บทละครเรื่องรามเกียรติ์

ตอนนารายณ์ปราบนนทก

ในชั้นเรียนปรัชญาสำหรับเด็ก

สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ

(5 กันยายน 2562)

บทอ่านทางปรัชญา (philosophical text) ที่ใช้สอนในวิชาเอกสาขาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยมีจุดหมายในการฝึกฝนผู้เรียนให้มีลักษณะแบบนักปรัชญาร่วมกับระบบวิชาการด้านปรัชญาในปัจจุบันที่มีการประชุมวิชาการเพื่อเสนอผลงานและระบบการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ผู้เรียนโดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาจึงต้องอ่านงานเขียนของนักปรัชญาในอดีตและต้องติดตามความคิดของนักปรัชญาร่วมสมัยเพื่อตนเองจะสามารถเสนอวิทยานิพนธ์ที่เข้ากับระบบการประชุมวิชาการและระบบวารสารวิชาการสาขาปรัชญา หากเราอ่านบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารทางปรัชญาก็จะพบว่ามีความแตกต่างจากงานด้านปรัชญาที่เสนอในอดีต เช่น ผลงานของเพลโต้ที่เขียนเป็นบทสนทนาและไม่มีรายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม ขณะที่บทอ่านสำหรับชั้นเรียนปรัชญาสำหรับเด็ก (philosophy for children, p4c) เป็นบทอ่านทางปรัชญาที่เป็นเรื่องเล่า ( philosophical story-as-text) Sharp (2017: 18-19) ได้ให้เหตุผลที่บทอ่านทางปรัชญาสำหรับเด็กมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าไว้ 2 ประการ ได้แก่ เหตุผลประการแรก บทอ่านทางปรัชญาสำหรับเด็กเป็นเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของเด็กทั่วๆ ไปในวัยต่างๆ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาสืบเสาะแสวงหามโนทัศน์เชิงปรัชญา (philosophical concept) และวิธีการทางปรัชญา (philosophical procedure) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของพวกเขาเอง เหตุผลประการที่สอง เด็กๆ ไม่ได้เดินเข้ามาในห้องเรียนพร้อมกับความสามารถล้นเหลือในการทำปรัชญา (doing philosophy) พวกเขาต้องการแสวงหาวิธีหาความรู้ที่เกี่ยวกับตนเองทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์

นับตั้งแต่ Matthew Lipman (1922-2010) ได้นำ p4c เข้าสู่วงการศึกษาของสหรัฐอมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970 จนกระทั่งปัจจุบัน แนวทางนี้ได้ขยายไปยังประเทศต่างๆ จำนวนมาก มีการผลิตบทอ่านทางปรัชญาที่เป็นเรื่องเล่าโดยเฉพาะทั้งแบบเป็นเรื่องยาวและเรื่องสั้น แต่กระนั้นก็มีการคัดนิทานหรือเรื่องเล่าที่มีอยู่แล้วมาใช้ในขั้นเรียน p4c ด้วย เช่น William Tale ซึ่งได้รับการแนะนำโดย Philip Cam (1995: 29-33) Cam ได้เสนอวิธีพิจารณาเลือกนิทานหรือเรื่องเล่าที่มีอยู่แล้วมาใช้ในชั้นเรียน p4c ได้แก่ ประการแรก นิทานหรือเรื่องเล่านั้นต้องมีประเด็นทางปรัชญา อาจมีประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นก็ได้ ประการต่อมา นิทานหรือเรื่องเล่านั้นต้องมีมุมมองต่อชีวิตที่เปิดกว้าง ซึ่งช่วยสนับสนุนหรือกระตุ้นให้เด็กสงสัย ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน และสืบค้น ประการที่สาม นิทานหรือเรื่องเล่านั้นควรมีบทสนทนา (dialogue) มากหน่อย โดยบทสนทนาเหล่านี้มีลักษณะที่ทำให้เด็กเห็นเหตุผล ความแตกต่างทางความคิด การแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้ร่วมกันสืบเสาะช่วยกันคิด (1995: 23-29)

