ชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอบ้านแม่ป้อกใน จังหวัดลำพูน

กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี อาศัยอยู่มากที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยงบเว อาศัยอยู่มากที่อำเภอขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย

ภาษา

กะเหรี่ยงแต่ละเผ่ามีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน

วิถีชีวิต

ถืออาชีพที่เป็นอิสระ กะเหรียงดั้งเดิมส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา อยู่ตามป่าตามเขา ปลูกพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล ส่วนสัตว์เลี้ยงก็จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารมากกว่าการค้าขาย ใช้ชีวิตแบบพึ่งป่าพึ่งน้ำอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ หลังฤดูการเกษตรชาวบ้านก็จะทอผ้า ที่เรียกว่าผ้าทอมือกะเหรี่ยง

พิธีกรรมที่สำคัญของชนเผ่าปกาเกอะญอ

ชาวกะเหรี่ยงมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธีกรรมเลี้ยงผี บวงสรวงดวงวิญญาณ ด้วยการต้มเหล้า ฆ่าไก่ – แกง และมัดมือผู้ร่วมพิธีด้วยฝ้ายดิบ ซึ่งเกี่ยวโยงกัน ประเพณีอื่นๆ ได้แก่

การเกิด (ดึ ต่า เบล)

เมื่อทารกเกิดสายรกที่ตัดออกไปแล้วก็จะบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดฝาด้วยเศษผ้าแล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ในป่ารอบหมู่บ้าน ต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า “เดปอทู่” แปลว่าต้นสายรก และต้นไม้ต้นนี้จะห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่นั่น หากตัดทิ้งจะทำให้ขวัญของทากหนีไปและทำให้ทากล้มป่วยลง หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนาจะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็จะนำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมาวันที่ไปผูกสายรกทารกติดกับต้นไม้นั้นเพื่อนบ้านทุกคนจะไม่ออกไปทำงาน ซึ่งถือเป็นข้อห้าม เรียกข้อห้ามนี้ว่า “ดึต่าเบล” เป็น กฎหมายประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต

การแต่งงาน (ดึ เทาะ โค่ เบล)

สู่ขอ (เอาะ เฆ) เรื่องราวของการสู่ขอจะเป็นดังนี้ เมื่อเป็นที่รับรู้แล้วว่าหญิงชายรักชอบพอกัน พ่อแม่และญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงก็จะส่งคนไปหาฝ่ายชายเพื่อสบถามให้แน่ใจว่าฝ่ายชายรักและยินดีที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิงจริง ๆ หรือไม่ หากฝ่ายชายรักชอบพอและยินยอมที่จะแต่งงานกับฝายหญิงก็จะมีการนัดหมายวันเวลาทำพิธีแต่งงานกันในเวลานั้น (ประเพณีปกาเกอะญอฝ่ายหญิงจะไปสู่ขอฝ่ายชาย)

การหมั้น (เตอะโหล่) เมื่อชายตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานกับหญิงและนัดหมายวันเวลาแต่งงานที่แน่นอนแล้ว ฝ่ายชายก็ส่งเถ้าแก่ไปทำพิธีหมั้นหมายฝ่ายหยิงก่อนวันแต่งงานในพิธีฝ่ายหญิงจะฆ่าไก่หนึ่งคู่ทำอาหารเพื่อเลี้ยงรับรองเถ้าแก่ฝ่ายชาย วันรุ่งขึ้นก็จะนัดหมายวันเวลาที่ฝ่ายชายและเพื่อน ๆ จะมาหาฝ่ายหญิงเพื่อทำพิธีแต่งงานต่อไป

