พฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคม

พฤติกรรมการบริโภค

เมื่อเทคโนโลยีทางการเกษตรเจริญก้าวหน้ามากขึ้นมีการคัดเลือกสายพันธุ์พืชและสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมหรือให้ผลผลิตมากมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องทุ่นแรงและเครื่องจักรทางการเกษตรทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากจนไม่สามารถบริโภคได้หมดภายในครัวเรือนจึงได้มีการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายกันระหว่างเพื่อนบ้านหรือภายในชุมชนนั้นในบางฤดูกาลก็ผลิตได้มากจนเกินที่ชุมชนจะบริโภคได้หมดทำให้ผลผลิตเกิดการเน่าเสียและต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์จำเป็นต้องหาวิธีการที่จะถนอมผลผลิตทางการเกษตรให้สามารถเก็บได้เป็นเวลานานไม่เน่าเสียทำให้เกิดการแปรรูปอาหารด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ขึ้น

พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์จึงมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่เป็นการบริโภคอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อประทังชีวิตไปเป็นการบริโภคอาหารตามความชอบของแต่ละบุคคลตามกำลังทรัพย์หรือเศรษฐานะเพราะมีอาหารให้เลือกมากขึ้นอุตสาหกรรมอาหารของประเทศในปัจจุบันมีการขยายตัวเพื่อผลิตอาหารตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารจากต่างประเทศตลอดจนการนำเข้าเครื่องจักรต่างๆเข้ามาในประเทศมาก และมีการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศทำให้มีการผลิตอาหารมากมายหลายชนิดออกสู่ท้องตลาดและยังสามารถส่งไปจำหน่ายต่างประเทศนำเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปีการแข่งขันอย่างมากของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในปัจจุบันทำให้ผู้ผลิตจะต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบแม้ในอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลางและขนาดย่อมก็ต้องให้ความสำคัญนี้เพื่อที่จะผลิตอาหารสนองความต้องการของผู้บริโภค สามารถหาตลาดได้ง่ายและขายได้โดยไม่ขาดทุน

พฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปัจจัยต่างๆเช่น เพศ อายุ ความรู้ ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี โดยทั่วไปพบว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องใช้เวลาและจะช้ากว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆเช่นด้านการแต่งกายหรือภาษาพูดปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์ ได้แก่

สิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อชนิดของพืชพันธุ์หรือสัตว์ต่างๆในท้องที่นั้นๆ ซึ่งมีผลต่ออาหารของมนุษย์ในบริเวณนั้นด้วย มนุษย์ตั้งแต่อดีตจะบริโภคพืชหรือสัตว์ที่หาได้ง่ายหรือมีอยู่ในท้องถิ่นนั้นเป็นอาหาร (food availability) เช่น เดิมชาวเอสกิโมไม่สามารถเพาะปลูกได้เพราะอากาศหนาวจัดและไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกพืชมาก จึงต้องบริโภคเนื้อสัตว์เป็นหลัก เช่น เนื้อหมีขั้วโลก แมวน้ำ ปลา ฯลฯ แต่ในปัจจุบันชาวเอสกิโมมีอาหารที่ผลิตมาจากที่ต่าง ๆ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ มากขึ้นตามชนิดของอาหารที่มีขายในท้องตลาด ชาวเอเชียเดิมนิยมบริโภคข้าวเพราะสามารถปลูกได้เจริญงอกงามในเขตร้อนขณะที่คนในประเทศแถบหนาวบริโภคขนมปังทำจากข้าวไรย์หรือข้าวสาลี เพราะเป็นธัญญพืชที่เจริญได้ในสภาวะอากาศที่อบอุ่นหรือหนาว เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศและการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว การแนะนำวิธีการหุงข้าว มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า หรือมีอาหารสำเร็จรูปทำจากข้าวขายอยู่ทั่วไป มีการเผยแพร่วิธีการบริโภคและคุณประโยชน์ ทำให้ประชาชนในซีกโลกตะวันตกบริโภคข้าวมากขึ้นแต่กลับกัน คือ ขนมปังและขนมอบต่างๆก็ได้รับความนิยมบริโภคในหมู่คนเอเชียเช่นกัน จะเห็นได้ว่ามนุษย์ในปัจจุบันสามารถปรับตัวบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีบทบาทสำคัญที่ทำให้มีผลิตภัณฑ์อาหารกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ ได้ แม้ว่าชุมชนนั้นไม่สามารถผลิตอาหารนั้นได้

โครงสร้างทางสังคม และสถานะทางสังคม

ในอดีตมนุษย์ร่วมมือกันในการออกล่าสัตว์และออกหาอาหารและจะมีการย้ายที่อยู่อาศัยไปตามแหล่งอาหารชนิดของอาหารที่บริโภคขึ้นกับว่าจะสามารถแสวงหาอะไรมาได้และนำมาแบ่งปันกัน ต่อมาเมื่อรู้จักตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งและทำการเกษตรกรรม คือ เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ทำให้มีอาหารทั้งชนิดและปริมาณสำหรับการบริโภคมากขึ้นสังคมเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงไปมีการทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกันการที่ไม่ต้องออกไปล่าสัตว์หรือหาอาหารทำให้มนุษย์มีเวลาไปทำกิจกรรมหรืออาชีพอื่นๆที่ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ผลิตอาหารได้ซึ่งทำให้เกิดความเจริญด้านต่าง ๆ เช่น ศิลปะ ศาสนา กฏหมาย ค้าขาย วิทยาศาสตร์ และเมื่อมนุษย์สามารถประกอบอาชีพแตกต่างกันออกไป เช่น เป็นเกษตรกร จิตรกร พระ ทนายความ พ่อค้า นักการศึกษา นักการเมือง ฯลฯ ทำให้เกิดมีความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจและทางสังคม ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยทั่วไปพบว่าเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นจะมีแนวโน้มที่จะบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ น้ำตาล และไขมันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การบริโภคธัญญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีน้อยลง เช่น คนในเมืองใหญ่นิยมบริโภคข้าวที่ขัดขาวมากกว่าข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ซึ่งจะสัมพันธ์กับการมีโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดมากขึ้น เช่น โรคอ้วน ไขมันสูงในเลือด เบาหวาน มะเร็ง ดังนั้นในปัจจุบันจึงกลับมารณรงค์ให้มีการบริโภคข้าวกล้องแทนข้าวขาวมากขึ้น เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพให้คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร การวางตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจึงควรศึกษาความต้องการและเศรษฐานะของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลิตอาหารตรงความต้องการและกำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม

ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ

เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันอาหารที่สังคมหนึ่งเห็นว่าดีอีกสังคมหนึ่งอาจห้ามรับประทานอาหารบางอย่างไม่ได้มีคุณค่าสูงตามหลักโภชนาการแต่มีคุณค่าสูงในด้านจิตใจแก่ผู้บริโภคอาหารบางอย่างมีข้อห้ามทางศาสนาแม้ว่าอิทธิพลด้านขนบธรรมเนียมประเพณีจะมีผลสำคัญต่อพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์แต่ก็พบว่าเมื่อผู้บริโภคมีการเปลี่ยนไปอยู่ในสังคมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีอื่นพฤติกรรมการบริโภคก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ต่างๆที่สังคมนั้นได้กำหนดไว้หรือเพื่อให้ได้รับการยอมรับในสังคมนั้นตัวอย่างเช่นเด็กชาวเอเชียที่ไปอยู่ในทวีปปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาอาจชอบบริโภคขนมปังมากกว่าข้าว เป็นต้น การขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านหรือการไม่ยอมรับเช่นการผลิตอาหารเพื่อขายในประเทศแถบตะวันออกกลางต้องปฏิบัติตามข้อห้ามต่างๆของศาสนาอิสลามต้องเป็นอาหารฮาลาล หรือในช่วงเทศกาลกินเจ การผลิตอาหารเจก็จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

การได้รับความรู้ด้านโภชนาการ

การที่มีการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการในสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ทำให้ได้รับความสนใจและอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคได้ โดยเฉพาะถ้าได้มีการปลูกฝังความรู้ที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็กอาจทำให้เกิดเป็นนิสัยที่จะบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายตลอดชีวิตได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้ คือ ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการที่อาจไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากยังมีช่องว่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักโภชนาการหรือนักสาธารณสุข กับผู้ผลิตสื่อต่าง ๆ ที่เข้าถึงประชาชนทั่วไป ทำให้ไม่สามารถส่งต่อความรู้หรือผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ซึ่งมีข้อมูลที่ยาก หรือซับซ้อนไปสู่ผู้บริโภคได้ ดังนั้นถ้าผู้ผลิตอาหารสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแต่เข้าใจได้ง่าย เช่น การทำแผ่นพับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อต่างๆจะเป็นจุดขายที่ดีของผลิตภัณฑ์ได้เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการความรู้หรือข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาหารต่อสุขภาพ ต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

เทคโนโลยี

จากการที่มนุษย์เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัวและพัฒนาให้สามารถอยู่รอดมาได้จนถึงขั้นคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆทำให้เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมและมีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันความเจริญของเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารอาจใช้แสดงความเจริญทางวัตถุของชุมชน เพราะสังคมที่บริโภคอาหารที่ใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปอาหารที่ก้าวหน้า เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารที่ต้องใช้ไมโครเวฟ อาหารฉายรังสี มักมีความเจริญทางวัตถุมากขณะที่ชุมชนที่บริโภคอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือแปรรูปน้อย อาศัยธรรมชาติหรือใช้เทคโนโลยีแบบง่าย ๆ เช่น การตากแห้งด้วยแสงแดด การรมควัน การหมักดอง สังคมนั้นมักยังไม่เจริญทางวัตถุ ตัวอย่างเช่น แม่บ้านในทวีปยุโรปอาจใช้เวลาเป็นนาทีหรือวินาทีในการอุ่นอาหารสำเร็จรูป ขณะที่แม่บ้านในบางประเทศอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแสวงหาอาหารและประกอบอาหารเพื่อบริโภค เป็นต้น ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทำให้มีผลิตภัณฑ์อาหารให้เลือกเป็นจำนวนมากในท้องตลาดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของบุคคล พฤติกรรมการบริโภคอาหารในปัจจุบันจะเปลี่ยนจากการบริโภคอาหารที่มีการแปรรูปน้อยไปเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมากขึ้น หลักของการแปรรูปอาหารจะต้องรักษาคุณค่าทางโภชนาการและให้มีความปลอดภัยและสะดวกในการบริโภค

การคมนาคมขนส่งและการติดต่อสื่อสาร

การคมนาคมขนส่งที่สะดวกในปัจจุบันมีส่วนทำให้พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วการมีเครื่องบิน เรือ รถไฟรถยนต์ ฯลฯ ทำให้สามารถขนส่งอาหารแปรรูปจากแหล่งผลิตหนึ่งไปยังที่ต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็ว อาหารของแต่ละประเทศมีโอกาสเผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆและบางชนิดอาจได้รับความนิยมมากประชาชนในประเทศแถบหนาวได้รู้จักและบริโภคผลไม้จากประเทศเมืองร้อน เช่น มะม่วง กล้วยหอม เงาะ มังคุด ฯลฯ ขณะที่คนในประเทศแถบร้อนก็มีโอกาสได้บริโภคเนยแข็ง นม เนื้อสัตว์แปรรูป ขนมหวานต่าง ๆ จากประเทศแถบหนาว คนไทยบางกลุ่มในปัจจุบันก็นิยมบริโภคอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ขณะเดียวกันอาหารไทยก็กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเรียนการทำอาหารไทย หรืออาหารไทยสำเร็จรูปได้ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกนำรายได้เป็นจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ มีผลทำให้เกิดการสร้างงานให้คนเป็นจำนวนมากภายในประเทศ และทำให้ภาคเกษตรกรรมซึ่งผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารก็มีความเจริญและขยายตัวไปด้วย ในปัจจุบันจึงมีความเป็นไปได้ที่ชนิดของอาหารในท้องตลาดของซีกโลกหนึ่งอาจจะมีความคล้ายคลึงกับในอีกซีกโลกหนึ่งได้ในการแปรรูปอาหารจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการขนส่งไปยังตลาดเป้าหมาย เพื่อควบคุมให้อาหารยังคงมีคุณภาพที่ดีและปลอดภัยในการบริโภค

