูบาขัติยะ เป็นพระที่อยู่ในเมืองลำพูน ได้เดินธุดงค์มาถึงบ้านปางและพักที่เชิงเขาทางทิศเหนือของบ้านปาง ชาวบ้านละแวกนั้นเคารพเลื่อมใสและศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก และได้ร่วมกันช่วยกันสร้างกุฏิที่พักเพื่อจะได้ให้ท่านได้พักจำพรรษาและจะได้ใช้ในการประกอบการกุศลทำบุญและต่อมาในปีนั้นเอง ครูบาศรีวิชัยก็ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์และบรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งอายุครบบวชในปี พ.ศ.2441 ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบ้านปาง ม.ที่1 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  ต่อมาภายหลังครูบาขัติยะท่านได้ธุดงค์ไปถิ่นฐานอื่น  ครูบาศรีวิชัยจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน แต่ครูบาศรีวิชัยเห็นว่า สถานที่ตั้งบริเวณวัดยังไม่มีความเหมาะสม ในปี พ.ศ. 2446 ท่านจึงได้ย้ายวัดจากที่เดิมไปสร้างวัดขึ้นบนเนินภูเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน แล้วขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดศรีจอมสหรีศรีทรายมูลบุญเรือง"แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกกันติดปากว่า "วัดบ้านปาง"กิตติคุณของท่านแพร่หลายเป็นที่ศรัทธาเคารพนับถือของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก  
       ครูบาศรีวิชัย ท่านเป็นพระสงฆ์ฝ่ายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและเป็นที่เคารพ ศรัทธามากของจังหวัดทางภาคเหนือ ในสมัยนั้นท่านได้สร้างถนนหนทางและวัดวาอารามอีกมากมาย จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เหนือยกย่องให้ท่านเป็น "นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา" มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อท่านเดินทางไปนมัสการพระธาตุช่อแฮ ที่เมืองแพร่ บรรดาชาวเมืองแพร่พากันเอาน้ำใส่ภาชนะมาขอน้ำมนต์กันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีผู้สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย ขาดที่พึ่งต้องการกำลังใจ ท่านครูบาศรีวิชัยจึงมีเมตตา สงสารปรารถนาจะให้ผู้ที่นำน้ำมาสมปรารถนา และจึงเอาลูกประคำที่ท่านสวมใส่ร่ายบริกรรมคาถาภาวนาอยู่เป็นประจำ จุ่มลงไปในน้ำที่อยู่ในภาชนะต่างๆ แจกจ่ายโดยทั่วถึงกัน ปรากฏว่าผลที่ออกมา ก็คือความปลาบปลื้มใจของผู้ที่ได้มาในวันนั้นเป็นอย่างมาก ต่างก็นำไปเก็บบูชาและอธิษฐานขอตามความปรารถนา ครูบาศรีวิชัยท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2481 สิริอายุได้ 60 ปี พรรษาที่ 40 พระคาถาบูชาครูบาศรีวิชัย 


ขอนำ”เหรียญครูบาศรีวิชัย​รุ่นแรก​พ.ศ.2482″ และเหรียญ”สมเด็จพระสังฆราช​ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์​พ.ศ.2481″ มาให้ท่านสมาชิกได้ศึกษาและพิจารณา​ สาเหตุที่นำมาให้ศึกษาพร้อมกันนั้นเนื่องมาจากทั้ง​ 2เหรียญนี้มีการสร้างและปลุกเสกพร้อมกัน​ ณ​ วัดราชบพิธ ในปีพ.ศ.2481แม้ว่าบนเหรียญจะมีพ.ศ.ที่ต่างกันก็ตาม

เหรียญครูบาศรีวิชัย​ รุ่นแรกนี้ถือว่าเป็น1ใน”เหรียญตาย” ซึ่งหมายถึงเหรียญที่สร้างหลังจากท่านได้มรณภาพไปแล้ว​ สำหรับเหรียญที่จะนำมาให้ศึกษาทั้งหมดมี​ 4เหรียญ

1.เหรียญสมเด็จพระสังฆราช​ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์​1เหรียญ​เป็นเหรียญเนื้อทองเหลืองกะหลั่ยทอง

2.เหรียญครูบาศรีวิชัย​ รุ่นแรก​ พิมพ์​ 2ชายจำนวน​ 3เหรียญ

-เนื้อทองคำแท้​ 1เหรียญ

-เนื้อทองเหลือง​ 1เหรียญ

-เนื้อทองแดงรมดำ​ 1เหรียญ

เหรียญทั้งหมดมีการสร้างเหมือนกัน​คือเป็นเหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอกและหูเชื่อมภายหลัง​ โดยมีหลักการและวิธีพิจารณาคือ 

1.พิมพ์และวิธีการสร้าง

-การพิจารณาพิมพ์นั้นศิลปะจะเป็นแบบค่อนข้างนูนต่ำ​ ช่างจะแกะรายละเอียดพิมพ์ได้ละเอียด, สมบูรณ์, ชัดเจนและสวยงาม​ ทำให้พิมพ์นำไปพิจารณาเทียบกับของปลอมได้ง่ายและชัดเจน​ดังนั้นขอให้ท่านสมาชิกได้ศึกษาและเรียนรู้พิมพ์ให้แม่นยำติดตาไว้ โดยให้พิจารณาทุกส่วนไม่ใช่เฉพาะจุดตำหนิที่เคยแนะนำกันมาเท่านั้น​ ไม่เช่นนั้นท่านจะถูกหลอกได้ง่าย​ ซึ่งจุดรายละเอียดต่างๆได้มีภาพแนะนำไว้เรียบร้อย​เช่น​ รายละเอียดของใบหน้าที่มีเม็ดเล็กๆที่หน้าผากด้านขวาของท่าน, ความมีมิติของเส้นสายต่างๆเป็นนูนต่ำของปลอมจะนูนสูงและดูแข็งๆไม่นิ่มตา