หมูแรกทำพิธี (เทาะเตาะ) เทาะเตาะคือหมูตัวแรกที่ฆ่าในพิธีแต่งงาน เนื้อหมูตัวนี้จะเอาไว้เป็นเครื่องบูชาเพื่อขอเทพยดามาอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาวและผู้ร่วมงานทุกคน เมื่อถึงเวลาออกเดินทางไปสู่หมู่บ้นเจ้าสาวเถ้าแก่ เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าวจะลงไปอยู่พร้อมกันที่เพิงพักหน้าบ้นที่สร้างไว้ชั่วคราว เถ้าแก่จะทำพิธีรินหัวเหล้าและอธิษฐานขอพร เสร็จพิธีก็จะออกเดินทางโดยมีเจ้าบ่าวและเพื่อน ๆ ร่วมเดินทางอย่างพร้อมเพรียงกันเมื่อเดินทางมาถึงบ้นเจ้าสาวเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวและเพื่อนบ้านก็จะคอยต้อนรับโดยจะให้ไปพักเพิงพักชั่วคราวหน้าบ้าเพื่อทำพิธีดื่มหัวเหล้า เสร็จพิธีดื่มหัวเหล้าก้จะขึ้นสู่บ้านเจ้าสาวเพื่อพักผ่อนและดื่มเหล้าพร้อมกับขับลำนำโต้ตอบกันระหว่างเพื่อเจ้าบ่าวที่เป็นคนต่างถิ่นและเพื่อเจ้าสาวที่เป็นคนในถิ่น เวลาเดียวกันนี้ญาติพี่น้องเจ้าสาวก็จะฆ่าหมูทำอาหารสำหรับเลี้ยงแขกที่มางาน เมื่อทำอาหารเสร็จแล้วเขาก็จะให้เถ้าแก่ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวทำพิธีถวายข้าวแด่เทพยดาเพื่อขอพร จากนั้นก็จะเรียกแขกทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนเจ้าบ่าวที่มาจากแดนไกลมารับประทานอาหาร เสร็จแล้วก็จะเป็นเวลาส่วนตัวของแต่ละคนที่จะพักผ่อนนอนหลักหรือเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านอื่น ๆ และขับลำนำโต้ตอบกัน ซึ่งบางคนบางหมู่ก็จะเที่ยวขับลำนำตลอดคืนเลยก็มี

ไก่เริ่มต้นพิธีบก๊ะ (ชอเก๊าะเก) ช่วงหนึ่งของพิธีแต่งงานจะมีการฆ่าไก่ 2 ตัว ต้มให้สุกโดยไม่ปรุงอะไรลงไปทั้งสิ้น ผู้เฒ่าผู้แก่จะเลือกเด็กหญิงและเด็กชายฝ่ายละหนึ่งคน โดยที่เด็กทั้งสองคนต้องเป็นเด็กที่ทั้งพ่อและแม่ยังต้องมีชีวิตอยู่ เด็กทั้งสองคนนี้มีหน้าที่จัดคำข้าวและเนื้อไก่ 2 ตัวนั้นแล้วมอบให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวรับประทาน โดยเด็กหญิงจะจัดให้เจ้าสาวและเด็กชายจะจัดให้เจ้าบ่าว ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็จะให้สร้อยลูกปัดหนึ่งสายและเงินหนึ่งบาทแก่เด็กหญิงและเด็กชายตามลำดับ เป็นการตอบแทนน้ำใจที่มาช่วยเหลือ

