บริบทชุมชน

บริบทชุมชนบ้านแม่ป้อกใน

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เขตพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเผ่าลั๊วะ ต่อมากลุ่มชนเผ่าลั๊วะกลุ่มนี้ได้ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คงเหลือไว้แต่วัตถุโบราณเป็นซากปรักหักพัง เป็นที่เลื่องลือกันว่า ที่ตรงนี้ผีดุ ผีเฮี้ยน มีผีกะยักษ์ ไม่มีใครกล้าเข้ามาอาศัยอยู่ หรือเข้ามาแล้วอยู่ไม่ได้เพราะโดนผีเจ้าที่เดิมมาหลอกหลอนด้วยวิธีการต่างๆ ถึงขั้นต้องเสียชีวิตกันไปหลายสิบราย ต่อมาในราวปีพุทธศักราช 2450 สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้มีการสร้างบ้านขึ้นใกล้บริเวณริมฝั่งลำธาร (ชาวบ้านเรียกว่า ลำห้วยแม่ป้อก) ซึ่งเริ่มต้นจากการมาสร้างบ้านขึ้นมาประมาณ 3 หลังโดยการนำของพ่ออุ้ยดอก จันตา หลังที่สองบ้านของพ่ออุ้ยกุย จันตา หลังที่สามพ่อน้อยอ้าย ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งทั้ง 3 ครอบครัวนี้ เป็นครอบครัวชนเผ่ากะเหรี่ยง อพยพหรือย้ายมาจากบ้านห้วยม่วงฝั่งซ้าย ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยนั้นบ้านแม่ป้อกใน ยังเป็นเป็นหมู่บ้านบริวารหรือสาขาของบ้านแม่ป้อก หมู่ที่ 2 (ปัจจุบันเป็นบ้านแม่ป้อกหมู่ที่ 5 ) ชาวบ้านในสมัยก่อนมีการทำอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่เลื่อนลอย ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ บริเวณรอบๆหมู่บ้านนั้นเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่ามากมายเช่น กวาง หมี เสือ สิงโต เป็นต้น ชาวบ้านหากินอยู่กับป่า การคมนาคมในสมัยนั้นเป็นถนนลูกรัง ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้การเดินทางลำบาก โดยเฉพาะการเดินทางจากถนนสายหลัก ลี้ ลำพูน ขึ้นมายังบ้านแม่ป้อกใน ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางใช้ล้อวัวเทียมเกวียน ยังไม่มีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ อาหารที่นำมารับประทานนั้นต้องใช้ทรัพยากรตามธรรมชาติที่มี นำมาใช้ทดแทน เช่น การใช้ก๋อยมาทำเป็นข้าวแทนข้าวสารในการปกครองตอนนั้นมีการแต่งตั้งให้หมู่บ้านบริวารมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้าน (ทำหน้าที่เสมือนผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งในตอนต้นๆนั้นมีการแต่งตั้งให้นายเว จันตาเป็นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นคนแรก ต่อมาได้แต่งตั้งให้นายดวง หวันฮ้อ ได้ทำหน้าที่เป็นคนที่สอง ในช่วงเวลานั้นชาวบ้านก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆตามลำดับ บ้านแม่ป้อกใน เริ่มเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ในปีพุทธศักราช 2524 โดยใช้ชื่อว่า “บ้านแม่ป้อกใน หมู่ที่ 16” ในสมัยนั้นเป็นตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านคือ นายยูเดือย มันห้วย(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นนายศรียนต์ มันห้วย)

ประชากรของหมู่บ้านเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง(ผสมผสานกันทั้งกะเหรี่ยงโปและกะเหรี่ยงสะกอ)นับถือพระพุทธศาสนา มีประเพณีประจำเผ่า เดือน 11 เหนือ ซึ่งตรงกับเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีพิธีผูกข้อมือเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะก่อนที่จะลงมือทำไร่ ทำนา อีกส่วนหนึ่งเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อพี่น้องชาวบ้านแต่ละครอบครัว และประเพณีเลี้ยงดงหอ ซึ่งจะทำกัน 2 ครั้ง ช่วงเดือน 5 เหนือ หนึ่งครั้ง กับ เดือน 9 เหนือ อีกหนึ่งครั้ง ครั้งที่ 1 เดือน 5 เหนือ ตรงกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ครั้งที่ 2 เดือน 9 เหนือ ตรงกับเดือนมิถุนายน ของทุกปี และอีกประเพณีหนึ่งเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีประจำปีของหมู่บ้าน คือ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจ้าเจดีย์แม่ป้อกใน ซึ่งบรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย ในสมัยนั้นโดยการนำของ พ่ออุ้ยดอก พ่ออุ้ยเจิง พร้อมทั้งพี่น้องชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างและบูรณะขึ้นมา ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะคุ้นเคยที่จะเรียกว่า ม่อนธาตุ เพราะตั้งอยู่บนยอดภูเขาเล็กๆลูกหนึ่ง สาเหตุที่ไม่ค่อยเรียกว่า “พระธาตุ” เพราะรูปลักษณะขององค์เจดีย์นั้นเล็กและยังมิเคยมีประวัติว่ามีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ โดยประเพณีนี้จะตรงกับกับแรม 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ตรงกับช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมของทุกปี ในการนี้จะมีการจุดบั้งไฟขึ้น เพื่อเป็นการจุดบูชาองค์พระธาตุเจ้าเจดีย์แม่ป้อกใน ซึ่งถือได้ว่า เป็นมรดกธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มีอายุ ประมาณ 100 กว่าปี เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน

บ้านแม่ป้อกใน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมด 40,000 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่เชิงเขาและพื้นที่ราบ เป็นเนินเขาใหญ่เล็กสลับกันไป ล้อมรอบไปด้วยป่าและภูเขา มีลำห้วยแม่ป้อกไหลผ่าน เป็นที่ที่มีทั้งเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์บางส่วนเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บางพื้นที่เป็นป่าชุมชน พื้นที่มีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปาง หมู่ที่1 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านใหม่สวรรค์ หมู่ที่11 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยบง หมู่ที่3 และบ้านใหม่สุขสันต์ หมู่ 8 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ทิศตะวันตก เป็นภูเขาสันปันน้ำติดต่อกับเขตอำเภอฮอด และอำเภอดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันตก เป็นภูเขาสันปันน้ำติดต่อกับเขตอำเภอฮอด และอำเภอดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่

ภาพมุมสูงของชุมชนบ้านแม่ป้อกใน

สภาพชุมชนรอบๆบริเวณหมู่บ้านนั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่เชิงเขาและพื้นที่ราบ เป็นเนินเขาใหญ่เล็กสลับกันไป ล้อมรอบไปด้วยป่าและภูเขา มีลำห้วยแม่ป้อกและลำห้วยน้อยใหญ่ไหลผ่าน แบ่งเป็น 2 ป้อก (หย่อม) ป้อกเก่าป้อกเดิม อยู่ติดเชิงเขา ติดลำห้วยแม่ป้อกและอ่างเก็บน้ำพระราชดำริ มีอาศรม 1 แห่ง ชื่อ อาศรมสิทธารถะ และมีพระธาตุเก่าแก่ที่มีอายุ 100 กว่าปีอีก 1 แห่ง อยู่บนภูเขาลูกเล็กๆ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร ส่วนป้อกใหม่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ป้อกหนองกวาง ห่างจากป้อกเก่าออกมาอีก 1 กิโลเมตร กระจายไม่หนาแน่นเท่าใดนัก อยู่ห่างกันบ้างติดกันบ้าง แบ่งเป็นซอย รวม 12 ซอย แยกเป็นซ้าย ขวา สองข้างถนนที่ผ่านกลางหมู่บ้าน มีที่พักสงฆ์อีก 1 แห่ง ชื่อ ที่พักสงฆ์หนองกวาง มีพระภิกษุประจำ 5 รูป ห่างจากตัวอำเภอลี้ 38 กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของเทศบาลตำบลศรีวิชัย ห่างจากเทศบาลประมาณ 10 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมด 132 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด มี 471 คน แบ่งเป็นชาย 245 คน หญิง 226 คน อาชีพหลักของคนในชุมชน คือ เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง คนในชุมชนเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงทั้งกะเหรี่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโป และมีคนพื้นเมืองอีกส่วนหนึ่งที่มาเป็นเขย ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีจารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปและมีวิถีแบบเรียบง่ายตามวิถีของชนเผ่ากะเหรี่ยง

มีวัดหรือสำนักสงฆ์ อยู่ 2 แห่ง กับ พระธาตุเจดีย์ เก่าแก่อีก 1 แห่ง คือ

1) ที่พักสงฆ์หนองกวาง มีพระภิกษุ 5 รูป

2) ที่พักสงฆ์สงฆ์/อาศรม สิทธารถะ มีพระภิกษุ 1 รูป

3) พระธาตุเจดีย์แม่ป้อกใน (ชาวบ้านมักจะเรียกว่า ม่อนธาตุ) มีพระภิกษุ 1 รูป

มีโรงเรียน จำนวน 1 แห่ง มีนักเรียนทั้งหมด ประมาณ 45 คน เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนเกณฑ์ อีก 1 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 25 คน

2. ประวัติศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ของชาติพันธ์กระเหรี่ยง

สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดียว ซึ่งหมายถึงว่าในบ้านหลังหนึ่งจะประกอบด้วยพ่อแม่และลูกเท่านั้น เมื่อลูกแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่หลังเล็ก แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าแต่งานแล้วชายจะต้องมาอยู่กับบ้านภรรยาก่อนเป็นเวลา 1 ฤดูกาลเกษตร (คือเริ่มจากถางไร่ ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยว ข้าวประมาณ 7-8 เดือน) หลังจากนั้นก็จะปลูกบ้านใกล้ชิดกับพ่อแม่ฝ่ายภรรยา คำว่าครัวเรือนในสังคมกะเหรี่ยงนอกจากมีความหมายถึงพื้นฐานขั้นแรกในด้านการผลิตและบรืโถคแล้วยังหมายถึงว่าแต่ละครัวเรือนมีไร่ของตนเอง พิธีกรรมด้านการเกษตรและการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของหัวหน้าครัวเรือนยกเว้นพิธีกรรมทางศาสนาหรือการเลี้ยงผีตามประเพณีผีของฝ่ายมารดา การสืบสายฝ่ายมารดา กะเหรี่ยงโปเป็นกลุ่มที่นับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายมารดาซึ่งหมายถึงว่าพ่อแม่จะต้องเป็นกะเหรี่ยงโปสำหรับผู้มีบิดาหรือมารดาเป็นกลุ่มอื่น เช่น สะกอ หรือลัวะ จะไม่มีผีบรรพบุรุษหรือผีในสายฝ่ายมารดาเดียวกันจะมีแต่ผีเรือนของตนเองเท่านั้น

พระครูญานพงษ์ จันตา
ได้รับความกรุณาข้อมูลจาก พระครูญานพงษ์ วัดหนองกวาง บ้านแม่ป้อกใน ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จังหวัดลำพูนเรียบเรียง นายลำพอง ชาปาน ครูกศน.ตำบลศรีวิชัย