4.2.ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ

ผู้เรียนทุกคนต้องมีประสบการณ์ในการคิดเรื่องใดๆ มาบ้างแล้ว แต่มีข้อสังเกตว่าบางคนอาจจะไม่เคยตอบตนเองว่า ความคิดคืออะไร ซึ่งราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายของคำว่า ”คิด” หมายความว่า ทำให้ปรากฏเป็นรูปหรือประกอบให้เป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง คาดคะเน คำนวณ มุ่งจูงใจตั้งใจ” ซึ่งสรุปได้ว่าการคิดเป็นหน้าที่หนึ่งของจิต ในขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ค้นพบว่ามนุษย์ใช้สมองในการคิด และสมองซีกซ้ายคิดในเรื่องของการมีเหตุผล และสมองซีกขวาคิดในเรื่องที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการคิด มีขอบข่ายของการเรียนรู้เรื่องความคิดไว้โดยจัดมิติของการคิด (Dimension ofThinking) ไว้เป็นมิติต่างๆ (เสน่ห์ จุ้ยโต) ได้แก่

1. มิติเนื้อหาที่ใช้ในการคิด ซึ่งประกอบด้วยสาระเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ วิชาชีพ

2. มิติด้านคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อการคิด ซึ่งประกอบด้วยสาระเกี่ยวกับคุณลักษณะของความเป็นคนใจกว้าง และเป็นธรรมกระตือรือร้นใฝ่เรียนใฝ่รู้ ช่างวิเคราะห์และบูรณาการ มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จและมีมนุษยสัมพันธ์ น่ารักน่าคบ

3. มิติด้านทักษะการคิด ซึ่งประกอบด้วยสาระเกี่ยวกับทักษะสื่อความหมาย (การฟัง การอ่าน การจดจำ การบรรยาย การทำให้กระจ่าง การพูด การเขียน) และทักษะที่เป็นแกน (การสังเกตการสำรวจ การซักคำถาม การจำแนกแยกแยะ การเปรียบเทียบการเชื่อมโยง และการสรุปรวบยอด)

4. มิติด้านลักษณะการคิด ซึ่งประกอบด้วยสาระเกี่ยวกับคิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดอย่างมีเหตุผล คิดไกล และคิดถูกทาง

5. มิติด้านกระบวนการคิด ซึ่งประกอบด้วยสาระเกี่ยวกับ การคิด “10 ชนิด” ได้แก่

5.1 การคิดแบบวิจารณญาณ (Critical Thinking)

5.2 การคิดแบบริเริ่ม (Initiative Thinking)

5.3 การคิดแบบสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

5.4 การคิดแบบกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

5.5 การคิดแบบอย่างเป็นระบบ (System Thinking)

5.6 การคิดแบบบูรณาการ (Integrative Thinking)

5.7 การคิดแบบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking)

5.8 การคิดเชิงประยุกต์ใช้ (Application Thinking)

5.9 การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis Thinking)

5.10 การคิดแบบแผนที่ (Mind Map Thinking)

6. มิติด้านการควบคุมและประเมินความคิดของตน ซึ่งประกอบด้วยสาระเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบริหารมีวิธีการที่ดีขึ้นปรับปรุงระบบงานดีขึ้น การพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันศรินธร วิทยะสิรินันท์ ได้กล่าวว่า ทักษะการคิด หมายถึงความสามารถในการคิดในลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระบวนการคิดที่สลับซับซ้อน ทักษะการคิดอาจจัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ


1. ทักษะพื้นฐาน (basic skills) หมายถึง ทักษะการคิดที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นต่อการคิดในระดับที่สูงขึ้นหรือซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทักษะการสื่อความหมาย ที่บุคคลทุกคนจำเป็นต้องใช้ในการสื่อสารความคิดของตน ได้แก่ ทักษะการสื่อความหมาย (communication skills) และทักษะการคิดที่เป็นแกนหรือ

ทักษะการคิดทั่วไป (core or general thinking skills)

