ประเพณี

ตักบาตรผัก-สังฆทานผัก 

วัดพระบาทห้วยต้ม   อำเภอลี้   จังหวัดลำพูน

“ตักบาตรผัก-สังฆทานผัก”

   บ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตากที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ด้วยความตั้งใจที่อยากจะมาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือครูบาวงศ์ (มรณภาพเมื่อปี 2543) พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยต้ม

และนอกจากการกินมังสวิรัติจนเป็นวิถีชีวิตแล้ว การทำบุญตักบาตรก็ยังเป็นการ “ตักบาตรผัก” หรือทำบุญใส่บาตรด้วยอาหารมังสวิรัติเช่นเดียวกัน  

ชาวบ้านห้วยต้มจะทำบุญตักบาตรเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันพระ ทั้งวันพระเล็กพระใหญ่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะหยุดทำงานและพากันมาทำบุญที่วัดมากกว่าปกติ ดังนั้นหากใครอยากมาร่วมใส่บาตรพร้อมทั้งชมบรรยากาศของการตักบาตรผักอย่างคึกคักก็ควรมาในวันพระ อีกทั้งในวันพระช่วงสายๆ ก็จะมีการถวายสังฆทานผักอีกด้วย

ตั้งแต่เช้าตรู่ราว 6 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองคือชุดปกาเกอะญอที่ทอเองด้วยกี่เอว มีลวดลายและสีสันต่างกัน ตกแต่งด้วยพู่เพื่อความสวยงาม ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงหรือสาวๆ จะใส่ชุดยาวสีขาวตกแต่งด้วยพู่สีแดง ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้วจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุง ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อสีแดงครึ่งท่อนกับกางเกง 

มองดูในถาดภัตตาหารจะเห็นแต่อาหารที่ทำจากเมนูผักล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก แกงจืดผักและเห็ด น้ำพริก เห็ดทอด เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีขนมและผลไม้อีกด้วย 

จากนั้นราว 07.00 น. พระสงฆ์จะลงมายังศาลาใส่บาตร นำโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่จะนั่งบนอาสนะหัวแถว พระสงฆ์จะสวดมนต์ จากนั้นก็ถึงเวลาใส่บาตรข้าวสวยและข้าวเหนียว โดยผู้ชายที่มีอาวุโสที่สุดจะเป็นผู้นำใส่บาตร ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงเด็กผู้ชาย จากนั้นจึงเริ่มเป็นผู้หญิงที่มีอาวุโสที่สุดไปจนถึงเด็กผู้หญิง ทุกคนต่อแถวใส่บาตรกันอย่างเป็นระเบียบ เริ่มจากบาตรของพระพุทธ บาตรหน้ารูปเหมือนหลวงปู่ครูบาวง และบาตรของหลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระลูกวัดตามลำดับ ข้าวเหนียวหยิบเป็นก้อนใส่ในบาตร ส่วนข้าวสวยตักเป็นช้อนในกะละมัง เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วจึงค่อยกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรในช่วงเช้า 

“สังฆทานผัก” (เฉพาะในวันพระ) โดยชาวบ้านก็จะเริ่มนำ ผัก ผลไม้สดมาถวายที่วัด เริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียนก่อน แล้วจึงตามด้วยผัก ผลไม้ ทั้งนี้สามารถนำน้ำและขนมมาถวายได้ มีการใส่ขันเงิน คือการนำเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือธนบัตร ใส่ในบาตรหรือขันพาน และเมื่อได้เวลาอันสมควร ชาวบ้านนำโดยผู้ชายจะนําผัก ผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภารชนะนํามาวางเรียงไว้หน้าพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์และเทศนาธรรม ส่วนในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนกันที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยด้วย 

ช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม 

    ผู้ที่สนใจการท่องเที่ยววิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม สามารถติดต่อกับทางกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพระบาทห้วยต้ม นำโดยคุณวิมล สุขแดง ประธานกลุ่มได้ที่ โทร.06 5734 9427 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลำปาง (ดูแลลำปาง ลำพูน) โทร.0-5422-2214-15 

ที่มา https://mgronline.com/travel/detail/9610000004434

ผู้เรียบเรียง : นางสาวกานต์ชนก  แก้วทิพย์

>>> แผนที่การเดินทาง