ผ้าทอยกดอก "ศิลป์หัตถา" สินค้าชิ้นเดียวในโลก

กลุ่มอาชีพบ้านบวก 

ตำบลดงดำ  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน

นางสุกันทา  ด้วงอ้าย

ตัวแทนกลุ่มอาชีพผ้าทอยกดอก บ้านบวก

ที่อยู่ หมู่ที่ 3 บ้านบวก ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

หมายเลขโทรศัพท์ : 086-0808578

ความเป็นมาของภูมิปัญญาผ้าทอยกดอก "ศิลป์หัตถา" สินค้าชิ้นเดียวในโลก

นางสุกันทา ด้วยอ้าย หรือ ป้าด้วง มีใจรักในการทอผ้าตั้งแต่สมัยเด็ก ได้ศึกษาเกี่ยวกับการทอผ้ามาอย่างมากมาย โดยได้ทำงานกับกลุ่มทอผ้ากลุ่มหนึ่ง ก่อนออกมาใช้วิชาความรู้ตนเองในการสร้างกลุ่มทอผ้ากลุ่มใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้เกิดรายได้ สามารถเลี้ยงดู ตนเองและครอบครัวได้ ได้ก่อตั้ง ปี พ.ศ.  2547 โดยนางสุกันทา  ด้วงอ้าย เป็นผู้ริเริ่มในการก่อตั้ง  โดยเริ่มแรกได้ใช้งบประมาณของตัวเองในการลงทุนซื้ออุปกรณ์ในการทอผ้า เช่น กี่ หัวม้วน กระสวย ฝ้าย เป็นต้น   และได้ชักชวนเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องในหมู่บ้านมาฝึกการทอผ้า  จึงเกิดเป็นกลุ่มผ้าทอยกดอก ชื่อ "ศิลป์หัตถา" สินค้าที่มีชิ้นเดียวในลำพูน ซึ่งเกิดจากการอที่ป้าด้วงมักจะคิดค้นลวดลายด้วยตนเองจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ประกอบกับฝีทอที่ละเอียดละออ สวยงาม สินค้าของกลุ่มจึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ และเอกชนมากมาย เช่น กศน.อำเภอลี้ เทศบาลตำบลดงดำ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ฯลฯ ต่อมาได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าประจำตำบล OTOP ให้ไปจัดแสดงในงานมหกรรมสินค้า จนในปัจจุบันได้รับออเดอร์จากต่างประเทศมากมาย สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป็นอย่างมาก

จุดเด่นของภูมิปัญญา

ภูมิปัญญาผ้าทอยกดอก โดยป้าด้วง นั้น เป็นสินค้าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก โดยที่ผ้าแต่ละผืน ป้าดวงจะคิดค้นลวดลายขึ้นมาเอง อาศัยจากสิ่งที่เห็นรอบๆตัว เช่น ดอกมะลิ ดอกกล้วยไม้ ดอกดิน ดอกบัว ลายแมงมุม หรือดอกลำไยซึ่งเป็นผลไม้ประจำจังหวัดลำพูน ป้าดวงจะทำการแกะลวดลายเหล่านั้นก่อนลงมือทอผ้าเสมอ หรือหากลูกค้าต้องการลวดลายแบบไหน สามารถให้ป้าด้วงออกแบบให้ได้ และป้าดวงจะสอนไปยังสมาชิกในกลุ่ม ให้สามารถถักทอลวดลายเหล่านั้นออกมาได้อย่างสวยงาม 

นอกจากนั้นป้าดวงยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ในการทำงานวิจัยด้านผ้าทอ เพื่อถ่ายทอดความรู้นั้นให้สามารถออกมาในรูปแบบเอกสาร หลักฐาน ที่เยาวชนในรุ่นหลังจะสามารถเรียนรู้ และสืบทอดภูมิปัญญานี้ได้อีกด้วย 

ลวดลายการรังสรรค์เองของกลุ่มอาชีพ

ยกดอกลายดอกบัว

ผ้าทอยกดอก

ลายดอกผักแว่น

ลายดอกเอื้องนกน้อย

ลายดอกบัว

ลายดอกดิน

ลายช่อลำไย

ลายดอกลำไย

ลายดอกเอื้องนกน้อย

ลายดอกพิกุล

ลายแมงมุม

ผ้าซีนตีนจก

แกะลายผ้า และทอผ้าลาย  "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

        นางสุกันทา ด้วงอ้าย ศิลปิน OTOP อำเภอลี้ ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์โดยดำเนินการแกะลายผ้า และทผ้าลาย ชื่อลาย "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยังความปลื้มปิติ และเป็นมงคลแก่ชีวิต ที่ได้มีการเลือกสีสันของผ้าทอ แลวัสดุที่มีคุณภาพ สวยงามมาใช้ในการทอผ้าครั้งนี้

 แหล่งที่มา : ภาพข่าว จาก สวท.ลำพูน

คลิปวีดิโอและแผนที่การเดินทาง

วิธีการทอผ้ายกดอก

1.  การกรอด้าย 

Ø นำด้ายมาในอุปกรณ์การกรอด้าย  โดยหาจุดเริ่มต้นของเส้นด้าย  จากนั้นเริ่มกรอด้ายใส่หลอดด้ายใหญ่