ในที่นี้ผู้เขียนอยากจะเสนอว่า บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตอนนารายณ์ปราบนนทก (2553: 47-54) ซึ่งเป็นบทอ่านสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ก่อนแล้ว น่าจะเป็นบทอ่านสำหรับชั้นเรียน p4c ได้ เนื่องจากบทละครตอนนี้มีประเด็นทางปรัชญาหลายประเด็น มีลักษณะเปิดกว้างให้สงสัย ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน มีบทสนทนา มีการใช้เหตุผล แม้ว่าจะมิได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันเท่าไรนัก แต่ก็สามารถเห็นความคิดของตัวละคร น่าจะเข้าเกณฑ์ของ Cam ข้างต้นได้

เรื่องย่อ

นนทกได้รับหน้าที่จากพระอิศวรให้ล้างเท้าเหล่าเทวาที่จะมาเฝ้าพระอิศวรที่บันไดไกรลาส ตลอดมานนทกจะถูกเหล่าเทวาตบหัวบ้าง จับหัวสั่นบ้าง ถอนผมบ้างจนผมไม่ค่อยจะเหลือ นนทกโกรธมาก ต่อมาได้ขอพรพระอิศวรให้มีนิ้วเพชรที่ชี้ถูกใครผู้นั้นจะตาย โดยให้เหตุผลว่าได้รับใช้พระอิศวรด้วยการล้างเท้าให้เหล่าเทวามาเป็นเวลานานโกฏิปีแล้วมีความชอบ เมื่อพระอิศวรได้ประทานนิ้วเพชรแก่นนทกแล้ว นนทกได้ใช้นิ้วเพชรสังหารเทวาหลายองค์ ฝ่ายพระอินทร์เห็นดังนั้นก็คาดว่านนทกคงจะได้พรจากพระอิศวรจึงไปเฝ้าพระอิศวรและแจ้งให้พระอิศวรทราบ พระอิศวรได้สั่งให้พระนารายณ์ไปสังหารนนทก พระนารายณ์แปลงเป็นเทพอัปสร นางเทพอัปสรแปลงให้นนทกร่ายรำตามตน นนทกร่ายรำตามจนถึงท่านาคาม้วนหางวง นิ้วของนนทกได้ชี้ไปที่ต้นขาตนเองทำให้ขาหักล้มลง นางเทพอักษรกลายร่างกลับเป็นพระนารายณ์เหยียบนนทกไว้เตรียมจะสังหารนนทก นนทกถามว่าตัวเขามีความผิดอะไร พระนารายณ์กล่าวว่านนทกมีโทษใหญ่ไม่เกรงพระอิศวร ฆ่าเทวา มีโทษถึงตาย แม้ว่าพระนารายณ์จะรู้สึกเมตตาก็ไม่อาจไว้ชีวิตนนทกได้ ข้างนนทกก็ตอบว่าพระนารายณ์มีถึงสี่กรเขาเองมีเพียงสองมือสู้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ยังแปลงร่างเป็นหญิง ไม่สู้กันซึ่งหน้า ไม่อับอายบ้าง หรือว่ากลัวนิ้วเพชร พระนารายณ์บอกว่าไม่ได้กลัวนิ้วเพชร แล้วให้นนทกไปเกิดใหม่มีสิบเศียรสิบหน้า เหาะเหินได้ มียี่สิบมือซ้ายขวา ส่วนพระนารายณ์จะตามไปเกิดเป็นมนุษย์มีเพียงสองมือแล้วจะสังหารนนทกที่ไปเกิดใหม่ให้สิ้นวงศ์ เมื่อนนทกถูกพระนารายณ์สังหารแล้วได้ไปเกิดเป็นบุตรท้าวลัสเตียนจ้าวเมืองลงกาและรัชดาเทวีมีนามว่าทศกัณฐ์

ประเด็นทางปรัชญาและคำถามสำหรับสืบเสาะ

เนื่องจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์นี้มีประเด็นทางปรัชญาหลายประเด็น แต่ละประเด็นก็อาจนำไปสู่ประเด็นต่างๆ อีกหลายประเด็น เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นผู้เขียนจะใช้วิธีตั้งเป็นประเด็นหลักๆ (leading idea) แล้วค่อยเสนอว่าภายใต้ประเด็นหลักนั้นๆ น่าจะมีคำถามอะไรได้บ้าง ซึ่งคำถามเหล่านี้ก็อาจมีคำถามอื่นๆ ตามมาได้อีก ในการเลือกว่าอะไรเป็นประเด็นหลัก อะไรเป็นคำถามที่จะเสนอต่อไปนี้เป็นเพียงเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจเท่านั้น เราอาจจัดใหม่ด้วยการจัดคำถามบางคำถามขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ส่วนประเด็นหลักอาจกลายเป็นคำถามก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการจัดการในชั้นเรียนว่าจะมุ่งการสืบเสาะไปที่ประเด็นใด

