อินทยงยศ 

ถนน 100 ปี ที่ยังมีชีวิต

ถนนอินทยงยศ เป็นถนนสายสำคัญเส้นหนึ่งของเมืองลำพูนในอดีต และยังเป็นถนนเส้นสำคัญจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นสถานที่ตั้งสถานที่สำคัญ และเป็นย่านการค้าของจังหวัดลำพูนอีกด้วย ในอดีตถนนเส้นนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางผ่านของรถแห่ขบวนนางงามสงกรานต์ประจำปี นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านเสริมสวย โรงหนัง ร้านอาหารภัตตาศาร เช่น 'เจ๊กอู๋' หรือร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน เช่น 'บะหมี่เจ๊ส่วน' ร้านบะหมี่ทำมือที่สืบทอดต่อกันมา และยังเป็นสถานที่ตั้งศาลากลางจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นศูนย์รวมหน่วยงานราชการ และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของชาวเมืองมากมาย เช่น งานรัฐธรรมนูธ การจัดแข่งขันกีฬา หรือการฉายหนัง ทั้งนี้ ถนนอินทยงยศถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน องค์ที่ 9 

ภาพถ่ายมุมสูงของขบวนผู้ประกอบอาชีพขับขี่สามล้อ สมาคมสามล้อลำพูน บนถนนอินทยงยศหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน ไม่ทราบปี พ.ศ.ที่ถ่ายภาพ สำเนาภาพถ่ายจาก คุณณรัศมิน เทพมณี 

ภาพจาก เฟสบุ๊คหมายเหตุหริภุญไชย

ภาพถ่ายสถานีจอดรับส่งผู้โดยสาร(รถคอกหมู)ลำพูน-เชียงใหม่ ริมถนนอินทยงยศด้านหลังวัดพระธาตุหริภุญชัย ในช่วง พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา

ภาพจาก เฟสบุ๊คหมายเหตุหริภุญไชย

เจ้าอินทยงยศโชติ : เจ้าผู้สร้างถนนอินทยงยศ

เจ้าอินทยงยศโชติ มีพระนามเดิมว่าเจ้าอินทยศ และมีพระนามที่เรียกกันในหมู่เจ้าพี่เจ้าน้องว่า เจ้าน้อยหมวก เป็นราชโอรสในเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ (เจ้านครลำพูนองค์ที่ 7) กับแม่เจ้าปิมปาราชเทวี (หรือ พิมพา ในภาษาไทยภาคกลาง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าอุปราชนครลำพูน จนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2440 (นับแบบปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2441) จึงเลื่อนเป็นเจ้าอินทยงค์ยศโชติ์ วรโฆษกิตติโสภณ วิมลสัตยสวามิภักดิคุณ หริภุญไชยรัษฎารักษ์ ตทรรคเจดีย์บูชากร ราษฎรธุระธาดา เอกัจจโยนกาธิบดี เจ้านครลำพูน

เจ้าอินทยงยศโชติ ป่วยเป็นโรคภายใน อาการทรงกับทรุดเรื่อยมา จนถึงแก่พิราลัยในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2454 (พ.ศ. 2453 หากนับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นศักราชใหม่) รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 16 ปี

พระกรณียกิจของพระองค์ ได้แก่ ด้านคมนาคม มีการตัดถนนเพื่อเชื่อมเมือง โดยตัดถนนจากเมืองลำพูนไปเมืองเชียงใหม่ และจากเมืองลำพูนไปเวียงป่าซาง และมีการสร้างเหมืองฝายอีกมากมาย ซึ่งเห็นได้จากหลักฐานแผนที่ของกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง ปี พ.ศ. 2440-2450 แสดงให้เห็นถึงการตัดถนนสายสำคัญ ๆ ในเมืองลำพูน ด้านการสื่อสาร เมื่อปี พ.ศ.2449 มีการสร้างที่ทำการไปรษณีย์ที่นครลำพูน ด้วยทรัพย์สินส่วนพระองค์ของเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ (ประมาณ 1,567 บาท) โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2449 และในปี พ.ศ. 2451 ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสาร จึงได้ช่วยอุดหนุนราชการของรัฐบาล โดยบริจาคเสาโทรเลข จำนวน 234 ต้น 

ถนนอินทยงยศในปัจจุบัน

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปหลายสิบปี แต่ถนนอินทยงยศ เป็นสถานที่ตั้งสำคัญของจังหวัดลำพูน เช่น พิพิธภัณฑ์หริภุญไชย ศาลากลางจังหวัดลำพูน (หลังเก่า) นอกจากนี้ยังเป็นถนนที่ถูกใช้เป็นเส้นทางสำหรับขบวนงานประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีสลากย้อม ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น

ข้อมูลเนื้อหา :  

นเรนทร์ ปัญญาภู . (ม.ป.ป.). เจ้าอินทยงยศโชติ . ค้นจาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=1986

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสนรี. (2565). เจ้าอินทยงยศโชติ. ค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าอินทยงยศโชติ 

เฟสบุ๊คหมายเหตุหริภุญไชย

รวบรวม/เรียบเรียง :  นางสาวชนัตถธร สาธรรม บรรณารักษ์ปฏิบัติการ

ภาพถ่าย :  เฟสบุ๊คหมายเหตุหริภุญไชย