ภาพพจน์ของอาหารและผลของการโฆษณา

อาหารบางชนิดได้รับการยอมรับให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเชื่อว่ามีผลดีต่อสุขภาพ หรืออาหารบางชนิดเหมาะกับบุคคลบางกลุ่ม ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารมีมากมาย ตัวอย่างเช่น เชื่อว่านักกล้ามหรือนักมวยต้องบริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์มาก นักวิ่งต้องกินอาหารที่มีแป้งมาก นมเป็นอาหารของเด็ก การบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตกแสดงความทันสมัย การบริโภคอาหารประจำวันได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ หรือเชื่อว่าการดื่มซุปไก่สกัดจะช่วยให้ฉลาดขึ้นหรือหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้วัย เชื่อว่าข้าวกล้องเป็นข้าวของคนจนหรือนักโทษ เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเหล่านี้อาจไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่เชื่อเพราะการบอกต่อ ๆ กันมา จากอิทธิพลของการโฆษณา หรือจากการสร้างกระแสหรือค่านิยม คนไทยควรยึดกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับประโยชน์ของข้าวกล้องเป็นหลักแทนความเชื่อในอดีต และหันมาบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพที่ดี ในยุคของข้อมูลข่าวสารหรือโลกาภิวัตน์ อิทธิพลของสื่อต่างๆมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ดังนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลางและขนาดย่อมควรนำประโยชน์จากสื่อไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีส่วนช่วยการตลาดของผลิตภัณฑ์ได้มาก

ระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย

ระบบเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจ คือ กลุ่มหรือหน่วยธุรกิจที่รวมตัวกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอยู่ภายใต้รูปแบบของการปกครอง จารีตประเพณี สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อกำหนดว่าจะผลิตอะไร ปริมาณมากน้อยเท่าใด และใช้วิธีการผลิตอย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยครัวเรือน หรือกลุ่มผู้บริโภคหรือประชาชนนั่นเอง

ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลก มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองและจารีตประเพณี โดยทั่วไปแล้วแต่ละประเทศได้มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบต่าง ๆ ขึ้น เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของระบบเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นจะเห็นว่าในปัจจุบันจะมีระบบเศรษฐกิจอยู่ 3 แบบ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่เอกชนหรือประชาชนทั่วไป มีเสรีภาพในการตัดสินใจทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ มีทั้งการผลิต การบริโภค การซื้อขาย แลกเปลี่ยน การประกอบอาชีพ การจัดตั้งองค์การทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยรัฐบาลจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดและวางแผนในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินเศรษฐกิจทั้งหมด เอกชนไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจแบบผสมหมายถึงระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาและข้อบกพร่องของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและแบบสังคมนิยม โดยจะมีทั้งการใช้กลไกราคา เป็นการกำหนด และการวางแผนมาจากรัฐบาลส่วนกลาง กล่าวคือ มีทั้งส่วนที่ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองและส่วนที่รัฐบาลพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมและวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆทางเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบผสมมากขึ้นจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ให้โอกาสประชาชนมีเสรีภาพทำกิจกรรมทางธุรกิจได้มากขึ้นโดยอาศัยกลไกราคาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจแต่กิจกรรมทางธุรกิจในบางลักษณะก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการควบคุมหรือดำเนินการโดยรัฐ เช่น กิจการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เป็นต้น

ปัญหาเศรษฐกิจของไทย

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing country) เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียอีกหลายประเทศทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการที่สำคัญ คือ

1. ความแตกต่างของรายได้ ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอดีตที่ผ่านมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปในลักษณะที่ขาดความสมดุล ระหว่างประชาชนในเมืองกับชนบทยังผลให้เกิดปัญหาความแตกต่างทางรายได้อย่างเห็นได้ชัด ประชาชนในชนบทยังยากจนมากกว่า 10 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 90 ของประชาชนในชนบท จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ต่ำกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพอุตสาหกรรม 6 เท่าตัว พาณิชยกรรม เกือบ 10 เท่าตัว และด้านบริการกว่า 4 เท่าตัว อีกทั้งยังต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชนในชาติด้วย ความแตกต่างของรายได้ ผู้ประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดของประเทศอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2. สินค้าขั้นปฐม เป็นสินค้าพื้นฐานของคนไทย อันได้แก่ สินค้าด้านการเกษตร เป็นสินค้าผลิตผลจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์และการประมง ลักษณะสินค้าเกษตรไทย ในปัจจุบันราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นสาเหตุให้เกษตรกรมีรายได้น้อย รายได้ไม่ค่อยจะพอกับรายจ่ายถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับราคาผลผลิตเสมออย่างไรก็ตามสินค้าผลผลิตขั้นปฐมของคนไทยถ้าพิจารณาในภาพรวมของประเทศสินค้าประเภทนี้ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ และทำรายได้ให้กับประเทศปีละมาก ๆ

3. การตลาดเป็นกลไกที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน และเกิดมีการแลกเปลี่ยนกันในกระบวนการแลกเปลี่ยนนั้น ตลาดต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้า การเก็บรักษาสินค้า การขายสินค้าและบริการ การจำหน่ายมาตรฐานสินค้า การขนส่ง การยอมรับความเสี่ยงภัยและการเงิน

ลักษณะทางการตลาดของไทยมีทั้งเป็นตลาดแบบผูกขาดและตลาดแบบกึ่งแข่งขัน กึ่งผูกขาด ที่ว่าเป็นตลาดแบบผูกขาดนั้น เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายเพียงรายเดียว เช่น การผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบ ลักษณะของตลาดแบบนี้ ผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ต้องระมัดระวังว่าจะมีผู้แข่งขัน สำหรับลักษณะของตลาดอีกแบบหนึ่งที่เป็นกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดนั้นเป็นลักษณะของผลผลิตที่มาจากผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย เช่น บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม บริษัทผู้ผลิตสุรา บริษัทผู้ผลิตเหล่านี้จะมีผู้ผลิตน้อยราย และมีการแข่งขันกันในการที่จะขายสินค้าของตน แต่จะรวมตัวกันเพื่อขึ้นราคาสินค้าหรือกำหนดราคาสินค้าได้ง่าย