ขันหมาก (เกอะเนอ) ปกาเกอะญอมีวัฒนธรรมว่าขันหมากเป็นของผู้หญิงหรือผู้หญิงมีขันหมาก ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายนำขันหมากมาให้ ขันหมากของปกาเกอะญอประกอบด้วยซิ่น 1 ผืน เสื้อผู้ชาย 1 ตัว ผ้าโพกศีรษะ 1 ผืน เสียม 1 ด้าม เสื้อแม่บ้าน 1 ตัว และเกลือ 1 ห่อ แต่ผู้หญิงบางคนอาจจะมีขันหมากมากกว่านี้ก็ได้ ในวันที่เจ้าบ่าวและเพื่อนเดินทางมาที่บ้านเจ้าสาวนั้นก็จะมีแม่บ้านคนหนึ่งถือขันหมากมาด้วย แม่บ้านคนนี้ต้องเป็นแม่บ้านที่สามียังมีชีวิตอยู่ เมื่อใกล้ไก่ขันตอนเช้าของวันรุ่นขึ้นก็จะมีการทำพิธีขอขันหมากมาด้วย การทำพิธีจะทำโดยเถ้าแก่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ขอ ส่วนฝ่ายชายจะเป็นผู้ให้ โดยที่การขอจะต้องขอด้วยการขับลำนำโต้ตอบกัน ทั้งสิ้น การทำพิธีขอขันหมากนี้จะต้องใช้เวลามากเพราะจะการด้วยการขับลำนำและกว่าฝ่ายชายจะให้ก็ไม่ใช้ให้กันแบบง่ายๆ จะต้องเจรจากันในบทลำนำหลายบท กว่าจะเสร็จก็จะถึงตะวันรุ่งสาง ตอนเช้าก็จะให้แขกหรือเพื่อนเจ้าบ่าวรับประทานอาหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนรับประทานอาหารเถ้าแก่ของทั้งสองฝ่ายก็จะทำพิธี่ถวายข้าวแด่เทพยดาเพื่อขอพร รับประทานอาหารเสร็จก็เป็นอันว่าสิ้นสุดพิธีแต่งงานในฝ่ายของหญิง จากนั้นเพื่อนเจ้าบ่าวต่างก็พากันกลับบ้าน

ไก่ขอพรระหว่างเดินทางกลับบ้าน (ชอโจ่ลอ ) การเดินทางกลับของเถ้าแก่และเพื่อนเจ้าบ่าว ฝ่ายหญิงก็จะฆ่าไก่ 2 ตัวต้มให้สุกแล้วห่อให้เพื่อนเจ้าบ่าวนำกลับบ้านไปด้วยเพื่อเป็นอาหารระหว่างทาง เมื่อถึงเวลาก่อนรับประทานอาหารเถ้าแก่จะทำพิธีถวายอาหารแด่เทพยดาเพื่ออวยพรผู้ร่วมเดินทางให้ได้รับความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งกลายและกลับถึงบ้านด้วยความสวัสภาพ พอกลับถึงบ้านแล้วทุกคนก็จะมาร่วมกันที่เพิงพักหน้าบ้านเจ้าบ้าวก่อนที่จะแยกย้ายกันกลันบ้านของตน และที่เพิงพักนี้เถ้าแก่ก็จะทำพิธีดื่มหัวเหล้าอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้าย วันรุ่งขึ้นวันหนึ่งเพื่อนบ้านทุกคนจะหยุดงาน ซึ่งถือเป็นข้อห้าม เรียกข้อห้ามนี้ว่า ดึ เทาะโค่ เบล

ผูกขวัญร่วมกันระหว่างเจ้าบ่าวเจ้าสาว ( กี่ ฆึ จือ ) หลังจากอยู่ร่วมนานสามวันสามคืนแล้วพ่อแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะพิธีผูกขวัญให้โดยจะผูกร่วมกันระหว่างเจ้าบ่าวเจ้าสาว ซึ่งการผูกขวัญร่วมกันนี้มีความหมายว่าทั้งสองคนได้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วแต่บัดนั้น

การตาย

การเตรียมศพ ในหมู่บ้านหากผู้หนึ่งผู้ใดเสียชีวิตลง เพื่อนบ้านทุกคนจะหยุดงานเพราะถือเป็นข้อห้ามซึ่งเรียกว่า ดึปกาซะลอหม่า หมายความว่า ข้อห้ามสำหรับวิญญาณที่หลุดหายไป แม้แต่ตำข้าวซึ่งปกติจะทำกันทุกเช้าและเย็นก็จะงดทำทั้งสิ้น ขั้นแรกญาติพี่น้องก็จะอาบน้ำศพ นำเสื้อผ้าใหม่ ๆ มาสวมใส่ให้ เสร็จแล้วก็จะห่อศพด้วยเสื้อตีข้าว

