ความเป็นมา นิยาม จุดมุ่งหมาย และวิธีการ

ปรัชญาสำหรับเด็ก : ความเป็นมา นิยาม จุดมุ่งหมาย และวิธีการ

วีรยุทธ เกิดในมงคล เรียบเรียง[*]

ความเป็นมาของแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็ก

ปรัชญาสำหรับเด็กเริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่อ แมทธิว ลิปแมน(Matthew Lipman) ศาตราจารย์ทางปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา รู้สึกสับสนกับปัญหาพื้นฐานทางการศึกษาบางอย่างซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรับรู้ความเสื่อมถอยของความสามารถในการให้เหตุผลและการแก้ปัญหาของเด็กอเมริกันในช่วงเวลานั้น

แมทธิว ลิปแมน ได้กล่าวในบทนำของรายงานเรื่องปรัชญาสำหรับเด็กว่า ในปี ค.ศ. 1968 เขาเกิดความรู้สึกว่า เราน่าจะสอนเด็กเรื่องการใช้เหตุผลได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ลิปแมนตระหนักว่า เขาไม่ต้องการที่จะสอนตรรกวิทยาให้แก่เด็กในแบบที่สอนให้กับนักศึกษาในระดับวิทยาลัยเพราะแน่นอนว่าเด็กจะต้องปฏิเสธสิ่งที่เรียนยากเกินไป ลิปแมนเล่าว่าบางคนเสนอให้เขานำเสนอตรรกวิทยาในรูปแบบของนิทานสำหรับเด็ก ลิปแมนสนใจในความเป็นไปได้ที่จะทำเช่นนั้นเนื่องด้วยเพราะเด็กส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับนิทานหรือเรื่องเล่าเหล่านั้นซึ่งเป็นเรื่องราวในลักษณะที่เกี่ยวกับการค้นพบกระบวนการคิดโดยกลุ่มของพวกเด็กๆ ที่ค้นพบว่าสามารถแยกแยะกระบวนการคิดที่ได้ผลมากกว่าออกจากกระบวนการคิดที่ได้ผลน้อยกว่า ลิปแมนจึงได้ขอทุนจาก National Endowment for Humanities สำหรับการโครงการนำร่อง ซึ่งลิปแมนเสนอที่จะเขียนหนังสือสำหรับเด็กและนำไปสอนจริงในการทดลองภาคสนาม เขาแต่งหนังสือเรื่อง Harry Stottlemeier’s Discovery ใช้ดำเนินโครงการในช่วงปี 1970-1971 ที่ Rand School เมืองมอนแคลร์ รัฐนิวเจอร์ซี ต่อจากนั้นลิปแมนได้รับทุนทำโครงการต่อระหว่างปี 1971-1973 เพื่อขยายโครงการภายใต้การสนับสนุนของภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขาได้พัฒนาคู่มือสำหรับครู เพื่อการจัดเตรียมสมุดบันทึกการทำงานของเด็ก และเพื่อให้ครูคนอื่นๆสามารถนำไปใช้ได้ในระดับชั้น Grade 5-8 ทั้งยังได้แต่งเรื่องเล่าประกอบการสอนสำหรับนักเรียนชั้น high-school ในรูปแบบของวรรณกรรมด้วย ต่อมาลิปแมนได้ย้ายมาที่ Montclair State college ในปี 1772 และได้ทำงานร่วมกับ ดร. แอน มาร์กาเร็ท ชาร์ป ก่อตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาปรัชญาสำหรับเด็ก (Institute for the Advancement of Philosophy for Children หรือI.A.P.C.) ในปี 1974 ที่ Montclair State College เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาปรัชญาสำหรับเด็ก มีบทบาทและภาระกิจในการศึกษาวิจัย พัฒนา เผยแพร่แนวทางการพัฒนาทักษะการคิดและหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็ก ตลอดจนฝึกอบรมและผลิตบุคลากรสำหรับการสอนหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็กในรูปแบบการอบรมระยะสั้นจนถึงในระดับปริญญาเอก

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน I.A.P.C. มีเครือข่ายสมาชิกปรัชญาสำหรับเด็กอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งศูนย์เครือข่ายต่างๆ มีการพัฒนาผลิตสร้างหลักสูตรและเนื้อหาที่หลากหลาย แต่ยังคงยึดถือรูปแบบ เป้าหมาย และมีวิธีการสอนเหมือนกัน (สิริเพ็ญ 2005:13)

นิยามและจุดมุ่งหมายของปรัชญาสำหรับเด็ก

ลิปแมน นิยามปรัชญาสำหรับเด็กในฐานะที่เป็นปรัชญาที่ได้ประยุกต์เพื่อการศึกษา โดยมีจุดประสงค์ในสร้างนักเรียนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการให้เหตุผล (reasoning) และการตัดสิน (judgement) ให้ดียิ่งขึ้น ในแง่นี้ปรัชญาสำหรับเด็กจึงเป็นปรัชญาประยุกต์รูปแบบหนึ่งแต่ไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นการทำความเข้าใจกับแนวคิดของนักปรัชญา ปรัชญาสำหรับเด็กจึงไม่ได้หมายถึงการให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญา (learn about philosophy) ไม่ใช่การสอนประวัติศาสตร์ความคิดของนักปรัชญา แต่เป็นการให้เด็กทำปรัชญา (do philosophy) โดยมุ่งเน้นการสอนที่เป็นไปในลักษณะที่เป็นการสอนเพื่อการคิด (teaching for thinking) เป็นสำคัญ (Lipman,1991 อ้างถึงใน Fisher,1998:38 )

ปรัชญาสำหรับเด็ก(Philosophy for Children) มีจุดประสงค์หลัก คือ เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะคิดได้ด้วยตนเอง โดยผ่านสื่อที่มีลักษณะเชิงเรื่องเล่า ซึ่งช่วยเร้าให้เกิดการสนทนา เกิดกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ ด้วยการสืบสอบ การใช้เหตุผล การสร้างมโนทัศน์ และการสื่อสารความหมายสู่คนอื่นโดยวิธีการที่ลิปแมนเรียกว่า ชุมชนแห่งการสืบสอบ (community of inquiry) สำหรับลิปแมน ปรัชญาสำหรับเด็กมีเป้าหมายที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กปรับปรุงการคิดใน 3 ด้าน คือ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) และการคิดเชิงอาทร (caring thinking) ลักษณะการคิดทั้งสามด้านที่แตกต่างกันนี้เชื่อมโยงได้กับอุดมคติของปรัชญากรีกในด้านความจริง(Truth) ความงาม(Beauty) และความดี(Goodness)

ลิปแมนและคณะผู้วิจัยที่สถาบัน I.A.P.C. ( Fisher,1998: 41-42 ) จัดแบ่งทักษะการคิดที่ได้รับการพัฒนาด้วยปรัชญาสำหรับเด็กเป็นประเภทต่างๆ ดังที่ฟิชเชอร์สรุปไว้ดังนี้

ทักษะการสร้างมโนทัศน์ (Concept formation skills) จะเกิดขึ้นจากคำถาม เช่น เรารู้อะไร? เราคิดอะไร? ตัวอย่างของคำนี้คืออะไร? ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเข้าใจในเชิงมโนทัศน์โดยผ่านการนิยาม การแบ่งประเภท และการขยายการเชื่อมโยงและโครงร่างในเชิงมโนทัศน์ เด็กสามารถแยกแยะ อธิบายและยกตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นขอบเขตของมโนทัศน์ที่กำลังศึกษาหรือทำความเข้าใจอยู่

ทักษะการสืบสอบ (Inquiry skills) จะเกิดขึ้นจากคำถาม เช่น เราต้องการค้นหาอะไร? เราจะค้นหาอย่างไร? คุณรู้เรื่องนั้นๆ ได้อย่างไร? สิ่งที่คุณพูดเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อย่างไร? คำถามในลักษณะนี้เกี่ยวพันกับการค้นหาเพื่อที่จะตั้งคำถามและสำรวจประเด็นต่างๆในชุมชนแห่งการสืบสอบ เกี่ยวพันกับการเรียนรู้วิธีที่จะสังเกต อธิบาย และตั้งคำถาม ถามคำถามที่เกี่ยวข้อง แสดงความสามารถในการค้นหาตัวอย่างที่เกี่ยวข้องในแง่นี้จะทำให้เด็กเห็นลักษณะข้อบกพร่องของการตั้งคำถามบางคำถามที่อาจตั้งอยู่บนสมมติฐานที่คลุมเครือ มีความขัดแย้งกันเอง หรืออาจจะไม่มีความหมาย ทำให้นักเรียนสามารถหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวได้

ทักษะการใช้เหตุผล (Reasoning skills) จะถูกนำมาด้วยคำถาม เช่น เรารู้ได้อย่างไร? มันเป็นจริงหรือ? ทำไมคุณจึงพูดอธิบายเช่นนั้น? อะไรคือเหตุผล? เหตุผลที่ให้นั้นสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อสรุปนั้นๆ หรือไม่? คำถามในลักษณะนี้เกี่ยวพันกับทักษะทางตรรกวิทยาและการอ้างเหตุผล ทักษะการให้เหตุผลในเชิงนิรนัยและอุปนัย นำไปสู่ความสามารถในการสร้างและเข้าใจความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ทำให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างสอดคล้อง มีลักษณะเป็นการคิดเชิงวิพากษ์(critical thinking)

ทักษะการแปลความ (Translation skills) จะถูกนำมาด้วยคำถาม เช่น เราสามารถตีความและสื่อสารอย่างไร? มันหมายความว่าอะไร? คำถามในลักษณะนี้กี่ยวพันกับลักษณะความเข้าใจ ทำให้สิ่งที่พูดมีความชัดเจน เกิดการตีความ และการสื่อสารความหมายของแนวความคิดของแต่ละคนให้คนอื่นๆ เข้าใจด้วย คือ สามารถถ่ายทอดความคิดของผู้อื่นได้

นอกจากทักษะที่สำคัญทั้ง 4 ด้านนี้แล้ว ลิปแมนได้กำหนดทักษะการคิดจำนวน 30 ทักษะ อาทิ เช่น การสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุผล การสร้างข้อสรุปที่เหมาะสม การระบุสมมติฐานพื้นฐาน การค้นพบทางเลือกต่างๆ การสร้างความเชื่อมโยง การยกตัวอย่าง ฯลฯ ทั้งนี้ทักษะเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาผ่านหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็ก(ปัทมศิริ ธีรานุรักษ์ 2544: 60) ซึ่งลิปแมนและคณะได้พัฒนาเป็นหลักสูตรย่อยๆ สำหรับเด็กแต่ละระดับอายุ ในหลักสูตรย่อยแต่ละระดับจะประกอบด้วย หนังสือนิทานหรือนิยายที่มีตัวเอกในเรื่องเป็นเด็กวัยเดียวกับผู้เรียน สำหรับให้ครูและนักเรียนอ่านด้วยกันและสนทนากัน การพัฒนาทักษะการคิดตามแนวทางหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็กจะเกิดขึ้นโดยการอ่าน เขียน พูดและฟังร่วมกันในกิจกรรมชุมชนแห่งการสืบสอบ ทั้งนี้ในแต่ละระดับชั้นได้มีการแบ่งแยกทักษะที่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งจะมีความซับซ้อนแตกต่างกัน ในระดับเริ่มต้นเด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะที่เป็นพื้นฐานก่อน เนื้อหาในแต่ละระดับชั้นจะเป็นพื้นฐานให้กับระดับสูงขึ้นไป และเมื่อขึ้นชั้นสูงขึ้นไปจะได้รับการพัฒนาทักษะที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

วิธีการของปรัชญาสำหรับเด็ก

ความเข้าใจเบื้องต้นในการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางของลิปแมน คือการที่จะต้องเข้าใจว่า ปรัชญาสำหรับเด็กคือการพัฒนากระบวนการคิดโดยผ่านการใช้เหตุผลในรูปแบบของการสนทนา การดึงให้คนเข้าร่วมในการสนทนาจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในกระตุ้นให้เกิดการคิด ซึ่งเริ่มต้นจากความสงสัย และพยายามค้นหาคำตอบโดยผ่านการสนทนาอย่างมีเหตุผล

การสนทนา (Dialogue) เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาการคิดของเด็ก การพูดคุยในบรรยากาศของความมีเหตุผลเป็นวิธีที่ดีในการกระตุ้นให้เด็กแต่ละคนคิดด้วยตนเอง และวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้เด็กสนทนา คือการใช้เรื่องเล่าหรือนิทาน (Stories) ด้วยเหตุผลที่ว่าเด็กชอบฟังนิทาน นิทานเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้เด็กคิด นิทานจะช่วยดึงคำถามและความสนใจตลอดจนความคิดเห็นที่น่าประหลาดใจของเด็กๆ ออกมา

ลิปแมนแต่งเนื้อหาสำหรับการนำมาใช้กระตุ้นความคิดขึ้นในรูปแบบของนิยายเชิงปรัชญา เช่น การค้นพบของแฮรี สทอตเทิลไมเยอร์ (Harry Stottlemeier’s discovery,1974) ลิซ่า (Lisa,1976) ซูกิ(Suki,1978) มาร์ค(Mark,1980) ฯลฯ นิทานเหล่านี้ จะแสดงบทสนทนาของตัวละคร โดยตัวละครแต่ละตัวจะมีการสนทนากันอย่างหลากหลาย ทั้ง เพื่อน ครู พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติ ตัวละครสำคัญจะเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในช่วงชั้นเดียวกับผู้เรียน โดยแมททิว ลิปแมนและคณะได้พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็กและได้รับการตีพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการพัฒนาปรัชญาสำหรับเด็ก( Institute for the Advancement of Philosophy for Children)

เนื้อหาเรื่องราวและบทสนทนาที่เกิดขึ้นในนิยายแต่ละเรื่อง จะแฝงไว้ด้วยประเด็นปัญหาทางปรัชญา แสดงการใช้คำถาม อธิบายวิธีคิดตามหลักเหตุผล แบบอย่างของการใช้เหตุผลในการโต้แย้งตลอดจนทัศนคติและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การร่วมกันสืบค้นหาคำตอบตามประเด็นที่เด็กสงสัยอันเป็นเป้าหมายสำคัญของนิยายหรือนิทานปรัชญาสำหรับเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดประเด็นที่นำมาถกเถียงร่วมกันหาเหตุผลทำความเข้าใจร่วมกัน

ลิปแมนใช้เรื่องเล่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการพัฒนาความคิดซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถเห็นตัวอย่างของการคิดด้วยตนเอง โดยเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน นิยายหรือนิทานเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเนื้อหาสำหรับใช้ในการอภิปราย เนื้อเรื่องที่อ่านจะเป็นทั้งข้อมูลและตัวกระตุ้นให้เด็กได้เริ่มคิดต่อจากการนำเสนอคำถามหลักเชื่อมโยงกับประเด็นที่ตนสนใจ โดยมีคู่มือครูคู่กับนิทานหรือนิยายเพื่อให้แนวทางในการจัดกิจกรรมแล้วฝึกทักษะการคิดแก่เด็ก สิ่งสำคัญที่สุดในการสอนผ่านนิทาน คือนิทานจะต้องกระตุ้นให้เด็กได้ร่วมกันสนทนา ตั้งคำถาม อภิปราย และพูดคุยในประเด็นต่างๆ เพื่อช่วยให้เด็กเกิดความตระหนักและเข้าใจในตนเองรวมตลอดถึงโลกรอบตัว

ลิปแมนกล่าวว่า คุณค่าประการหนึ่งของนิยายหรือวรรณกรรมที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจุดประกายความสงสัยของปรัชญาสำหรับเด็กคือ วรรณกรรมเหล่านี้ให้แบบอย่างของการสนทนา ทั้งที่เป็นการสนทนาระหว่างเด็กกับเด็ก และระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ไม่เป็นเผด็จการ (non-authoritarian) และลักษณะที่ไม่เป็นการปลูกฝังความเชื่อ (anti-indoctrinational) แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับคุณค่าของการสืบสอบ(inquiry)และการใช้เหตุผล ช่วยกระตุ้นการพัฒนารูปแบบของความคิดและจินตนาการที่เป็นทางเลือกต่างๆ และช่วยให้เห็นลักษณะที่จะดำเนินไปในการในการอาศัยและมีส่วนร่วมในชุมชนเล็กๆ ที่ที่เด็กๆแต่ละคนมีความสนใจเฉพาะตนแต่ก็ให้ความเคารพต่อกันในฐานะที่เป็นคนและมีศักยภาพที่จะสืบสอบร่วมกันด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจที่จะทำเช่นนั้น

ลิปแมนใช้วิธีการเรียนการสอนที่เขาเรียกว่า ชุมชนแห่งการสืบสอบ(Community of Inquiry) ลิปแมนกล่าวว่า อาจจะเป็นชารลส์ แซนเดอร์ เพียร์ซ (Charle Sander Peirce) ที่เป็นคนที่นำคำนี้มาใช้ ในแง่ที่จำกัดความสำหรับผู้ปฏิบัติการในการสืบค้นทางวิทยาศาตร์หรือนักวิทยาศาตร์ กล่าวคือหมายถึงกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันสร้างชุมชนที่อุทิศให้กับการใช้กระบวนการที่เหมือนกันในการติดตามแสวงหาเป้าหมายที่เหมือนกัน ซึ่งลิปแมนกล่าวว่า ความหมายดังกล่าวถูกขยายกว้างออกไป โดยไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นการสืบค้นหรือสืบสอบทางวิทยาศาตร์หรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จึงสามารถพูดถึงการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการสืบสอบได้ในลักษณะที่ว่า นักเรียนจะฟังความคิดเห็นของกันและกันด้วยความเคารพต่อกัน สร้างความคิด (idea) ของตนจากความคิดของผู้อื่น ท้าทายความเห็นที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุนของผู้อื่นให้กลายเป็นความเห็นที่มีเหตุผลสนับสนุน ช่วยกันยืนยันความคิดด้วยการหาข้อสรุปจากสิ่งที่พูด แสวงหาข้อสมมติล่วงหน้า (assumption) ของกันและกัน (Lipman 2003:20 และ สิริเพ็ญ 2005:13)

โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนที่มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กลายเป็นชุมชนแห่งการสืบสอบ ซึ่งครูมีฐานะเป็นเพียงผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า ไม่มีอำนาจเหนือเด็ก ในขั้นเริ่มต้นครูอาจจะมีบทบาทอย่างมากในชุมชนแห่งการสืบสอบ แต่เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้บทบาทและเห็นคุณค่าของการตั้งคำถาม ชุมชนแห่งการสืบสอบได้พัฒนาขึ้น ครูจะค่อยๆลดบทบาทของตนลงบทบาทต่างของครูจะถูกแบ่งปันไปสู่ชุมชน ครูจะทำหน้าที่ส่งเสริมการอภิปรายโดยการพูดคุยกับเด็กเกี่ยวสิ่งที่เด็กต้องการสนทนา และกระตุ้นและท้าทายกระบวนการคิดโดยการตั้งคำถามเพื่อเร้าให้เด็กคิดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น และหลายแง่มุมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการใช้คำถามปลายเปิด (open-ended questions) ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบที่กำหนดไว้ คำตอบจะขึ้นอยู่กับความเข้าใจความหมายและขอบเขตของมโนทัศน์นั้นๆ เช่น เมื่อถามว่า เราสามารถเข้าถึงความจริงที่แท้ได้หรือไม่ การตอบคำถามในแง่นี้ ผู้เรียนจะต้องพิจารณาถึงความหมายของความจริงว่าคืออะไร มีลักษณะที่เป็นแก่นแท้เป็นอย่างไร การเข้าถึงความจริงนั้นคืออะไร จะเข้าถึงอย่างไร การตอบคำถามในลักษณะนี้ต้องอาศัยการเชื่อมโยงในหลายมโนทัศน์ซึ่งในแง่หนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นคำถามเชิงปรัชญาที่มีเป้าหมายที่กระตุ้นให้เด็กมองหาความเชื่อมโยง ทำความเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำถามและสร้างคำตอบของตนเอง

