หน่วยการเรียนรู้ที่ 2

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การแสดงนาฏศิลป์ไทยและสากล

ตัวชี้วัด

1. มีทักษะในการแสดงหลากหลายรูปแบบ (ศ 3.1 ม.4-6/1)

ระบำ รำ ฟ้อน

* ระบำ

* รำ

* ฟ้อน

การแสดงพื้นเมืองภาคต่าง ๆ

* การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ

* การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง

* การแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

* การแสดงพื้นเมืองภาคใต้

การละครไทย

* ละครชาตรี * ละครนอก * ละครใน

* โขน * ละครดึกดำบรรพ์ * ละครพันทาง

* ละครร้อง * ละครพูด * ละครเสภา

การละครสากล

* ละครแทรจิดี * ละครคอมมิดี * ละครไมม์

* ละครแพนโทไมม์ * ละครศาสนา * ละครพื้นเมือง

* ละครฟาร์ส * ละครอินเทอร์ลูด * ละครโอเปรา

* ละครโรมานซ์ * ละครเมโลดรามา * ละครโมเดิร์นดรามา

สาระสำคัญ

การแสดงนาฏศิลป์ไทยและสากลเป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติจองแต่ละชาติ เป็นการแสดงที่สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลายให้กับผู้ชม มีคุณค่าและความงดงามในด้านต่าง ๆ จึงเป็นศิลปะที่มีค่ายิ่ง

ระบำ รำ ฟ้อน

การแสดงนาฏศิลป์เป็นการแสดงออกทางศิลปะของการร่ายรำที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงอารมณ์อันสุนทรีย์ ที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ประกอบเข้ากับศิลปะทางด้านดุริยางคศิลป์ (การดนตรี) และคีตศิลป์ (การขับร้อง) จนเกิดเป็นนาฏกรรมที่มีความงดงามน่าชมและเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่ทรงคุณค่า

การแสดงนาฏศิลป์ไทยและสากลมีรูปแบบและลักษณะการแสดงที่แตกต่างกัน การแสดงนาฏศิลป์ไทย มีความอ่อนช้อย มีความวิจิตร งดงาม เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำ ส่วนการแสดงนาฏศิลป์สากล คือ การแสดงที่มีความสวยงาม มีรูปแบบการแสดงที่แปลกใหม่เป็นสากล เช่น บัลเลต์ คอนเทมโพรารี แต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยหรือนาฏศิลป์สากลก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ เป็นสิ่งที่สร้างความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลินให้กับคนในชาติ

ระบำ รำ ฟ้อน เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำประกอบเพลง ดนตรี และบทขับร้อง โดยไม่เล่นเป็นเรื่องราว ในที่นี้หมายถึงรำและระบำที่มีลักษณะการแสดงแบบมาตรฐาน ซึ่งมีความหมายที่จะอธิบายได้พอสังเขป ดังนี้

ระบำ

ระบำ หมายถึง ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป มีลักษณะการแต่งกาย และกระบวนท่าร่ายรำคล้ายคลึงกัน ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี ระบำแบบมาตรฐานมักบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ การแต่งกายนิยมแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง หรือแต่งแบบนางในราชสำนัก เช่น ระบำสี่บท ระบำกฤดาภินิหาร ระบำฉิ่ง ระบำเทพบันเทิง

การแสดงประเภทระบำ

ระบำมยุราภิรมย์

ระบำกฤดาภินิหาร

ระบำดาวดึงส์

ระบำเทพบันเทิง

รำ

รำ หมายถึงศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2 คน มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ เช่น การรำเดี่ยว การรำคู่ การรำอาวุธ การรำคู่จะต่างกับระบำเนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะผู้แสดงนั้น ๆ เช่น รำแม่บท รำวงมาตรฐาน รำพลายชุมพล รำเชิญพระขวัญ

การแสดงประเภทรำ

ฉุยฉายพราหมณ์

พลายชุมพลออกม้า

รำมโนราห์บูชายัญต์

ฟ้อน

ฟ้อน หมายถึง การแสดงที่มีลีลาอ่อนช้อยงดงาม ใช้ความพร้อมเพรียงในการร่ายรำ มีจังหวะช้าและอ่อนหวาน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนร่ม ฟ้อนผู้ไทย (ภูไท)