เตรียมสัมภาระให้ศพ หลังจากห่อศพแล้วจะหาไม้ไผ่ท่อนหนึ่งยาวประมาณ 5 ศอก ผ่าออกเป็น 4 ซีกเท่า ๆ กัน ครึ่งท่อนแล้วง่ามลงบนศพเพื่อยึดศพให้มั่น เรียกไม้ไผ่ท่อนนี้ว่า “ไม้ง่ามศพ” จากนั้นก็จะนำเสื้อของศพที่ญาติพี่น้องมอบให้แขวนไว้ที่ปลายท่อนไม้ไผ่ เสื้อผ้าและข้าวของของศพนี้เรียกว่า “ต่าเสอจกื่อ” มีความหมายว่า “สัมภาระศพ” เป้าหมายการเตรียมสัมภาระของศพนี้ก็เพื่อทำความร่มรื่นให้ศพขณะเดินทางกลับไปยังโลกหน้า

การขับลำนำ ตกเย็นจะเป็นเวลาแห่งการขับลำนำส่งวิญญาณศพ โดยชายหนุ่มและพ่อบ้านจะขึ้นมาขับลำนำ ลำนำที่ขับในช่วงแรกนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนตาย ลำนำสำหรับศพนี้ผู้ขับจะจำกัดเฉพาะแต่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงจะขับลำนำนี้ไม่ได้ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องและเสียชีวิตลงจะมีการขับลำนำส่งวิญญาณเช่นเดียวกัน แต่ผู้มาขับลำนำจะเป็นเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ลำนำที่ขับมีชื่อเรียกว่า “ทาโหร่ควา” ผู้เสียชีวิตที่เป็นวัยหนุ่มสาวจะมีการไปสร้างกระต๊อบหลังเล็กที่กิ่วดอยแห่งใดแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านและเป็นทางเดินที่ผุ้เสียชีวิตเคยเดินไปมา และนำเสื้อผ้าและข้าวของต่าง ๆ ไปวางไว้ให้ในกระต๊อบหลังนั้น สิ่งนี้เรียกว่า…..“เสอะเล” ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้มีลำนำส่งวิญญาณโดยเฉพาะเช่นกันซึ่งเรียกว่า “ทายเยอลอ” แปลว่า “ลำนำคนึงหา”

พิธีส่งสัมภาระและข้าวของให้ศพ (เอ๊าะโล) ก่อนที่จะปลงศพจะมีการเตรียมสัมภาระและข้าวของให้ศพ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่ ย่าม หม้อ ถ้วย ชาม มีด ไม้ขีดไฟ เชื้อเผือก เชื้อมัน เชื้อข้าว กล้ากล้วย ยาสูบ หมาก พลู เป็นต้น ข้าวของและสัมภาระทั้งหมดจะบรรจุลงในกระชุใบหนึ่ง เมื่อได้เวลาปลงศพ กระชุใบนี้ก็จะถูกเอาไปด้วย ปลงศพเสร็จแล้วจะนำกระชุใบนี้ไปวางไว้ใต้ต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งบริเวรใกล้ ๆ ที่ปลงศพ โดยจะมีผู้หนึ่งกระทำพิธีนี้ เสร็จพิธีแล้วก็จะมีเพื่อนบ้นอีกคนหนึ่งนำขอไม้เกี่ยวคอเสื้อผู้ทำพิธีและดึงกลับบ้านพอเป็นพิธี การทำพิธีส่งสัมภาระและข้าวให้ศพนี้มีความหมายว่าในโลกหน้าวิญญาของศพจะต้องกลับไปทำมาหากินเช่นเดียวกับชีวิตในโลกนี้ จึงต้องมีการมอบสัมภาระและข้าวของให้ มิเช่นนั้นวิญญาณจะมีความยากลำบาก ไม่มีข้าวของและเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน

ข้อห้ามหลังปลงศพ หลังจากปลงศพแล้วตามข้อห้ามในประเพณีจะไม่ให้คนในหมู่บ้านออกไปทำมาหากินนอกบ้าน ส่วนจะห้ามกี่วันนั้นขึ้นอยู่กับว่าศพนั้นมีการเก็บไว้กี่วัน หากเก็บไว้ 1 วันก็จะห้ามออกไปทำงน 1 วัน ถ้าเก็บ 3 วันก็จะห้าม 3 วัน เป็นต้น ข้อห้ามนี้เรียกว่า “ดึนาเกอะเกราะ” หมายความว่า “ข้อห้าผีผู้ตาย” เพราะปกาเกอะญอเชื่อว่าหลังจากปลงศพผีของผู้ตายยังเดินไปมากภายในบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าอยู่จนกว่าจะพ้นจำนวนวันที่เก็บศพไว้ เพราะฉะนั้นหากผู้ใดออกนอกหมู่บ้านในช่วงนี้มีผีผู้ตายอาจจะเห็นเข้าและจับขวัญของผู้นั้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วยลงได้

พืชผักของศพ หากมีผู้เสียชีวิตลงในกลางปีและผู้เสียชีวิตไม่มีโอกาสได้รับประทานพืชผักที่ตนปลูกลงไปในกรณีนี้ญาติพี่น้องก็จะนำผลผลิตของพืชผักต่าง ๆ ในรอบปีนั้นไปฝากไว้ที่ไร่หรือใต้ต้นไม้บริเวณของศพก็ได้หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิญญาณศพจะได้กลับมารับประทานผลผลิตของพืชผักเหล่านั้นแล้วจะได้กลับไปสู่ สู่คติด้วยความสงบสุข จะได้ไม่กลับมาขอจากญาติพี่น้องอีกต่อไป

ขึ้นปีใหม่ (นี่ซอโค่)

เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่เสร็จราวต้นเดือนมกราคม ผู้นำหมู่บ้านหรือฮี่โข่จะแจ้งให้ลูกบ้านทราบว่าถึงเวลาที่จะต้องทำพิธีขึ้นปีใหม่แล้ว ลูกบ้านทุกครอบครัวจะต้มเหล้าสำหรับทำพิธี ก่อนทำพิธีหนึ่งวันชาวบ้านจะทำขนมและของขบเคี้ยวซึ่งประกอบด้วย ข้าวปุ๊ก ข้าวเหนียวต้มและข้าวหลามเพื่อเป็นของถวายแด่เทพเจ้าและเป็นอาหารกินเล่นในวันทำพิธี วันรุ่นงขึ้นทุกครอบครัวจะทำพิธีผูกมือเรียกขวัญและวันนั้นจะไม่มีผู้ใดออกนอกบ้าน ทุกคนต้องอยู่ร่วมงานปีใหม่ ถือเป็นวันพักผ่อนประจำปี หลังจากพิะผูกขวัญของแต่ละครอบครัวและรับประทานอาหารเสร็จแล้วผู้นำหมู่บ้านก็จะออกตระเวนไปตามบ้านของลูกบ้านแต่ละครอบครัวเพื่อทำพิธีรินหัวเหล้าเพื่ออธิษฐานและอวยพรให้ พิธีกรรมวันขึ้นปีใหม่นี้เรียกว่า “นี่ซอโค่” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นวิถีการผลิตและวงจรชีวิตในปีต่อไป

พิธีกลางปี (ลาคุปู)