2. การเดินด้าย 

Ø นำที่เดินด้ายตั้งวางไว้ นำหลอดด้ายใหญ่เสียบลงบนแผงตะขอที่เตรียมไว้ จากนั้นเริ่มเดินด้ายครั้งละ 20 หลอด
จนครบ  58  รอบ

3. การสอดฟัน

Ø นำที่วางสอดฟันหวีมาตั้งไว้  แล้วนำฝ้ายที่เดินครบ  58  รอบ  มามัดกับที่วางสอดฟันหวี แล้วเริ่มเอาฟันหวีมาวาง  หลังจากนั้นดึงเส้นด้ายทีละเส้น สอดเข้าฟันหวี 1 คู่ ต่อ 1 รู ของฟันหวีจนครบจำนวนรูของฟันหวี

4. การเข้าหัวม้วน 

Ø นำที่วางหัวม้วนมาตั้งวาง นำหัวม้วนเข้าใส่ที่วาง แล้วนำที่หนีบของเส้นด้ายประกบติดกับหัวม้วน แล้วนำที่หนีบของเส้นด้ายมาวางไว้ระหว่างกลางของหัวม้วน แล้วเริ่มหนีบเส้นด้ายม้วนกระจายเส้นด้ายแต่ละสีให้ตรงกัน ดึงให้ตึง  แล้วหมุนหัวม้วนไปเรื่อยๆ จนหมดเส้นด้าย

5. การเก็บเขาย่ำ 

Ø นำหัวม้วนขึ้นวางบนกี่ หลังจากนั้นจัดเส้นด้ายให้ลงตัวกับรูฟันหวี แล้วกลับเส้นด้ายด้านล่างขึ้นมาด้านบนเพื่อเก็บเขาเหยียบ แล้วกลับเส้นด้ายให้เหมือนเมื่อเก็บเขาเหยียบอีกด้านหนึ่ง หลังจากนั้นมัดเขา แล้วทากาวรอให้แห้ง  แล้วมัดเขาย่ำ ติดรอก แล้วเริ่มลงมือทอดูว่าเส้นด้ายเส้นไหนผิดก็แก้ไข

6. การด้านดอก 

Ø เลือกลายดอกของผ้าที่ต้องการทอ แล้วเริ่มด้านดอกโดยการนับเส้นด้ายตามลายดอกจนครบจำนวนดอก

7. การเก็บเขาดอก 

Ø เก็บเขาดอกโดยการนำไม้ลิ่วมาขัดด้วยกระดาษทรายจนลื่น เริ่มเก็บเขาดอกตามลายที่เลือกไว้ แล้วทากาวกันด้ายไหล รอจนแห้งแล้วลองทอ ถ้าผิดก็แก้ไข

8. วิธีการทอ

Ø เริ่มจากไม้ที่ 1 ถ้าไม่ใส่เกสร ให้ทิ้งไม้ 1 ไม้ หลังจากทอครบทุกไม้ (การทอทุกรอบต้องทิ้งไม้ทุกรอบ)

Ø ถ้ามีเกสรให้ทิ้ง 2 ไม้ เหมือนขั้นตอนแรก แล้วดูตรงไหนผิดให้แก้ไข

Ø เมื่อผ้าทอเสร็จแล้วต้องได้มาตรฐาน ยาว 1 เมตร 85 เซนติเมตร ผ้าตัดเสื้อเป็นชุด ยาว 4 เมตร 20 เซนติเมตร สำหรับตัดเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้า 2 เมตร 20 เซนติเมตร

ประโยชน์ของภูมิปัญญา 

1. เป็นสินค้าส่งออกของตำบล ได้รับรางวัล OTOP 5 ดาว และะส่งไปขายยังประเทศจีน

2. เกิดกลุ่มอาชีพทอผ้ายกดอกขึ้นในชุมชน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม

3. สินค้ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ทุกชิ้นไม่ซ้ำกัน สร้างคุณค่าให้แก่ชิ้นงานนั้นๆ

4. เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน เด็ก เยาวชน ผู้ที่สนใจ ได้ร่วมสืบสาน สืบทอด และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไว้

5. สร้างรายได้และโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่ตนเอง และถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่นโดยการร่วมเป็นวิทยากรในโอกาสต่างๆ

เกิดกลุ่มอาชีพในชุมชน

ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน

สินค้า OTOP

วิทยากรให้ความรู้

ข้อมูลการติดต่อ นางสุกันทา ด้วงอ้าย (ประธานกลุ่มอาชีพผ้าทอยกดอก) โทรศัพท์ : 086-0808578
ที่อยู่ หมู่ที่ 3 บ้านบวก ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สมาชิกกลุ่ม จำนวน 35 คน

ข้อมูลเนื้อหา โดย นางสุกันทา ด้วงอ้าย

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนายจอมแก่น พิศวงค์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนายจอมแก่น พิศวงค์ 

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : สิงหาคม 2564