ประเด็นหลักที่ 1 สัพยอกหยอกเล่น-ข่มเหง ดูหมิ่น (teasing-bullying)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเหล่าเทวาให้นนทกล้างเท้าก่อนขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร เทวาบางองค์ได้กระทำต่อนนทก ได้แก่ การตบหัวแล้วลูบหน้า ถอนเส้นผม (หน้า 47) จับหัวสั่น (หน้า 49) เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำเป็นเวลายาวนานกระทั่ง “จนผมโกร๋นโล้นเกลี้ยงถึงเพียงหู” (หน้า 47) เหตุการณ์เหล่านี้สำหรับเหล่าเทวาที่กระทำต่อนนทกเป็น “สัพยอกหยอกเล่นเหมือนทุกวัน สรวลสันต์เยาะเย้ยเฮฮา” (หน้า 49) แต่สำหรับนนทกแล้วเป็น

................................ ดูเงาในน้ำแล้วร้องไห้

ฮึดฮัดขัดแค้นแน่นใจ ตาแดงดั่งแสงไฟฟ้า

เป็นชายดูดู๋มาหมิ่นชาย มิตายจะได้มาเห็นหน้า (หน้า 47)

บัดนั้น นนทกน้ำใจแกล้วกล้า

กริ้วโกรธร้องประกาศตวาดมา อนิจจาข่มเหงเล่นทุกวัน

จนหัวไม่มีผมติด สุดคิดที่เราจะอดกลั้น

วันนี้จะได้เห็นกัน ขบฟันแล้วชี้นิ้วไป (หน้า 49)

สำหรับฝ่ายผู้กระทำ (เทวาบางองค์) คิดว่า การกระทำของตนเป็นเพียง “การสัพยอกหยอกเล่น” (teasing) ขณะที่ฝ่ายที่ถูกกระทำ (นนทก) คิดว่าการกระทำเหล่านี้เป็น “ชายดูหมิ่นชาย การข่มเหง” (bullying)

ตัวอย่างคำถาม

- อะไรทำให้ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในกรณีนี้มองการกระทำเดียวกันแล้วเห็นต่างกัน

- ความเห็นต่างระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในกรณีนี้ มีฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูกหรือไม่

- นนทกสมควร “โกรธ” หรือไม่

- ความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดีเสมอไปหรือไม่

- การที่นนทกเห็นว่าเขาเป็นชายที่ถูกชายดูหมิ่น ทำให้มโนทัศน์ (concept) ของ “การดูหมิ่น” ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ในสังคมทุกวันนี้ของเรามีการกระทำที่ถือว่าเป็นการดูหมิ่นที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพหรือไม่

- นอกเหนือจากเพศสภาพแล้ว “การดูหมิ่น” น่าจะเกี่ยวข้องกับมโนทัศน์อื่นอะไรอีกหรือไม่

- มีการสัพยอกหยอกเล่นอะไรบ้างที่น่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำเห็นว่าเป็นการข่มเหง ดูหมิ่น

- มีการกระทำอะไรหรือไม่ที่เมื่อเราถูกกระทำแล้วสมควรที่เราจะตอบกลับด้วยการฆ่าผู้กระทำ

ประเด็นหลักที่ 2 แหล่งความรู้ที่ได้จากคำบอกเล่าของผู้อื่น (testimony)

