ช่างปูน

ช่างปูน เป็นช่างประเภทหนึ่ง ในจำพวกช่างสิบหมู่ งานของช่างปูน เป็นงานสร้าง ทำอาคารสถานชนิดเครื่องก่อ ประเภท เจติยสถาน และศาสนสถานต่างๆ เช่น พระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์เจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร ฐานชุกชี ซุ้มคูหา กับได้ทำพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียร แท่นฐาน เกยราชยาน ประตู เครื่องยอดต่างๆ ใบเสมา กำแพงและป้อมปราการ เป็นต้น และ งานของช่างปูนยังเนื่องด้วยการปั้นปูนอีกด้วย

งานปูน จัดเป็นงานช่างเก่าแก่จำพวกหนึ่งที่ในสยามประเทศนี้ ทั้งนี้พึงเห็นได้จากซากโบราณสถานประเภท เจติยสถาน ชนิดเครื่องก่ออิฐถือปูน ทำลวดบัวประกอบส่วนต่างๆ อย่างประณีตแสดงฝีมือ และความสามารถช่างปูน ชั้นสูง แต่ทว่าหลักฐานความเป็นมา ของช่างปูนรุ่นเก่าๆ นั้นไม่สู้มีหลักฐานสิ่งอื่นๆ แสดงให้ทราบได้ว่าเป็นช่างพวกใดเป็นผู้สร้างทำ นอกเสียจากรูปแบบที่แสดงฝีไม้ลายมือฝากไว้เท่านั้น

งานปูน หรือ งานช่างปูนแต่สมัยก่อน มีชื่อเรียกเป็นคำเก่า อีกอย่างหนึ่งว่า “สทายปูน” งานของช่างปูน อาจจำแนก ลักษณะงานของช่างปูนออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ด้วยกันคือ

๑. ช่างปูนงานก่อ ช่างปูนจำพวกนี้ ทำงานในลักษณะการก่อวัสดุชนิดต่างๆ เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง เป็นต้น ขึ้นเป็นรูปทรงสิ่ง ต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ก่อเขามอขึ้นอ่าง ไปจนกระทั่งก่อพระสถูปเจดีย์ ก่อพระพุทธปรางค์เจดีย์ หรือ ได้ทำการในด้านบูรณะปฏิสังขรณ์ เครื่องหิน เครื่องอิฐก่อที่ชำรุดให้คืนดีขึ้นดั่งเดิม

๒. ช่างปูนงานลวดบัว ช่างปูนจำพวกนี้ ทำงานในลักษณะการถือปูน ทำผิวเป็นลวดบัวแบบต่างๆ เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย บัวหลังเจียด บัวปากปลิง บัวลูกแก้ว บัวอกไก่ สำหรับประกอบทำฐานลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า ฐานเชิงบาตร ฐานเท้าสิงห์ ฐานปัทม์ ฐานเฉียง ฐานบัวจงกล ฯลฯ หรือทำการถือปูนจับเหลี่ยมเสาแบบต่างๆ คือ เสาแปดเหลี่ยม เสาย่อมุมไม้สิบสอง เสากลม เป็นต้น

งานปูน ที่เป็นงานในหน้าที่ของช่างปูนดังกล่าว มีวัตถุปัจจัยสำคัญสำหรับงาน คือ ปูน ซึ่งช่างปูนได้ใช้ในงาน ก่อ ฉาบ และ ถือปูนเป็นสิ่งต่างๆ มาแต่โบราณ การผสมปูนนี้ ช่างปูน บางคนได้ผสมเนื้อปูน ให้มีคุณภาพเหนียว และ คงทนถาวรอยู่ได้นานปี บางคนใช้กระดาษฟางบ้าง หัวบุบุก หัวกลอยบ้าง แม้หัวต้นกระดาษ ก็ใช้ตำผสมเข้ากับเนื้อปูน เพื่อช่วยเสริมความเหนียว และยึดตัวดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และประสบการณ์ของช่างปูนแต่ละคน

Plastering

ผู้ให้ข้อมูล นายสุเมธ เอี่ยมประชา ศรีหงส์ นักวิชาการช่างศิลป์