เกี่ยวกับเรา

Thai p4c เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างผู้สนใจงานด้านปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for children / p4c) ได้แก่ สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ จริยา นวลนิรันดร์ วีรยุทธ เกิดในมงคล ณฐิกา ครองยุทธ พุฒวิทย์ บุนนาค เทพทวี โชควศิน และขวัญตา ทรัพย์สินบูรณะ ความสนใจปรัชญาสำหรับเด็กของบุคคลกลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นที่มาดังนี้

สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ: ครั้งหนึ่ง Jostein Gaarder ผู้เขียน Sophie's World ได้มาเยี่ยมภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ทราบว่าในต่างประเทศมีการสอนปรัชญาในโรงเรียนมานานแล้ว ประกอบกับมักพบว่าการสอนปรัชญาในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการสอนให้นิสิตนอกสาขาวิชามีความยากลำบากในการทำให้นิสิตเข้าใจการคิดแบบปรัชญา หลังจากนั้นก็ใช้เวลาว่างเข้าไปค้นหาเกี่ยวกับการสอนปรัชญาในโรงเรียน จนพบกับ p4c พบความต่างระหว่าง p4c กับการสอนปรัชญาในแบบ โลกของโซฟี และค่อยๆ พบประโยชน์ของ p4c มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงการสอนและฝึก critical thinking ให้เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย

จริยา นวลนิรันดร์: เริ่มใช้ p4cในวิชาปรัชญาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากที่เคยเห็นนักศึกษาหลบสายตา รอเวลาเลิกเรียน ก็เปลี่ยนเป็นเห็นความมีชีวิตชีวา กิจกรรมแรกคือให้ช่วยกันวาดภาพ "ชีวิตที่ดี" ได้เห็นพวกเขานั่งวาดและปั้นดินน้ำมันกันที่พื้นห้อง มีขอฟังเพลง ขอเวลาเพิ่มด้วย ภาพก็มีความหมายดี เลยได้ภาพเป็นตัวอย่างโยงเข้าสู่ประเด็นปรัชญา ง่ายและเร็วอย่างคาดไม่ถึง บรรยากาศแบบนี้เองที่ทำให้ p4c น่าสนใจ

วีรยุทธ เกิดในมงคล: ตอนที่มาสอบเข้าเรียนปริญญาโทสาขาปรัชญา ต้องสอบวิชาการใช้เหตุผล ซึ่งทางภาควิชาปรัชญา แนะนำให้อ่านหนังสือเรื่องการใช้เหตุผลเพื่อเตรียมตัวในการสอบ พบว่าหนังสือมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการคิดใช้เหตุผลเป็นอย่างมาก และเมื่อเรียนจบมาสอนวิชาปรัชญาก็ยิ่งเห็นว่าวิชาปรัชญาจำเป็นสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนไทยในด้านการพัฒนาทักษะการคิดด้านการวิเคราะห์วิจารณ์ให้กับเยาวชนซึ่งต้องมีทักษะในการใช้เหตุผลเป็นพื้นฐาน เมื่อ ผศ.ดร.สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจได้นำเสนอความคิดเรื่องปรัชญาสำหรับเด็กให้ฟังก็พบว่าเป็นแนวคิดที่มีวิธีการและเนื้อหาที่สอดคล้องกับธรรมชาติความสงสัยของเด็กในการใช้การสนทนาเชิงปรัชญาเพื่อพัฒนาทักษะการคิดการใช้เหตุผลให้กับเยาวชนไทยที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาเด็กในฐานะที่เป็นเรื่องเฉพาะปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กเกิดความใส่ใจในความร่วมมือและอาทรกันในการค้นหาความหมายเพื่อสร้างคำตอบให้แก่สังคม

ณฐิกา ครองยุทธ: รู้จัก p4c จากท่าน ผศ. ดร. สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ ได้แนะนำให้อ่านนิยายปรัชญาสำหรับเด็กเรื่อง Mark ของ Matthew Lipman พอได้อ่านก็ได้มองเห็นความเชื่อมโยงของความคิดปรัชญากับชีวิตได้อย่างชัดเจนและเห็นว่าปรัชญานั้นอยู่ในชีวิตของเรา Mark ยังทำให้เราเข้าใจปรัชญาบางประเด็นดีขึ้นและช่วยเสริม critical thinking กับชีวิตอย่างน่าสนใจ จึงเป็นที่มาของการศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็ก