ราวต้นเดือนสิงหาคม ผู้นำหมู่บ้านจะแจ้งให้ลูกบ้านทราบอีกครั้งหนึ่งว่าถึงเวลาที่จะต้องทำพิธีกลางปีอีกแล้ว พิธีกรรมกลางปีนี้เรียกว่า “ลาคุปู” หมายความว่า “พิธีกรรมสิงหาคม” หรือพิธีกลางปี รูปแบบและขั้นตอนจะเหมือนกับพิธีปีใหม่ทุกขั้นตอน จะต่างกันตรงที่ความหมาย กล่าวคือ พิธีปีใหม่จะเป็นพิธีขอพรจากเทพยดาให้ลงมาอวยพรพืชผลให้เจริญงอกงามดีส่วนพิธีกลางปีจะเป็นพิธีขอบคุณเทพยดาที่ประทานความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างที่ขอจากพิธีปีใหม่แล้ว

ต่า ถ่อ โฆ่ (การฉลองเจดีย์)

หากเป็นเจดีย์ใหญ่จะเลี้ยงปีละ 2 ครั้งราวต้นเดือนมกราคมและต้นเดือนกรกฎาคม หากเป็นเจดีย์น้อยก็จะเลี้ยงเดือนละหนึ่งครั้ง ในพิธีเลี้ยงเจดีย์ทั้งสองประเภททั้งผู้หญิงและผู้ชายก็จะสามารถเข้าร่วมได้ วันที่เลี้ยงเจดีย์มีข้อห้ามว่าสัตว์เลี้ยงเครื่องใช้หรือข้าวของที่ทำด้วยตนเองห้ามออกขายทั้งสิ้น

ต่า หลื่อ หี่ (การสืบชะตาหมู่บ้าน)

พิธีเลี้ยงหมู่บ้านเป็นหน้าที่ของผู้นำหมู่บ้าน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกบ้านด้วย กล่าวคือ หากจำเป็นต้องทำพิะเลี้ยงหมู่บ้านผู้นำหมู่บ้านต้องแจ้งหใลูกบ้านทราบ ลูกบ้านครอบครัวหนึ่งต้องนำข้าวสารหน่อยหนึ่งและไก่ 1 ตัว นำไปให้ผู้นำหมู่บ้านเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในพิธี ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรมนี้ได้คือผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่สามารถเข้าร่วมได้

เมื่อถึงสถานที่ประกอบพิธีก็จะสร้างหอเซ่นไหว้แล้วผู้นำหมู่บ้านจะอธิษฐานภาวนาขอพรจากเทพยดา จากนั้นก็จะบอกให้ลูกบ้านฆ่าไก่ที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้เพื่อทำอาหาร เมื่อทำอาหารเสร็จแล้วจะนำอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทุกส่วนส่วนละหน่อยหนึ่งมาทำเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ผู้นำหมู่บ้านจะนำเครื่องเซ่นไหว้ไปไว้บนหอเซ่นไหว้แล้วยกมือไหว้อธิษฐานภาวนาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนลูกล้านทุกคนที่มาร่วมงานจะยกมือไหว้ตามด้วย หลังจากอธิษฐานภาวนาก็จะทำพิธีเสี่ยงทายดูว่า ณ เวลานี้เป็นฤกษ์งามยามดีที่จะรับประทานอาหารแล้วหรือยัง หากฤกษ์งามยากดีแล้วก็จะร่วมรับประทานอาหาร แต่ก่อนรับประทานอาหารผู้นำหมู่บ้านจะทำพิธีดื่มหัวเหล้า จากนั้นก็จะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วผู้นำหมู่บ้านจะทำพิธีดื่มก้นเหล้า ทุกคนจะต้องช่วยกันดื่มก้นเหล้านี้จนหมด ดื่มก้นเหล้าเสร็จก็เป็นอันว่าเสร็จพิธี และทุกคนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

