บ้านพระบาทห้วยต้ม มีความชัดเจนในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความสวยงามของวัดวาอารามและวิถีชีวิต ชุมชนที่ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบในอำเภอลี้ อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดลำพูน 

        ในระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๗ พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ชาวชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม จะร่วมแรงร่วมใจสร้างต้นครัวตานหลวง ที่มีความสูงที่สุดในโลกเพื่อถวายบุญกุศลให้แก่หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ที่ชาวปกาเกอะญอ ศรัทธายิ่ง

ประวัติความเป็นมา "ต้นครัวตาน ต้นบุญแห่งศรัทธา"

                     การทำต้นครัวตาน หรือ ต้นไทยทาน เป็นกุศโลบายของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในการสั่งสอนลูกหลานชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม ในเรื่องของการทำทาน สร้างบุญ สร้างกุศล  

                      ในคัมภีร์ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ทวีปต่าง ๆ ทั้ง 4 ประกอบด้วย บูรพวิเทหทวีปอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ มีต้นซีกเป็นต้นไม้ประจำทวีป อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ มีต้นกระทุ่มเป็นต้นไม้ประจำทวีป ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีต้นหว้าเป็นต้นไม้ประจำทวีป และอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ มีต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำทวีป มีคำบรรยายถึงต้นกัลปพฤกษ์ตอนหนึ่งว่า “แลในแผ่นดินอุตตกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง โดยสูงได้ 100 โยชน์ โดยกว้างได้ 100 โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ 300 โยชน์แล ต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์ สรรพเหตุใดๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแล”   ด้วยเหตุนี้เมื่อมีงานบุญเกิดขึ้น ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)  จึงมีกุศโลบายโดยการใช้ต้นไม้ไผ่ในการก่อร่างสร้างแปลงต้นครัวตาน หรือ ต้นไทยทาน เพื่อให้ชาวปกาเกอะญอได้เอาสิ่งของเครื่องใช่มาห้อยมาแขวน มีครบทุกอย่างบนต้นสมกับเป็นต้นสารพัดนึก เพื่อถวายทานไปข้างหน้า ใครชอบกินอะไร อย่างได้อะไรก็ให้เอาของสิ่งนั้นนำไปห้อยไปแขวน เมื่อทำบุญถวายเสร็จ เชื่อว่าสิ่งของเหล่านั้นก็จะไปรอเราอยู่ข้างหน้า หรืออีกภพชาติ หนึ่งนั้นเอง           

บุคคลผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทำต้นครัวตาน หรือต้นไทยทาน

            พระรดิศ  ธีรญาโ หรือตุ๊โด  จำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ภูมิลำเนาของท่านอยู่ที่บ้าน 1 หมู่ 12 ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นคนที่สนใจศิลปะและประเพณีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอบ้านพระบาทห้วยต้ม หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ท่านก็ได้ขออนุญาตมารดาบวชเป็นสามเณรที่วัดพระบาทห้วยต้ม เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระบาทห้วยต้ม จนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วย้ายมาพำนักอยู่ ที่วัดดาวดึงส์  ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาพุทธศาสตร์ ณ  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพระบาทห้วยต้ม พระรดิศ  ธีรญาโน เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในการทำต้นครัวตาน รวมถึงมีความสามารถในการออกแบบตกแต่งต้นครัวตานให้สวยงาม ท่านจะเป็นหัวเรือใหญ่ทุกครั้งในการสร้างต้นครัวตาน จนท่านได้รับคัดเลือกเป็น “เด็กและเยาวชนตัวอย่างแห่งชาติ” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาด้านประเพณีและวัฒนธรรมไทย จากชมรมสายใยไทย แทนคุณ แผ่นดิน

พระรดิศ  ธีรญาโน ได้รับคัดเลือกเป็น “เด็กและเยาวชนตัวอย่างแห่งชาติ” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ
ประจำปี 2565 สาขาด้านประเพณีและวัฒนธรรมไทย

พระรดิศ  ธีรญาโน ร่วมกับชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม จัดทำต้นครัวตานเพื่อใช้ในงานวันประเพณี
เปลี่ยนผ้าครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2565

วิธีการทำต้นครัวตาน หรือต้นไทยทาน

                      ต้นครัวตาน หรือต้นไทยทาน มีลักษณะต้นทานเป็นรูปกรวยสูง ทำโครงด้วยไม้ไผ่เป็นชั้น ๆ สำหรับแขวงของทาน รอบแกนใช้ไม้ไผ่พันไขว้สลับกันเป็นเกลียว ใช้ผ้าสีพันทับอีกชั้นหนึ่งสลับสี มีความสูงอย่างมากที่สุด 52 ศอก หรือ 26 เมตร ลดหลั่นกันลงมาจนถึงขนาด 8 ศอก (4 เมตร) ความสูงของต้นทาน 1 ต้น เท่ากับ 1 ลำไม้ไผ่ที่หามาได้ ยอดต้นครัวตานจะต้องสานสานโครงติดยอดทาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายหวดนึ่งข้าวเหนียวใบใหญ่ ๆ  ปัญหาในการสร้างต้นทานนั้นมีมาก เนื่องจากจะสร้างล่วงหน้าเกินไปก็ไม่ได้ เพราะไม้ไผ่จะเปราะหักง่าย สร้างให้พอดีกับเวลาก็เป็นการเร่งเกินไป เพราะต้นครัวตานต้องใช้จำนวนมาก แต่มีแรงงานไม่พอ

