1.5 การปลูกและการดูแล

การเตรียมพื้นที่

ไผ่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบหรือที่ราบเชิงเขาที่มีดินปนทราย มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง ซึ่งถ้าน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้ไผ่ชะงักการเจริญเติบโตถึงตายได้ โดยเฉพาะไผ่ที่เริ่มปลูกใหม่ๆ การปลูกไผ่เพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนสามารถปลูกได้ในพื้นที่ทั่วไป เนื่องจากไผ่มีระบบรากตื่นกระจายอยู่รอบลำต้น ช่วยในการยึดและปรับปรุงดิน แต่การปลูกไผ่เชิงพาณิชย์ต้องคำนึงถึงระบบน้ำ เนื่องจากความชื่นในดินมีผลต่อการเจริญและการพัฒนาของตาเหง้า การปลูกไผ่ควรเตรียมพื้นที่ไว้ตั้งแต่ฤดูแล้ง ซึ่งจะทำงานได้สะดวกสามารถลงมือปลูกได้ทันในต้นฤดูฝน โดยในพื้นที่ที่เป็นแอ่ง ที่ลุ่มน้ำขัง มีเนิน หรือมีตออยู่ในพื้นที่ต้องไถบุกเบิก กำจัดตอออกให้หมด ปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบอยู่แล้ว แค่ไถพรวนกำจัดวัชพืชอย่างเดียวก็พอ

ฤดูปลูก

ในแหล่งที่สามารถให้น้ำได้ตลอดทั้งปี ก็สามารถปลูกไผ่ได้ตลอดปีเช่นกัน ภาคเหนือควรปลูกตั้งแต่ฝนเริ่มตก (ควรปลูกและดูแลตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อให้ต้นไผ่ได้พักตัวและแตกรากได้ดีในฤดูฝน) จนถึงปลายเดือนมิถุนายน หากฝนทิ้งช่วง ควรให้น้ำช่วย


ขอบคุณ : PT Bamboo

ระยะปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสมระหว่างต้น x ระหว่างแถว คือ 6-8 x 6-8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกไผ่ได้ประมาณ 25-45 ต้น ทั้งนี้ระยะปลูกควรพิจารณาจากพันธุ์ไผ่ และสภาพความสมบูรณ์ของดิน ถ้าปลูกไผ่ดำ ควรปลูกห่างกว่าไผ่เขียว เพราะขนาดลำของไผ่ดำจะใหญ่กว่าไผ่เขียว และถ้าสภาพดินเลว ไผ่ไม่ค่อยเจริญเติบโต ควรใช้ระยะปลูกที่ถี่กว่าสภาพดินดี

การเตรียมหลุมปลูก

หลุมที่ปลูกไผ่ควรมีขนาด กว้างxยาวxลึก ไม่น้อยกว่า 50x50x50 เซนติเมตร ให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต 1 กระป๋องนม (ประมาณ 300-500 กรัม) ต่อหลุม ผสมปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว 1 บุ้งกี๋ (ประมาณ 1 กิโลกรัม) และยาฆ่าแมลงฟูราดาน 1-1.5 ช้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้ากับดินบนให้ทั่วแล้วกลบกลับคืนลงไปในหลุม ให้ระดับดินสูงกว่าเดิมเล็กน้อยเผื่อสำหรับดินยุบตัวภายหลัง


การปลูก

ถ้าเป็นต้นกล้าไผ่ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ควรเป็นต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ มีอายุไม่น้อยกว่า 14 เดือน หรือความสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีระบบรากฝอยแผ่กระจายและสมบูรณ์ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง สำหรับการคัดเลือกต้นกล้าไผ่ที่ได้จากการชำกิ่งแขนงนั้น ควรเป็นต้นกล้าที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจาก การทำลายของโรคและแมลงการปลูกควรนำต้นกล้าไปปลูกตรงกลางหลุมที่เตรียมไว้ปลูกให้ลึกเท่ากับระดับดินเดิมแล้วพูนดินบริเวณโคนต้นให้เป็นเนินสูงขึ้นเล็กน้อย ใช้ไม้ปัก เป็นหลักผูกยึดต้นไผ่ เพื่อป้องกันลมโยก หลังจากนั้นต้องรดน้ำตามทันที เพื่อช่วยให้เม็ดดินกระชับราก นอกจากนี้ต้นไผ่ที่เพิ่งปลูกจะไม่ทนต่อแสงแดด และความร้อนสูง ต้องใช้ทางมะพร้าวหรือวัสดุอื่น ช่วยพรางแสงแดด จนกว่าต้นกล้าจะมีใบใหญ่และตั้งตัวได้แล้ว จึงค่อยปลดออก