การที่จะต้องทำพิธีนี้เป็นประจำทุกปี (หรือทุก 2 ปี หรือทุก 3 ปี แล้วแต่ละหมู่บ้านจะกำหนด) ก็เพราะปกาเกอะญอมีประสบการณ์ว่าไม่สามารถมองเห็นล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตและสังคมหมู่บ้าน แต่เชื่อว่าเทพเจ้าจะรู้และสามารถปกป้องคุ้มครองได้ จึงต้องทำพิธีเลี้ยงหมู่บ้านเพื่อขอเทพยดามาปกป้องคุ้มครองและฝากชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมดไว้กับเทพยดา

ต่า มา เง (gei) การสู่มา

มาเกต่าหรือพิธีสุมาเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้นำหมู่บ้านเช่นกัน หากหนุ่มสาวผิดประเวณีก็จะต้องให้ผู้นำหมู่บ้านทำพิธีสุมาตามกฎหมายประเพณีของหมู่บ้าน คู่หนุ่มสาวจะต้องไปที่เชิงบันไดของผู้นำหมู่บ้านและขอผู้นำหมู่บ้นทำพิธีสุมาให้ที่นั่น ฝ่ายหญิงจะต้องต้มเหล้าและส้มป่อยฝ่ายชายต้องหาซื้อหมูหรือวัวหรือควายหนึ่งตัวแล้วนำไปรวมกันที่เชิงบันไดผ้ำนหู่บ้าน ที่เชิงบันไดนี้จะต้องขุดหลุมไว้หนึ่งหลุม ข้างในหลุมจะปูด้วยใบตอง ผู้นำหมู่บ้านจะนำข้าวสุกวางลงในหลุมพร้อมกับรินเหล้าลงไป จากนั้นผู้หญิงจะจับขาหมูส่วนผู้ชายจะเชือดคอและเทเลือดลงในหลุม ในขณะเดียวกันนั้นผู้นำหมู่บ้านจะอธิษฐานภาวนาให้กับทั้งสองคนด้วย

เอาะ ขื่อ ต่า (การคืนดี)

เอาะขื่อต่าหรือพิธีคืนดีจะเป็นพิธีที่กระทำต่อเนื่องจากพิธีสุมา กล่าวคือเมื่อทำพิธีสุมาซึ่งมีความหมายถึงผู้กระทำความผิดประเวณีขอโทษต่อผุ้นำหมู่บ้านและเพื่อนบ้านแล้วก็จะทำพิธีเอาะขื่อต่าหรือพิธีคืนดี ซึ่งมีความหมายหถึงการคืนดีต่อกันระหว่างผู้กระทำผิดประเวณีและเพื่อนบ้านและระหว่างสิ่งสูงสุด พิธีคืนดีนี้ก็เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างในหมู่บ้านเป็นเหมือนปกติ ไม่ต้องมีการบาดหมางใจกันและมีความทุกข์ร้อนอีกต่อไป ขอให้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้และเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ผู้ทำพิธีก็คือผู้นำหมู่บ้านเช่นกัน คู่กระทำผิดประเวรีต้องช่วยกันหาซื้อวัวหรือควายหนึ่งตัวเพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งการคืนดีกัน ก่อนฆ่าทำอาหารจะต้องให้ผู้ทำความผิดประเวณีฝ่ายชายเป็นผู้จูงและฝ่ายหญิงเป็นผู้ต้อนโดยวนรอบหมู่บ้าน พร้อมกับให้ทั้งสองตะโกนด้วยเสียงดังทำนองว่าเพื่อน ๆ ทั้งหลายจงอย่าเอาเยี่ยงอย่างเพราะเป็นสิ่งไม่ดี หลังจากนั้นเพื่อนบ้านก็จะช่วยกันฆ่าวัวตัวนั้นและแบ่งเนื้อให้กับทุกครอบครัว ยกเว้นผุ้กระทำความผิดประเวณีและครอบครัวญาติพี่น้องทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพราะถือเป็นข้อห้ามที่นับว่าเป็นการลงโทษพวกเขาเพราะการกระทำความผิดนี้