หน่วยการเรียนรู้ที่ 1

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 นาฏศิลป์และการละครของไทย

ตัวชี้วัด

1. วิเคราะห์แก่นของนาฏศิลป์และการละครที่ต้องการสื่อความหมายวนการแสดง (ศ 3.1 ม.4-6/5)

ประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์และการละครของไทย

* นาฏศิลป์

* ละคร

วิวัฒนาการประวัติของนาฏศิลป์และการละครของไทย

* สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้น

* สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย

* สมัยก่อนสุโขทัย

* สมัยสุโขทัย

* สมันอยุธยา

* สมัยธนบุรี

* สมัยรัตนโกสินทร์

ความงามและคุณค่าของนาฏศิลป์และการละครของไทย

* ความงามของนาฏศิลป์และการละครของไทย

* คุณค่าของนาฏศิลป์และการละครของไทย

สาระสำคัญ

การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมีกำเนิดมาช้านาน เป็นศิลปะที่มีความงดงามในทุกด้านและมีคุณค่าต่อสังคม ทำให้ผู้ชมมีความสุข สนุกสนานเมื่อได้รับชม เป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์สืบทอดต่อไป

ประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์และการละครของไทย

นาฏศิลป์ เป็นศิลปะแห่งการละครและฟ้อนรำ การดนตรีและการขับร้อง ประกอบไปด้วยศิลปะ 3 ประการคือ การฟ้อนรำ การดนรีและการขับร้อง รวมเข้าด้วยกัน

นาฏศิลป์ไทยเกิดขึ้นจากอารมณ์ ความรู้สึกและความเชื่อต่างๆ เช่น ความสุขหรือความทุกข์ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นท่าทางแบบธรรมชาติและประดิษฐ์ขึ้นเป็นท่าทางและลีลาการฟ้อนรำ หรือเกิดจากลัทธิความเชื่อในการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า โดยแสดงความเคารพบูชาด้วยการเต้นรำ ขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อความพึงพอใจ

นอกจากนี้นาฏศิลป์ไทยยังได้รับอิทธิพลจากแบบแผนหรือแนวคิดของชาวต่างชาติเข้ามาผสมด้วยเช่น วัฒนธรรมอินเดียเกี่ยวกับวรรณกรรมที่เป็นเรื่องของเทพเจ้าและตำนานการฟ้อนรำ โดยผ่านเข้าสู่ประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม คือผ่านชนชาติชวาและเขมร ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงให้เป็นเอกลักษณ์ของไทย ตัวอย่างเช่น เทวรูปศิวะปางนาฏราช ที่สร้างเป็นท่าการร่ายรำของพระอิศวร ซึ่งมีทั้งหมด 108 ท่า โดยทรงฟ้อนรำครั้งแรกในโลก ณ เมืองมัทราส อินเดียใต้ นับเป็นคัมภีร์สำหรับการฟ้อนรำ แต่งโดยพระภรตมุณี เรียกว่า คัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ ถือเป็นอิทธิพลสำคัญต่อแบบแผนการสืบสานและถ่ายทอดนาฏศิลป์ของไทย จนเกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มีรูปแบบ แบบแผนการเรียน การฝึกหัด จารีต ขนบธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทยได้สันนิษฐานว่า อารยธรรมทางศิลปะด้านนาฏศิลป์ของอินเดียนี้ ได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามประวัติการสร้างเทวลัยศิวะนาฏราชที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1800 ซึ่งเป็นระยะที่ไทยเริ่มก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย จากหนังสือลักษณะไทยศิลปะการแสดงได้กล่าวว่า มีผู้รู้หลายท่านพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าท่ารำต่างๆ มีอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียเข้ามาครอบงำ หรือคนไทยได้จดท่าทางต่างๆ ในการฟ้อนรำของอินเดียเอามาใช้ในการฟ้อนรำของตนเอง และได้มีการพัฒนาท่ารำและละครไทยมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน

ละคร เป็นศิลปะการแสดงที่มีขึ้นเพื่อความบันเทิงพัฒนามาจากการเล่านิทานที่มีลักษณะการแสดงเป็นเรื่องราวและสามารถนำมาเล่าให้ผู้ที่ไม่ได้ชมการแสดงสามารถเข้าใจ รับรู้เรื่องราวการแสดงได้ เพราะในการแสดงและการดำเนินเรื่องเป็นการร่ายรำเข้ากับบทร้อง ทำนองเพลง และเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ มีแบบแผนการเล่นทั้งของชาวบ้านและของหลวง

วิวัฒนาการประวัติของนาฏศิลป์และการละครของไทย

นาฏศิลป์และการละครของไทยมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นในแต่ละสมัย สามารถสรุปได้ดังนี้