การแสดงประเภทฟ้อน

วีดีโอประกอบการสอน - ฟ้อนรัก

การแสดงพื้นเมืองภาคต่าง ๆ

การแสดงพื้นเมืองเป็นศิลปะแห่งการร่ายรำ มีทั้งระบำ รำหรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวบ้านในแต่ละภูมิภาค เป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณีของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ

การฟ้อน เป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ชาวไต ชาวลื้อ ชาวยอง ชาวเขิน ลักษณะของการฟ้อนแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางการแสดงไว้ คือ มีลีลาท่ารำที่อ่อนช้อย งดงาม มีการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงาม ประกอบกับการบรรเลงและขับร้องด้วยวงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงสะล้อ ซอ ซึง วงกลองปู่เจ่ วงกลองแอว โอกาสที่แสดงมักเล่นกันในงานประเพณี หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ

1. ฟ้อนกิงกะหร่า

ฟ้อนกิงกะหร่า เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่ กิงกะหร่า หมายถึง กินรี หรือ กินนร ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า อมนุษย์ในนิยาย มี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคนเมื่อจะไปไหนมาไหน ก็ใส่ปีกใส่หางบินไป อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการฟ้อน คือ ตัวนก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลำตัว ปีก และหาง ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย ทำเป็นโครงและตกแต่งด้วยผ้าแพรและกระดาษสี จากนั้นจึงนำโครงมาประกอบกันโดยใช้ยาง เชือกปอ หรือหวายมัดให้แน่นเพื่อใช้กระพือปีก และแผ่หางได้อย่างนก ลักษณะท่ารำจะเลียนแบบกิริยาอาการของนก เช่น การบิน ขยับปีก ขยับหาง กระโดด ส่วนจังหวะในการฟ้อนขึ้นอยู่กับจังหวะกลอง

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ กลองก้นยาว 1 ลูก ฆ้องราว แส่ง (ฉาบ) 1 คู่ หรือใช้วงกลองปู่เจ่บรรเลง

2. ฟ้อนสาวไหม

ฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนที่มีลีลีอ่อนช้อยงดงาม ประดิษฐ์ขึ้นโดยนายกุย สุภาวสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้สอนฟ้อนเชิง คือการฟ้อนด้วยมือเปล่าของ ผู้ชายที่มีลีลาท่ารำในลักษณะการต่อสู้ แล้วถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนให้กับครูบัวเรียวผู้เป็นบุตรสาว จากนั้นครูบัวเรียวได้ดัดแปลงการฟ้อนสาวไหมเชิงต่อสู้ให้มีความอ่อนช้อยเข้ากับผู้หญิง ต่อมาครูพลอยสีผู้เป็นช่างฟ้อนในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ จังหวัดเชียงใหม่ได้นำการฟ้อนสาวไหมมาปรับปรุงขึ้นในด้านนาฏศิลป์ จึงเกิดเป็นฟ้อนสาวไหมที่สมบูรณ์

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง คือ วงสะล้อ ซอ ซึง

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง

เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเล่นเสร็จจากเทศกาลฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคกลาง

1. รำเถิดเทิงหรือรำกลองยาว

รำเถิดเทิงหรือรำกลองยาวเป็นศิลปะการเล่นและร่ายรำประกอบการตีกลองยาว สันนิษฐานว่าแต่ เดิมเป็นการละเล่นของทหารพม่ายามว่างจากศึกสงคราม ในปลายสมัยอยุธยาเข้าใจว่าคนไทยได้เห็นรูปแบบและนำมาเล่นบ้างในช่วงสมัยธนบุรี การรำกลองยาวมักแสดงในงานบุญที่มีการรื่นเริง เช่น แห่นาคในงานอุปสมบท แห่องค์กฐินผ้าป่า แห่ขบวนขันหมาก โดยชาวบ้านจะพากันมาร่วมขบวนร่ายรำอย่างครื้นเครง ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงรูปแบบท่ารำ ให้มีแบบแผนและเรียกว่า รำเถิดเทิง โดยฝ่ายชายเป็นผู้ตีกลองประกอบจังหวะและร่ายรำประกอบการตีกลองยาวในท่าทางที่โลดโผนต่าง ๆ ส่วนฝ่ายหญิงจะรำเข้ากับกลองยาวสลับกับท่าทางการตีกลองเย้าหยอกกับฝ่ายชาย

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ กลองยาว ฉิ่ง ฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง

2. เต้นกำรำเคียว

เต้นกำรำเคียวเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวชนบทในภาคกลาง เพราะคนในภาคกลางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวนา จึงมีการขับร้องเพลงในขณะทำนา เพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย จึงเกิดเป็นเต้นกำรำเคียว เริ่มแรกมาจากจังหวัดนครสวรรค์ และกรมศิลปากรได้นำมาปรับปรุงใส่เนื้อร้องและทำนองเพลงให้มีความสนุกสนาน

เต้นกำรำเคียวเป็นการแสดงที่ไม่มีดนตรีประกอบ เป็นการขับร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสลับผลัดกันร้อง ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ขับร้องก็จะเป็นลูกคู่ร้องรับ ละปรบมือให้จังหวะ เป็นการแสดงที่มีความสนุกสนาน สะท้อนให้เห็นถึงวีชีวิตและการประกอบอาชีพ

การแต่งกาย จะแต่งกายลักษณะของชาวนา ฝ่ายชายสวมกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมงอบ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขน กระบอกคอกลมสีกรมท่า นุ่งโจงกระเบนสีดำ สวมงอบ และถือเคียวมือขวา ถือรวงข้าวมือซ้าย

วีดีโอประกอบการสอน - เต้นกำรำเคียว

วีดีโอประกอบการสอน - รำเถิดเทิง

การแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวอีสาน แบ่งเป็น 2 กลุ่มวัฒนธรรม คือ กลุ่มอีสานเหนือ มีวัฒนธรรมไทยลาว ซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า เซิ้ง ฟ้อน และหมอลำ ส่วนกลุ่มอีสานใต้ ได้รับอิทธิพลไทยเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า เรือม

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ถ้าเป็นในแถบกลุ่มอีสานเหนือใช้พิณ แคน ซอ กลองยาวอีสาน ฉิ่ง ฉาบ โปงลาง และโหวด กลุ่มอีสานใต้ใช้ซอตรัวเอก กลองกันตรึม ระนาดเอกไม้ และปี่สไล

การแต่งกาย เป็นไปตามวัฒนธรรมพื้นเมือง ลักษณะท่ารำและท่วงทำนองดนตรีในการแสดงค่อนข้างกระชับ รวดเร็วและสนุกสนาน

ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1. เซิ้งโปงลาง

เซิ้งโปงลาง เป็นการแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยฝ่ายชายและฝ่ายหญิงออกมารำ ด้วยท่าทางสนุกสนานตามท่วงทำนองและจังหวะของเพลง เดิมเซิ้งโปงลางเป็นการแสดงของชาวกาฬสินทธุ์ ที่ประดิษฐ์และดัดแปลงนำท่าฟ้อนต่าง ๆ มาผสมผสานกันทำให้เกิดเซิ้งโปงลางขึ้น

การแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ นุ่งผ้าซิ่น สวมเครื่องประดับเงิน ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อม กางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าคาดเอว และโพกศีรษะ

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ พิณ แคน กลองหาง กลองตึง หมากกั๊บแก้บ ไหโปงลาง โหวด ฉาบ และเกราะ

2. ฟ้อนผู้ไทย (ภูไท)

ฟ้อนภูไทยเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวผู้ไทย ในจังหวัดนครพนม แสดงโดยหนุ่มสาวชาวผู้ไทยจับคู่กัน แล้วฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำที่ใช้ในการฟ้อนมี 11 ท่ารำ ได้แก่ ท่าเตรียม ท่านกกะบาบินเลียบหาด ท่ารำเพลิน ท่ากาเต้นก้อนขี้ไถ ท่ากาเต้นก้อนข้าวเย็น ท่าส่ายเตี้ยลง ท่าบูชายัญ ท่าถวายพระยาแถน ท่าลมพัดพร้าว ท่าฟ้อนเสือออกเหล่า ท่าเสือชมหมอก ท่ารำขวาน ท่าตบผาบมาร ท่าไก่เลียบเล้า ท่าจระเข้ฟาดหาง และท่ารำเกี้ยว

การแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงินคอพระราชทานขลิบแดงติดกระดุมทองหรือเงิน มีผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอกสีน้ำเงินชลิบแดงติดกระดุมทองหรือเงิน สวมสร้อยคอ กำไล ติดดอกไม้ประดับผม