การให้น้ำ

ต้นไผ่ปลูกใหม่ในระยะแรกนั้น จะขาดน้ำไม่ได้ต้องคอยดูแลรดน้ำให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากนั้นเมื่อไผ่ตั้งตัวได้ดีแล้ว อาจเว้นระยะห่างออกไปบ้างปริมาณ และความถี่ของการให้น้ำขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นของดินและเมื่อถึงฤดูแล้งควรหาวัสดุ เช่น หญ้าแห้ง ฟางแห้ง คลุมบริเวณโคนต้น เพื่อรักษาความชื้นให้กับดิน

การใส่ปุ๋ย

การให้ปุ๋ย ในช่วงปีแรกไผ่สามารถใช้ปุ๋ยที่คลุกเคล้าไปกับดินปลูกได้ในระยะปีต่อ ๆ ไปจำเป็นจะต้องมีการไถพรวนและใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บหน่อขายแล้วจะทำการตัดแต่งกอและไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมไถพรวนในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะไถพรวนได้ยาก

การใส่ปุ๋ยจะใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปุ๋ยที่นิยมคือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักโดยจะใส่ในอัตรา 1-1.5 ตันต่อไร่ (40-50 กก. หรือ 4-5 บุ้งกี๋ต่อกอ) หรืออาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 2-4 กก. ต่อกอ ร่วมกับปุ๋ยคอก

ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ นอกเหนือจากปุ๋ยปกติแล้วจะมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 1-2 กก. รอบ ๆ กอ โดยระวังอย่าให้โดนหน่อ เพราะจะทำให้หน่อเน่าได้ และถ้าต้องการให้หน่อมีคุณภาพดียิ่งขึ้นควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพิ่มไปในอัตรา 1 กก.ต่อกอโดยใส่ไปพร้อมๆ กับยูเรีย

การปลูกไผ่จะเน้นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นหลัก ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้กอไผ่ทรุดโทรมเร็ว



แมลงศัตรูของไผ่ที่สำรวจพบและที่มีการระบาดอยู่บ้างในขณะนี้ ได้แก่

1. แมลงประเภทเจาะไชหน่อ และปล้องอ่อน เป็นแมลงที่มีอันตรายสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะในระยะที่ไผ่กำลังเจริญเติบโตจากหน่ออ่อนเป็นลำต้น แมลงพวกนี้จะเข้าทำลายกัดกินเนื้อเยื่อที่อ่อนของปล้องภายในกาบหุ้มหน่อที่กำลังเจริญเติบโต จะทำให้หน่อและปลายยอดอ่อนเน่า และหักตาย แมลงพวกนี้ได้แก่ ด้วงงวงปีกแข็ง

2. เพลี้ยแห้ง เป็นแมลงที่ชอบเกาะอยู่ตามหน่ออ่อนหรือตามใบอ่อนเพื่อดูดน้ำเลี้ยงจะมองเห็นเป็นก้อนเหมือนแป้ง ทำให้กาบใบและยอดหงิกงอ ชะงักการเจริญเติบโต


การป้องกันกำจัด

การกำจัดและควบคุมโดยใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช คือเมื่อพบว่ามีการระบาดของโรคแมลง ในแปลงปลูกไผ่ ให้ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช เช่น มาลาไธออน หรือเซฟวิน ผสมน้ำราดที่หน่อ และราก