จะเห็นได้ว่านาฏศิลป์และการละครของไทยมีการพัฒนารูปแบบจากการแสดงระบำ รำ ฟ้อน แล้ววิวัฒนาการมาเป็นละครที่มีการร่ายรำทางนาฏศิลป์ เป็นละครพูดและขับร้อง ซึ่งละครไทยในยุคปัจจุบันมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมในสังคม

ความงามและคุณค่าของนาฏศิลป์และการละครของไทย

นาฏศิลป์และการละครไทยนอกจากลีลาท่ารำที่สวยงามแล้ว ยังมีความงามและคุณค่าด้านต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการแสดงดังนี้

ความงามของนาฏศิลป์และการละครของไทย

1.1 ตัวละคร

ในวรรณกรรมมีตัวละคร 4 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 ในการแสดงเรียกว่า ตัวนายโรง หรือตัวพระเอก เรียกสั้นๆว่า ตัวพระ หมายถึงผู้แสดงจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ และต้องแสดงบทบาทลีลาท่ารำเป็น ผู้ชาย

ประเภทที่ 2 ในการแสดงเรียกว่า ตัวนาง หมายถึง ผู้แสดงจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ และต้องแสดงบทบาทลีลาท่ารำเป็น ผู้หญิง

ประเภทที่ 3 ในการแสดงเรียกว่า ตัวยักษ์ หมายถึง ผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ มักใช้ผู้ชายที่รูปร่างใหญ่แสดง

ประเภทที่ 4 ในการแสดงเรียกว่า ตัวลิง หมายถึง ผู้แสดงเป็นตัวลิง มักใช้ผู้ชายที่รูปร่างเล็กแสดง

ตัวละครทั้ง 4 ประเภทมีลักษณะลีลาท่ารำ ท่าเต้น แตกต่างกัน และมีความงดงามตามรูปแบบของละคร ดังนี้

ตัวพระ แบ่งตามลักษณะเพศของผู้แสดงได้ 2 แบบ ดังนี้

1. แบบตัวพระแท้ ใช้ผู้ชายจริงแสดง ใช้ในการแสดงโขนและละครประเภทจ่าง ๆ ยกเว้นละครใน

2. แบบตัวพระในละครใน ใช้ผู้หญิงแสดงเป็นตัวพระ โดยแสดงบทบาทลีลาท่ารำเป็นผู้ชาย

ตัวนาง แบ่งตามลักษณะท่ารำเป็น 2 แบบ ดังนี้

1. นางกษัตริย์ มีลักษณะท่ารำที่อ่อนช้อย งดงาม นิ่มนวล อ่อนโยน เช่น นางสีดา นางบุษบา

2. นางตลาด มีลักษณะท่ารำที่กระฉับกระเฉง ว่องไว เช่น นางแก้วหน้าม้า นางวัลลา

ตัวยักษ์ ลักษณะลีลาท่ารำของตัวยักษ์แบ่งแยกตามอารมณ์ เช่น โกรธ เจ้าชู้ ขึงขัง เป็นนักรบองอาจและแบ่งระดับของยักษ์ในละครเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. ยักษ์ใหญ่ เช่น ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ

2. ยักษ์เล็ก เช่น อินทรชิต รามสูร

3. ยักษ์ต่างเมือง เช่น ไมยราพ มังกรกัณฐ์

4. การแบ่งระดับของยักษ์มีไว้เพื่อการคัดเลือกตัวผู้แสดงให้เหมาะสม รวมถึงการใช้ลีลาท่ารำให้เหมาะสมกับลักษณะของยักษ์แต่ละตัว

ตัวลิง ในการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ แบ่งลีลาลักษณะของลิงออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1. ลิงยอด มีลักษณะการร่ายรำเชื่องช้าแต่สง่างาม เช่น พาลี สุครีพ

2. ลิงโล้น มีลักษณะการร่ายรำที่คล่องแคล่ว ว่องไว องอาจ เช่น หนุมาน นิลพัท

3. ลิงเล็ก หรือลิงป่า มีลักษณะการร่ายรำรวดเร็ว ไม่องอาจหรืองดงามเท่าลิงอื่น เช่น ลิงถวายผ้าสไบให้พระราม หรือสังขวานร

สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยให้การแสดงมีความงดงาม มีคุณค่า ทำให้ผู้ชมมีความเข้าใจและซาบซึ้งในความงดงามของนาฏศิลป์และละครไทย

