ช่างหุ่น

ช่างหุ่น เป็นช่างฝีมือพวกหนึ่ง ในจำพวกช่างสิบหมู่ ช่างหมู่นี้ ทำการช่างในด้านการสร้างรูปต่างๆ ที่ประกอบ ไปด้วยศิลปลักษณะนานาชนิด ที่เป็นลักษณะรูปจำลอง แทนสิ่งที่เป็นจริงพวกหนึ่ง กับได้ทำสิ่งที่ใช้เป็นหุ่นโครงร่าง ของสิ่งที่ใช้เป็นหุ่นโครงร่าง ของสิ่งที่จะทำการตกแต่งรูปทรงให้สมบูรณ์ และสวยงามต่อไป

งานของช่างหุ่น ที่เป็นมาโดยขนบนิยม ในการศิลปกรรมแบบไทยประเพณี อาจจำแนกออกตามลักษณะของ งานช่างหุ่นได้เป็น ๓ ลักษณะงานด้วยกัน คือ

  1. ๑. ช่างหุ่นต่ออย่าง
  2. ๒. ช่างหุ่นรูป
  3. ๓. ช่างผูกหุ่น

๑. ช่างหุ่นต่ออย่าง

ช่างหุ่นจำพวกนี้ ทำการช่างในลักษณะการสร้างรูปลักษณ์ ด้วยการนำเอาวัตถุ เช่นไม้มาต่อกัน ปรุงให้เป็น รูปขึ้น มีรูปลักษณะ และ อัตราส่วนที่ย่อลงมาอย่างแน่นอน จากส่วนจริง ที่จะสร้างทำเป็นของใหญ่ๆ ต่อไป หรือ ทำเป็นหุ่นที่มีส่วนสัดกะขึ้นไว้ โดยประมาณที่จะนำไปไขส่วน หรือ ขยายส่วนเพื่อสร้างทำเป็นของจริงได้โดยไม่เกิดการผิดพลาด มีตัวอย่าง เช่น ต่ออย่างพระมหาธาตุเจดีย์ พระสถูปเจดีย์ ต่ออย่างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป ต่ออย่างบุษบก เป็นต้น หุ่นที่ต่อเป็นอย่างสิ่งต่างๆ นี้อาจทำด้วยดินเหนียวปั้น ทำขึ้นเป็นหุ่น แล้วเผาไฟให้สุกทำเป็นแบบสำหรับทำจริง ก็มีหุ่นดินปั้นเผาไฟเหล่านี้ บางชิ้นยังมีให้เห็นได้ในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง

๒. ช่างหุ่นรูป

“หุ่นรูป” เป็นภาษาเฉพาะของช่างหุ่น ซึ่งนอกจากคำว่า “หุ่น” จะหมายถึง รูปแบบที่จำลองจากของจริงต่างๆ หรือรูปปั้น หรือ แกะสลักที่ทำโกลนไว้เพื่อเป็นแบบชั่วคราวแล้ว คำว่าหุ่นยังมีความหมายโดยปริยายว่าการทำให้มีให้เป็นขึ้น ช่างหุ่นรูป หรือ หุ่นรูป จึงหมายถึงการทำรูปให้มีให้เป็นขึ้น

การงานของช่างหุ่นรูป คือ การต่อหุ่นเครื่องอุปโภคชนิดต่างๆ สำหรับนำไปตกแต่ง หรือ ประดับด้วยวัสดุ ต่างๆ ให้สวยงามมีคุณค่าต่อไป ในลักษณะงานประณีตศิลป ปรกติใช้วัสดุประเภทหวาย ไม้ระกำ ไม้อุโลก ไม้สมพง ไม้ไผ่ เป็นต้น นำมาผูก ขด หรือ ต่อกันขึ้นเป็นรูปโกลน โดยอาศัยกาวบ้าง ไม้กลัดบ้าง ผนึก หรือ เสียบตรึงให้วัสดุที่จะคุมกันขึ้นเป็นรูปทรงมั่นคงอยู่ได้

งานหุ่นรูปโกลน ที่ทำขึ้นโดยวิธีหุ่นรูปนี้ มีตัวอย่างเช่น หุ่นพานแว่นฟ้า หุ่นตะลุ่ม หุ่นเตียน หุ่นกะบะ เป็นต้น

หุ่นรูปโกลน ที่ได้ทำขึ้นนี้ยังไม่เป็นชิ้นงานที่สำเร็จสมบูรณ์ จะต้องนำไปตกแต่งด้วยการถมสมุก ทารักแล้ว เขียนลายปิดทองรดน้ำบ้าง ประดับกระจกบ้าง ประดับมุกบ้าง หรือ ปั้นลายด้วยรักสมุก ให้สำเร็จสมบูรณ์ และสวยงามต่อไปอีกทอดหนึ่ง

๓. ช่างผูกหุ่น

ช่างผูกหุ่น คือ ช่างหุ่นประเภทที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์หุ่นต่างๆ ที่มีขนาดย่อม และขนาดใหญ่ ด้วยการใช้ไม้ไผ่ หวาย เป็นต้น นำมาผ่า จักเกรียกออกเป็นชิ้นๆ แล้วคุมกันขึ้นเป็นโครงร่าง ด้วยวิธีผูกมัด ขัดกันทำให้เป็นโครงรูปดัง ที่ต้องการแล้วจึงใช้ลำแพนบ้าง กระดาษบ้าง ผ้าบ้าง ทุทับโครงรูปที่ได้ผูกขึ้นเป็นหุ่นนั้น ให้เป็นรูปทรงสมบูรณ์ ตามต้องการ

การงานของช่างผูกหุ่นนี้ ที่เป็นงานโดยขนบนิยมแต่กาลก่อนมี ๒ ประเภท คือ

  1. ๓.๑ งานผูกหุ่นรูปภาพ
  2. ๓.๒ งานผูกหุ่นเขาจำลอง

Modelling

ผู้ให้ข้อมูล นายสุเมธ เอี่ยมประชา ศรีหงส์ นักวิชาการช่างศิลป์