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ แคน กลองหาง ฉิ่ง ฉาบ กลองสองหน้า ซอ พิณ ฆ้องเล็ก และหมากกั๊บแก้บ

การแสดงฟ้อนผู้ไทยนิยมแสดงในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานสงกรานต์ งานไหลเรือไฟ ใช้แสดงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

วิดีโอประกอบการสอน - รำลาวกระทบไม้

การแสดงพื้นเมืองภาคใต้

เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวบ้านภาคใต้ แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมเป็น 2 กลุ่มคือ วัฒนธรรมไทยพุทธ เช่น การแสดงโนรา หนังตะลุง และวัฒนธรรมไทยมุสลิม เช่น รองเง็ง ซำเปง มะโย่ง ลิเกฮูลู เครื่องดนตรีที่สำคัญที่ใช้ประกอบการแสดง เช่น กลองโนรา กลองโพน กลองโทนทับ กรับพวง โหม่ง ปี่กาหลอ รำมะนา ไวโอลิน ภายหลังได้มีระบำที่ปรับปรุงจากกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิต และอาชีพต่าง ๆ เช่น ระบำร่อนแร่ ระบำกรีดยาง

ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคใต้

1. ระบำร่อนแร่

ระบำร่อนแร่เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวใต้ที่ประกอบอาชีพการร่อนแร่ดีบุก ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านภาคใต้อย่างมาก การแสดงใช้ผู้หญิงล้วนแสดงหรือผู้ชายและผู้หญิงแสดงก็ได้

การแต่งกาย แต่งแบบพื้นเมือง

บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง คือ เพลงตลุงราษฎร์ มีจังหวะและทำนองที่สนุกสนาน ใช้แสดงตามงานต่าง ๆ หรือใช้ในโอกาสต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

2. รองเง็ง

รองเง็ง เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ และลำตัว ลักษณะการเต้นรองเง็งคล้ายวัฒนธรรมตะวันตก มีผู้สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเผยแพร่ให้กับชาวมาลายูและใช้แสดงในงานปีใหม่ จึงมีการฝึกซ้อมและกลายเป็นรองเง็ง

การแต่งกาย ฝ่ายชายสวมหมวกแขก สวมเสื้อคอกลมแขนยาว ผ่าหน้า นุ่งกางเกงขายาวขากว้างแบบกางเกงจีน แล้วสวมโสร่งทับกางเกงเรียกว่า ผ้าลิลินัง ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกเรียก เสื้อบันดง เป็นเสื้อเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุม นุ่งผ้ายาวกรอมเท้าและมีผ้าคลุมไหล่

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ รำมะนา ฆ้อง ไวโอลิน และเพลงรองเง็งส่วนใหญ่ที่นิยมใช้มี 7 เพลง ได้แก่ เพลงลาฆูดูวอ เพลงลา นัง เพลงปูโจ๊ะปีซัง เพลงจินตาซายัง เพลงอาเนาะดีดี๊ เพลงมะอีนังชวา และเพลงอีนังลามา

การละครไทย

ละคร หมายถึง การแสดงเป็นเรื่องราว มีจุดมุ่งหมายในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม ลักษณะของละครไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามสภาพสังคมและความนิยมของประชาชน ละครไทยเริ่มมีรูปแบบที่ชัดเจนในสมัยอยุธยา มีการแสดงละครชาตรี ละครนอก ละครใน และโขน ละครไทยมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะรูปแบบการแสดงที่แตกต่างกัน ดังนี้

ละครชาตรี

ละครชาตรีหรือละครโนราชาตรี ตัวแสดงใช้ผู้ชานล้วน แยกเป็นตัวพระและตัวนาง ตัวตลกหรือจำอวด

โรงละคร ไม่มีฉากประกอบ ยกเว้นให้มีเสากลางโรง 1 ต้น เรียกว่า เสามหาชัย เสานี้ผู้แสดงละครชาตรีถือว่าสำคัญมาก เปรียบเป็นตัวแทนของพระวิษณุกรรมที่มาคุ้มครองผู้แสดง เสามหาชัยนี้จะผูกผ้าแดง และใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองที่ใส่อาวุธต่าง ๆ ทีใช้ในเรื่องที่แสดง) ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการแสดง นอกจากเสามหาชัยแล้ว ก็มีเตียงหรือตั่งสำหรับเป็นที่นั่งของตัวละคร

การแต่งกาย ในอดีตการแต่งกายของตัวพระจะไม่สวมเสื้อแสดง เพราะใช้ผู้ชายในการแสดง ภายหลังเมื่อใช้ผู้หญิงแสดงจึงสามารถสวมเสื้อได้ และสวมสนับเพลากรอมข้อเท้า นุ่งผ้าจับจีบโจงหางหงส์ มีห้อยหน้าเจียรบาด สังวาล ทับทรวง กรองคอ เช่นเดียวกับตัวพระในละครรำไทยทั่วไป ศีรษะสวมเทริดชาตรี การแต่งกายของตัวนางจะมีเสื้อในนาง ผ้านุ่งจีบหน้านาง จี้นาง นวมนาง ตัวตลกแต่งตัวธรรมดา แต่สิ่งสำคัญของตัวตลกจะต้องมีผ้าขาวม้าติดตัว ซึ่งใช้แทนสิ่งต่าง ๆ ในการแสดง

การแสดง เริ่มต้นบูชาครูเบิกโรง โดยตัวพระออกมารำซัดชาตรี เพื่อปัดเป่าความไม่ดีทั้งหลาย ก่อนเริ่มแสดง มีการกล่าวคาถาอาคมกำกับ จากนั้นจึงเริ่มเรื่องที่แสดง และมีการรำซัดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อคลายอาคมที่กำกับไว้ เรื่องที่แสดง เช่น พระรถเสน มโนราห์

ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบด้วย ปี่ โทน ฆ้องคู่ กรับ และกลองชาตรี

ละครชาตรีในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับละครนอกทั้งฉากและดนตรี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความถนัดของผู้เล่นและคณะละคร และเพื่อความเหมาะสมกับงาน

ละครนอก

พัฒนามาจากละครชาตรี การแสดงละครนอกแต่เดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาใช้ผู้หญิงแสดงเช่นเดียวกับละครชาตรี

โรงละคร มีฉากผืนเดียวไม่มีการเปลี่ยนหน้าฉาก และมีการตั้งเตียงสำหรับตัวละคร ด้านข้างของฉากเป็นทางเข้าออก ด้านหลังฉากเป็นที่แต่งตัวและที่พักของตัวละคร

การแต่งกาย ในสมัยโบราณใช้ผู้ชายแสดงล้วนจะไม่สวมเสื้อ ต่อมาเมื่อใช้ผู้หญิงแสดงจึงสามารถสวมเสื้อแสดงได้ เป็นเสื้อตัวพระแบบสั้น เพียงแต่เพิ่มเครื่องสวมศีรษะได้ทุกชนิดทั้งตัวพระและตัวนาง เสื้อผ้าตกแต่งด้วยเลื่อม ดิ้น แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีข้อห้ามคือ ไม่ให้ใช้รัดเกล้ายอด

การแสดง ละครนอกเป็นการแสดงที่เน้นความสนุกสนาน สอดแทรกตลก ดำเนินเรื่องรวดเร็ว เป็นละครนอกแบบชาวบ้าน การร้องเหมือนละครชาตรี คือ มีลูกคู่รับ ละครนอกแบบหลวงการร่ายรำมีลักษณะว่องไว กระฉับกระเฉง เรื่องที่แสดงสามารถแสดงได้ทุกเรื่องยกเว้นเพียง 3 เรื่อง คือ อิเหนา รามเกียรติ์ และอุณรุท

ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ก่อนการแสดงวงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเป็นการเรียกคนดู เพลงที่ใช้ร้องเป็นเพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว ไม่มีการเอื้อน การดำเนินเรื่องใช้การร้องเป็นหลัก เพลงสำหรับละครนอก เช่น เพลงปีนตลิ่งนอก ชมดงนอก ร่ายนอก

ละครใน

ในสมัยโบราณมีการใช้ผู้ชายแสดง แต่ต่อมาเป็นละครที่ใช้ผู้หญิงแสดงเป็นหลัก จัดเป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่ง ดังนั้นคนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ในการมีละครผู้หญิงได้เลย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้คนทั่วไปมีละครผู้หญิงได้ ละครในจึงมีขึ้นในสังกัดผู้มีบรรดาศักดิ์ทั่วไป

โรงละคร เดิมใช้สถานที่ในพระราชฐานเป็นฉากจริงต่อมามีการจัดทำเป็นฉากตามอย่างละครดึกดำบรรพ์

การแต่งกาย แต่งกายตามแบบแผนของกษัตริย์จริง ๆ เรียกว่าแต่งยืนเครื่องพระยืนเครื่องนาง

การแสดง เริ่มต้นด้วยการรำเบิกโรง การดำเนินเรื่องมีระเบียบแบบแผน มุ่งเน้นกระบวนการร่ายรำสวยงาม ดนตรีขับร้องไพเราะ แสดงถึงความสามารถของผู้แสดงด้านการร่ายรำเป็นสำคัญ ผู้แสดงไม่ต้องขับร้องเอง เพราะมีผู้ขับร้องและบรรเลงดนตรีประกอบการแสดง ใช้เพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาอาการของตัวแสดง เรื่องที่แสดง คือ เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ และดุณรุท

ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ มีการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงคล้ายกับการแสดงโขน การขับร้องและบรรเลงมีความประณีต ไพเราะ

โขน

การแสดงโขน เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่มีเอกลักษณ์ เป็นศิลปะของการรำ การเต้น แสดงเป็นเรื่องราวโดยมีศิลปะหลายรูปแบบผสมผสานกัน เช่น ชักนาคดึกดำบรรพ์ มีอิทธิพลทางด้านเนื้อเรื่อง กระบี่กระบอง แสดงวิธีการใช้อาวุธ หนังใหญ่ แสดงลีลาการเชิดที่เรียกว่า เต้นโขน ผู้แสดงจะต้องสวมหัวที่เรียกว่า หัวโขน และใช้ลีลาท่าทางการแสดงด้วยการเต้นไปตามบทพากย์ การเจรจาของผู้พากย์ และตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องต้น เรียกว่า การแต่งกายแบบยืนเครื่อง มีจารีตขั้นตอนการแสดงที่เป็นแบบแผน ยึดระเบียบแบบแผนในการแสดงอย่างเคร่งครัด นิยมจัดแสดงเฉพาะพิธีสำคัญ ได้แก่ งานพระราชพิธีต่าง ๆ โดยโขนมีหลายชนิด ได้แก่ โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอและโขนฉาก โขนแต่ละชนิดมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งสำคัญที่ประกอบการแสดงโขน มีดังนี้

โรงโขน หรือเวทีสำหรับการแสดงโขนสามารถปรับเปลี่ยนไปตามชนิดของโขน มีดังนี้

โขนกลางแปลง แสดงกลางแจ้งหรือกลางสนาม ไม่ใช้เวที

โขนนั่งราวหรือโขนโรงนอก สร้างเวทีลักษณะกว้างยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ลำไม้ไผ่มาพาดตามความยาวของเวที เพื่อให้ผู้แสดงนั่งแทนเตียงหรือตั่ง ตามลำดับชั้นหรือยศ แต่สิบแปดมงกุฎนั่งกับพื้นเวที

โขนหน้าจอ ลักษณะเวทีเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบโขนนั่งราว มีการทำฉากด้านหลัง คือ จอด้านหลังเขียนรูปเป็นฉาก ด้านข้างเจาะทำเป็นประตูสำหรับเข้าออก 2 ข้าง ตั้งเตียงที่ปลายสุดของเวทีทั้งสองด้านสำหรับฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฐ์ ในโบราณมีการเชิดหนังใหญ่สลับกับการแสดงโดยจะออกมาแสดงด้านหน้าจอหนังนั้น

โขนโรงในและโขนฉาก เป็นการแสดงในโรงละคร มีการสร้างฉากประกอบตามท้องเรื่อง มีการทำให้ตัวละครเหาะได้ ทำให้ผู้ชมสนุกสนานกับการชมการแสดงมากขึ้น