1.2 การแต่งกาย

การแสดงนาฏศิลป์ทุกประเภท โดยเฉพาะโขนและละคร การใช้สีแต่ละสีในการแต่งกายมีความสำคัญ เพราะตัวละครแต่ละตัวจะใช้การแต่งกายที่มีสีประจำตัวละครนั้น ๆ เช่น หนุมานจะต้องแต่งสีขาว-แดง พระรามจะต้องสีเขียว-แดง สำหรับการปักดิ้นเงิน ทอง หรือเลื่อม แม้แต่ลายที่ใช้กับการปักจะต้องเหมาะสมกับตัวละคร จะทำให้ผู้ชมได้รับความสนุกสนาน ประทับใจในการแสดงมากขึ้น

1.3 เครื่องประดับศีรษะ

การรู้จักและเข้าใจเครื่องประดับ จะทำให้เข้าใจการแสดงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงโขน เพราะมีตัวละครมากมายในเรื่องรามเกียรติ์แต่ละฝ่ายจะสวมใส่หัวโขน ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้า ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ ลิง และสัตว์ต่าง ๆ ถ้าจะทราบว่าเป็นใครต้องดูที่ยอดของศีรษะ เช่น พระอินทร์มีใบหน้าสีเขียวมงกุฎยอดเดินหน พระอิศวรใบหน้าสีขาว มีเทริดยอดน้ำเต้า สิ่งเหล่านี้เป็นความงามและคุณค่าของนาฏศิลป์ที่ทำให้การแสดงมีคุณค่าและมีความงดงามทั้งต่อผู้แสดงและผู้ชม

1.4 ฉาก

ฉากเป็นส่วนสำคัญในการจัดการแสดง อุปกรณ์ที่ใช้ในฉากละครล้วนมีความสำคัญในการแสดงละครทั้งสิ้น เพราะฉากเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การแสดงมีความงดงาม มีคุณค่า ทำให้ผู้ชมเข้าใจการแสดงได้ง่ายขึ้น เช่น ฉากเป็นต้นไม้ ก้อนหิน มีสัตว์ป่า แสดงถึงว่าขณะนั้นมีเรื่องราวดำเนินอยู่ในป่า และเป็นองค์ประกอบของการแสดงที่ทำให้การแสดงสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

1.5 ดนตรี

ในการแสดงนาฏศิลป์และละครจะต้องมีการบรรเลงดนตรีและขับร้องบทเพลงประกอบการแสดงด้วย จึงจะทำให้การแสดงมีความสนุกสนาน น่าสนใจ เพราะถ้าการแสดงมีการบรรเลงดนตรีและบทเพลงที่ไพเราะจะทำให้ผู้ชมประทับใจ เกิดความซาบซึ้งในการแสดง และทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น เช่น ในเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่พระรามสู้กับทศกัณฐ์ จะมีการบรรเลงดนตรีที่มีจังหวะและทำนองเร็ว บรรเลงเพลงเชิดฉิ่ง เชิดกลอง

คุณค่าของนาฏศิลป์และการละครของไทย

การแสดงนาฏศิลป์และการละครของไทย เป็นการแสดงที่มีคุณค่าต่อชาติและสังคม สรุปได้ ดังนี้

1. ให้คุณค่าด้านความเพลิดเพลินและความสุนทรีย์ คือ การแสดงนาฏศิลป์และละครไทย เป็นศิลปะที่มี

ความอ่อนช้อยงดงาม มีการนำวรรณคดีไทยต่าง ๆ มาถ่ายทอดเป็นท่าร่ายรำ ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

2. ให้คุณค่าด้านพิธีกรรมต่าง ๆ คือ การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อต่าง ๆ จน

เกิดการแสดงแก้บน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พึงพอใจ เช่น การแสดงละครรำแก้บน การฟ้อนรำแห่นางแมวให้ฝนตกตามฤดูกาล

3. ให้คุณค่าด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่ คือ การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยเป็นเอกลักษณ์และมรดก

ของชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบทอดและเผยแพร่ เพื่อมิให้สูญหายไป

4. ให้คุณค่าด้านความบันเทิง คือ การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมีขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย

ความเหน็ดเหนื่อยหลังจากการทำงาน หรือในยามเทศกาลงานรื่นเริงต่าง ๆ

5. ให้คุณค่าด้านพิธีการในสังคม คือ นำการแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมาแสดงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ให้ผู้มาเยือนมีความสุข ประทับใจที่ได้มาเยือน เช่น แสดงรำอวยพร ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่าของนาฏศิลป์และละครไทย ทำให้การแสดงนาฏศิลป์และละครไทยมีความงดงามและมีคุณค่าต่อสังคมและชาติไทย

ที่มา : หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน นาฏศิลป์ ชั้น ม.4-6 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)