นายสมคิด ธีระสิงห์

ภูมิปัญญาด้านเศรษฐกิจพอเพียง

ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


นายสมคิด ธีระสิงห์

ภูมิปัญญาด้านเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ทำการ สวนสามแสน หมู่ที่ 10 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

หมายเลขโทรศัพท์ : 093-2129090

ความเป็นมาของการเป็นภูมิปัญญาด้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ "สวนสามแสน"

บ้านกลาง หมู่ที่ 10 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เดิมทีได้คัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่นของจังหวัดลำพูน และมีแนวคิดในการสานต่อเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน โดยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฎิบัติให้เป็นรูปธรรม จากนั้น ผู้ใหญ่สมคิด ธีระสิงห์ จึงได้ร่วมปรึกษาหารือกับชาวบ้านในการทำให้เงินจากกองทุนมีความยั่งยืนที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ ในพื้นที่บ้านกลางได้มีโรงเรียนร้างแห่งหนึ่ง ที่ไม่ถูกใช้งานเป็นเวลานานมีพื้นที่กว้างขวาง จึงได้ลงความเห็นว่าจะพัฒนาโรงเรียนร้างแห่งนั้นเป็นแปลงปลูกผักของชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรีอนในหมู่บ้านจะได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ปลูกผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ ไว้กินเอง ไว้ขาย สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยยึดแนวคิด 3 แสน ได้แก่ แสนพอดี แสนคุ้ม แสนภูมิใจ จึงกลายมาเป็น "สวน สาม แสน" ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ปีละพันกว่าคน เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนร้ให้แก่คนในชุมชน คนในจังหวัด และเป็นต้นแบบให้แก่ จังหวัดอื่น และประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย 

จุดเด่นของภูมิปัญญาด้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ "สวน สาม แสน"

คือการใช้ที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยการนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่นโรงเรียนร้าง มาใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละครัวเรือนมีแปลงผักที่ตนเองรับผิดชอบ เลือกผัก ผลไม้ที่จะปลูกได้เอง ใส่ปุ๋ย ดูแลเองด้วยวิธีธรรมชาติ มีผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษไว้รับประทาน มีกาดมั่วครัวแลง เป็นแหล่งขายผลผลิตทางการเกษตรของสวนสามแสนให้ชาวบ้านได้มาเลือกซื้อ และเป็นจุดสาธิต ศึกษาดูงานให้แก่หน่วยงาน องค์กรอื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงาน

ประโยชน์ของการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินงาน "สวน สาม แสน"

1. พื้นที่รกร้างในหมู่บ้าน ที่เป็นที่ราชพัสดุ ขออนุญาตใช้งานและนำมาใช้ในเกิดประโยชน์แก่ชุมชน แก่สังคมให้มากที่สุด

2. ชาวบ้านมีที่ดินทำกินของตนเอง รู้หน้าที่ รับผิดชอบ และดูแลแปลงผักของตนเอง

3. ชาวบ้านมีผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษไว้รับประทาน และสามารถแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นได้

4. ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนมีรายได้เกิดขึ้นจากการทำแปลงผัก ผลไม้ ในสวนสามแสน

5. สวน สาม แสน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่สามารถเข้ามาเรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเอง เป็นการนำหลักปรัชญาของเศรษญกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบในการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่สามารถทำได้จริง