พุฒวิทย์ บุนนาค: โดยพื้นฐานแล้วสงสัยมาเสมอว่า 'เด็ก' กับ 'ผู้ใหญ่' ต่างกันจริง ๆ หรือไม่? ถ้าต่าง ต่างกันตรงไหนแน่ ๆ? จนปัจจุบันก็ยังไม่แน่ใจ นำมาสู่ความเชื่อที่ว่า เรื่องอะไรที่เราคุยกับผู้ใหญ่ได้ก็ต้องคุยกับเด็กได้ด้วย และการเคารพความเห็น ความคิดอ่าน ของคนที่ถูกเรียกว่าเป็น 'เด็ก' อย่างน้อยเราก็ต้องมีให้เท่าๆ กับที่เราพร้อมจะฟัง 'ผู้ใหญ่' ด้วย

เทพทวี โชควศิน: ปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for Children- p4c) มีการศึกษาวิจัยในประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน และเป็นประเด็นที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจ นั่นก็คือประเด็นเกี่ยวกับการตัดสินทางศีลธรรม (Moral Judgment) ซึ่งมักจะเกี่ยวโยงกับศาสตร์การสอนให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อการนำเสนอและวิเคราะห์ประเด็นทางศีลธรรมดังที่เรียกว่าการศึกษาเพื่อบ่มเพาะในทางศีลธรรม (Moral Education) เหตุผลที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจประเด็นนี้ก็เป็นเพราะเห็นได้อยู่ว่าในทางการศึกษามักจะมีคำถามเช่นที่ว่า การเป็นคนดีมีศีลธรรมนั้นสอนกันได้หรือไม่ โดยคำตอบที่มักจะนำเสนอออกมาก็เป็นไปในแบบที่ต่างกันสองแนวใหญ่ ๆ คือแนวหนึ่งมองว่าสามารถสอนกันได้เพราะเด็กเป็นผ้าขาวที่ต้องคอยแต่งแต้มสีสันแห่งความรู้ในความดีงามลงไป ซึ่งถ้าไม่ได้สอนเขาก่อน เขาก็ไม่รู้ กับอีกแนวหนึ่งที่มองว่าการสอนกันเช่นนั้นก็ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้เต็มที่เพราะธรรมชาติทางจิตใจของมนุษย์ไม่ได้เหมือนกัน และแม้การคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีงามนั้นก็คิดแตกต่างกันไป ข้าพเจ้าพบว่าแนวทางที่ต่างกันสองแนวนั้นดูจะประนีประนอมเข้าหากันได้ด้วยความพยายามของนักปรัชญาสำหรับเด็กหลายคน ดังจะยกตัวอย่างจากโครงการปรัชญาสำหรับเด็กของแมทธิว ลิปแมน (Matthew Lipman) ที่ทดลองสร้างห้องเรียนให้เด็กๆ ได้สนทนากันในเรื่องของประเด็นทางศีลธรรม ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการแลกเปลี่ยนแนวเหตุผลที่เด็กแต่ละคนจะเสนอแตกต่างกันแต่ก็เรียนรู้ที่จะฟังกันและอภิปรายโดยมุ่งแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน แนวทางเช่นนี้ในปรัชญาสำหรับเด็กจึงมีความน่าสนใจที่จะได้ศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งที่ว่าถ้าถูกต้องแล้วจะนำมาประยุกต์ใช้อย่างไรกับเด็กและเยาวชนในสังคมไทยด้วย

ขวัญตา ทรัพย์สินบูรณะ: สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้จากประสบการณ์การสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์มาเป็นเวลาหลายปีคือ นักเรียนมีความสามารถในการตั้งคำถามและการคิดเชิงวิพากษ์ หลายครั้งที่คำถามของพวกเขาเป็นคำถามในเชิงปรัชญา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการตั้งคำถามดังกล่าวจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ผู้เขียนคงไม่อาจด่วนสรุปว่าเมื่อโตขึ้นเด็กๆ เลิกตั้งคำถามเหล่านี้แล้ว แต่น่าจะพอพูดได้ว่าพวกเขาไม่ได้แสดงออกถึงความสงสัยใคร่รู้เท่าเดิม อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขารู้แล้ว หรือสิ่งแวดล้อมอาจจะหล่อหลอมให้ศักยภาพที่มีอยู่นั้นไม่ได้ถูกปลดปล่อยออกมา ต่อมาผู้เขียนได้รู้จักกับแนวคิด p4c จาก ผศ.ดร.สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ และมีโอกาสได้ติดตามฟังรายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของ อ.ดร.ณฐิกา ครองยุทธ ซึ่งทำเกี่ยวกับประเด็นทางญาณวิทยาในแนวคิดเรื่องชุมชนแห่งการสืบสอบของลิปแมน ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดดังกล่าวน่าสนใจและน่านำมาปฏิบัติในห้องเรียนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ลังเลเลยที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม ผู้เขียนเชื่อว่าแนวคิด p4c จะนำไปสู่เป้าหมายทางการศึกษาที่เราทุกคนคาดหวังได้ เช่น การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง การจัดการเรียนรู้เพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดของผู้เรียนแต่ละคน เป็นต้น