มีข้อสังเกตว่า ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนนารายณ์ปราบนนทกนี้ พระอิศวรน่าจะไม่รู้ความเป็นไปภายนอกที่ประทับของพระองค์เองด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนนทกถูกเหล่าเทวากระทำเป็นประจำ เรื่องนนทกใช้นิ้วเพชรฆ่าเทวาที่กระทำต่อเขา ดังที่พระอิศวรรู้เรื่องนนทกใช้นิ้วเพชรฆ่าเหล่าเทวาจากพระอินทร์ ลักษณะการได้ความรู้เช่นนี้ในปรัชญาสาขาญาณวิทยา (epistemology) เรียกว่า ความรู้ที่ได้จากคำบอกเล่าของผู้อื่น (testimony) ตัวอย่างเช่น ความรู้ที่ได้จากการฟังพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติ ครู ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อน ฯลฯ ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ บทความ ศิลาจารึก บันทึก รายงาน เว็บไซต์ เว็บเพจ วิกิพีเดีย ฯลฯ เราอาจมีความรู้ว่าดีเอ็นเอเป็นอย่างไรจากการอ่านตำราชีววิทยา ขณะที่เราก็หาความรู้เอาเองได้โดยตรงจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า (sensory perception) หรือจากการใช้เหตุผล (reasoning) ของตนเอง เช่น เราออกไปเฝ้าดูช้างในป่าเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของช้างป่า ได้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของช้างป่าด้วยการสังเกตของเราเอง ในญาณวิทยามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานะของข้อความที่ได้จากคำบอกเล่าของผู้อื่นหลายประการ แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้ในปัจจุบันมีอยู่มากมายและการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ให้ครอบคลุมต้องอาศัยคำบอกเล่าของผู้อื่นจำนวนมาก อีกทั้งบางเรื่องที่เราไม่รู้ก็อาจต้องอาศัยผู้รู้ ในอีกทางหนึ่งการอ้างคำบอกเล่าของผู้อื่นในบางลักษณะอาจกลายเป็น fallacy แบบหนึ่งที่เรียกว่า improper appeal to authority

ตัวอย่างคำถาม

- อะไรน่าจะเป็นเหตุผลให้พระอิศวรเชื่อถือคำพูดของพระอินทร์โดยไม่ต้องเรียกนนทกมาไต่ถาม

- สมมติว่าพระอิศวรมีข้อจำกัดที่ไม่อาจออกไปภายนอกเพื่อดูความเป็นไปต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ในชีวิตของเราปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องการออกไปสังเกตหาความรู้ด้วยตนเองหรือไม่ ถ้ามี เราแก้ไขได้หรือไม่

- อะไรเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้อื่นที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

- อะไรเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้อื่นที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุด

- อะไรเป็นคำบอกเล่าของผู้อื่นที่บอกไม่ได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

- ถ้ามีคำบอกเล่าที่ขัดแย้งกัน เราควรทำอย่างไร

ประเด็นหลักที่ 3 Abduction หรือ การอนุมานสู่คำอธิบายที่ดีที่สุด (Inference to the Best Explanation)

เมื่อนั้น หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา

เห็นนนนทนั้นทำฤทธา ชี้หมู่เทวาวายปราณ

ตกใจตะลึงรำพึงคิด ใครประสิทธ์ให้มันมาสังหาร

คิดแล้วขึ้นเฝ้าพระทรงญาณ ยังพิมานทิพรัตน์รูจี ฯ

ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงส์ ทูลองค์พระอิศวรเรืองศรี

ว่านนทกมันทำฤทธี ชี้หมู่เทวานั้นบรรลัย

อันซึ่งนิ้วเพชรของมัน พระทรงธรรม์ประสิทธิ์หรือไฉน

จึ่งทำอาจองทะนงใจ ไม่เกรงใต้เบื้องบาทา ฯ (หน้า 49)

เราอาจตีความบทกลอนนี้ได้ว่า พระอินทร์เห็นนนทกฆ่าเหล่าเทวาด้วยการชี้นิ้ว จึงสรุปว่าคำอธิบายข้อเท็จจริง (fact) นี้ได้ดีที่สุดคือ พระอิศวรน่าจะเป็นผู้ประทานนิ้วเช่นนี้แก่นนทก การใช้เหตุผลลักษณะนี้มีชื่อว่า Abduction หรือ การอนุมานสู่คำอธิบายที่ดีที่สุด (Inference to the Best Explanation) ซึ่งมีใช้อยู่มากในชีวิตประจำวันและสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์