                     เมื่อสร้างต้นครัวตานแล้วเสร็จ ชาวปกาเกอะญอ และชาวบ้านใกล้เคียง ก็จะนำข้าวของเครื่องใช้ ของจำเป็นทุกอย่าง เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าอาหาร ตามปัจจัยสี่ มาแขวงไว้ที่ต้นครัวตาน อานิสงส์ของการถวายข้าวของทำบุญต้นครัวตาน “เชื่อว่าจะทำให้เรามีต้นกัลปพฤกษ์บนวิมานของเรา จะนึกปรารถนาสิ่งใดจะสมปรารถนาทุกประการ”

 การผ่านซีกไม้ไผ่ให้ได้ตามขนาด    

  การนำซีกไม้ไผ่มาประกอบเป็นเกลียว  

 การตัดไม้ไผ่ส่วนที่เกินรอบวง
ต้นครัวตาน 

  ลักษณะต้นครัวตานเป็นรูปกรวยสูง

การนำผ้าสีพันทับสลับสี               

การนำข้าวของมาแขวงที่
ต้นครัวตาน 

การแห่ต้นครัวตาน หรือต้นไทยทาน

การแห่ต้นครัวตาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำเอาสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุอุปกรณ์ จตุปัจจัยไทยทาน ที่ช่วยกันคิดและทำขึ้นเป็นรูปแบบต่าง ๆ นำไปถวายวัดในหมู่บ้านของตนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง รูปแบบของครัวตานมีหลายลักษณะตามแนวคิดของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น

การแห่ต้นครัวตานเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการสร้างให้เกิดธรรมที่สำคัญ คือ

1. คารวธรรม คือ เคารพต่อกันให้เกียรติกัน บ้านเขามีงานมาบอกเรา เราก็ไปร่วม เมื่อเรามีงานเราไปบอกเขา เขาก็มาร่วม และในการทำงานก็จะให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่า คนหนุ่ม คนสาว

2. ปัญญาธรรม คือ การที่ทำครัวตานได้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อทำให้ ดีที่สุด

3. สามัคคีธรรม คือ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่บ้าน เมื่อมีงานอะไรก็มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และมีน้ำใจให้แก่กันและกัน

       ปัจจุบันชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม ได้ร่วมกันจัดประเพณี "แห่ต้นครัวตาน” โดยจัดขึ้นหลังจากออกพรรษาของทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือ วันประเพณีเปลี่ยนผ้าครูบาชัยยะวงศาพัฒนา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) และ วันทอดกฐิน ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สำหรับในวันงานแห่ครัวทาน ช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตร เสร็จพิธีชาวบ้าน จะแต่งชุดประจำเผ่าอันสวยงามเข้าร่วมขบวน โดยมีประชาชนพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศ เข้าร่วมขบวนแห่ตุง ธง ผ้าห่ม องค์พระมหาธาตุ และต้นไทยทาน จากวัดพระพุทธบาทห้วยต้มไปตามถนนรอบหมู่บ้าน และมาสิ้นสุดที่บริเวณองค์พระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ในการแห่งต้นครัวทาน ทุกครั้งจะมีการตีฆ้อง ตีกลอง  เป่ารวมถึงการฟ้อนรำในขบวนแห่ ตามวิถีของชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม

ภาพขบวนการแห่งต้นครัวตาน วันครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
(ครูบาวงศ์) วันที่ 16 พฤษภาคม 2565

การแห่งต้นครัวตาน จะมีการตีฆ้อง ตีกลอง หรือรวมถึงการฟ้อนรำในขบวนแห่

ต้นครัวตาน หรือต้นไทยทาน  วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีความแตกต่างจากการทำต้นครัวตาน หรือต้นไทยทาน จากที่อื่น เพราะมีลักษณะพิเศษ คือ มีความสูงเฉลี่ยถึง 26 เมตร  น้ำหนักต้นครัวตานมากกว่า 100 กิโลกรัม ต้องใช้คนหามในแต่ละต้นไม่น้อยกว่า 20 คน 

ชาวชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม ยังคงอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันงดงามตลอดมา เพื่อเจริญรอยตามครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวปกาเกอะญอ บ้านพระบาทห้วยต้ม

แผนที่การเดินทางไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 

ข้อมูลการติดต่อ :  พระรดิศ  ธีรญาโ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ข้อมูลเนื้อหา โดย พระรดิศ ธีรญาโณ

เรียบเรียงเนื้อหาโดย โดย นางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย พระรดิศ ธีรญาโณ และนางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์