หน่วยการเรียนรู้ที่ 1

ใบความรู้ที่ 1 ห้องสมุดและทรัพยากรสารสนเทศ

กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานห้องสมุด)

รายวิชา ง20293 งานห้องสมุด 1

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ห้องสมุดและทรัพยากรสารสนเทศ

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความหมายของห้องสมุด( Library)

ห้องสมุด (Library) หมายถึง แหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อการศึกษาค้นคว้าทุกชนิด ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร กฤตภาค ทัศนวัสดุ โสตวัสดุ และโสตทัศนวัสดุ

วัตถุประสงค์ของห้องสมุด

1. เพื่อการศึกษา (Education) มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้เพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง

2. เพื่อให้ความรู้และข่าวสาร (Information) โดยห้องสมุดเป็นแหล่งกลางที่สามารถติดตามข่าวสาร เพื่อให้ผู้ใช้ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

3. เพื่อการค้นคว้าและวิจัย (Research) ห้องสมุดเป็นแหล่งสะสมทรัพยากรสารสนเทศสาขาต่างๆ ไว้สำหรับให้บริการแก่ผู้ที่จะศึกษาค้นคว้า

4. เพื่อความจรรโลงใจ (Inspiration) เช่น การอ่านหนังสือวรรณคดีจะช่วยทำให้เกิดความคิด ที่ดีงาม เกิดความชื่นชม ซาบซึ้งประทับใจ ได้คติชีวิต

5. เพื่อความเพลิดเพลินและพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation) การอ่านหนังสือเป็นการพักผ่อนที่ดีอย่างหนึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลินและพึงพอใจ


ประเภทของห้องสมุด

จำแนกตามประเภทลักษณะการจัดตั้งและประเภทผู้ใช้ดังนี้

1. ห้องสมุดโรงเรียน (School Library)

เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นภายในสถานศึกษาระดับโรงเรียน เช่น ห้องสมุดโรงเรียนระดับอนุบาล ห้องสมุดโรงเรียนระดับประถม ห้องสมุดโรงเรียนระดับมัธยม เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรของโรงเรียน รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนการสอนตามหลักสูตรและนอกหลักสูตรเพื่อให้ครูและนักเรียนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้

๒. ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย (College and University Library)

เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ปัจจุบันส่วนมากใช้คำว่า สถาบันวิทยบริการ หรือ สำนักหอสมุด มีทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทให้บริการทางวิชาการ ส่งเสริมการเรียนการสอน การค้นคว้าและวิจัย ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมแก่ อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากรใสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น

๓. ห้องสมุดประชาชน (Public Library)

เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการหนังสือและทรัพยากรสารนิเทศอื่นๆ แก่ประชาชน ในท้องถิ่น ให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนรู้จัก การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเข้าไปใช้อย่างอิสระ ไม่จำกัดเพศ วัย อาชีพหรือระดับการศึกษา ขนาดของห้องสมุดจะขึ้นอยู่กับปริมาณของผู้มาใช้บริการในแต่ละชุมชนสถานที่ตั้งห้องสมุดขึ้นอยู่กับ ความสะดวกของชุมชนที่จะสามารถใช้เป็นห้องสมุดได้ เช่น วัด ศาลาประชาคม สถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นต้น


๔. ห้องสมุดเฉพาะ (Special Library)

เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นในหน่วยราชการ สถาบัน สมาคม บริษัท หรือ โรงงานรวบรวมหนังสือเอกสาร สิ่งพิมพ์หรือทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเฉพาะด้านหรือที่เกี่ยวข้องกับองค์การ โดยเน้นการให้บริการเพื่อความรู้และการวิจัยเด่นชัดกว่าห้องสมุดประเภทอื่น ให้บริการเฉพาะสมาชิกหรือบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานนั้นๆ เช่น ห้องสมุดธนาคาร ห้องสมุดของหน่วยงานรัฐบาล

๕. หอสมุดแห่งชาติ (National Library)

เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ เป็นที่เก็บสะสม รวบรวม เก็บรักษาสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศ ไม่ว่าจะผลิตในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะฉะนั้นหอสมุดแห่งชาติจึงเป็นที่เก็บรวบรวมและรักษามรดกทางความรู้ ความคิด วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศเอาไว้ เพื่อให้บริการศึกษาค้นคว้าภายใน ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ยืมหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ ออกจากห้องสมุด นอกจากนี้หอสมุดแห่งชาติยังทำหน้าที่จัดพิมพ์บรรณานุกรมแห่งชาติและดำเนินการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ข่าวสารระหว่างประเทศ

บริการของห้องสมุด

งานบริการ ได้แก่ งานที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการห้องสมุดอย่างมีระบบ เพื่อผู้ใช้เข้าถึงหรือได้รับข่าวสารตรงความต้องการมากที่สุดและรวดเร็วที่สุด จำแนกได้เป็น บริการพื้นฐานและบริการเฉพาะ ดังนี้

1. บริการพื้นฐาน เป็นบริการที่ห้องสมุดเกือบทุกประเภทจัดให้แก่ผู้ใช้ ได้แก่

1.1 บริการยืม-คืน (Circulation Service) คือ บริการให้ยืม-คืน ทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ ตามระเบียบการยืม-คืน ของแต่ละห้องสมุด

1.2 บริการเอกสารสนเทศ หรือบริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า (Reference Information) คือ บริการที่บรรณารักษ์ให้บริการตอบคำถามทั่วไปและคำถามเฉพาะเจาะจงที่ต้องค้นหาคำตอบจากหนังสืออ้างอิงประเภทต่างๆ

1.3 บริการหนังสือจอง (Reserve Book Service) คือบริการที่ห้องสมุดจัดแยกหนังสือรายวิชาต่างๆ ที่อาจารย์กำหนดให้อ่านประกอบ บริการให้แก่ผู้เรียนในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง

1.4 บริการสอนหรือแนะนำการใช้ห้องสมุด คือ บริการที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด ได้แก่ การปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุด

2. บริการเฉพาะ เป็นบริการที่จัดให้ผู้ใช้เฉพาะกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของห้องสมุด

2.1 บริการยืมระหว่างห้องสมุด (Inter Library Loan) คือบริการที่ห้องสมุดจัดยืม

หนังสือและทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดไม่มีมาจากห้องสมุดอื่นให้ตามความต้องการของผู้ใช้และ เป็นความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประเภทต่างๆ

2.2 บริการข่าวสารทันสมัย (Current Awareness Service) คือ บริการที่ช่วยเสริม

ให้ผู้ใช้ได้ติดตามความก้าวหน้าใหม่ๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดเป็นแหล่งทรัพยากรสารสนเทศ มีหน้าที่สำคัญในการให้บริการแก่ผู้ใช้ ปัจจุบันเมื่อห้องสมุดต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและ นำระบบอัตโนมัติมาใช้ ส่งผลให้ห้องสมุดบางแห่งมีการปรับเปลี่ยนบริการบางอย่างหรือมีบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้ทรัพยากรสารสนเทศที่มีทั้งในห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของผู้ใช้


ทรัพยากรสารสนเทศ

ทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resources) หมายถึง สิ่งที่บันทึกความรู้ เรื่องราว ข้อมูล หรือข่าวสารอาจอยู่ในรูปของวัสดุตีพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ และวัสดุไม่ตีพิมพ์ เช่น ทัศนวัสดุ โสตวัสดุ โสตทัศนวัสดุ แหล่งทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resources) เป็นสถานที่รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า วิจัย ความเพลิดเพลิน จรรโลงใจ แหล่งทรัพยากรสารสนเทศแต่ละแหล่งอาจจะรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขาวิชา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแหล่งทรัพยากรสารสนเทศนั้นๆ


ประเภทของทรัพยากรสารสนเทศ

ทรัพยากรสารสนเทศแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. วัสดุตีพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร กฤตภาค

2. วัสดุไม่ตีพิมพ์ ได้แก่ ทัศนวัสดุ โสตวัสดุ โสตทัศนวัสดุ

1. วัสดุตีพิมพ์ วัสดุตีพิมพ์เป็นทรัพยากรสารสนเทศที่บันทึกความรู้ เรื่องราว ข่าวสารโดย การพิมพ์ซึ่งมี 5 ประเภท ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร และกฤตภาค

1.1 หนังสือ

ประเภทของหนังสือ

ถ้าพิจารณาเนื้อหาของหนังสือเป็นหลักแล้ว พอจะแบ่งหนังสือได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสือสารคดีและหนังสือบันเทิงคดี

1. หนังสือสารคดี (NON-Fiction) เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ ข้อเท็จจริง

2. หนังสือบันเทิงคดี (Fiction) เป็นหนังสือที่มุ่งให้ความบันเทิงกับผู้อ่าน ได้แก่

หนังสือนวนิยาย หนังสือรวมเรื่องสั้น หรือหนังสือนิทาน

ส่วนประกอบของหนังสือ

ส่วนประกอบของหนังสือโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนประกอบตอนต้น

ส่วนเนื้อเรื่องและส่วนประกอบตอนท้ายเล่ม

สำหรับหนังสือสารคดี มีส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการศึกษาค้นคว้าดังต่อไปนี้

ส่วนประกอบตอนต้น ประกอบด้วย ใบหุ้มปก ปกนอก สันหนังสือ ใบยึดปก ใบรองปก หน้าชื่อเรื่อง หน้าภาคพิเศษ หน้าปกในหน้าลิขสิทธิ์ หน้าคำอุทิศ หน้าคำนำ หน้าประกาศคุณูปการและหน้าสารบัญ

ส่วนประกอบตอนต้นที่สำคัญได้แก่

1. ใบหุ้มปก (Book Jacket) เป็นกระดาษหุ้มปกหนังสือ มักจะปรากฏชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่งคำวิจารณ์เนื้อหาโดยย่อ ประวัติของผู้เขียน

2. หน้าปกใน (Title page) เป็นส่วนสำคัญที่ให้รายการทางบรรณานุกรม ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่องครั้งที่พิมพ์ เมืองที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์

3. หน้าลิขสิทธิ์ (Copyright) มักจะปรากฏอยู่ด้านหลังของหน้าปกใน เป็นส่วนที่แสดงว่าหนังสือนั้น มีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เมื่อใด ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

4. หน้าคำนำ (Preface) เป็นส่วนที่ผู้แต่งแจ้งขอบเขตของหนังสือ เหตุผลในการเขียน ลักษณะพิเศษของหนังสือ วิธีใช้ ความเหมาะสมกับระดับผู้อ่าน รวมทั้งอาจกล่าวขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในการเขียน

5. หน้าสารบัญ (Table of Contents) เป็นส่วนหนึ่งที่เรียงหัวข้อใหญ่ๆ ของเนื้อเรื่องในหนังสือ อาจจะแบ่งเป็นภาค เป็นตอน เป็นบท พร้อมทั้งบอกให้ทราบเลขหน้าที่ปรากฏเนื้อหาของหัวข้อนั้น ๆ เริ่มต้นหน้าใด นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้ทราบเนื้อหาโดยสังเขป ซึ่งผู้อ่านสามารถเลือกอ่านเฉพาะบทใดบทหนึ่งที่ต้องการได้ สำหรับหนังสือที่มีภาพประกอบหรือตารางเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนมักจะทำสารบัญภาพประกอบหรือ สารบัญตาราง แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

1. บทนำ (Introduction) เป็นส่วนที่จะกล่าวนำเรื่อง หนังสือภาษาไทยบางเล่มอาจใช้คำว่า “อารัมภบท” หรือ “อารัมภกถา ”

2. ส่วนที่เป็นเรื่องราวของหนังสือ (Text) เริ่มตั้งแต่บทที่ 1 จนถึงบทสุดท้าย

3. เชิงอรรถ (Footnotes) คือข้อความที่แสดงแหล่งที่มาของข้อมูลหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการเขียน ข้อความซึ่งเป็นนิยามของคำหรือวลี หรือข้อความที่อธิบายรายละเอียดของเนื้อเรื่องบางตอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น โดนปกติเชิงอรรถมักจะปรากฏอยู่ในส่วนล่างของแต่ละหน้า เชิงอรรถมี 3 ประเภทได้แก่

3.1 เชิงอรรถแสดงแหล่งข้อมูล (Citation footnotes) เป็นข้อความที่แสดงแหล่งที่มาของข้อมูลที่ผู้เขียนคัดลอกมาเพื่อประกอบงานเขียนของตน เป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือของเนื้อหา ข้อความที่ปรากฏในเชิงอรรถประเภทนี้ประกอบด้วยรายการทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศ

3.2 เชิงอรรถเสริมความ (Content footnotes) เป็นข้อความที่อธิบายหรือเสริมข้อความ ตอนใดตอนหนึ่งเพื่อให้เนื้อเรื่องในหน้านั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

3.3 เชิงอรรถโยง (Cross-reference footnotes) เป็นข้อความที่ผู้เขียนแนะนำให้ผู้อ่าน ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ๆ มักจะมีคำว่า “ดูที่” หรือ “ดูเพิ่มเติมที่”

ส่วนประกอบตอนท้าย ประกอบด้วยบรรณานุกรม ภาคผนวก อภิธานศัพท์ และดรรชนี

1. บรรณานุกรม (Bibliography) คือรายชื่อของทรัพยากรสารสนเทศซึ่งผู้เขียนใช้ศึกษาค้นคว้าประกอบการเขียน ผู้อ่านสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

2. ภาคผนวก (Appendix) เป็นส่วนที่ผู้เขียนเพิ่มเติมหรือเสริมเพื่อให้เนื้อหาของหนังสือยิ่งขึ้น เช่น ภาคผนวกของหนังสือประวัติศาสตร์ ได้แก่ ลำดับวงศ์สกุล ภาคผนวกของหนังสือคณิตศาสตร์ ได้แก่ ตารางตรีโกณมิติ

3. อภิธานศัพท์ (Glossary) เป็นส่วนที่ผู้เขียนนำคำศัพท์เฉพาะที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องของเล่มนั้นมาเรียงตามลำดับพยัญชนะพร้อมทั้งให้ความหมายของคำ

4. ดรรชนี (Index) เป็นส่วนที่ผู้เขียนนำคำหรือวลีสำคัญซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องของหนังสือมาเรียงลำดับตามพยัญชนะ พร้อมระบุเลขหน้าที่คำนั้นปรากฏอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นคำหรือวลีที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

1.2 วารสาร

วารสาร เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องที่มีเจตนาจะออกต่อเนื่องกันตลอดไปภายใต้ชื่อเดิม มีการระบุตัวเลขประจำของวารสารแต่ละชื่อ วันเดือนปีที่ออก มีระยะเวลาในการออกที่แน่นอน อาจออกเป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน รายสองเดือน หรือรายหกเดือน เนื้อเรื่องของสิ่งพิมพ์ประเภทนี้มักจะเป็นความรู้ เรื่องราวที่ทันสมัย ถ้าพิจารณาตามเนื้อเรื่องสามารถแบ่งวารสารออกเป็น 3 ประเภท คือวารสารวิชาการ วารสารสรุปข่าวเชิงวิจารณ์ และวารสารทั่วไป

1. วารสารวิชาการ เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องที่เสนอบทความทางวิชาการ และความรู้ใหม่ ๆ ในแต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น นักบัญชี กฎหมาย ธุรกิจท่องเที่ยว คู่แข่ง ผู้นำธุรกิจ การเงินธนาคาร วารสารประเภทนี้ได้แก่ บ้านและสวน ชีวจิต แม่บ้าน ศิลปวัฒนธรรม อสท. สารคดี ไมโครคอมพิวเตอร์

2. วารสารสรุปข่าวเชิงวิจารณ์ เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องที่ผู้เขียนวิจารณ์ วิเคราะห์ หรือแสดงความคิดเห็นต่อข่าวหรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจวารสารประเภทนี้ได้แก่ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ มติชน สุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ดอกเบี้ยรายสัปดาห์ ฐานสัปดาห์วิจารณ์

3. วารสารทั่วไปหรือนิตยสาร เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องที่เสนอเรื่องราวทางด้านบันเทิงโดยแทรกเรื่องราวทางวิชาการ เกร็ดความรู้ เช่น ตำราอาหาร การเย็บปักถักร้อย การออกแบบเครื่อง แต่งกาย อาจมีนวนิยายเรื่องสั้นหรือเรื่องแปล วารสารประเภทนี้ได้แก่ ขวัญเรือน กุลสตรี สกุลไทย แพรว


1.3 หนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์ (Newspaper) เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องที่เสนอข่าว ความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ปัจจุบัน มีระยะเวลาในการออกเป็นรายวัน รายสามวัน หรือรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

1. หนังสือพิมพ์ยอดนิยม (Popular Newspapers) เป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวในลักษณะของข่าวอ่อน (Soft news) ได้แก่ ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา เป็นต้น

2. หนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพ (Quality Newspapers) เป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ
การศึกษา ธุรกิจ เป็นต้น

1.4 จุลสาร

จุลสาร (Pamphlets) เป็นสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กมีความหนาประมาณ 60 หน้า มีเนื้อเรื่องกะทัดรัด พิมพ์เผยแพร่โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องของจุลสาร เช่น จุลสารของการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จุลสารของกระทรวงสาธารณสุข

1.5 กฤตภาค

กฤตภาค (Clippings) เป็นบทความที่ตัดมาจากวารสารหรือหนังสือพิมพ์ บทความที่คัดเลือกมาทำกฤตภาคมักเป็นบทความทางวิชาการ ที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ


2. วัสดุไม่ตีพิมพ์

วัสดุไม่ตีพิมพ์ หมายถึง วัสดุสารสนเทศที่ให้ความรู้ ความเพลินเพลินโดยใช้เสียงและภาพเป็นหลัก เพื่อช่วยให้เข้าใจได้ง่ายและจำได้นานเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง โสตทัศนวัสดุแบ่งได้ตามการใช้

มี ๓ ประเภท

๒.๑ ทัศนวัสดุ คือ วัสดุที่ถ่ายทอดความรู้โดยการดู เช่น ลูกโลก หุ่นจำลอง ของตัวอย่าง

๒.๒ โสตวัสดุ คือ วัสดุที่ถ่ายทอดความรู้โดยการฟัง เช่น แผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง

๒.๓ โสตทัศนวัสดุ คือ วัสดุที่ถ่ายทอดความรู้โดยการฟัง เช่น วีดีทัศน์ ภาพยนตร์

บรรณานุกรม

ธาดาศักดิ์ วชิรปรีชาพงษ์. (2534). ห้องสมุดและการศึกษาค้นคว้า. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

พวา พันธุ์เมฆา. (2535). สารนิเทศกับการศึกษาค้นคว้า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ.

สุกานดา ตีโพธิ์กลาง และคนอื่น ๆ. (2542). ทรัพยากรสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 4.

กกกกกกกกกรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

เอื้อมพร ทัศนประสิทธิผล. (2542). สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.