ตลาดสินค้าไทยอีกอย่างหนึ่ง เป็นตลาดสินค้าที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก ซึ่งตลาดเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปทุกจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน การตลาดของไทยยังมีปัญหาสินค้าส่วนใหญ่ตกอยู่ในกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม การที่มีกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ขึ้น ถ้าเป็นกลุ่มที่มีคุณธรรมก็จะกระจายรายได้โดยกำหนดราคาที่เหมาะสม ไม่คิดกำไรมาก แต่ถ้ากลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่เห็นแก่ได้ กลุ่มเหล่านี้ก็จะรวมกันบีบผู้ผลิตให้ขายผลผลิตในราคาต่ำ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน นอกจากนั้น การกำหนดราคาสินค้าของเมืองไทยเรายังไม่มีมาตรฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าด้านการเกษตร

4. การขาดดุลการค้า และดุลการชำระเงิน คำว่า ดุลการค้า หมายถึง รายรับรายจ่ายจากการค้าระหว่างประเทศ ดุลการค้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงินเท่านั้น เพราะดุลการชำระเงิน หมายถึง รายงานที่แสดงถึงยอดรายได้ - รายจ่าย ที่ประเทศได้รับหรือรายจ่ายให้แก่ต่างประเทศในระยะเวลา 1 ปี ฉะนั้นประเทศอาจมีดุลการค้าขาดดุล แต่มีดุลการชำระเงินเกินดุลก็ได้ สำหรับดุลการค้าของประเทศไทย ในช่วงที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ จะขาดดุลการค้ากับบางประเทศ เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อเครื่องจักร

5. การว่างงาน การว่างงานย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และรวมถึงการเมืองด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ก่อให้เกิดความยากจนเป็นผลกระทบถึงปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ และมีผลถึงการฝักใฝ่ในลัทธิเศรษฐกิจและลัทธิการเมือง ทำให้เกิดปัญหาผู้ก่อการร้ายได้ในทางเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาและกำหนดไว้ว่าถ้าประเทศใดมีอัตราการว่างงานเกิน 4% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดแล้ว จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตราการว่างงานจะไม่ถึง 4% ดังกล่าว ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นได้

6. การเงินและการชำระหนี้ การกำหนดและควบคุมปริมาณเงินให้พอดีกับความต้องการและความจำเป็นในการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกำหนดเป็นนโยบายไว้เพราะถ้าปริมาณเงินที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าหรือบริการ รัฐบาลจะต้องเข้าไปแก้ไข โดยมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินทำได้ 3 ทาง คือ

1. การนำหลักทรัพย์ออกขายสู่ตลาด ถ้ารัฐบาลต้องการเก็บเงินก็ขายหลักทรัพย์รัฐบาล ถ้าเงินในมือฝืดลงรัฐบาลก็รีบซื้อหลักทรัพย์กลับมาอีก ซึ่งจะเป็นการปล่อยเงินไปสู่ประชาชนเพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียน

2. การเพิ่มหรือลดอัตรารับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน ทำให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลง ด้วยวิธีให้เงินสดในท้องตลาดลดลง หรือถ้าให้เงินสดในท้องตลาดมีหมุนเวียนคล่องตัวก็ต้องกู้เงินจากธนาคารกลางเพิ่มขึ้น เงินสดในมือประชาชนจะมีมากขึ้น

3. การเพิ่มหรือลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาฐานะการคลังของรัฐบาล ปีงบประมาณ 2540 - 2541 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำมากจะพบว่าสถานภาพเงินคงคลังยังไม่มีความมั่นคงรัฐบาลต้องประหยัดและจะต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดใช้หนี้สินปีละนับเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งยังผลให้งบประมาณที่จะนำมาใช้ในงานพัฒนามีน้อยมาก

7. เงินเฟ้อ (Inflation) เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาของสินค้าสูงขึ้น หรือหมายถึงภาวะที่ค่าของเงินลดลง สิ่งที่จะทำให้เห็นชัดถึงภาวะเงินเฟ้อ คือ ดัชนีผู้บริโภค เงินเฟ้อมี 2 ประเภท คือ

1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน คือ ภาวะที่ราคาของสินค้าและบริการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเล็กน้อยราวปีละ 2.3 % และไม่เกิน 5 %

2. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง คือ ภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดัชนีราคา จะสูงขึ้นกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

การพัฒนาอาชีพและรายได้ การประกอบอาชีพของคนไทยมีความหลากหลาย มีทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ทหารลูกจ้างของทางราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ่อค้า แม่ค้า ฯลฯ อาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าจะจัดเป็นกลุ่มอาชีพจะได้ 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่อาชีพเกษตรกรรม อาชีพอุตสาหกรรม และอาชีพบริการ

1.อาชีพเกษตรกร ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ดังนั้นอาชีพเกษตรจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับคนไทย อาชีพเกษตรมีทั้งการทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ สินค้าเกษตรเป็นสินค้าขั้นปฐมของไทย และเป็นสินค้าที่ส่งไปขายต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท รัฐบาลพยายามส่งเสริมอาชีพเกษตรมากขึ้น และพยายามเชิญชวนให้เกษตรกรไทยเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชบางชนิด เมื่อเห็นว่าพืชนั้นมีผู้ผลิตมากและล้นตลาด ทำให้สินค้าราคาถูก

2. อาชีพอุตสาหกรรม จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงร้อยละ 6 อีกร้อยละ 94 เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดใหญ่แทนที่จะจ้างคนงานมาก แต่กลับจ้างคนงานน้อย เพราะมีการใช้เครื่องจักรแทนแรงคน ฉะนั้นความหวังที่จะเข้าไปรับจ้างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องยาก

แนวโน้มของการขยายตัวทางอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ เอกชนลงทุน โดยรัฐบาลให้หลักประกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ถึงกับมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมขึ้นที่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี อย่างไรก็ตามการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ไม่ส่งผลต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดย่อมเพิ่มขึ้น และขยายการลงทุนไปยังต่างจังหวัดให้มาก เพื่อหวังจะให้มีการจ้างงานในส่วนภูมิภาค มีแผนขยายเมืองหลักทั้ง 4 ภาคของประเทศ และขยายเขตอุตสาหกรรมไปยังจังหวัดใหญ่ ๆ ด้วย

