3ค: คิดเชิงวิพากษ์ คิดเชิงอาทร คิดเชิงสร้างสรรค์

(3Cs: critical thinking, caring thinking, creative thinking)

3ค: คิดเชิงวิพากษ์ คิดเชิงอาทร คิดเชิงสร้างสรรค์ (3Cs: critical thinking, caring thinking, creative thinking)

แมทธิว ลิปแมน (Matthew Lipman, 1993) นักปรัชญาผู้เสนอแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for Children) ต้องการให้เด็กหรือเยาวชนได้เรียนปรัชญา เนื่องจากโดยปกติแล้วการเรียนปรัชญาจะเริ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จุดมุ่งหมายหลักประการหนึ่งเพื่อต้องการให้เด็กวัยต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัยได้ฝึกฝนการคิดวิพากษ์ (critical thinking) และการใช้เหตุผล(reasoning) ผ่านการเรียนปรัชญา เพราะลิปแมนเห็นว่าการเรียนปรัชญาก็ถือเป็นการได้คิดวิพากษ์โดยตัวมันเอง ลิปแมนได้พัฒนาเป็นหลักสูตรปรัชญาสำหรับใช้เรียนปรัชญาและฝึกการคิดวิพากษ์ในโรงเรียน โดยหลักสูตรดังกล่าวเริ่มใช้เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา สำหรับวิธีเรียนปรัชญาสำหรับเด็กนั้นจะเรียนด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะ(community of inquiry) ซึ่งเป็นการหาความรู้ร่วมกันด้วยการถกเถียงร่วมกันกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม โดยองค์ประกอบสำคัญสำหรับวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะคือ 3ค (3c) ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การคิดเชิงอาทร (caring thinking) และ การคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking)


  • การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ลิปแมน(Lipman 2003) อธิบายการคิดเชิงวิพากษ์ว่าเป็นการคิดที่วางอยู่บนการใช้เหตุผล(reasoning) ความสามารถในการใช้เหตุผลก็คือ มีความรู้ทั้งการใช้เหตุผลแบบนิรนัย(deduction) และอุปนัย(induction) มีความสามารถในการอ้างเหตุผล(argument) สำหรับวิพากษ์ โต้แย้งและสนับสนุนความคิดหรือจุดยืนของตนเอง โดยนักเรียนสามารถใช้เหตุผลที่สมเหตุผล(validity) แสดงการอ้างเหตุผลที่มีความชัดเจน(precision) ความสอดคล้องต้องกัน(consistency) ตรงประเด็น(relevance) น่ายอมรับ(acceptability) เพียงพอ(sufficient) และไม่ละเมิดการอ้างเหตุผลบกพร่อง(fallacies) ลิปแมน(Lipman 2007) อธิบายว่ากระบวนการคิดวิพากษ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีการอ้างอิงเกณฑ์(relying on criteria) มีการพิจารณาที่ไวต่อบริบท(being sensitive to context) และการแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเอง(self-correcting) และสุดท้ายจะต้องนำพาไปสู่การมีคำตัดสินที่ดี(good judgement)

· การอ้างอิงเกณฑ์ หมายถึงการหาคำตัดสินใด ๆ นั้นจะต้องมีการอ้างอิงเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง ซึ่งเกณฑ์นั้นอาจเป็นกฎ หลักการ หรือนิยาม ในการอ้างเหตุผลจะต้องอ้างอิงเกณฑ์เพื่อนำมาโต้แย้ง หรือ สนับสนุนข้อสรุปหรือคำตัดสิน ตัวอย่างเช่น ผู้พิพากษาจะตัดสินความผิดย่อมต้องอ้างอิงกฎหมาย หรือ สถาปนิกจะตัดสินสิ่งก่อสร้างก็ต้องอ้างอิงเกณฑ์ เช่น ความปลอดภัย ความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย เป็นต้น

· การพิจารณาที่ไวต่อบริบท คือ การจะพิจารณาตัดสินเรื่องใดก็ควรพิจารณจากบริบทเฉพาะในเรื่องนั้น ๆ เพราะว่าแต่ละบริบทย่อมมีรายละเอียดที่เฉพาะแตกต่างกันไป จึงไม่สามารถจะใช้หลักเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งมาตัดสินได้กับทุกบริบท นอกจากนี้ การพิจารณาที่ไวต่อบริบทจะช่วยป้องกันการใช้สามัญทัศน์(stereotype) ที่มีอคติแฝงอยู่ของเราในการตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะมาจากความคุ้นชินหรือเป็นความเชื่อ ความเข้าใจในสังคมที่เราอาศัยอยู่ซึ่งเราอาจยอมรับความเชื่อดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว การพิจารณาที่ไวต่อบริบทจะช่วยให้เราได้ตรวจสอบอคติ ความเชื่อที่คุ้นชินที่เรายึดถือ ซึ่งจะช่วยให้เราได้เข้าใจเรื่องราวปัญหาหรือประเด็นนั้นจากบริบทของเรื่องนั้น ๆ และจะช่วยให้เราไม่ด่วนตัดสินเรื่องต่าง ๆ จากอคติของเรา

· การแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเอง หมายถึงการที่เราสามารถรู้ถึงข้อบกพร่องหรือปัญหาของความเข้าใจหรือความเชื่อของเราเองจากข้อคิดเห็นของผู้อื่น จากนั้นเราก็สามารถแก้ไขความถูกต้องได้ด้วยตนเองจากการข้อคิดเห็นของผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน การแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเองคือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในการถกเถียงร่วมกับผู้อื่น เราจำเป็นจะต้องรับฟังความเห็นของอื่นและความคิดทบทวนความเข้าใจของเราเองจากข้อคิดเห็นดังกล่าว และแก้ไขในส่วนที่เป็นความบกพร่องของกันและกันร่วมกันเป็นกลุ่ม การถกเถียงร่วมกันเป็นกลุ่มจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเอง และการแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเองคือการเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองซึ่งถือเป็นหัวใจสำหรับของการเรียนรู้ร่วมกันด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะ ผู้เรียนควรได้ความรู้และความเข้าใจใหม่เพิ่มเติมที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขจากการได้ร่วมกันถกเถียงโต้แย้งและให้เหตุผลสนับสนุนต่อกันในประเด็นนั้น ๆ

การอ้างอิงเกณฑ์ การพิจารณาที่ไวต่อบริบทและการแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเอง คือสามองค์ประกอบสำหรับการคิดวิพากษ์ที่เราจะกระทำในการเรียนด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะโดยไม่ได้ไล่เรียงลำดับ แต่ในขณะที่เราถกเถียงอย่างคิดวิพากษ์ร่วมกันกับผู้อื่นนั้น เราจะต้องทำให้เกิดทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ไปด้วยกันอย่างพึ่งพาอาศัยกันและสนับสนุนต่อกัน และสุดท้ายเพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่การมีคำตัดสินที่ดี ดังนั้น ในการคิดวิพากษ์ด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะจะไม่ใช่การคิดและถกเถียงร่วมกันกับคนอื่นไปเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย แต่จะเป็นการคิดและถกเถียงเพื่อมุ่งไปสู่การมีคำตัดสินที่ดีเป็นจุดหมายของการเรียนหรือการถกเถียงร่วมกัน ซึ่งคำตัดสินที่ดีอาจจะใช้เวลายาวนานในการได้คำตัดสินแต่อย่างน้อยที่สุดผู้เข้าร่วมวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะจะมีโอกาสได้ความรู้เพิ่มเติมหรือความเข้าใจใหม่จากการเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ จากผู้อื่นและได้ฝึกฝนการคิดวิพากษ์ดังกล่าว ซึ่งทั้งการได้ความรู้เพิ่มเติมและการฝึกฝนการคิดวิพากษ์นี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการมุ่งสู่การมีคำตัดสินที่ดีต่อไป


  • การคิดเชิงอาทร (caring thinking) เป็นการคิดที่เราจะต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathic thinking) ซึ่งหมายถึงเราจะต้องพยายามเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้พูด โดยที่เราจะต้องมีความเคารพผู้อื่น(respect) และมีความใจกว้าง(open-mindedness) ที่จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น การคิดเชิงอาทรเป็นการคิดที่จะช่วยให้เรารับฟังผู้อื่นซึ่งจะทำให้เราได้ความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การคิดเชิงอาทรถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถพิจารณาที่ไวต่อบริบท เพราะเราจะรับฟังผู้อื่นด้วยการเปิดใจกว้างเพื่อพยายามเข้าใจความเห็นในบริบทนั้น ๆ จากผู้พูด โดยตัวเราเองนั้นจะไม่ด่วนใช้อคติของเราในการตัดสิน นอกจากนี้ การคิดเชิงอาทรยังช่วยให้เราเกิดการแก้ไขความถูกต้องด้วยตนเอง เพราะเรามีความใจกว้างรับฟังความเห็นผู้อื่นและนำมาพิจารณาปรับปรุงความรู้และความเข้าใจของตนเอง


  • การคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) หมายถึงการคิดค้นหาแนวทางใหม่ หรือ คิดหาความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการหาเกณฑ์ใหม่ หาแนวทางใหม่ หาวิธีใหม่สำหรับเข้าใจประเด็นนั้น ๆ หรือแก้ไขปัญหานั้น ๆ ซึ่งการพิจารณาไวต่อบริบทและการรับฟังความเห็นของผู้อื่นนั้น ก็สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจและคิดหาแนวทางการเข้าใจใหม่จากข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้อื่นเพื่อที่จะนำมารับมือกับปัญหาหรือประเด็นที่เรากำลังถกเถียง และคิดหาความเป็นไปได้อื่น ๆ นอกเหนือจากความเชื่อเดิมที่พวกเราต่างยึดถือกันอยู่ การแลกเปลี่ยนความเห็นและการถกเถียงเป็นส่วนสำคัญในการให้มุมมองที่หลากหลายสำหรับการคิดสร้างสรรค์ในการหาแนวทางใหม่ หรือ เกิดความเข้าใจใหม่สำหรับประเด็นปัญหาที่กำลังถกเถียงซึ่งจะช่วยนำไปสู่การสร้างมุมมองใหม่ ๆ

สำหรับวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะจะต้องเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยบทสนาโต้ตอบ(dialogue) โดยลิปแมน (Lipman 2003) ได้อธิบายบทสนทนาโต้ตอบไว้ดังนี้ว่า บทสนาโต้ตอบจะมีทิศทางในการสนทนาและมีเป้าหมายพูดคุยในเรื่องเดียวกัน ผู้ร่วมสนทนาจะต้องติดตามประเด็นถกเถียงตามที่การสืบเสาะนั้นพาไป เพื่อพัฒนาความเข้าใจในประเด็นที่กำลังถกเถียง โดยบทสนาโต้ตอบจะต่างกับการสนทนาทั่วไป(conversation) ซึ่งการสนทนาทั่วไปเป็นเพียงการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกันที่ไร้จุดมุ่งหมาย อาจไม่จำเป็นต้องมีทิศทางหรือเป้าหมายในการสืบเสาะหาความรู้หรือพัฒนาความรู้และความเข้าใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ขณะที่บทสนาโต้ตอบมีเป้าหมายของการสืบค้นและพัฒนาความรู้และความเข้าใจ หรือ แก้ปัญหา หัวใจสำคัญของวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะคือ การร่วมกันสร้างความรู้โดยพึ่งพาความคิด หรือ ความรู้ของผู้อื่นหรือพึ่งพาความรู้ของกันและกัน ฉะนั้น บทสนทนาโต้ตอบจึงเป็นสิ่งสำคัญในการหาความรู้ด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะ

ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบ 3ค ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะถูกนำมาใช้ในการเรียนปรัชญาสำหรับเด็กด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะตามแนวคิดของลิปแมน โดยผู้เรียนและผู้สอนจะต้องดำเนินการให้เกิดการคิดทั้งสามดังกล่าวเพื่ออย่างน้อยที่สุดจะสามารถพัฒนาการคิดวิพากษ์อย่างมีเหตุผลและสามารถช่วยให้เกิดการคำตัดสินที่ดี โดยผู้เรียนรู้(ร่วมถึงผู้สอน) ด้วยวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้และความเข้าใจในประเด็นที่ถกเถียงซึ่งเป็นประเด็นทางปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความจริงและคุณค่าต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งความคาดหวังประการหนึ่งของการเรียนปรัชญาสำหรับเด็กคือ ผู้เรียนสามารถที่จะนำประสบการณ์การเรียนรู้ปรัชญาสำหรับเด็กจากชุมชนแห่งการสืบเสาะมาพัฒนาชีวิตของตนเองได้


ณฐิกา ครองยุทธ

เอกสารอ้างอิง

Lipman, M. (1993). Philosophy for children. In M. Lipman (Ed.), Thinking children and

education. Iowa: Kendall/Hunt Publishing Company.

Lipman, M. (2003). Thinking in education. Cambridge: Cambridge University Press.

Lipman, M. (2007). Education for critical thinking. In R. R. Curren (Ed.), Philosophy of

education: an anthology. New York: Blackwell.

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ณฐิกา, ครองยุทธ (2560). ประเด็นทาทางญาณวิทยาในแนวคิดเรื่องชุมชนแห่งการสืบเสาะของแมทธิว ลิปแมน. (อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Lipman, M., Sharp, A. M. & Oscanyan, F. S. (1980). Philosophy in the classroom.

Philadelphia: Temple University.

Lipman, M. (1993). Thinking children and education. Iowa: Kendall/Hunt Publishing Company.

Sharp, A. M. (1993). The community of Inquiry: education for democracy. In M. Lipman (Ed.),

Thinking children and education. Iowa: Kendall/Hunt Publishing Company