1.1 ทักษะการสื่อความหมาย ได้แก่ การฟัง (listening) การอ่าน (reading) การรับรู้(perceiving) การจดจำ (memorizing) การจำ (remembering) การคงสิ่งที่เรียนไปแล้วไว้ได้ภายหลังการเรียนนั้น (retention) การบอกความรู้ได้จากตัวเลือกที่กำหนดให้ (recognizing) การบอกความรู้ออกมาด้วยตนเอง(recalling) การใช้ข้อมูล (using information) การบรรยาย ( describing) การอธิบาย (explaining)การทำให้กระจ่าง (clarifying) การพูด (speaking) การเขียน (writing) และการแสดงออกถึงความสามารถของตน

1.2 ทักษะการคิดที่เป็นแกนหรือทักษะการคิดทั่วไป หมายถึง ทักษะการคิดที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นฐานของการคิดขั้นสูงที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งคนเราจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้เนื้อหาวิชาการต่างๆ ตลอดจนใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ได้แก่ การสังเกต (observing)การสำรวจ (exploring) การตั้งคำถาม (questioning) การเก็บรวบรวมข้อมูล (information gathering) การระบุ (identifying) การจำแนกแยกแยะ (discriminating) การจัดลำดับ (ordering) การเปรียบเทียบ(comparing) การจัดหมวดหมู่ (classifying) การสรุปอ้างอิง (inferring) การแปล (translating) การตีความ(interpreting) การเชื่อมโยง (connecting) การขยายความ (elaborating) การให้เหตุผล (reasoning) และการสรุปย่อ (summarizing)

2. ทักษะการคิดขั้นสูง หรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน (higher order or more complexed thinkingskills) หมายถึง ทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายชั้น และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการคิดที่เป็นแกนหลายๆ ทักษะในแต่ละขั้น ทักษะการคิดขั้นสูงจึงจะพัฒนาได้เมื่อเด็กได้พัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานจนมีความชำนาญพอสมควรแล้ว ได้แก่ การสรุปความ (drawing conclusion) การให้คำจำกัดความ(defining) การวิเคราะห์ (analyzing) การผสมผสานข้อมูล (integrating) การจัดระบบความคิด (organizing)การสร้างองค์ความรู้ใหม่ (constructing) การกำหนดโครงสร้างความรู้ (structuring) การแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างความรู้เสียใหม่ (restructuring) การค้นหาแบบแผน (finding patterns) การหาความเชื่อพื้นฐาน(finding underlying assumption) การคิดคะเน / การพยากรณ์ (predicting) การตั้งสมมุติฐาน(formulating hypothesis) การทดสอบสมมุติฐาน (testing hypothesis) การตั้งเกณฑ์ (establishingcriteria) การพิสูจน์ความจริง (verifying) และการประยุกต์ใช้ความรู้ (applying)

การคิดแบบอย่างเป็นระบบ (System Thinking)

ทักษะการคิดนับเป็นศักยภาพที่สำคัญสำหรับผู้เรียนที่จะต้องใช้ในการวางแผน ดำเนินงาน และนำผลการจัดทำโครงงานไปใช้ อย่างไรก็ตามขอเสนอแนะว่า ทักษะการคิดทั้งหลายผู้เรียนควรให้ความสนใจพัฒนาฝึกฝนทักษะการคิด เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะติดตัว และนำไปใช้ได้ตลอดกาลอย่างไม่มีขีดจำกัด และเป็นพิเศษสำหรับทักษะการคิดแบบอย่างเป็นระบบ (System Thinking) เป็นลักษณะการคิดที่ต้องมีส่วนประกอบสองส่วนทั้งการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ซึ่งต้องเป็นกระบวนการคิดที่มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยก่อให้เกิดพลังอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างสำหรับการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) มีเทคนิคในการพัฒนาตนเองด้วยการฝึกแยกแยะประเด็น ฝึกเทคนิคการคิดในการนำแนวคิดทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ มาประยุกต์ใช้กับโครงงานที่จะทำและใช้เทคนิค STAS Model มาช่วยในการคิดวิเคราะห์ ได้แก่ Situation Theory Analysis Suggestion ส่วนเทคนิคการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) เป็นการฝึกทักษะการคิดแบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ทั้งความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง และความสัมพันธ์ในแนวนอน