วีถีชุมชนบ้านน้ำบ่อน้อย

ตำบลนาทราย  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน

        หมู่บ้านน้ำบ่อน้อย ตั้งอยู่ หมู่ที่ 21 บ้านศรีเวีงชัย ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนโบราณที่มีการอนุรักษ์ ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของชาวเขาเผ่าปากะญอแบบดั้งเดิมด้วยความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่มีไฟฟ้าหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าวโพดและรับจ้างทั่วไป หลังจากฤดูการเก็บเกี่ยว จะมีการทอผ้า โดยย้อมสีจากธรรมชาติ โดยปลูกเองในพื้นที่ใกล้บ้าน เช่น คราม ขมิ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจักสานไม้ไผ่ ตีมีด และทำสร้อยกะลา จากมะพร้าว ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ 

      ที่มาของชื่อ ชุมชนน้ำบ่อน้อย เกิดจากบ่อน้ำที่มีความกว้างประมาณ 5 นิ้ว ลึก 30 เซนติเมตร มีน้ำตลอดทั้งปีไม่เคยแห้งหาย และมีน้ำเต็มเสมอปากบ่อไม่เคยล้นออกมา เมื่อแรกพบหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา บอกว่าเป็นรอยไม้เท้าของพระฤาษี ให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาที่แห่งนี้ให้ดี ซึ่งชาวปาเกอะญอ เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำมาดื่ม เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บและทำให้หายป่วยได้ หรือเวลาที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะขอฝนให้ตกได้ ดังนั้นหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้สร้างอนุสรณ์สถานไว้ เพื่อให้คนได้มาสักการบูชา มีการปฏิบัติธรรม รักษาศีล 5

น้ำบ่อน้อยไม่เคยเหือดแห้ง 

ที่มารูปภาพ :  เว็บไซต์มิวเซียมไทยแลนด์

       บ้านแต่ละหลังของชาวปาเกอะญอบ้านน้ำบ่อน้อย สร้างด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยหญ้าคาบ้าง ใบตองตึง เป็นบ้านเรือนที่สร้างด้วยวัสดุอย่างง่าย หาได้ภายในหมู่บ้าน อาศัยความช่วยเหลือจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันปลูก ใช้เวลาไม่กี่วันก็สำเร็จ ไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย ภายในบ้านมีห้องเพียงห้องเดียว เตาไฟอยู่กลางบ้านที่ให้ทั้งความร้อนสำหรับปรุงอาหาร และควันที่ช่วยป้องกันมอดและแมลงต่าง ๆ ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่สานง่าย ๆ ยกพื้นสูง ทุกบ้านจะมีกองฟืนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของคนที่นี่ ห้องน้ำและการซักล้างต่าง ๆ อยู่ภายนอกตัวบ้าน

บ้านเรือนแบบดั้งเดิมของชาวปากะญอ ที่บ้านน้ำบ่อน้อย

ที่มารูปภาพ : เว็บไซต์โครงการภาษาศาสตร์ ภาษากะเหรี่ยง

          ในแต่ละวัน ชาวปาเกอะญอบ้านน้ำบ่อน้อยจะดำรงชีวิตเหมือนอาศัยอยู่ในโลกดั้งเดิม ปลูกผัก ปลูกฝ้าย ทำการเกษตร ทอผ้า แต่ไม่ออกไปล่าสัตว์ เพราะชาวปาเกอะญอในหมู่บ้านนี้รวมถึงหมู่บ้านห้วยต้มจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ รวมถึงจะไม่นำเอาเนื้อสัตว์และสุราเมรัยเข้ามาในพื้นที่อย่างเด็ดขาด 

อาชีพของชาวปากะญอ ที่บ้านน้ำบ่อน้อย ได้แก่ การแกะสลัก การทอผ้า การตีมีด การจักสาร

ที่มารูปภาพ : เว็บไซต์โครงการภาษาศาสตร์ ภาษากะเหรี่ยง

การเดินทาง : เส้นทางเข้าสู่บ้านน้ำบ่อน้อย จากตัวอำเภอลี้มุ่งสู่ถนนสาย 106 ทางไปอำเภอเถิน จังหวัดหวัดลำปาง ถึงสามแยกบริเวณหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัดลำพูน สาขาลี้ จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาตั้งอยู่ เชื่อมต่อเส้นทางหมายเลข ลพ 4027 ระยะทางเข้าสู่ชุมชนพระบาทห้วยต้มประมาณ 5 กิโลเมตร

ข้อมูลเนื้อหาโดย นางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์

เรียบเรียงเนื้อหาโด: นางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ :  เว็บไซต์โครงการภาษาศาสตร์ ภาษากะเหรี่ยง, เว็บไซต์ มิวเซียมไทยแลนด์

มิวเซียมไทยแลนด์.  บ้านน้ำบ่อน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566, จาก:https://www.museumthailand.com/th/3132/storytelling/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/

มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,คณะอักษรศาสตร์. บ้านน้ำบ่อน้อย.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566, จาก : https://www.arts.chula.ac.th/~ling/Karen/?p=6&s=68