ตัวอย่างคำถาม/กิจกรรม

- การที่พระอินทร์สรุปว่าพระอิศวรน่าจะเป็นผู้ประทานนิ้วเพชรแก่นนทกจากข้ออ้าง (premise) ที่เป็นข้อเท็จจริงว่านนทกฆ่าเหล่าเทวดาด้วยการชี้นิ้ว เราจะเห็นว่าข้ออ้างกับข้อสรุปดูเหมือนไม่เกี่ยวโยงกันอย่างชัดเจน เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระอินทร์มีข้ออ้างอื่นอีกที่พระอินทร์เชื่อแต่ไม่ได้บรรยายไว้ในบทกลอนข้างต้น โดยข้ออ้างที่ละไว้นี้ทำเห็นความเชื่อมโยงระหว่างข้ออ้างทั้งหมดกับข้อสรุปของพระอินทร์ได้ชัดเจนขึ้น

- ให้หาตัวอย่างการอ้างเหตุผลในลักษณะเช่นนี้ โดยมีข้ออ้างที่เป็นข้อเท็จจริง แต่คำอธิบายที่เป็นข้อสรุปเป็นไปไม่ได้

- ให้หาตัวอย่างการอ้างเหตุผลในลักษณะเช่นนี้ โดยมีข้ออ้างที่เป็นข้อเท็จจริง แต่คำอธิบายที่เป็นข้อสรุปเป็นไปได้

- ให้หาตัวอย่างการอ้างเหตุผลในลักษณะเช่นนี้ โดยมีข้ออ้างที่เป็นข้อเท็จจริง แต่คำอธิบายที่เป็นข้อสรุปที่เป็นไปได้มีมากกว่า 1 ข้อและพิจารณาดูว่าข้อสรุปที่เป็นไปได้เหล่านี้ข้อสรุปใดมีความเป็นไปได้มากที่สุด

- ให้หาตัวอย่างการอ้างเหตุผลในลักษณะเช่นนี้ โดยมีข้ออ้างที่เป็นข้อเท็จจริง แต่คำอธิบายที่เป็นข้อสรุปที่เป็นไปได้มีมากกว่า 1 ข้อ โดยข้อสรุปเหล่านี้มีความเป็นไปได้มากพอๆ กัน

ประเด็นหลักที่ 4 การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)

“การคิดเชิงวิพากษ์” (critical thinking) นอกจากจะเป็นคำสำคัญ (key word) คำหนึ่งในปรัชญาสำหรับเด็ก (p4c) แล้วคำคำนี้ก็ยังมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นลักษณะที่พึงประสงค์ที่ทุกคนพึงมีอีกด้วย แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าคนมักเข้าใจแตกต่างกัน ในการเรียนรู้ภายใต้ชุมชนแห่งการสืบเสาะ (community of inquiry) จึงน่าจะให้ผู้เรียนได้แสวงหาไปด้วยกันว่า การคิดเชิงวิพากษ์ น่าจะคืออะไร มีหลายความหมายหรือไม่ แต่ละความหมายนำไปสู่อะไรได้บ้าง

ตัวอย่างคำถาม

- พระอิศวร นนทก พระนารายณ์ พระอินทร์ เทวาที่กระทำต่อนนทก ใครมีการคิดเชิงวิพากษ์มากกว่ากัน ให้เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย และบอกด้วยว่าเหตุใดจึงเรียงลำดับเช่นนั้น

คำอธิบายเพิ่มเติม เหตุผลในการเรียงลำดับจะบอกเกณฑ์ของการมีความคิดเชิงวิพากษ์ซึ่งก็คือความหมายของการคิดเชิงวิพากษ์ ในชั้นเรียนหนึ่งอาจปรากฏเกณฑ์หลายชุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ

(ก) เกณฑ์ที่ดูจะต่างกันอาจเป็นเพราะใช้ภาษาต่างกันเลยทำให้ดูเหมือนเป็นคนละเกณฑ์แต่ที่จริงเป็นเกณฑ์เดียวกัน

