ประเพณีแซนโฏนตา
ประเภท วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี
แซนโฎนตา ประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษ ของชาวไทยเชื้อสายเขมร
อาจเรียกว่าเป็นประเพณีในเทศกาลสารท บางคนก็เรียกว่า “สารทเขมร” (คล้ายๆ กับสารทจีน สารทไทย) คล้ายกับประเพณีสลากภัต ตานก๋วยสลาก หรือบุญเดือนสิบในภาคอื่นๆ แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดพิธีกรรม โดยประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ ตำนานที่สืบทอดนานกว่า1,000 ปีของชุมชนชาวเขมร
แซนโฎนตา เป็น ภาษาเขมร
แซนโฎนตาเป็นภาษาเขมร คำว่า “แซน” ภาษาไทยตรงกับคำว่า “เซ่น” หมายถึงการเซ่นไหว้ ส่วนคำว่า “โฎนตา” แปลว่า ยายตา ใกล้เคียงกับคำว่าบรรพบุรุษ ญาติโกโหติกา
ความหมายของแซนโฎนตา ก็คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิด และหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครด้วย
ประเพณีแซนโฎนตาเริ่มต้น ดังนี้
1. วันเบ็ณฑ์ตู๊จหรือวันเบ็ณฑ์เล็ก คือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 10 จะมีทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด
2. วันกันซ็อง หรือกันเบ็ณฑ์ เป็นวันหลังจากวันเบ็ญฑ์ตู๊จ คือเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ตอนเช้าและเพล ชาวบ้านจะไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด
3. วันแซนโฎนตา หรือวันเบ็ณฑ์ธม (วันสารทใหญ่) คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ญาติพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันทำบุญที่วัด เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน
**คำว่า “เบ็ณฑ์” ตรงกับภาษาไทยว่าบิณฑ แปลว่า การรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว
สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา
แต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่
• กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า
• เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหม ที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก
• สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออานมีหัวหมู ตามแต่ฐานะ
• กับข้าวต่างๆ
• ขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ กันกันเตรือม ขนมกันตางราง ขนมนางเล็ด ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ ขนมข้าวพอง
• ผลไม้ต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือ มะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก
• น้ำดื่ม เหล้า ตามแต่เห็นสมควร
• เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับ
• กระถางธูปและธูป ไว้สำหรับจุดเวลาเซ่น และจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย
พอตกเย็นชาวบ้านแต่ละคุ้มที่สนิทกัน จะเวียนกันไปแซนโฎนตาตามบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง คนที่ไม่ได้พบปะกันมานานก็จะมีโอกาสได้พูดคุยกัน บางบ้านก็มีการกินเลี้ยงกันสนุกสนาน
ของเซ่นไหว้ที่สำคัญของประเพณีนี้คือ ข้าวต้มมัด
หรือภาษาเขมรเรียกว่า “บายเบ็ณฑ์” ซึ่งหมายถึง ข้าวที่ปั้นเป็นก้อนเพื่อใช้ใส่บาตรพระ
ข้าวต้มมัดจากข้าวใหม่ที่เพิ่งออกรวง
โดยบายเบ็ณฑ์จะเป็นการใช้ข้าวใหม่ ที่เพิ่งออกรวงเป็นน้ำนม นำมาตำแล้วผสมด้วยนม ถั่ว งา น้ำตาล น้ำใบเตย เพื่อให้มีสีเขียวสวยงามและมีกลิ่นหอม แล้วทำให้สุกปั้นเป็นก้อนใส่พานเป็นรูปทรงกรวยคล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
แต่ต่อมาบายเบ็ณฑ์ อาจหมายความรวมถึง ข้าวต้มมัดที่ชาวบ้านนิยมทำกันด้วย เป็นขนมที่ทำด้วยข้าวเหนียวผสมด้วยกะทิ ถั่ว กล้วย หรือส่วนผสมอื่นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อาจห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อนหรือใบกล้วย
ข้าวเหนียวเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี
โดยเชื่อกันว่า ข้าวเหนียวเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี และนอกจากทำข้าวต้มมัดถวายพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านยังนิยมกินข้าวกันมากในเทศกาลนี้ เพราะถือเคล็ดว่ามีความหมายดี ญาติมิตรจะเกาะเกี่ยวกัน ไม่พลัดพราก
เหตุผลที่จัดงานเดือนสิบ
เหตุที่จัดงานบุญกันในเดือน 10 นี้ ก็ด้วยว่า เดือนนี้ตอนกลางคืนพระจันทร์จะอับแสงและมือดกว่าเดือนอื่นๆ เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ยมบาลจะปลดปล่อยวิญญาณ ให้ขึ้นมาปะปนกับมนุษย์บนโลก เพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและรอรับส่วนบุญ ทั้งจากญาติพี่น้องและบุคคลอื่น โดยผ่านพิธีกรรมการทำบุญอุทิศไปให้..
เรื่องเล่าความหลัง..
เล่ากันว่าในสมัยก่อน ช่วงเทศกาลแซนโฎนตา พอตกกลางคืนคนมักจะได้ยินเสียงคนคุยกันที่ใต้ถุนเรือน เมื่อมองลอดช่องพื้นกระดานลงไปจะเห็นคนผมหงอกผมดำนั่งผิงไฟคุยกัน แต่ฟังไม่รู้เรื่องว่าพูดภาษาอะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่านั่นคือ “ขม๊อจโฎนตา” หรือผีปู่ย่าตายาย ที่เทวดาท่านปล่อยให้มาเยี่ยมลูกหลานและรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้
ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตาจะมีประเพณีที่เรียกว่า “จูนโฎนตา” คือ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่างๆ มามอบให้ หรืออาจมอบเงินด้วย เพื่อให้ท่านได้ใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา หากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้ หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายพระที่วัดแทน เหมือนกับเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ…
ข้อมูล
https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/138684.html