1.1 ความรู้เกี่ยวกับไผ่

ไผ่เป็นพืชสีเขียวตลอดปี ไผ่เป็นหญ้าชนิดหนึ่งที่สูงที่สุดในโลก พบทั่วไปทุกสภาพอากาศ ตั้งแต่ภูเขาที่หนาวเย็นถึงเขตร้อนชื้นของโลก แต่ไม่พบไผ่ตามธรรมชาติในยุโรป แอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตก ตอนเหนือของอเมริกาเหนือ และทั้งหมดของออสเตรเลียและแอนตาร์คติกา

ไผ่อาจสูงเพียงไม่กี่เซนติเมตรจนถึง 40 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรจนถึง 30 เซนติเมตร ไผ่มีข้อและปล้อง ที่ข้อมีใบหนึ่งใบและอาจมีหนึ่งหรือหลายกิ่งแขนง ในหนึ่งกอไผ่อาจมีไผ่นับพันลำ ไผ่ไม่ใช่เนื้อไม้ เพราะไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกับพวกปาล์ม แต่ทั่วไปมักเรียกว่า ไม้ไผ่

ไผ่ปกติจะโต 30 เซนติเมตรในหนึ่งวัน แต่บางชนิดอาจโต 1 เมตรต่อวัน ไผ่โตเต็มที่ภายในหนึ่งปี แต่อยู่ได้หลายๆ ปี และแตกลำรอบกอไผ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไผ่มีอายุประมาณ 10-100 ปี หรือมากกว่านี้ หลังจากออกดอกและพัฒนาเป็นเมล็ดแล้ว กอไผ่นั้นจะแห้งตายไป โดยไผ่ชนิดเดียวกันจะออกดอกพร้อมกัน ซึ่งไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าเมื่อไหร่

ไผ่จากป่าหลายชนิดคนนิยมนำมาปลูกริมรั้วบ้านหรือเป็นสวนไผ่แปลงใหญ่ๆ ซึ่งต้องมีการจัดการดูแล บำรุง รักษา เพื่อให้รากขยายกระจายไปใต้ดินเกิดหน่อใหม่เป็นหน่อไผ่ หรือปล่อยให้โตขึ้นเป็นลำไผ่นำไปใช้สอยสารพัดอย่าง รวมทั้งผลิตเป็นกระดาษได้ด้วย โดยคนจีนเป็นชาติแรกที่คิดประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งทำด้วยมือมีคุณภาพสูงแต่ได้จำนวนน้อย ปัจจุบันยังคงผลิตกระดาษไหว้เจ้าจากไผ่เพื่อใช้อยู่ในวัฒนธรรมของจีน

ไผ่มีอายุยืนชาวจีนจึงถือว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตที่ยืนยาว ขณะที่อินเดียถือว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพื่อน เพราะออกดอกยาก และหากออกดอกจะถือเป็นสัญญาณว่าความอดอยากกำลังจะมาถึง ในวัฒนธรรมของชาวเอเชียรวมถึงหมู่เกาะอันดามันเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาจากกอไผ่ ในตำนานของชาวมาเลเซียมีชายคนหนึ่งนอนฝันเห็นหญิงสาวสวยในกอไผ่เมื่อเขาตื่นขึ้นไปค้นหาและพบหญิงนั้นในกอไผ่ ในฟิลิปปินส์ชาวนาถือว่าไผ่ไขว่กันทำให้ดูมีเสน่ห์ ในญี่ปุ่นถือว่าป่าไผ่รอบๆ ศาลเจ้าจะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจ ถือว่าเป็นไม้ที่สำคัญอันดับสองรองจากไม้สน ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมใช้ไผ่ตกแต่งในห้องอาหารหรือห้องรับรองแขก

ไผ่ เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีขนาดลำต้นใหญ่โต ให้น้ำหนักชีวมวลต่อไร่ในระยะเวลาที่เท่ากันสูงกว่าพืชชนิดอื่น เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทุกส่วนของต้นไผ่ประกอบด้วยเซลลูโลสซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นชีวมวลผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนได้หลากหลาย ได้แก่ สกัดเป็นน้ำมันดิบได้ในอนาคต ทุกชิ้นส่วนของต้นสดบดเป็นผง แล้วนำไปหมักจะได้ก๊าซชีวภาพ (มีเทน) ที่มีค่าพลังงานสูงมาก ผลิตเม็ดพลังงานแห้งซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง และยังใช้ผลิตถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

ข้อดีของการปลูกไผ่คือ ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายและการกัดเซาะหน้าดิน ดูดซึมน้ำลงสู่ใต้ดินได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมาก และช่วยลดปัญหาอุทกภัยที่ตามมาด้วย พันธุ์ไผ่ที่ให้ปริมาณชีวมวลในปริมาณมาก ได้แก่ พันธุ์กิมซุ่ง ตงลืมแล้ง ซางหม่น และวะโซ่ เป็นต้น ทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไผ่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการปลูกเป็นพืชพลังงานทดแทนของโลกต่อไปในอนาคต