ฟ้อนหริภุญชัย

ประวัติความเป็นมา

จังหวัดลำพูนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปะวัฒนธรรมต่างๆเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้สืบทอดต่อไปผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆทีเกิดขึ้นในจังหวัดลำพูนได้แก่ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ประเพณีสักการะเจ้าแม่จามเทวี ซึ่งในงานจะมีการแสดงการฟ้อนถวายพระธาตุหริภุญไชย และ พระนางจามเทวี การฟ้อนเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นจากความเข้มแข็ง ของสังคมเมืองและศรัทธาอันแรงกล้า ของพลังประชาชนในจังหวัดลำพูน ที่ได้สืบทอดประเพณีนี้ จากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาหลายสิบปี จังหวัดลำพูนจะมีการฟ้อน 3 รูปแบบ ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนหริภุญไชย ฟ้อนยอง ซึ่งในบทความนี้ขอกล่าวเรื่องการฟ้อนหริภุญไชย 

การฟ้อนหริภุญชัยเป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย รองศาสตราจารย์ดิเรกชัย มหัทธนะสิน อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ขณะเป็นครูสอนฟ้อนรำล้านนาของชมรมนาฏศิลป์ดนตรีไทย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ได้คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนจากเพลงบรรเลงชื่อเพลงหริภุญไชย ซึ่งแต่งโดยนายสุชาติ กันชัย (หนุ่ม) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจให้เกิดจิตภาพ ของผู้ที่ฟ้อนรำในชุดโบราณของเมืองหริภุญไชย และได้ทราบว่าเจ้าผู้ครองนคร มีเชื้อสายมอญ กอปรกับต้องการให้เป็นเพลงที่มีสำเนียงพื้นเมืองล้านนาจึงได้ผสมผสานมอญและสำเนียงพื้นเมืองเข้าด้วยกัน และเพื่อให้เพลงมีความเป็นแบบโบราณมากขึ้นจึงได้นำจังหวะกลองตึ่งโนง มาประกอบจังหวะเพลง 

เพลง หริภุญชัย

การแต่งกายช่างฟ้อนหริภุญชัย

ช่างฟ้อนจะนุ่งผ้าซิ่นที่เลียนแบบผ้าซิ่นไทยองเชียงตุง ที่ต่อตีนสูงคล้ายผ้าซิ่นในชุดฟ้อนม่านมุ่ยเชียงตา ที่ใช้สีทองอมชมพู  ท่อนบนสวมเสื้อเถาะอกสีดำมีชายเสื้อพลิ้วเป็นระบาย มีสไบสีชมพูคล้องเฉียงไหล่ซ้ายไปพาดแขนด้านขวา และคาดเข็มขัดแบบห่วงทับเสื้อที่เอว ส่วนศีรษะมีดอกไม้เสียบพองาม

ท่าฟ้อนหริถุญชัย

    ท่าฟ้อนหริภุญชัย เป็นฟ้อนประดิษฐ์ใหม่โดย ผศ.ดิเรกชัย มหัทธนะสิน อดีตอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมพื้นบ้านล้านนา ลีลาท่าฟ้อนได้แรงบันดาลใจมาจากรูปปูนปั้นประดับที่กู่กุด วัดพระจามเทวี จังหวัดลำพูน และปรับท่ามาจางฟ้อนเชิง เช่น แทงบ้วง ผาลงม้วนมือ สาวไหม มีชื่อท่าฟ้อน ๒๓ ท่า คือ(๑) เบิกฟ้า (๒) ทอดผ้าหริภุญไชย (๓) เกรียงไกร (๔) สัตตบงกช (๕) ร่ายอธิยศป๋ารมี (๖) กั้งสัตรู(อ่านว่า กั้งสัดถะหลู) (๗) ข่มสูหื้ออยู่ใต้ฟ้า (๘) อุบลต้องเกิงกาง (๙) ซาบซ่านรัศมี (๑๐) เบญจกัลยาณีศรีหลวงเวียง (๑๑) เพียงนางพญากราย (๑๒) โผดผายทศพิธ (๑๓) ราชธรรมวิวิธ (๑๔) สถิตเหนือปฐพี (๑๕) ฮ่วมขวัญกษัตรีย์ (๑๖) เทวีแป๋งเมือง (๑๗) เมลืองวิลังคะพ่าย (๑๘) ชยะใจ๋สมโภช (๑๙) นิโรธฮ้องขวัญ (๒๐) เอี้ยวหวันจุมสะหรี (๒๑) แสงระวีส่องหล้า (๒๒) ไพร่ฟ้าหน้าใส (๒๓) หริภุญไชยยั่งยืนเทอญ

ตัวอย่างท่าฟ้อนหริภุญชัย

การแสดงการฟ้อนหริภุญชัย

ข้อมูลเนื้อหา :    watcharin moomaerim.(2555). ฟ้อนหริภุญชัย. ค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/504658

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2549). นาฏดุริยการล้านนา - ฟ้อนหริภุณไชย. 

ค้นจาก http://www.openbase.in.th/node/6978

ทีมงานคนล้านนา. (2565). ฟ้อนเล็บ-ฟ้อนหริภุญไชย ถวายพระนางจามเทวี จากลำพูนสู่ลพบุรี. 

ค้นจาก https://www.konlanna.com/contents/read/1656

รวบรวม/เรียบเรียง : นางสาวทิพย์สุดา แสนโส บรรณารักษ์

ภาพถ่าย :  คุณนุช กรุงไทย .(2561). พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน .

                      ค้นจาก https://www.cmprice.com/forum/?content=detail&wb_type_id=1&topic_id=206395

สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน.(2561). ข่าวประชาสัมพันธ์. ค้นจาก http://www.lamphunpao.go.th

วิดิโอ: Juthamas Oonhawat .(2559). ฟ้อนหริภุญชัย. ค้นจาก https://youtu.be/6wVClyNFKA