3. อาชีพบริการ ถ้าจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยจะได้ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่หนึ่ง ประกอบด้วย ข้าราชการและลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ หมายรวมถึง ทหาร ตำรวจ ด้วย กลุ่มอาชีพนี้มีหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนเพราะเป็นลูกจ้างของรัฐ

กลุ่มที่สอง เป็นพวกที่เป็นลูกจ้างหน่วยงานเอกชน ตามโรงงานอุตสาหกรรม ไร่ สวน และตามบริษัทห้างร้านต่างๆ การจ้างงานจากสถานบริการเหล่านี้ จะอยู่ในวงจำกัดรับได้จำนวนไม่มาก และจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ความจำเป็นในการจ้างงานลดลง

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ แนวทางพัฒนาอาชีพในอนาคตนั้น เนื่องจากทางราชการรับบุคคลเข้าทำงานน้อย หน่วยงานเอกชนก็มีการจ้างงานน้อยลง ด้วยเหตุนี้แนวโน้มต่อไป

ในแผนพัฒนา ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) อาชีพอิสระมีความจำเป็นมากสำหรับประชาชน รัฐบาลก็ได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ว่า “ให้จัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวหรือสร้างงานด้วยตนเองให้มากขึ้น เน้นการพัฒนาคุณภาพของประชากรเป็นสำคัญ”

การพัฒนาตลาดแรงงาน

ในปี พ.ศ. 2540 ปัญหาแรงงานในประเทศไทยเริ่มรุนแรงมากขึ้น โรงงานต่าง ๆ หยุดกิจการ มีการเลิกจ้างงานมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานทั้งในลักษณะที่เป็นการว่างงานโดยเปิดเผยการว่างงานของผู้มีความรู้แต่ทำงานต่ำกว่าระดับรายได้และความสามารถ ตลอดจนปัญหาแรงงานเด็ก รัฐบาลจึงได้เร่งหาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่จะลดความรุนแรงด้านปัญหาให้น้อยลง ตลอดจนกำหนดนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้มีงานทำมากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

1. การพัฒนาการเกษตรในรูปการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลผลิตการเกษตร อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง ตลอดจนการจัดการเรื่องตลาดและเสถียรภาพของราคาในพืชหลักที่มีอยู่ การพัฒนา การเกษตรแบบผสมผสานที่เป็นการขยายชนิดพืชและใช้พื้นที่มากขึ้นในเขตชลประทานและเขตน้ำฝน

2. การสร้างงานเกษตรในฤดูแล้ง เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัญหาในเขตชนบทส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในฤดูแล้ง มาตรการที่จะช่วยสร้างงานทางการเกษตร ได้แก่ การนำเทคโนโลยีคิดค้นมาได้ไปปฏิบัติ เช่น การทำฝนเทียม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบทยากจน เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำให้มีน้ำพอเพียงในฤดูแล้งส่งผลให้เกิดผลดีในด้านการประมง การเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูก ตลอดจนการเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับไม้ยืนต้นไม้โตเร็ว เพื่อใช้สอยในระดับหมู่บ้าน การสนับสนุนเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างพอเพียง จะก่อให้เกิดงานที่มีผลผลิตและรายได้ขึ้นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในฤดูแล้งซึ่งเป็นฤดูที่มีปัญหา การว่างงานสูง

3. การสร้างงานโดยการสนับสนุนอุตสาหกรรมชนบท ส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบทที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร การสร้างงานให้มากขึ้นในต่างจังหวัดจะเป็นการรองรับแรงงานจำนวนมาก และลดความจำเป็นที่จะอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร หรือนอกท้องถิ่นในขณะนี้ได้มีการทดลองการให้บริการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างจังหวัดโดยวิธีระดมสรรพกำลังภาครัฐบาลที่มีอยู่ในด้านทุน เทคโนโลยี การจัดการและการตลาดในหลายจังหวัด คือ พิษณุโลก สงขลา ขอนแก่น และกาญจนบุรี

4.การสร้างงานโดยการพัฒนาอาชีพนอกการเกษตร การขยายการจ้างงานในสาขาเกษตรจำเป็นที่จะต้องขยายงานนอกการเกษตรภายในชนบท เช่น โครงการส่งเสริมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญประเภทหนึ่งของประเทศไทย โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ จัดให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าไปดำเนินการส่งเสริมในเรื่องนี้ ฝึกอบรมผู้ที่สนใจให้มีความรู้พิจารณาแหล่งสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบกิจกรรมและการตลาด อย่างไรก็ดีการที่จะขยายการผลิตในกิจกรรมนอกการเกษตรจำเป็นต้องคำนึงถึงการเตรียมคนและฝึกคนให้มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของงานนอกการเกษตร

5. การเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ถ้านักศึกษาติดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์ จะพบข่าวอยู่เสมอเกี่ยวกับการที่มีเด็ก ๆ ไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่อายุยังน้อย ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดงาน เด็กเหล่านี้จะได้ค่าจ้างต่ำและบางครั้งต้องประสบภัยอันตรายจากการทำงานทั้งนี้เนื่องจากเด็กเหล่านั้นยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นจะต้องพยายามให้การศึกษา

ด้านวิชาชีพแก่เด็ก ๆ โดยการปลูกฝังให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อการประกอบอาชีพการฝึกทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับวัย มีผลงานอาชีพของผู้เรียนที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งทำได้โดยการให้การศึกษา ขยายการศึกษาให้กว้างขวางทั่วถึง ให้เด็กได้เรียนอย่างน้อย 12 ปี

การให้การศึกษาแก่เด็กนั้น ต้องจัดหลักสูตรวิชาชีพเข้าไว้ในหลักสูตรในโรงเรียนด้วย ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการจัดหลักสูตรวิชาชีพให้เด็กได้เรียนแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียนก็ควรต้องขยายการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น โดยใช้วิชาการทางการศึกษานอกโรงเรียน จัดบริการฝึกอบรมให้ทั่วถึงทั้งในเมือง และชนบทห่างไกล เพื่อประชาชนเหล่านั้นจะได้มีความรู้และทักษะพร้อมที่จะประกอบอาชีพได้

การพัฒนาผลผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

ในการพัฒนาผลผลิตการเกษตรนั้นเทคโนโลยีมีความสำคัญ

เทคโนโลยี (Technology) คือ วิทยาการซึ่งได้มาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ่งที่เป็นหลักการ วิธีการ และเครื่องมือต่าง ๆเทคโนโลยีที่ได้นำมาใช้เกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ในประเทศไทยเรามีมากมาย เช่น การรู้จักใช้เครื่องทุ่นแรง รู้จักการใช้ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ รู้จักการปรับปรุงดิน รู้จักการผสมพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร

ผลผลิตทางการเกษตร หมายถึง สิ่งที่ได้จากการทำเกษตรกรรม และรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลิตผล นั้น ๆ ด้วย

ชาวนามีอาชีพในการทำนา โดยการเพาะปลูกข้าวในนา จะเป็นโดยการปักดำหรือการหว่านก็ได้ จนข้าวออกรวงและได้เก็บเกี่ยวเพื่อนำมานวด เมล็ดข้าวที่ได้นี้เรียกว่าข้าวเปลือก ถ้าเรานำข้าวเปลือกไปสีในโรงสีหรือเอาไปดำ ก็จะได้เป็นเมล็ดข้าวสีขาว เรียกว่า ข้าวสาร คนเราจึงได้นำเอาข้าวสารนี้ไปหุงต้มหรือนึ่งเสร็จแล้วนี้จึงเรียกว่าข้าว ดังนั้นข้าวจึงเป็นผลผลิตทางการเกษตร

ชาวไร่ก็มีอาชีพในการทำไร่ เช่น การทำไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง ไร่พริก ในการทำไร่นั้น ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก การบำรุงรักษาพืชไร่จนกว่าพืชชนิดนั้น ๆ จะได้ดอกได้ผล เช่น ข้าวโพดจะต้องให้ฝักแล้วชาวไร่ก็เก็บฝักข้าวโพดมาสีนำไปเป็นอาหารของสัตว์ ดังนั้นข้าวโพดที่ได้ออกมาจึงเป็นผลผลิตทางการเกษตร

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรประมาณร้อยละ 75 มีอาชีพทางการเกษตร ดังนั้น รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศจึงได้มาจากการนำผลิตผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น จากหลักฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ในการเพาะปลูกเพียงร้อยละ 20 ของเนื้อที่ทั้งหมด ที่เหลือนอกนั้นก็เป็นที่อยู่อาศัย แม่น้ำลำคลอง ถนนหนทาง ป่าเขา ป่าก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสงวนไว้เพื่อเป็นการรักษาต้นน้ำ ลำธาร ป้องกันน้ำท่วม และเป็นการสงวนพันธุ์สัตว์ป่าอีกด้วย

ผลผลิตทางการเกษตร มีประโยชน์มากมาย หรือแทบจะกล่าวได้ว่าผลผลิตทาง การเกษตรเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เลยทีเดียว ซึ่งอาจจะจำแนกได้ดังนี้

1. อาหาร จะเห็นว่ามนุษย์บริโภคอาหารที่ได้มาจากผลิตผลทางการเกษตร ดังจะเห็นได้จากมนุษย์บริโภคข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นอาหาร ถึงแม้ว่ามีบางประเทศที่ประชากรของเขาบริโภคอาหารจำพวกขนมหรือขนมปัง แต่ขนมเหล่านั้นก็ทำมาจากข้าว หรือข้าวสาลี ดังที่เราเคยเห็นแป้งชนิดต่าง ๆ ที่ทำมาจากข้าว เช่น แป้งสาลีก็ทำมาจากข้าวสาลี แป้งข้าวจ้าวก็ทำมาจากข้าวเจ้า เป็นต้น แป้งเหล่านี้ก็นำไปผลิตเป็นพวกขนมต่าง ๆ ได้ หรืออาจจะเป็นพวกเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น กาแฟ น้ำส้ม ล้วนได้มาจากผลิตผลทางการเกษตรทั้งสิ้น

2. เครื่องนุ่งห่ม ก็เป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ โดยที่มนุษย์สามารถนำผลิตผลทางการเกษตรที่ให้เส้นใยมาทอเป็นผ้า แล้วทำเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ พืชที่ให้เส้นใย ได้แก่ ฝ้าย ปอ และอื่นๆ ผลิตผลทางเกษตรที่นำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มนี้ ถือว่าเป็นเครื่องอุปโภค

3. ยารักษาโรค ผลิตผลทางการเกษตรบางชนิดสามารถนำมาสกัดทำเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น กระเทียม ขิง ข่า และอื่น ๆ เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความจำเป็นในการผลิตยารักษาโรคยิ่งมีมากขึ้น ในสภาพของการดำเนินชีวิตและมนุษย์แล้วจะหนีไม่พ้น การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปได้

4. ที่อยู่อาศัย การสร้างสถานที่อยู่อาศัยมีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์มาก ในสมัยโบราณคนเราได้อาศัยอยู่ตามถ้ำ พอนานเข้าก็มีวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ รู้จักการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเอง ซึ่งอาจจะเริ่มจากการนำเอาใบไม้ใบหญ้ามามุงหลังคา หรืออาจจะเป็นการนำเอาหนังสัตว์มาทำเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาก็รู้จักการนำเอาต้นไม้มาแปรรูป เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เพื่อให้คงทนและถาวรต่อไป เมื่อคนใช้ต้นไม้มากเข้าต้นไม้ก็น้อยลงทุกที จนถึงปัจจุบันนี้ก็ได้มีการปลูกป่าขึ้น ซึ่งการปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้นี้ล้วนแต่เป็นผลผลิตทางการเกษตรทั้งสิ้น

5. ผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรแทบทั้งสิ้น อันได้แก่ อาหารกระป๋อง ไม้อัด นมผง และเครื่องหนังต่าง ๆ เป็นต้น

ภาพจาก : http://www.thaipurchasing.com/article/p-67

ภาพจาก : https://www.freightexpress.co.th/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%

การอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรม หมายถึง การผลิตสิ่งของปริมาณมากเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมได้แบ่งออกตามลักษณะและขนาดของกิจการได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หมายถึง อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักรกล อุปกรณ์และเงินทุนจำนวนมาก เช่น โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงงานผลิตเครื่องดื่ม เป็นต้น

2. อุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็ก ใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 คน และใช้เงินทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท อุตสาหกรรมขนาดย่อมนี้ใช้วัตถุที่ได้จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาผลิตของสำเร็จรูปอีกต่อหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น การทำน้ำตาล การฟอกหนัง การทำน้ำแข็ง การทำรองเท้า เป็นต้น