การแต่งกาย ผู้แสดงเป็นตัวยักษ์และตัวลิง นุ่งสนับเพลา แล้วนุ่งจีบโจง (ก้นแป้น) ทับสนับเพลา ลิงมีหางเพิ่มมาด้านหลัง ตัวพระนุ่งจีบโจงหางหงส์ทับสนับเพลา นักบวชนุ่งแบบดองตะพัด ตัวนางแต่งแบบยืนเครื่องนาง ส่วนศีรษะเปลี่ยนไปตามสถานะของตัวละคร สิ่งสำคัญของเหล่าทหารฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง คือ ต้องถืออาวุธที่ใช้อยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จะมีการกำหนดสีเสื้อของตัวยักษ์ ดังนั้นถ้าตัวเสื้อสีเขียว แขนเสื้อ (แขนยาว) จะเป็นสีแดง ถ้าตัวเสื้อสีแดง แขนเสื้อจะเป็นสีเขียว เวลาแบ่งแถวและเต้นพร้อมกันจะดูงดงามเป็นระเบียบ หัวโขนที่สวมจะเป็นสีเดียวกับสีของแขนเสื้อ ส่วนตัวลิง สีของเสื้อจะเหมือนกับหัวโขนที่สวม สวมเครื่องประดับเหมือนกับเครื่องละครรำไทย เช่น กำไลเท้า แหวนรอบ กำไลแผง เข็มขัด ทับทรวง กรองคอ กนกแขน อินทรธนู สังวาล

การแสดง โขนจะแสดงเรื่องเดียวคือ เรื่องรามเกียรติ์หรือรามยณะ แต่งโดยพระฤๅษีวาลมิกิของอินเดีย เป็นเรื่องของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาปราบอสูรที่ทำความเดือดร้อนให้กับเทวดาและมนุษย์ เรื่องของพระรามเป็นเพียงปางเดียวในหลายๆ ปาง ที่พระนารายณ์อวตารลงมาปราบเหล่าร้าย การแสดงโขนใช้ผู้ชาย แม้แต่ตัวนางในเรื่องก็ผู้ชาย แต่ในปัจจุบันใช้ผู้หญิงแสดงเป็นตัวนางได้ การแสดงโขนมักแสดงเป็นตอน เช่น ตอนนางลอย ตอนศึกกุมภกรรณ ส่วนใหญ่การแสดงมักจะเป็นการยกทัพต่อสู้กันระหว่างทัพยักษ์กับทัพลิงที่เรียกว่า ยกรบ ทำให้เห็นความสวยงามของท่ารำ และเครื่องแต่งกาย ความพร้อมเพรียงของกระบวนท่ารำ

ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง เนื่องจากผู้แสดงโขนทุกคนต้องสวมหัวโขนหรือศีรษะโขน ดังนั้นการดำเนินเรื่องจึงต้องให้บทพากย์สลับด้วยการเจรจา คำพากย์ใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง วิธีการพากย์ เมื่อพากย์จบบทหนึ่งนักดนตรีจะตีตะโพนรับท้ายคำพากย์ แล้วกลองทัดตีตามขึ้นสองที เมื่อจบเสียงกลองทัดผู้ที่อยู่ในโรงโขนจะช่วยกันร้องรับด้วยคำว่า “เพ้ย” พร้อม ๆ กันไปทุกบท

ละครดึกดำบรรพ์

เป็นละครที่ปรับปรุงขึ้นใสสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้ทรงทดลองแต่งบทละครแบบใหม่ร่วมกับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ทรงให้ตัวละครร้อง รำ และเจรจาโดยไม่ต้องใช้คนร้องบรรยายบทอย่างแต่ก่อน ส่วนใหญ่เป็นการรำใช้บทเพื่อดำเนินเรื่องให้รวดเร็ว บทเจรจาก็ใช้ภาษาทันสมัยอย่างที่ใช้พูดกันในชีวิตจริง ผู้แสดงจะเป็นผู้ขับร้องเอง มีลูกคู่ร้องรับ

โรงละคร เริ่มแสดงในรูปแบบของละครครั้งแรกที่โรงละครดึกดำบรรพ์ อันเป็นโรงละครของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ จึงเรียกละครแบบนี้ว่า ละครดึกดำบรรพ์ ตามชื่อโรงละคร และเรียกดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนี้ว่า วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ บนเวทีมีการจัดฉากเป็น 3 ตอน คือ ฉากหน้า ฉากกลาง และฉากสุดท้าย การสับเปลี่ยนฉากทำได้เร็ว และงดงามเหมาะสมกับเรื่องที่แสดง

การแต่งกาย แต่งแบบละครใน มีการเน้นเรื่องการแต่งหน้าหรือเสริมความงดงามของใบหน้าผู้แสดงมากขึ้น นอกจากนั้นยังนิยมการเขียนหน้าผู้แสดงบางคนแทนการสวมหัวโขน เช่น เจ้าเงาะ ยักษ์นนทก