(ข) เป็นเกณฑ์ที่แตกต่างกันจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นแบบ (ก) หรือ (ข) ก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปว่าหลายคำถาม เช่น เกณฑ์ดังกล่าวเป็นเกณฑ์หรือความหมายของ “ความคิดเชิงวิพากษ์” ที่น่ายอมรับหรือไม่ มีข้อสมมติล่วงหน้า (assumption) ที่ยอมรับอยู่ก่อนเกณฑ์ดังกล่าวอะไรบ้างหรือไม่ การยอมรับเกณฑ์หนึ่งๆ จะนำไปสู่อะไรบ้าง ถ้าเรายอมรับเกณฑ์หนึ่ง ภายใต้เกณฑ์นี้มีตัวอย่างที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์แต่เราคิดว่าเป็นตัวอย่างของการมีความคิดเชิงวิพากษ์หรือไม่ เป็นต้น

ประเด็นหลักที่ 5 การรับรู้ทางประสาทสัมผัส (sensory perception)

ในตอนท้ายของบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนนี้ พระนารายณ์ได้ให้นนทกไปเกิดใหม่ “ให้มีสิบเศียรสิบพักตร์เกรียงไกร” (หน้า 53) นนทกก็ได้ไปเกิดใหม่เป็นทศกัณฐ์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือทศกัณฐ์มีสิบหัวสิบหน้า นั่นน่าจะทำให้ทศกัณฑ์มียี่สิบตาด้วย ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัส (sensory perception) ซึ่งเกิดจากลักษณะทางกายภาพ (physical) ของทศกัณฐ์ว่าเป็นอย่างไร (การอภิปรายเกี่ยวกับการรับรู้ต่างกันที่เกิดจากสังคมอยู่ในประเด็นหลักที่ 1 ข้างต้น)

ตัวอย่างคำถาม

- ทศกัณฐ์เห็นสิ่งต่างๆ อย่างไร

- ทศกัณฐ์มียี่สิบหูด้วยหรือไม่ ถ้าทศกัณฐ์มียี่สิบหู ทศกัณฐ์ได้ยินอย่างไร

- มีสิ่งมีชีวิตอื่นในโลกที่มีการรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่างจากมนุษย์หรือไม่

- เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีมนุษย์ต่างดาวที่มีการรับรู้ต่างจากมนุษย์อย่างเรา ถ้ามี เขาจะมีหน้าตาอย่างไรและรับรู้สิ่งต่างๆ ต่างจากเราอย่างไร

- การรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่แตกต่างกัน ทำให้ได้สิ่งที่ได้จากการสังเกตต่างกันหรือไม่ เราบอกได้หรือไม่ว่าสิ่งที่ได้จากการสังเกตแบบใดสอดคล้องกับความเป็นจริง (reality) มากกว่ากัน

ประเด็นหลักที่ 6 สังคมแบบชุมชนเขาไกรลาส

หากเราจะมองเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนนี้ว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนหนึ่ง สมมติชื่อว่า “ชุมชนเขาไกรลาส” ก็น่าจะมีคำถามทางด้านปรัชญาสังคมให้อภิปรายกันได้หลายคำถามด้วยกัน

ตัวอย่างคำถาม

- ชุมชนเขาไกรลาสเป็นชุมชนที่น่าอยู่หรือไม่ ถ้าชุมชนเขาไกรลาสเป็นชุมชนที่น่าอยู่ มีอะไรบ้างที่ทำให้น่าอยู่ ถ้าชุมชนเขาไกรลาสเป็นชุมชนที่ไม่น่าอยู่ มีอะไรบ้างที่ทำให้ไม่น่าอยู่

- การที่พระอิศวรตัดสินประหารชีวิตนนทกเป็นสิ่งชอบธรรมหรือยุติธรรมในสังคมเขาไกรลาสหรือไม่ เราเห็นด้วยหรือไม่

- ในชุมชนเขาไกรลาส “พลเมือง” คืออะไร

- สังคมที่น่าอยู่สำหรับเราเป็นสังคมที่มีหรือไม่มีอะไรบ้าง

รายการอ้างอิง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. 2553. รามเกียรติ์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ.

Cam, Philip. 1995. Thinking Together: Philosophical Inquiry for the Classroom. Sydney: Hale and Iremonger.

Sharp, Ann Margaret. 2017. “Philosophical Novel”, in Saeed Naji and Rosnani Hashim (eds.), History, Theory and Practice of Philosophy for Children. New York: Routledge, pp.18-29.