FAQ (คำถามที่พบบ่อย)

คำถามที่พบบ่อยใน ปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for Children / P4C)

‘ปรัชญา’ (Philosophy) ในการทำปรัชญาสำหรับเด็ก (P4C) หมายถึงอะไร?

‘ปรัชญา’ ในการทำปรัชญาสำหรับเด็ก ไม่ได้หมายถึง การศึกษาแนวคิดของนักปรัชญา หรือ สำนักทางปรัชญาโดยตรง แต่เป็นกระบวนการหาความรู้ที่ใช้ในปรัชญา ได้แก่ การตั้งคำถามทางปรัชญา (philosophical questioning) การสืบสอบหาคำตอบ (inquiry) และการตรวจสอบ (examination) รวมถึงการประเมิน (assessment) เหตุผลที่สนับสนุนหรือโต้แย้งคำตอบนั้น ๆ ทั้งนี้โดยการทำห้องเรียนธรรมดาให้เป็น ‘ชุมชนแห่งการสืบสอบ’ (community of inquiry)


การสืบสอบทางปรัชญา (Philosophical inquiry) หมายถึงอะไร?

ปรัชญาสำหรับเด็กมองว่า การสืบสอบทางปรัชญาเป็นการตอบปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจระดับพื้นฐานของประเด็นต่าง ๆ ด้วยการวิเคราะห์มโนทัศน์ (conceptual analysis) การพยายามให้เหตุผล รวมถึงประเมินการอ้างเหตุผลนั้นๆ ทำให้เด็กมีเหตุผล ทำให้เด็กมีความสามารถมองเห็นอคติ(Prejudice/Bias) การหลอกตัวเอง(Self-deception) และทบทวนความคิด(Reflective thinking) ตระหนักรู้ฐานคติของตนเอง(Aware of one’s assumption)ผ่านการถกเถียงทางปรัชญา(Philosophical Argumentation) ด้วยกระบวนการการใช้เหตุผลที่เป็นระบบ

การถกเถียงทางปรัชญา คือ อะไร?

การถกเถียงทางปรัชญา คือ การสนทนา(dialogue) ร่วมกันระหว่างความคิดที่แตกต่างหลากหลาย โดยมีกระบวนการประเมิน (assessment) และการตรวจสอบ (examination) ผ่านการใช้เหตุผล (reasoning) เพื่อช่วยให้สามารถได้ ข้อคิด(Idea) ข้อสรุป (conclusion) / คำตัดสิน (judgment) / คำตอบ (answer)

ในเมื่อปรัชญา (Philosophy) ไม่มีคำตอบตายตัว แล้วแบบนี้จะถกเถียงไปถึงไหน?

ปรัชญามีทิศทางในการถกเถียงเพื่อแสวงหาคำตอบ หรือ คำตัดสิน (judgment)ในระดับหนึ่งเสมอ แต่คำตอบที่จะได้อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย และคำตอบนั้นอาจถูกโต้แย้งได้ เมื่อมีหลักฐาน หรือ ข้อค้นพบใหม่ที่ท้าทายคำตอบเดิม นอกจากนั้นในวงการปรัชญาปัจจุบันมีหลายคำตอบที่ไม่ค่อยถูกโต้แย้งหรือท้าทายเหมือนในอดีต เช่น “ความเท่าเทียมและเสรีภาพเป็นคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์” “มนุษย์มีความสามารถในการเข้าใจเหตุผล” “การปกครองแบอำนาจนิยมไม่ใช่การปกครองที่เหมาะสม” “ไม่มีความแตกต่างกันทางปัญญาระหว่างเพศ” เป็นต้น ดังนั้น การถกเถียงปรัชญามีการสิ้นสุดและมีคำตอบ หรือ คำตัดสิน ในระดับใดระดับหนึ่ง

จริงหรือที่ว่าปรัชญาไม่มีการประเมินว่าความคิดไหน ถูก/ผิด ?

ปรัชญามีการประเมิน(assessment) ถูก / ผิด โดยพิจารณาจาก การถกเถียงด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และสมเหตุสมผล ทั้งนี้ผู้ร่วมวงสนทนาจะร่วมกันถกเถียงอย่างมีเหตุผล โดยประกอบด้วยการอ้างอิงข้อมูลเพื่อแสดงถึงที่มาที่ไปทางความคิด มีการลำดับทางความคิดด้วยการอนุมาน(inference) ตามความสอดคล้องกันของเหตุผลรวมทั้งผู้ที่อยู่ในวงสนทนาทุกคนจะประเมินความน่าเชื่อถือของความคิดในการสนทนาร่วมกัน

การใช้เหตุผล (reasoning) คือ อะไร?

การใช้เหตุผล คือ กระบวนการคิดที่มีระบบและนำเสนอความคิดให้ผู้อื่นยอมรับ(convincing) ทั้งที่เป็นการสนับสนุนของตนหรือโต้แย้งความคิดของผู้อื่นอย่างมีเหตุผลน่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ ข้อสรุป (conclusion) /คำตัดสิน (judgment) / การตัดสินใจ(decision) ระดับใดระดับหนึ่ง