2.1.ประเภทของโครงงาน

การจำแนกประเภทของโครงงานอาจแบ่งได้หลายลักษณะ

1. จำแนกตามกิจกรรมการเรียนของผู้เรียน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.1 โครงงานตามสาระการเรียนรู้ เป็นการกำหนดโครงงานที่บูรณาการระหว่างสาระการเรียนรู้และทักษะการแสวงหาความรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยตนเอง

1.2 โครงงานตามความสนใจ เป็นการกำหนดโครงงานตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการของผู้เรียน

2. จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

2.1 โครงงานที่เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูล

2.2 โครงงานที่เป็นการศึกษาค้นคว้าทดลอง

2.3 โครงงานที่เป็นการศึกษาทฤษฎีหลักการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาผลงาน

2.4 โครงงานที่เป็นการสร้างประดิษฐ์คิดค้น


โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเภทของ ดังนี้

1. โครงงานที่เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูล เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำข้อมูลนั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ข้อมูลที่ได้จะนำไปปรับปรุงพัฒนาผลงาน ส่งเสริมผลผลิตให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ข้อมูลดังกล่าวอาจมีผู้จัดทำขึ้นแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีการจัดทำใหม่เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้ศึกษาโครงงาน โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึก เช่น การสำรวจแหล่งเรียนรู้ในชุมชน การสำรวจงานบริการและสถานประกอบการในท้องถิ่น เป็นต้น

ในการทำโครงงานประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล ไม่จำเป็นต้องมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้เรียนเพียงแต่สำรวจรวบรวมข้อมูลที่ได้แล้ว และนำข้อมูลที่ได้มาจัดให้เป็นหมวดหมู่พร้อมนำเสนอ ก็ถือว่าเป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูล

2. โครงงานที่เป็นการศึกษาค้นคว้าทดลอง เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเรื่องใดโดยเฉพาะ โดยศึกษาหลักการและออกแบบการค้นคว้า ในรูปแบบการทดลองเพื่อยืนยันหลักการ ทฤษฎี เพื่อศึกษาหาแนวทางในการเพิ่มคุณค่า และการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เช่น การปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี การทำขนมอบชนิดต่างๆ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น การควบคุมการเจริญเติบโตของต้นไม้ประเภทเถา การศึกษาสูตรเครื่องดื่มที่ผลิตจากธัญพืช

ในการทำโครงงานประเภทการศึกษาค้นคว้าทดลอง จำเป็นต้องมีการจัดการกับตัวแปรที่จะมีผลต่อ การทดลอง

มี 3 ชนิด คือ

2.1 ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ หมายถึงเหตุของการทดลองนั้นๆ

2.2 ตัวแปรตาม ซึ่งจะเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต้น

2.3 ตัวแปรแทรกซ้อน (Extraneous Variables) เป็นตัวแปรอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อตัวแปรตามโดยผู้วิจัยไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น

3. โครงงานที่เป็นการศึกษาทฤษฎีหลักการหรือแนวคิดใหม่ๆ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความรู้หรือหลักการใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยคิด หรือคิดขัดแย้ง หรือขยายจากของเดิมที่มีอยู่จากเนื้อหาวิชาการหลักการทฤษฎีต่างๆ นำมาปรับปรุง พัฒนาให้สอดคล้องมีความชัดเจนมีผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องผ่านการพิสูจน์อย่างมีหลักการและเชื่อถือได้ เช่น การใช้สมุนไพรในการปราบศัตรูพืช การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการถนอมอาหารและปรุงอาหาร เกษตรแบบผสมผสาน เทคนิคการแก้โจทย์ปัญหา การทำโครงงานประเภทนี้ ผู้ทำโครงงานจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี จะสามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุผลและน่าเชื่อถือ จึงไม่เหมาะที่จะทำให้ระดับผู้เรียนมากนัก

อ้างอิงจาก https://www.youtube.com/watch?v=6LlN2PiGeJc