วัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์

ตั้งอยู่ที่ บ้านอุโมงค์ ตำบลอุโมงค์

อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา

สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

สร้างเมื่อ พ.ศ.2285 (ปัจจุบันอายุ 274 ปี)

ตามประวัติวัดแจ้งว่า เดิมที่ตั้งวัดอยู่กลางทุ่งหนองป่าแพ่ง

เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมทุกปี การเดินทางลำบาก มาถึงสมัย

ครูบาปินตาเป็นเจ้าอาวาส ได้ปรึกษากับศรัทธาญาติโยม

ว่าเห็นควรย้ายวัด จึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่ปัจจุบันนี้ ซึ่งเดิมเป็น

ที่วัดร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2474

ในอดีต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ขณะที่พระองค์ท่าน ยังทรงดำรงพระยศเป็น มงกุฎราชกุมาร

พระองค์ท่านเสด็จทรงช้างพร้อมด้วยข้าราชบริพารผ่านมาถึงหน้าวัด

เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2439 ตรงกับ ร.ศ. 124 ข้าราชการที่ตามมาเสด็จ

และประชาชนบ้านอุโมงค์ที่มาเฝ้าเสด็จ ได้ร่วมกันสร้างพลับพลาที่ประทับ

ใต้ต้นมะขาม ซึ่งต้นมะข้ามต้นนั้น เดี๋ยวนี้ก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้าวัด

และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2532 พณฯ ท่าน มล. ปิ่น มาลากุล

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และคณะฯ ได้มาสำรวจสอบถามประวัติ

ความเป็นมาของวัด ซึ่งครั้งหนึ่งองค์พระประมุขของชาติไทย ได้เคยเสด็จ

มาถึงวัดอุโมงค์แห่งนี้แสดงให้เห็นว่า วัดอุโมงค์เป็นวัดเก่าแก่

เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน

ความหมายและที่มาของชื่อบ้านอุโมงค์

“บ้านอุโมงค์” เป็นชื่อแปลงมาจากคำว่า “โอ้งโม่ง”

ซึ่งเป็นคำพื้นเมืองแปลว่า “เป็นหลุมเป็นบ่อ” อยู่ที่หน้าวัดอุโมงค์

(บางท่านบอกว่าอยู่ที่ใต้วัด) โดยอดีตกาลสมัยที่ยังไม่มีบ้านเรือนมากนัก

ยังไม่ได้ชื่อว่าบ้านอุโมงค์ บริเวณนั้นเป็นป่าลึกทึบ นาน ๆ จะมีพระธุดงค์จาริก

มาเผยแพร่พระธรรมโปรดศรัทธาญาติโยม

เรื่องมีอยู่ว่าได้มีพระธุดงค์เดินทางมาจากทิศใต้เข้ามาปักกลด

อยู่ในป่าทึบแห่งนี้ ใกล้ ๆ กับที่พระธุดงค์ปักกลดอยู่นั้นมีหลุม ๆ หนึ่งขนาดกว้าง

พอประมาณ ในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำได้มีดวงไฟลอยขึ้นมาจากหลุม

พอรุ่งเช้าก็หายไป พระธุดงค์ได้เดินสำรวจบริเวณที่ท่านเห็นดวงไฟลอย

ขึ้นมา พบปากหลุมขนาดกว้างมีหญ้าปกคลุม จึงได้ใช้มือเบิกหญ้าขึ้นมา

พบอุโมงค์มีบันไดทอดลงไปข้างล่างแต่ก็มิได้สนใจอะไร

จนเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นติดต่อกันถึง ๓ วัน ท่านจึงได้ส่งกระแสจิต

ลงไปดูยังอุโมงค์เบื้องล่าง พบว่าแสงดวงนั้นเป็นแสงที่เกิดจากดวงแก้ว

ข้าง ๆ แท่นหินมีพญานาคอาศัยอยู่ ลึกเข้าไปมีเรือทองคำ เรือเงิน ข้าวสาร

ทองคำ ข้าวสารเงิน เพชรพลอย แก้วแหวน พระพุทธรูปเงิน

พระพุทธรูปทองคำ ทำให้ทราบว่าสถานที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

สมควรตั้งเป็นศาสนสถานวัดวาอารามเพื่อให้ชาวบ้านได้มากราบไหว้บูชา

และปฏิบัติธรรมต่อไป

ลักษณะที่ตั้ง ภูมิประเทศ

เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำเกษตร

มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะลำเหมืองเก้าศอก

เหมืองพญาคำ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น

ปลูกข้าว เกษตรระยะสั้น ผักสวนครัว ปัจจุบันที่นาส่วนใหญ่

กลายเป็นสวนลำไย ทำให้ประชาชนมีรายได้จากผลผลิตลำไย

วิถีชีวิตของคนในชุมชน

คนชุมชนบ้านอุโมงค์ ส่วนใหญ่ชาติพันธุ์เป็นคนพื้นเมือง

พูดภาษาพื้นเมือง(คำเมือง)

ต้นไม้นามบ้าน/สัญลักษณ์หมู่บ้าน

ต้นขี้เหล็ก เดิมเป็นต้นไม้ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับจากหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ไปจนถึงศรีลังกา

ต่อมามีคนนำมาปลูกในบริเวณต่างๆของประเทศไทย จึงทำให้พบ

ต้นขี้เหล็กอยู่ทั่วทุกภาค ชาวบ้านนิยมปลูกไม้ขี้เหล็เป็นไม้ให้ร่ม

เป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี