p4c มองวัฒนธรรมในแง่ลบจริงหรือ?

p4c มองวัฒนธรรมในแง่ลบจริงหรือ?

จริยา นวลนิรันดร์

แนวคิดว่าด้วยการสอนปรัชญาสำหรับเด็ก (p4c) มีแหล่งกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงสามสิบปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 วัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ p4c ต้องการเปลี่ยนแปลง ท่าทีเช่นนี้อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับครูและผู้ปกครอง หากนำ p4c มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย บทความนี้ต้องการทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน

วัฒนธรรมอเมริกันกับการหลงลืมชุมชน

ดังที่ทราบกันดีว่าวัฒนธรรมอเมริกันเน้นความเป็นปัจเจกชน และการมีความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆ ของเขาจะได้รับการปลูกฝังให้ยึดถือคุณค่าดังกล่าวผ่านการจัดหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนเป็นนักสะสมประสบการณ์

วัฒนธรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่จอห์น เจ แมคเดอม็อท (John J. McDermott) นักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและการศึกษาเห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพราะความสัมพันธ์ต่างหากเป็นคุณค่าที่สำคัญ และครูจะต้องช่วยให้เด็กรู้ว่า “ทำอย่างไรจึงจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้” (McDermott 1993 : 706)

นอกจากนั้นเขายังเห็นว่า การศึกษาที่มุ่งตอบสนองวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ทำความผิดพลาดให้แก่เด็กในสี่ด้านคือ 1) ขัดขวางจินตนาการจากการสอนให้มองโลกเป็นกล่องกระดาษ 2) สอนให้แบ่งแยกตนเองจากผู้อื่น 3) สอนแต่เพียงการนิยามและบัญญัติศัพท์ข้าวของต่างๆ และ 4) สอนให้รับรู้ผ่านประสบการณ์ โดยละเลยความงอกงามของมิตรภาพ (McDemott 1993 : 707)

เห็นได้ว่าคุณค่าที่ p4c ต้องการเปลี่ยนแปลงคือความเป็นปัจเจกชน ในทางตรงกันข้าม วัฒนธรรมที่เน้นความเป็นกลุ่มก้อนของสังคมหรือที่เรียกกันว่า วัฒนธรรมรวมหมู่ก็น่าจะเป็นเนื้อดินที่ดีของ p4c เพราะการแยกตนเองออกจากสังคมในวัฒนธรรมเช่นนี้จะมีน้อยมาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือวัฒนธรรมเอเชีย

วัฒนธรรมไทยกับ p4c

p4c ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้อย่างได้ผลในหลายประเทศในทวีปเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิหร่าน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ถึงขนาดได้รับการบรรจุเป็นหลักสูตรการสอนในวิชาครูมาเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี ทั้งนี้เพราะ p4c ได้รับการประเมินแล้วว่า สามารถกระตุ้นให้นักเรียนคิดเชิงวิพากษ์ คิดเชิงสร้างสรรค์ และใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่น

สำหรับประเทศไทย p4c เป็นเพียงวิธีการสอนแบบหนึ่งที่ได้รับการแนะนำมาในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางเท่ากับประเทศที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนั้นครูและผู้ปกครองชาวไทยจึงไม่น่าจะกังวลว่า p4c จะมาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยได้ ในเมื่อวัฒนธรรมรวมหมู่เป็นลักษณะร่วมกันของวัฒนธรรมเอเชีย อย่างไรก็ดีเป้าหมายของ p4c นอกจากมุ่งให้เด็กมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นในสังคมแล้ว ยังมีเป้าหมายอีกสองประการ ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ และการคิดสร้างสรรค์ หากเปรียบวัฒนธรรมรวมหมู่เหมือนกับบ้านที่มีเสาอันมั่นคงและพื้นที่ปูไว้เรียบร้อยแล้ว การทำบันไดและหลังคาก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น

สรุป

p4c ไม่ได้มองวัฒนธรรมในแง่ลบเสียทั้งหมด เฉพาะวัฒนธรรมที่เน้นปัจเจกชนเท่านั้นที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรค ในเมื่อวัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม p4c จึงค่อนข้างจะมองวัฒนธรรมไทยในแง่บวก อีกทั้งข้อกังวลที่ว่า p4c จะมาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม p4c น่าจะเป็นตัวส่งเสริมวัฒนธรรมไทยด้วยซ้ำ ตราบใดที่ครูและผู้ปกครองต้องการก่อร่างสร้างเด็กของเราให้คิดเป็น การคิดของเขาก็จะเป็นไปเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

-----------------------

เอกสารอ้างอิง

McDermott, John J. (1993). “The importance of a Cultural Pedagogy”. In Matthew Lipman.

Thinking Children and Education. pp. 705-707. Dubuque : Kendall/Hunt Publishing

Company.