ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การปักผ้าด้วยมือ

การปักผ้าด้วยมือนั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด ทั้งใน ส่วนเทคนิควิธีการและวัสดุอุปกรณ์ จนพูดได้ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่มี เข็ม ด้าย ผืนผ้า และรู้จักวิธีสนเข็ม อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมือทำ เราควรมีการเตรียมตัวที่ดี วางแผนล่วงหน้า มีความเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมดอย่างชัดเจน ตลอดจนมีความรู้พื้นฐานที่สำคัญบางประการ เพื่อช่วยให้กระบวนการปักผ้าดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสำเร็จลุล่วงด้วยดี

1. แบบปัก เราอาจออกแบบเองหรือใช้แบบปักสำเร็จรูปก็ได้ โดยเลือกให้เหมาะสมต่อการใช้งาน เช่น ลวดลายบนเครื่องนอน ควรมีสีเย็นนุ่มนวล ขนาดไม่ใหญ่โตจนเกินไป หากเป็นผ้าปูโต๊ะอาจเลือกแบบปักขนาดใหญ่ ใช้สีสดใสร้อนแรงได้ เป็นต้น

1.1 แบบปักต้นฉบับ มีความสำคัญมากเพราะเป็นเอกสารอ้างอิง แสดงภาพผลงานที่เสร็จสมบูรณ์และเป็นแม่แบบกำหนดกระบวนการทำงานด้วย แบบปักชนิดนี้นอกจากจะมีรูปแล้ว ยังระบุรายละเอียดสำคัญต่างๆ ไว้ด้วย เช่น

- ลายปัก ตามส่วนต่างๆ ของลวดลาย

- สีสัน ระบายสี และใส่รหัสสีให้เรียบร้อย

- ประเภทของเส้นใย

- ชนิดและลักษณะผ้า

- ควรแนบตัวอย่างเส้นใยและผืนผ้าไว้ด้วย

หากมีรายละเอียดอื่นที่อยากกำกับไว้กันลืม ก็จะยิ่งทำให้ต้นฉบับสมบูรณ์ชัดเจน ควรปรับแก้แบบจนเป็นที่พอใจขั้นสุดท้ายเสียก่อน จึงนำไปใช้งานจริง ลวดลายที่เหมือนกัน สามารถนำไปแตกลักษณะปลีกย่อย เช่น โทนสี ลายปักที่จะนำมาใช้ ให้ผิดแผกกันออกไปตามความพอใจ จึงทำให้ลวดลายเดียวกันสามารถมีแบบปักต้นฉบับได้หลายฉบับ

1.2 แบบปักเปล่า หรือ "แบบเปล่า" เป็นตัวลวดลายล้วน ๆ ไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใด ใช้เป็นแบบลอกลงบนผ้าแบบปักทั้งสองประเภทนี้ เมื่อใช้งานเสร็จควรเก็บใส่แฟ้ม พร้อมทั้งจัดหมวดหมู่ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการสูญหาย สะดวกต่อการหยิบใช้ และเป็นประโยชน์ต่อการทำงานครั้งต่อไป

2. ผ้า มีหลากหลายชนิดให้เลือก ทั้งที่ผลิตจากเส้นใสสังเคราะห์ เส้นใยธรรมชาติและผ้าเนื้อผสมแบบต่างๆ สิ่งสำคัญคือหากไม่แน่ใจในคุณภาพของเนื้อผ้า โดยเฉพาะผ้าที่ผลิตแบบพื้นบ้าน หรือผลิตจากเส้นใยธรรมชาติล้วน เช่น ไหม ฝ้าย ลินิน ใยสับปะรด ขนแกะ ใยกัญชง ฯลฯ ควรนำไปแช่น้ำผสมผงซักฟอกอ่อนๆ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบคุณภาพของสีย้อมและความหดตัวของเนื้อผ้า นอกจากนี้ควรเลือกความหนาของเนื้อผ้าให้เหมาะต่อการใช้งาน เช่น ผ้าลินินกระสอบเหมาะสำหรับทำกระเป๋า ผ้าป่านมัสลินสำหรับทำผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ส่วนผืนวัสดุประเภทอื่นก็สามารถนำมาใช้ปักได้ เช่น หนังสัตว์เทียม กำมะหยี่ ต่วน ผืนไนล่อน เป็นต้น

3. ด้ายปักหรือเส้นใยชนิดต่างๆ ในปัจจุบันมีเส้นใยหลากหลายประเภท สีสัน ผิวสัมผัส ผลิตจากวัสดุนานาชนิด รวมทั้งมีหลายขนาด หัวใจสำคัญ คือ ควรเลือกใช้เส้นใยคุณภาพดี สีไม่ตกซีด ไม่หดตัวและมีความทนทาน สำหรับด้ายปักที่มีสีเข้ม หรือผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ควรตัดบางส่วนไปแช่น้ำเสียก่อนเพื่อตรวจสอบคุณภาพ

4. สะดึง เป็นกรอบสำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อสะดวกแก่การเย็บปัก มีหลายรูปทรง เช่น วงกลม สีเหลี่ยม วงรี และมีหลายขนาด สำหรับผู้เริ่มฝึกปักผ้า ควรใช้สะดึงลอยตัวแบบกลม เพราะใช้ง่าย คล่องตัว ราคาประหยัดและหาซื้อได้ทั่วไป สะดึงชนิดนี้เหมาะสำหรับงานปักขนาดเล็ก

5. เข็มปัก ขนาดของเส้นใยที่ใช้ปัก และความหนาบางของผ้า จะเป็นตัวกำหนดขนาดเข็มปัก ตาเข็มควรกว้างพอที่จะบรรจุเส้นใยปักได้พอดี ผ้าทอเนื้อแน่นควรใช้เข็มปลายแหลม ผ้าเนื้อหลวมหยาบอาจใช้เข็มปลายมนได้ เลือกใช้เข็มปักที่ทำด้วยโลหะชั้นดี ไม่คดงดง่ายและเป็นสนิม

6. กรรไกร เลือกที่คม ปลายแหลมและขนาดใหญ่พอที่จะขลิบตัดได้สะดวก

7. ดินสอดำ สำหรับวาดแบบ กดรอย ทำเครื่องหมาย และจดข้อความต่างๆ

8. ดินสอสี หรือสีน้ำ สำหรับระบายแบบปัก

9. กระดาษบางลอกลาย เลือกคุณภาพดี ไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกดรอยด้วยดินสอ

10. กระดาษสีกดรอย เลือกคุณภาพดี ติดง่ายและทำความสะอาดได้ง่ายเช่นกัน

11. หมอนปักเข็ม สำหรับพักเข็ม ช่วยป้องกันเข็มหาย หมอนปักเข็มที่ดีควรมีน้ำหนักพอสมควร ไม่เคลื่อนที่ได้ง่าย เมื่อปักเข็มลงไปหรือดึงขึ้นมา

12. เข็มหมุด หรือเทปกาว สำหรับตรึงกระดาษและผ้า ขณะลอกลาย

13. ไม้บรรทัด หรือสายวัด สำหรับวัดระยะ หาตำแหน่ง และกำหนดขนาด

14. ตะกร้าหรือกระเป๋า สำหรับเก็บอุปกรณ์และของจุกจิกให้เป็นระเบียบ หยิบใช้สะดวก นอกจากนั้นยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างอื่นอีกคือ ตัวผู้ปักผ้าเองและสถานที่ทำงาน