หน่วยการเรียนรู้ที่ 5

หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 บุคคลสำคัญและวิวัฒนาการของนาฏศิลป์และการละครไทย

ตัวชี้วัด

1. อภิปรายบทบาทของบุคคลสำคัญในวงการนาศิลป์และการละครของประเทศไทยในยุคสมัยต่าง ๆ (ศ 3. ม.4-6/2)

2. บรรยายวิวัฒนาการของนาฏศิลป์และการละครไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ศ 3.2 ม.4-6/3)

บุคคลสำคัญของวงการนาศิลป์และการละครของไทยในยุคสมัยต่าง ๆ

* สมัยอยุธยา

* สมัยธนบุรี

* สมัยรัตนโกสินทร์

บุคคลสำคัญในวงการนาศิลป์และการละครของไทยที่ควรรู้จัก

* นางลมุล ยมะคุปต์

* ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

* นางเฉลย สุขะวณิช

* นายกรี วรศะริน

* นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์

วิวัฒนาการของนาฏศิลป์และการละครไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สาระสำคัญ

การแสดงนาฏศิลป์และการละครไทยมีวิวัฒนาการจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ทำให้การนาฏศิลป์และการละครไทยพัฒนามากขึ้น และยังคงอยู่เป็นที่รู้จัก ซึ่งการแสดงนาฏศิลป์และการละครไทยจะมีการพัฒนาหรือสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ ได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคคลสำคัญของวงการนาฏศิลป์และละครไทยด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นทั้งผู้สร้าง ส่งเสริม และสืบทอดการแสดงนาฏศิลป์และละครไทยให้เป็นที่รู้จักมาจนปัจจุบัน

บุคคลสำคัญของวงการนาศิลป์และการละครของไทยในยุคสมัยต่าง ๆ

สมัยอยุธยา

บุคคลสำคัญของวงการนาศิลป์และการละครของไทยในสมัยอยุธยา ได้แก่ ตำรวจ มหาดเล็ก ซึ่งแสดงโขนกลางสนาม ปรากฎอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก โดยใช้ตำรวจแสดงเป็นฝ่ายอสูร 100 คน ทหารมหาดเล็กเป็นฝ่ายเทพยดา 100 คน เป็นพาลี สุครีพ มหาชมพูและบริวารวานรอีก 103 คน การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ ฝ่ายอสูรชักหัว เทพยดาชักหาง และวานรอยู่ปลายหาง รวมผู้เล่นประมาณ 300 กว่าคน แต่ไม่มีการกล่าวถึงชื่อผู้แสดง ทางด้านการรำไทยมีกล่าวถึงตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจากศิลาจารึกหลักที่ 8 แต่ไม่มีการอ้างถึงเป็นรายบุคคล

สมัยธนบุรี

ในสมัยนี้เป็นช่วงต่อเนื่องจากสงครามในสมัยอยุธยา ทำให้ศิลปินกระจายไปในที่ต่าง ๆ เมื่อระเจ้ากรุงธนบุรีได้ปราบดาภิเษกกรุงธนบุรี จึงมีการฟื้นฟูละครใหม่และรวบรวมศิลปินต่าง ๆ ให้มาอยู่รวมกัน พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นอีก 5 ตอน และมีคณะละครหลวง คณะละครเอกชนเกิดขึ้นหลายโรง เช่น ละครหลวงวิชิตณรงค์ ละครไทยหมื่นเสนาะภูบาล

สมัยรัตนโกสินทร์

บุคคลสำคัญในวงการนาฏศิลป์และการละครไทยสมัยรัตนโกสินทร์ มีดังนี้

บุคคลสำคัญในวงการนาศิลป์และการละครของไทยที่ควรรู้จัก

1. นางลมุล ยมะคุปต์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ที่จังหวัดน่าน เมื่ออายุได้ 5 ขวบ บิดาได้พามาถวายตัวที่วังสวนกุหลาบ ฝึกหัดนาฏศิลป์ด้วยความอดทนและตั้งใจจริง รวมทั้งมีพรสวรรค์เป็นพิเศษจึงได้รับการคัดเลือกให้ฝึกหัดเป็นตัวพระตั้งแต่แรกเริ่ม ขณะที่อยู่ในวังสวนกุหลาบท่านได้รับเกียรติให้เป็นตัวนายโรงของทุกเรื่อง ทั้งละครนอก ละครใน ละครพันทาง จากนั้นท่านได้สมรสกับนายสงัด ยมะคุปต์ ซึ่งมีความสามารถในเรื่องปีพาทย์และขับเสภา นางลมุล ได้ติดตามสามีไปเป็นครูนาฏศิลป์ในคุ้มพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ปรับปรุงท่ารำต่างๆ และนำหารแสดงของภาคเหนือ เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว มาเผยแพร่ที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2477 เริ่มรับราชการที่โรงเรียนนาฏดุริยาคศาสตร์ ดำรงตำแหน่งครู ครูพิเศษ และตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ท่านได้ถ่ายทอดท่ารำและประดิษฐ์คิดค้นท่ารำที่งดงามไว้มากมาย เช่น รำแม่บทใหญ่ รำวงมาตรฐาน รำเถิดเทิง ระบำกฤดภินิหาร ระบำโบราณคดีชุด ทวารวดี ศรีวิชัย เชียงแสน ลพบุรี ท่านเป็นผู้วางหลักสูตรนาฏศิลป์ภาคปฏิบัติให้กับวิทยาลัยนาฏศิลป และวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ ท่านจากไปอย่างสงบเมื่อ พ.ศ. 2526

2. ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี นามเดิมว่า แผ้ว สุทธิบูรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2446 ในขณะที่อายุได้ 8 ขวบได้ถวายตัวในสมเด็จพระบรมวงศ์เอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมกลวงนครราชสีมา โดยได้รับการฝึกหัดนาฏศิลป์ในราชสำนักจากเจ้าจอมมารดาวาด และเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมาดาทับทิมในรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมฟื้นฟูนาฏศิลป์ไทยในสมัยที่แสดง ณ โรงละครศิลปากร ท่านทำหน้าที่ในการฝึกสอน อำนวยการแสดงไม่ว่าจะเป็น โขน ละคร ฟ้อน รำ ระบำ เซิ้ง และท่านยังเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นท่ารำต่าง ๆ มากมาย ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2528

3. นางเฉลย ศุขะวณิช เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนและ การออกแบบนาฏศิลป์ไทยแห่งวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ท่านมีความสามารถสูงในกระบวนท่ารำทุกประเภท และได้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ผลงานด้านนาฏศิลป์ขึ้นใหม่มากมาย จนถือเป็นแบบอย่างในปัจจุบัน ท่านได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) เมือ พ.ศ. 2530

4. นายกรี วรศะริน เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2457 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ โขน ของวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ท่านมีความสามารถในการแสดงโขนทุกประเภท โดยเฉพาะโขนตัวลิง อีกทั้งยังสร้างสรรค์และประดิษฐ์ผลงานด้านโขน-ละครหลายชุด จนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการนาฏดุริยางคศิลป์ นายกรี วรศะริน ได้รับการยกย่องเชิดชุเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) เมื่อ พ.ศ. 2531

5. นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดนนทบุรี ท่านเป็นนาฏศิลป์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ทั้งแบบพื้นเมืองและแบบราชสำนัก บทบาทที่ท่านได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ ตัวพระ จากเรื่องอิเหนา สังข์ทอง พระไวย ไกรทอง แสดงเป็นนางเอกในเรื่อง ละเวงวัลลา รวมทั้งได้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ชุดการแสดงต่าง ๆ และนำไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลาย ๆ ประเทศ จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-ละครรำ) เมื่อ พ.ศ. 2533

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสรี

วิวัฒนาการของนาฏศิลป์และการละครไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมีความผูกพันกับคนไทยมาช้านาน การแสดงเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์หากิจกรรมทำในยามว่างจากการทำงาน หรือใช้เพื่อการละเล่นในงานต่าง ๆ ใช้เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการร่ายรำ ร้องเพลง และบรรเลงดนตรี ซึ่งวิวัฒนาการของนาฏศิลป์และการละครไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมีรูปแบบการแสดงที่พัฒนามากขึ้น คือ ในด้านนาฏศิลป์ กระบวนท่ารำยังคงรูปแบบมาตรฐานเดิม เครื่องแต่งกายยืนเครื่องเดิม แต่อาจมีการนำเทคโนโลยี เช่น แสง สี เสียง มาใช้ประกอบการแสดงเพื่อให้สวยงามขึ้น หรือมีการประดิษฐ์ท่ารำ ระบำต่าง ๆ ที่เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน

ในด้านการละครไทย มีรูปแบบพัฒนามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นละครพูด ไม่มีการขับร้อง เช่น ละครที่ ออกอากาศทางโทรทัศน์ มีความทันสมัยทั้งเรื่องราว เหตุการณ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชม ส่วนละครที่เป็นละครรำ ละครร้อง รูปแบบยังคงเดิมแต่อาจมีการสอดแทรกสิ่งที่ทันสมัยเข้าไปในการแสดง เพื่อให้การแสดงน่าสนใจมากขึ้น

แผนภาพแสดงวิวัฒนาการของนาฏศิลป์และการละครไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ที่มา : หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน นาฏศิลป์ ชั้น ม.4-6 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)