การฟ้องเจิง

                   ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนของผู้ชาย นับเป็นการรำอาวุธชนิดหนึ่ง คือการร่ายรำด้วยเชิงดาบและมือเปล่าในท่าทางต่างๆ ซึ่งมักจะแสดงออกในลีลาของนักรบ ซึ่งท่าในการฟ้อนเจิงนี้มีหลายสิบท่า รวมทั้งใช้ดาบและมือเปล่า สำหรับการใช้ดาบนั้นก็ใช้ตั้งแต่ดาบเดี่ยว ดาบคู่ และใช้ดาบ ๔ เล่ม ๘ เล่ม ๑๒ เล่ม ซึ่งผู้ฟ้อนจะต้องมีความสามารถเป็นพิเศษ และก่อนที่จะมีการฟ้อนเจิง ก็ต้องมีการฟ้อนตบมะผาบเสียก่อน การฟ้อนตบมะผาบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่าที่ใช้ลีลาท่าทางยั่วเย้าให้คู่ปรปักษ์บันดาลโทสะ ในสมัยก่อนการรบกันใช้อาวุธสั้น เช่น ดาบ หอก แหลน เข้าโหมรันกัน โดยเหล่าทหารหาญจะรำดาบเข้าประชันกันเป็นคู่ๆ หรือเป็นพวกๆ ใครมีชั้นเชิงดีก็ชนะ ด้วยการรำตบมะผาบในท่าทางต่างๆ โดยถือหลักว่าคนที่มีโทสะจะขาดความยั้งคิด และเมื่อนั้นย่อมจะเสียเปรียบคนที่ใจเย็นว่า เมื่อมีการรำตบมะผาบแล้ว ก็จะมีการฟ้อนเจิงประกอบอีกด้วย เมื่อเห็นว่ามีความกล้าหาญพอแล้วก็เข้าปะทะกันได้ และการฟ้อนเจิงนั้น อาจจะใช้มือเปล่าได้ในท่าทางต่างๆ ที่ต้องใช้ความรวดเร็วว่องไว การเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นการปลุกตัวเองไปก่อนที่จะเริ่มต่อสู้จริงๆ (หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๓๒ : ๒๒) 

ภาพถ่ายการฟ้องเจิง  : ที่มา เฟสบุ๊ค Radit Pongsargamol

                ฟ้อนเจิง เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยทางภาคเหนือที่นำเอาเรื่องราวของศิลปะป้องกันตัว ซึ่งเมื่อครั้งอดีตผู้ชายชาวล้านนามักจะมีการแสวงหาเรียนรู้ เจิงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง ด้วยรูปแบบและลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม ที่ซ่อนเร้นชั้นเชิงอันเป็นแม่ไม้เฉพาะตน ซึ่งสลับท่าทาง ไปมา ยากในการที่จะทำความเข้าใจ ฟ้อนเจิงเป็นศิลปะการฟ้อนที่แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิง ลีลาการต่อสู้ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทย มีการต่อสู้ทั้งรุกและรับ หลอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ประลองไหวพริบปฏิภาณกัน เอาชนะกันอย่างมีชั้นเชิงให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ข่มเหงเอาเปรียบกัน ฟ้อนเจิง แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ๑. ฟ้อนเจิงมือเปล่า ๒. ฟ้อนเจิงที่ใช้อาวุธ เช่น เจิงหอก เจิงดาบ เจิงไม้ค้อน เป็นต้น (สนั่น ธรรมธิ, ๒๕๓๗) 

        กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมการฟ้อนเจิง คือ ท่าทางที่ใช้ในการแสดงอย่างมีชั้นเชิง มีทั้งท่าทางที่เป็นการร่ายรําตามกระบวนท่าต่าง ๆ ตามแบบแผนที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ หรือเพื่อใช้ในการแสดง โดยท่ารํามีทั้งที่เป็นหลักสากล หรือท่ารําของแต่ละคนใช้ความสามารถในการแสดงเฉพาะตัว พลิกแพลง ดัดแปลง ประยุกต์ให้ดูสวยงาม ทั้งนี้สามารถฟ้อนโดยปราศจากอาวุธ หรือประกอบอาวุธ เช่น หอก ดาบ และไม้ค้อน เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นศิลปะของชาวล้านนาไม่ว่าจะใช้แสดงในงานบวช หรือประเพณีสำคัญต่าง ๆ จึงควรคู่แก่การอนุรักษ์ไว้ให้กับลูกหลานได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน 

ภาพถ่ายการฟ้องเจิง  : ที่มา เฟสบุ๊ค Radit Pongsargamol

ข้อมูลเนื้อหาโดย :  นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ 

เรียบเรียงเนื้อหาโด: นางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ :  เฟสบุ๊ค Radit Pongsargamol

หอสมุดแห่งชาติ.  องค์ความรู้ : วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย เรื่อง ฟ้อนเจิง . [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม ๒๕๖๖, จาก: https://shorturl.asia/LHQUW