-จุดตำหนิที่ไม่ใช่พิมพ์

1.พื้นเหรียญด้านหน้ามีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเว้าลงไปเล็กน้อย​ ของปลอมจะเป็นพื้นเรียบ

2.พื้นเหรียญด้านหลังจะเรียบ​ แต่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะคือเส้นหรือรอยคล้ายเส้นสายฟ้า​ที่เกิดจากบล็อคให้เห็นใกล้ขอบเหรียญด้านซ้ายมือเราโค้งขึ้นด้านบนจะชัดเจนกว่าส่วนด้านขวามือเราจะเห็นลางๆ

-การพิจารณาการสร้าง​เนื่องจากเป็นเหรียญปั๊มดังนั้น

1.ผิวต้องเรียบตึงไม่ขรุขระ,ไม่บวม

2.รายละเอียดพิมพ์ต้องคมชัดติดทุกรายละเอียดไม่เบลอ

3.ขอบเหรียญจะเห็นรอยเลื่อยลางๆในบางจุดและค่อนข้างเรียบในบางจุดแต่ไม่ใช่ขอบเรียบทั้งหมดถือว่าผิดปกติของขอบเลื่อยข้างปั๊มกระบอก​ “ของปลอมมักจะทำขอบเรียบและทำขีดเล็กๆบางจุดให้ดูเหมือนรอยเลื่อย​ แต่ไม่ได้เลื่อยจริง” “รอยเลื่อยจริงจะอยู่ลึกลงไปกว่าขอบเรียบ​เพราะเลื่อยแผ่นก่อนแล้วค่อยนำมาปั๊ม แต่รอยเลื่อยปลอมขีดรอยเลื่อยจะอยู่ส่วนบนของขอบเรียบเนื่องจากมาทำขีดภายหลังและรอยเส้นเลื่อยไม่เป็นธรรมชาติ”

4.หูเชื่อมน้ำประสานต้องเก่าและเป็นการเชื่อมที่เรียบร้อย 

2.อายุความเก่าของเหรียญ​ใช้การพิจารณา

-ความเก่าดูได้จากสนิมหรือคราบเก่าที่ผิวเหรียญ​ จะต้องเป็นสนิมหรือคราบเก่าเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ​ ส่วนของปลอมจะใช้น้ำยามาช่วยทำให้ดูเก่า​ ถ้าผู้ที่ชำนาญจะพิจารณาได้ง่ายและรวดเร็ว

สนิม,กะหลั่ยทองและรมดำที่ทำเก่า(ปลอม)​ จะแยกกันได้ดังนี้

1.ความหนาของสนิม,กะหลั่ยทองและรมดำที่ทำใหม่จะหนาผิดธรรมชาติมากดูเลอะเทอะและหนาเทอะทะ

2.สีปลอมทำใหม่จะสดกว่าสีสนิม, กะหลั่ยทองหรือรมดำ ปกติ 

3.ความชื้น,ความฉ่ำที่ผิวเหรียญของปลอมจะมีมากกว่า, ​ปกติเหรียญของแท้จะแห้ง

4.การเกิดสนิมจะไม่เท่ากันทุกจุดเพราะค่อยๆเกิดตามระยะเวลาที่ต่างกันแต่ของใหม่สนิมจะเท่ากันทุกจุดเพราะทำขึ้นพร้อมกัน

-ความเก่าดูได้จากความเรียบตึงหดตัวของผิวเหรียญ ของใหม่จะบวม

-ความเก่าดูได้จากกะหลั่ยทอง, รมดำจะแห้งและบาง​ซึ่งสีจะต้องดูหม่นลงชัดเจนและมีการหลุดหรือผิวเปิดในจุดสัมผัสที่เป็นธรรมชาติตามกาลเวลา

3.เนื้อโลหะ,กะหลั่ยทองและรมดำที่ใช้สร้างต้องถูกต้องตรงยุคสมัย

-เนื้อทองคำต้องเช็ค%ได้ด้วยเครื่องตรวจโลหะได้ไม่ต่ำกว่า80%,สีของทองคำต้องเหลืองสุกกว่าทองคำในปัจจุบันสังเกตได้จากสนิมทองที่เป็นสีน้ำตาลเข้มอมดำ

-กะหลั่ยทองที่ทำเคลือบผิวต้องบางและสีเหลืองเข้มดูเก่าสีหม่นลงสมอายุ

-เนื้อทองเหลืองต้องสีเหลืองเข้มอมเขียวเล็กน้อยและเนื้อทองเหลืองจะต้องเก่าสมอายุ

-เนื้อทองแดงรมดำสีจะต้องเป็นน้ำตาลเข้มอมดำ​ รมดำจะบาง​ ในเหรียญปลอมเนื้อทองแดงจะออกสีน้ำตาลอมส้ม​ ดูใหม่ชื้นและบวม 

ข้อมูลเนื้อหา                   สถาบันและพิพิธภัณฑ์ (จำลอง)  “พุทธรักษา”

เรียบเรียง                       นายอภิเดช  เนียมพรมลี

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ     สถาบันและพิพิธภัณฑ์ (จำลอง)  “พุทธรักษา”