ประเพณีตากธรรม วัดลี้หลวง 

กุศโลบายความเชื่อเพื่อการดูแลรักษาคัมภีร์

ประเพณีตากธรรม ณ วัดลี้หลวง...

     สืบเนื่องจากวัดลี้หลวงซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองลี้ เดิมเป็นซากวัดเก่าที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับเวียงโบราณ ผู้คนที่อพยพมาอยู่บริเวณนี้จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง วัดลี้หลวงยังเก็บรวมรวบเอกสารโบราณเช่น คัมภีร์ใบลานที่จดบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนาจำนวนมากในหอไตร   ซึ่งนับเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง
ที่ยังไม่มีการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปริวรรตเอกสารโบราณเหล่านั้นให้เป็นอักษรไทยมาตรฐานที่จะสร้างความรู้
ความเข้าใจในปัจจุบัน... 

การตากธรรม (ธรรมในล้านนา หมายถึง คัมภีร์ใบลาน)   เป็นประเพณีโบราณที่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรได้ให้กุศโลบาย    เพื่อเก็บรักษาและสืบต่อวรรณกรรม  คัมภีร์ให้ยืนยาว   โดยมีกระบวนการในการรักษาคัมภีร์ผ่านพิธีกรรมความเชื่อ   โดยการนำคัมภีร์โบราณ  ปั๊บสา  ที่อยู่ในหอไตร  ออกมาตากแดด  ควบคุมความชื้น เก็บรักษาโดยการห่อผ้าและการเขียนคัมภีร์ชุดใหม่ขึ้นมาโดยประเพณีตากธรรม  มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ใหม่และการสืบทอดคัมภีร์ใบลาน   กล่าวคือก่อนที่จะมีประเพณีตากธรรม  ประมาณเดือน ๔ เหนือ ของทุกปี พระสงฆ์และชาวบ้านจะใช้ความรู้ด้านพุทธศาสนาและความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่ตนมีอยู่มาเขียน หรือ บันทึก เรื่องราวของชุมชน  ก่อนที่จะนำมาเทศน์ (บอกเล่า) และร่วมแห่งฉลองในพิธีตากธรรม  หลังจากนั้นก็ถวายคัมภีร์ธรรมเหล่านั้นให้กับวัดจนกลายเป็น   "ประเพณีตากธรรม"   

คัมภีร์ใบลาน (ธรรม) ตัวอักษรล้านนา

คัมภีร์โบราณถูกเก็บในหอไตรวัดลี้หลวง

การฟ้อนรำของชมรมผู้สูงอายุในพิธี

การแสดงดนตรีของผู้สูงอายุในพิธี

กองธรรมที่ใช้ประกอบพิธีตากธรรม

นายเสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้แล้วติดต่อประสานงานกับพระครูพิสิฎฐ์สุมงคล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง พร้อมด้วยมัคนายก ผู้ใหญ่บ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เพื่อขออนุญาตในการทำความสะอาดใบลานของวัดลี้หลวง จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์วัตถุโบราณ มิฉะนั้นจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและปัจจัยต่างๆ เช่น ฝุ่น เชื้อรา แมลง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียสมบัติทางภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษไปอย่างน่าเสียดาย.... จึงเห็นว่าควรจะร่วมกันอนุรักษ์เอกสารโบราณเหล่านี้ให้มีอายุยืนนานต่อไปด้วยการดำเนินการตามขั้นตอน
การอนุรักษ์ที่ถูกต้อง การจัดทำทะเบียนเอกสารโบราณเพื่อทราบเนื้อหาที่มีอยู่ในเอกสารโบราณแต่ละหมวดหมู่ รวมถึงการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลเพื่อบันทึกไว้ในรูปแบบของภาพถ่าย อันจะเป็นการเก็บรักษาในรูปแบบดิจิตอลที่จะง่ายต่อการใช้งานต่อไป ซึ่งสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน มัคนายกและภูมิปัญญาพร้อมด้วยอาสาสมัครไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไว้มากที่สุด  โดยได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้นำรูปแบบการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานผ่านพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา จำลองรูปแบบมาดำเนินการที่วัดลี้หลวง ซึ่งเป็นครั้งแรกของเมืองลี้

นายเสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้

ปรึกษาหารือการจัดพิธีตากธรรมวัดลี้หลวงคร้ังแรกของเมืองลี้

          งานประเพณีตากธรรม วัดลี้หลวงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของอำเภอลี้ เมื่อวันที่ 22 – 23 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2559 

           โดยในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2559 ได้มีการจัดตั้งขบวนแห่พระธรรมคัมภีร์หน้าที่ว่าการอำเภอลี้ ประกอบด้วย ขบวนหีบพระธรรมที่ใช้บรรจุพระธรรมคัมภีร์ของวัดลี้หลวง ติดตามด้วยขบวนพระสงฆ์ – สามเณรจำนวน 60 รูปแบกพระธรรมคัมภีร์พร้อมด้วยคณะศรัทธาสาธุชนที่เข้าร่วมขบวนประมาณ 250 คน อุ้มพระธรรมคัมภีร์ และขบวนดนตรีพื้นเมือง กลองล้านนา แห่ไปตามถนนพหลโยธินเข้าสู่วัดหลวง  เมื่อขบวนแห่เข้าสู่ลานวัดลี้หลวง มีอุบาสกอุบาสิกา โปรยข้าวตอกดอกไม้ต้อนรับสองข้างทาง และมีขบวนฟ้อนขันดอกของผู้สูงอายุวัดลี้หลวง ฟ้อนต้อนรับ เพื่อเป็นศิริมงคล ต่อจากนั้นขบวนได้นำพระธรรมคัมภีร์ทั้งหมดเข้าสู่ที่ตั้งในวิหารหลวง ประกอบพิธีทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลแด่ครูบาอาจารย์ ภูมิปัญญาที่ได้เคยจารธรรม ถวายทานพระธรรมคัมภีร์ไว้

          และในวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2559  ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 เหนือ (เดือนสี่เป็ง) ได้ประกอบพิธีตากธรรมขึ้น โดยได้นิมนต์พระสงฆ์พิธี จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์สืบชะตา ตามขั้นตอนพิธีตากธรรม ดังนี้ มีการเล่าถึงความเป็นมาของการสำรวจ อนุรักษ์ และทำฐานข้อมูลรายการคัมภีร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวัดลี้หลวงมีคัมภีร์จำนวน 810 เรื่อง มีพระธรรมคัมภีร์ใบลานมากกว่า 2,000 ผูก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคัมภีร์ที่ใช้เทศนาแก่ศรัทธาญาติโยม เนื่องจากวัดลี้หลวงเป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีสิ่งสำคัญหลายประการที่ศรัทธาสาธุชนสมควรที่จะได้ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้ยั่งยืนสืบไป จากนั้น จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระสมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนาจากพระครูพิศิษฎ์สุมงคล เจ้าอาวาสวัดลี้หลวง ซึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักขระล้านนา (ตั๋วเมือง) จบแล้วได้ร่วมกันประกอบพิธีตากธรรมตามขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนการประกอบพิธีตากธรรม 

2. ร้อยสายสยองเข้ากับใบลานในผูกเดียวกัน

3. ขอขมาพระธรรม และอาราธนาพระสงฆ์ เจริญพระปริตรสมโภชพิธีตากธรรม  กล่าวคำโอกาสถวายพระธรรมคัมภีร์และจตุปัจจัยไทยธรรม เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศล

4. ช่วยกันห่อธรรมทั้งหมดเข้าคัมภีร์ (ผ้าห่อ) อย่างดี

5. พระสงฆ์และคณะศรัทธาร่วมกันนำพระธรรมเข้าขบวนแห่รอบพระวิหาร

6. นำพระธรรมคัมภีร์เข้าไปเก็บไว้ที่หอธรรม (หอไตร) วัดลี้หลวง

ข้อมูลเนื้อหา โดย สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ เว็บไซต์ http://www.li-culture.com/

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ 

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ เว็บไซต์ http://www.li-culture.com/
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : มีนาคม 2567