เมื่อเด็กได้สนทนา พูดคุย อภิปรายอย่างสม่ำเสมอจะนำไปสู่การที่เด็กได้เรียนรู้ว่า การแสดงความเห็นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะต้องมีเหตุผลประกอบความคิดเห็นด้วยเสมอ นอกจากนั้นเด็กจะเรียนรู้อีกว่าตนเองจะต้องมีความชัดเจนและเข้าใจในสิ่งที่ตนพูด สามารถยกตัวอย่างประกอบคำพูดของตนเองได้เป็นการตรวจสอบสิ่งที่อ้างด้วยการให้ตัวอย่างเพื่ออธิบาย พร้อมที่จะรับฟังข้อโต้แย้งหรือความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตนและที่สำคัญคือเคารพความคิดเห็นของเพื่อน โดยที่เขาสามารถเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนได้ฟังและหาข้อพิสูจน์ต่อความเห็นดังกล่าวในฐานะที่เป็นการสืบเสาะแสวงหาร่วมกัน

ลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของชุมชนเห่งการสืบสอบตามแนวคิดของหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็กคือ ชี้ให้เห็นแนวทางที่ว่าเด็กๆ จะสามารถเรียนรู้จากกันได้โดยอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความคิดเห็นของคนอื่นเช่นเดียวกับความคิดเห็นของตน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันโดยผ่านการแก้ไขตนเอง(self-correcting) เด็กจะแก้ไขตนเองด้วยการถามเหตุผล หลักเกณฑ์ ความหมาย ความชัดเจน แลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ กระบวนการสืบสอบดำเนินไปด้วยการตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบร่วมกันโดยการให้เหตุผลสนับสนุนคำตอบของตน เด็กจะพบว่าเหตุผลที่ตนให้กับคำตอบอาจจะยังไม่หนักแน่นพอ หรือมีความขัดแย้งในตนเอง คำตอบของเพื่อนที่มีเหตุผลมากกว่าจะนำไปสู่การแก้ไขขัดเกลาความสามารถในการแสวงหาคำตอบของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

บรรณานุกรม

ปัทมศิริ ธีรานุรักษ์. (2001). ผลของการใช้กระบวนการเรียนการสอนตามแนวการสอน

แบบชุมชนแห่งการสืบสอบเชิงปรัชญาที่มีต่อทักษะการคิดของเด็กชั้นประถมปีที่ 1 . วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา .

สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ.(2005). ปรัชญาสำหรับเยาวชนกับการสอนปรัชญาในฐานะวิชาศึกษาทั่วไป.

กรุงเทพฯ:โครงการส่งเสริมการวิจัยปรัชญาและศาสนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Fisher, R.(1998). Teaching Thinking: Philosophical Enquiry in the Classroom.London: Continuum.

Lipman, M. (1980). Philosophy for Children. New Jersey:Montclair State University.

______. (2003). Thinking in Education. 2nd edition. Cambridge: Cambridge University

Press.


[*] เรียบเรียงจากรายงานวิจัยเรื่อง การบูรณาการวิธีคิดแบบโยนิโสมนาสิการกับปรัชญาสำหรับเด็ก โดยวีรยุทธ เกิดในมงคล