เฟิร์น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pteridophyta

วงศ์ : Cyatheaceae

เฟิร์น เป็นหนึ่งในกลุ่มของพืชที่มีราว ๆ 20,000 สปีชีส์ ที่ถูกจำแนกในไฟลัม Pteridophyta หรือ Filicophyta และยังเป็น Polypodiophyta หรือ Polypodiopsida ด้วย ซึ่งจัดเป็นพืชชั้นต่ำหรือพืชไร้ดอกที่มีวิวัฒนาการมานานกว่า 400 ล้านปี โดยเฟิร์นนั้นนับเป็นพืชป่าที่พบมากในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่สามารถเจริญเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์นั้น ๆ เฟิร์นสามารถจำแนกชนิดได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเฟิร์นอิงอาศัย (Epiphytic Fern) เป็นเฟิร์นที่เจริญเติบโตบนคาคบไม้ ทนแล้งได้ดีเพราะมีระบบรากที่เก็บความชื้นได้ดี ส่วนกลุ่มต่อไปคือ กลุ่มเฟิร์นดินและเฟิร์นหิน (Terrestrial And Lithophytic Fern) เป็นเฟิร์นที่อยู่ตามพื้นป่าและตามหน้าผาดิน ซึ่งมีระบบรากที่แข็งแรงทำให้ยึดเกาะได้ดี และเฟิร์นกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มเฟิร์นน้ำ (Aquatic Fern) เป็นเฟิร์นที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ


ลักษณะของต้นเฟิร์น

ลักษณะของลำต้น ลำต้นของเฟิร์นโดยส่วนใหญ่มักเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน บางครั้งก็เป็นไหลอยู่เหนือดิน หรือลำต้นตั้งตรงเนื้อคล้ายไม้เหนือดิน ซึ่งอาจสูงได้ถึง 20 เมตร ในบางชนิด โดยลำต้นของเฟิร์นนั้นจะมีหลายแบบทั้งสูงใหญ่ เลื้อยทอด บางชนิดก็มีลำต้นอยู่ใต้ดิน สืบพันธุ์โดยสปอร์ทำให้กระจายตัวเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งชนิดที่ชอบแดดและทนร่ม มีตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงเป็นกอใหญ่

ใบ ใบเฟิร์นมักถูกเรียกว่าฟรอนด์ (Frond) เนื่องจากในอดีตผู้ที่ทำการศึกษาแบ่งเป็นผู้ที่ศึกษาในเฟิร์นกับผู้ที่ศึกษาในพืชมีเมล็ด มากกว่าที่จะมาศึกษาถึงความแตกต่างทางโครงสร้าง โดยใบใหม่นั้นจะแผ่จากใบที่ขมวดเกลียวแน่นหรือที่เรียกว่า crozier หรือ fiddlehead การคลี่ออกของใบเป็นแบบม้วนเข้าด้านในแบบลานนาฬิกา (Circinate vernation) โดยใบจะผลิจากตาที่ปลายยอดของลำต้น มีใบอ่อนม้วนงออวบน้ำและเปราะง่าย ใบเฟิร์นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ก้านและแผ่นใบ ก้านใบมักจะมีขนหรือเกล็ดปกคลุม ส่วนแผ่นใบจะมีรูปร่างต่างกัน ทั้งแบบใบเดี่ยว ใบประกอบแบบขนนก 1-4 ชั้น ใบที่เป็นสายยาว บางชนิดมีแผ่นใบที่บอบบาง บางชนิดมีแผ่นใบที่หนาเป็นมัน และบางชนิดใบจะชูตั้งขึ้นและหยักเว้าคล้ายเขากวาง โดยใบเฟิร์นทุกชนิดนั้นจะมี 2 แบบ ได้แก่ ใบที่ไม่สร้างสปอร์ และสร้างสปอร์ ซึ่งเฟิร์นแต่ละชนิดจะมีรูปทรง สีสัน และขนาดที่แตกต่างกัน

ราก เฟิร์นมีรากฝอยที่เจริญอยู่ตามผิวดิน ซอกผาหิน หรือต้นไม้ใหญ่ ซึ่งรากของเฟิร์นนั้นสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดี และยึดเกาะกับพื้นดินได้อย่างมั่นคงเลยทีเดียว