3. อุตสาหกรรมในครอบครัว หมายถึง อุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ทำกันในครอบครัว ใช้แรงงานของคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความชำนาญทางฝีมือแล้วนำออกจำหน่าย เช่น การประดิษฐ์ดอกไม้ การทำอาหารหมักดอง การทำขนม เป็นต้น ประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมได้ จะต้องเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านวิชาการสูง สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีออกไปจำหน่ายแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ในกรณีของประเทศไทยยังมีอุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่ไม่มากนัก และอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กลงทุนไม่มาก

แนวโน้มในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

ประเทศไทยได้เริ่มมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ปัจจุบันเน้นการพัฒนาคน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาไว้ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของคนทุกกลุ่มเป้าหมาย อายุและเพศ ให้คนมีทางเลือกในชีวิตและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดย

1.1 ปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้และฝึกอบรมให้คิดเป็นทำเป็น มีการเรียนรู้จากประสบการณ์และของจริง ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องหลากหลายสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงองค์ความรู้สากลเข้ากับภูมิปัญญาไทยที่มีวิวัฒนาการจากพื้นฐานสังคมการเกษตรภายใต้บริบทของวัฒนธรรมค่านิยมดั้งเดิมที่ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติสร้างแนวการดำรงชีวิตที่ประชาชนรู้เท่าทันการพัฒนาและสามารถรักษาระดับการพัฒนาที่เหมาะสมได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องและยืนนาน

1.2 สนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท สามารถจัดการศึกษาได้พร้อมๆ ไปกับผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และให้สิ่งจูงใจเพิ่มเติมแก่ภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษามากขึ้น

1.3 ให้ความสำคัญเป็นลำดับสูงในการปฏิรูปการฝึกหัดครูเพื่อให้ครูเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี สามารถดึงดูดคนเก่งคนดีเข้าเรียนวิชาครูรวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาครูประจำการและบุคลากรทางด้านการศึกษาและปฏิรูปการเรียนการสอนในการผลิตครูอย่างจริงจัง

1.4 เสริมสร้างศักยภาพของสื่อสารมวลชน เพื่อให้สนับสนุนการพัฒนาโดยเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆกับการเพิ่มทักษะของการเป็นผู้รับสารหรือผู้บริโภคสื่อที่มีคุณภาพโดยเน้นบทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการสร้างปัญญาทั้งในระดับท้องถิ่นและในกระแสโลกาภิวัตน์

1.5 สร้างบรรยากาศแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน

1.6 สนับสนุนให้มีการพัฒนาจิตใจคนให้เป็นคนดีมีวินัย คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย โดยเน้นศักดิ์ศรีและศักยภาพของคนไทยในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

1.7 ปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยเน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาทางด้านการรักษาพยาบาลแบบพื้นบ้าน เช่น แพทย์แผนโบราณ สมุนไพร เป็นต้น

2. ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของคนในกระบวนการพัฒนา โดย

2.1 ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และชุมชนให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง โดยให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง

2.2 สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้

สามารถมีรายได้และพึ่งตนเองได้ เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้

2.3 ส่งเสริมบทบาทของสตรีให้เป็นพลังในการพัฒนา และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใน

ทุกระดับ ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการและสร้างความสมดุลของการพัฒนา

2.4 เร่งรัดการพัฒนาชนบทและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นให้มีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน

2.5 เพิ่มบทบาทของประชาชนในการเรียนรู้การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และจัดการสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเตรียมคนและชุมชนเพื่อรองรับผลกระทบของการพัฒนาจากภาคนอกชนบท

2.6 พัฒนาและปรับปรุงระบบประกันสังคมให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

2.7 พัฒนาระบบการเมืองให้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเป็นวิถีชีวิต ให้มีค่านิยม วัฒนธรรม กติกา และวิธีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสังคมไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืน

สรุป ในปัจจุบันนี้ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะมีทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพยากรและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ โดยเอกชนใช้กำไรเป็นสิ่งจูงใจเข้ามาทำการผลิตและอาศัยกลไกราคาในการจัดทรัพยากร และมีบางกิจกรรมที่ควบคุมโดยรัฐ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจและคุ้มครองผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม นอกจากนี้รัฐจะเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น ได้แก่

1) ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ เช่น ด้านการทหาร ตำรวจและศาล เป็นต้น

2) ดำเนินการด้านเศรษฐกิจพื้นฐาน เช่น สร้างสะพาน ถนน เขื่อน เป็นต้น

3) ควบคุมและดำเนินการด้านการศึกษาและสาธารณสุข

4) ดำเนินกิจการด้านสาธารณูปโภค เช่น การรถไฟ การประปา สื่อสารไปรษณีย์ เป็นต้น

5) ดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อกระจายรายได้และทรัพยากรจากชุมชนเมืองไปยังชนบท โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ ๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน SME วิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาการศึกษา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และการสร้างงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 - 9 เป็นต้น

หลักการ และวิธีการเลือกใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตในการผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

ปัจจัยการผลิต ปัจจัยการผลิต หมายถึง ทรัพยากรที่ใช้เพื่อการผลิตเป็นสินค้าและบริการ ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์แบ่งปัจจัยการผลิตเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ที่ดิน หมายรวมถึง ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด เช่น ป่าไม้ สัตว์ น้ำ แร่ธาตุ ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมีอยู่ตามธรรมชาติ มนุษย์สร้างขึ้นเองไม่ได้ แต่สามารถพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติได้บ้าง เช่น การปรับปรุงที่ดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น ผลตอบแทนจากการใช้ที่ดิน เราเรียกว่า ค่าเช่า

2. แรงงาน หมายถึง แรงกาย แรงใจ ความรู้ สติปัญญา และความคิดที่มนุษย์ทุ่มเทให้แก่การผลิตสินค้าและบริการ แต่ในที่นี้แรงงานสัตว์จะไม่ถือเป็นปัจจัยการผลิตประเภทแรงงาน แต่ถือเป็นทุน ประเภทมีชีวิต ผลตอบแทนของแรงงานเรียกว่า ค่าจ้างและเงินเดือน โดยทั่วไปแล้วแรงงานแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

- แรงงานฝีมือ เช่น นักวิชาการ แพทย์ นักวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น

- แรงงานกึ่งฝีมือ เช่น ช่างไม้ ช่างเทคนิค พนักงานเสมียน เป็นต้น

- แรงงานไร้ฝีมือ เช่น กรรมกรใช้แรง นักการภารโรง ยาม เป็นต้น

3. ทุน ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สิ่งก่อสร้าง และเครื่องจักร เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้ทุนยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

3.1 เงินทุน หมายถึง ปริมาณเงินตราที่เจ้าของเงินนำไปซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าจ้าง ค่าเช่า และดอกเบี้ย

3.2 สินค้าประเภททุน หมายถึง สิ่งก่อสร้าง รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร ที่ใช้ในการผลิต เป็นต้น ผลตอบแทนจากเงินทุน คือ ดอกเบี้ย

4. ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่สามารถนำปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาดำเนินการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยอาศัยหลักการบริหารที่ดี การตัดสินใจจากข้อมูลหรือจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างรอบคอบ รวมถึงความรับผิดชอบ ผลตอบแทน คือ กำไร

คุณธรรมในการผลิตและการบริโภค

การบริโภค หมายถึง การแลกเปลี่ยนสินค้าและการบริการโดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของบุคคล เช่น การใช้เงินซื้ออาหาร การใช้เงินซื้อที่อยู่อาศัย การใช้เงินซื้อเครื่องนุ่งห่ม การใช้เงินซื้อยารักษาโรค การใช้เงินซื้อความสะดวกสบายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น

การผลิต หมายถึง การสร้างสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองการบริโภคของบุคคล

คุณธรรม เป็นคุณงามความดีที่จะต้องเสริมสร้างให้เกิดทั้งในผู้ผลิตและผู้บริโภค

ในแง่ผู้ผลิตต้องมีความซื่อสัตย์ในการไม่ปลอมปนสารมีพิษหรือสารที่มีประโยชน์ เข้ามาในกระบวนการผลิต หรือหากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้ในปริมาณที่ปลอดภัยและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งควรแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ เพื่อให้อยู่ในวิจารณญาณของผู้บริโภคที่จะเลือกใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปล่อยสารพิษหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีผลกระทบต่อคนอื่น

คุณธรรมของผู้ผลิตที่สำคัญมีดังนี้

1. ความขยัน เป็นความพยายาม มุมานะที่จะประกอบการในการผลิตและบริการให้ประสบผลสำเร็จอย่างไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค

2. ความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค เช่น ไม่ค้ากำไรเกินควร ไม่โฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริง ไม่ปลอมปนสินค้า ไม่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ หรือสินค้าที่ผิดกฎหมาย ฯลฯ

3. ความรับผิดชอบ ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากการผลิตและบริการ

4. พัฒนาคุณภาพสินค้า เน้นให้สินค้าและบริการเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค

5. ดูแลสังคม คือ แบ่งส่วนกำไรที่ได้รับคืนสู่สังคม เช่น ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่น สิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ การให้ความรู้ที่ถูกต้อง ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ

ในแง่ผู้บริโภค ก็ต้องใช้สติปัญญาในการพิจารณาว่าควรเชื่อคำโฆษณาของสินค้าหรือไม่ และจะใช้อย่างไรให้คุ้มค่าและไม่ทิ้งของเหลือใช้ให้เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความร่วมมือในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีเพื่อสุขภาวะของทุกคนในครอบครัวและในชุมชน

คุณธรรมของผู้บริโภค ในการเลือกสินค้าและบริการผู้บริโภคควรคำนึงถึงความจำเป็นหรือประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต คุณธรรมที่สำคัญ มีดังนี้

1. ใช้ตามความจำเป็น ในการบริโภคสินค้าหรือบริการให้สอคคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตไม่กักตุนสินค้า

2. พิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับจากการซื้อสินค้าและบริการ

3. ประหยัด ซึ่งควรพิจารณาถึงคุณภาพ ราคาสินค้า การบริการที่มีคุณภาพ ยุติธรรมเหมาะสมกับค่าบริการ

4. มีค่านิยมในการบริโภคสินค้าผลิตภัณฑ์ไทย

ในปัจจุบันหน่วยธุรกิจต่าง ๆ มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ขายสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งเมื่อบางครั้งมีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบความจริงเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า ดังนั้นในการซื้อสินค้าและบริการใด ๆ ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาถึงคุณภาพ ความจำเป็นของสินค้าและบริการเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริโภค

1. ราคาของสินค้า ผู้บริโภคโดยทั่วไปจะซื้อสินค้าบริการที่เป็นไปตามความต้องการ ความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีราคาที่ไม่แพงเกินไปแต่มีคุณภาพดี

2. รสนิยมของผู้บริโภค ผู้บริโภคมีรสนิยมที่แตกต่างกัน บางคนมีรสนิยมที่ชอบสินค้าและบริการที่มาจากต่างประเทศ ผู้บริโภคบางคนมีรสนิยมของความเป็นไทย ก็มักจะซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศเท่านั้น

3. รายได้ของผู้บริโภค รายได้ของผู้บริโภค เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริโภค ถ้าผู้บริโภคมีรายได้น้อยมักต้องการสินค้าและบริการที่ราคาถูก เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ขัดสน ถ้าผู้บริโภคมีรายได้สูงมักต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดี แม้จะราคาสูงก็ตาม

4. ระบบซื้อขายเงินผ่อน เป็นระบบซื้อขายที่ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสได้บริโภคสินค้าที่มีราคาแพงได้

5. การโฆษณา การโฆษณาเป็นการทำตลาด ทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าและบริการ สินค้าและบริการที่มีการทุ่มทุนโฆษณามากๆ มีส่วนทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าและบริการนั้นมากขึ้น

6. การคาดคะเนราคาภายหน้า ถ้าผู้บริโภคมีการคาดว่าสินค้าใดมีผลผลิตน้อยและราคาจะแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีการซื้อสินค้านั้นกันมาก

7. ฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน ผู้บริโภคจะหาซื้อเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายไม่ร้อน ฤดูฝน ผู้บริโภคจะหาซื้อเสื้อผ้าและเครื่องป้องกันฝนกันมาก เป็นต้น