การแสดง ดำเนินเรื่องรวดเร็วใช้บทเจรจาโต้ตอบ ตัวละตนร้องเองเจรจาเอง มีระบำประกอบการแสดง ฉากสุดท้ายจะเป็นฉากที่งดงาม เพื่อให้ผู้ชมประทับใจ เรื่องที่แสดง เช่น อิเหนา สังข์ทอง คาวี

ละครพันทาง

เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นละครที่แสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม ผู้ริเริ่มละครพันทางคือเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

โรงละคร แสดงในโรงละครชื่อ ปรินเธียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง มีฉากระกอบตามท้องเรื่อง

การแต่งกาย แต่งตามเรื่องที่แสดง คือ แต่งเครื่องละครแบบยืนเครื่อง ตัวละครรองอื่น ๆ แต่งกายตามสถานะ ส่วนตัวละครอื่นแต่งตามวัฒนธรรมของชาตินั้น

การแสดง มีการนำเอาลักษณะการพูดแบบละครพูดและการร่ายรำแบบละครในเข้ามาผสมผสานกัน ใช้บทเจรจา และดำเนินเรื่องด้วยคำร้อง มีท่ารำ และมีระบำต่าง ๆ สอดแทรกในการแสดง เรื่องที่แสดงมักเป็นเรื่องต่างภาษา เช่น พระลอ สามก๊ก ราชาธิราช

ดนตรี วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงละครพันทาง คือ วงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงที่ร้องและบรรเลงในตอนที่แสดงเรื่องราวต่างชาติใช้เพลงไทยที่มีสำเนียงภาษาของชาตินั้น เรียกว่า เพลงภาษา

ละครร้อง

เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงริเริ่มขึ้น เรียกว่า ละครหลวงนฤมิตร เรื่องที่แสดงส่วนใหญ่เป็นพงศาวดารและนิยายโบราณของไทย

โรงละคร แสดงในโรงละครเวที มีฉากประกอบตามท้องเรื่อง และจะแสดงที่โรงละครปรีดาลัย ภายหลังจึงเรียกว่า ละครปรีดาลัย ตามชื่อโรงละคร

การแต่งกาย แต่งตามเนื้อเรื่องที่ใช้แสดง

การแสดง ใช้ผู้หญิงแสดงบทสำคัญ ผู้ชายเป็นตัวตลกหรือตัวประกอบเท่านั้น ไม่ใช้ท่ารำ ตัวละครร้องเอง มีลูกคู่ร้องรับเฉพาะส่วนที่เป็นท่อนเอื้อน มีการพูดสลับบทร้อง หรือพูดแทรกตลก ดำเนินเรื่องด้วยการร้อง เช่น เรื่องสาวเครือฟ้า วิวาหพระสมุทร ตุ๊กตายอดรัก

ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมประกอบการแสดง

ละครพูด

เริ่มแสดงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ ทรงริเริ่มละครพูดแบบมีแบบแผน เรียกคณะละครของท่านว่า ละครทวีปัญญา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นละครศรีอยุธยา มีละครพูดอีกคณะหนึ่งในสมัยเดียวกัน คือ ละครพูดของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

โรงละคร จัดฉากตามความเป็นจริงของเรื่องที่แสดง

การแต่งกาย แต่งตามบุคคลในเรื่องอย่างธรรมดาสามัญ ตามสังคมในสมัยนั้น ๆ

การแสดง ในช่วงแรกนิยมใช้ผู้ชายเป็นผู้แสดงจนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้มีการแสดงละครพูด จากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง กลแตก จึงเปลี่ยนจากผู้ชายล้วนเป็นชายจริงหญิงแท้ การแสดงดำเนินเรื่องด้วยวิธีพูดตัวละครแสดงท่าทางตามธรรมชาติประกอบกับบทบาทไปตามเนื้อเรื่อง ไม่มีดนตรีหรือการร้องเพลงแต่มีฉากเปลี่ยนตามเนื้อเรื่อง

ดนตรี ไม่กำหนดว่าต้องเป็นดนตรีชนิดใด เนื่องจากช่วงเวลาที่มีการแสดงละครพูดได้เริ่มมีวงดนตรีสากลเข้ามาสู่ประเทศไทย การนำดนตรีมาประกอบจึงขึ้นอยู่กับผู้จัดละครว่าจะนำดนตรีชนิดใดมาใช้ประกอบการแสดง และต้องไม่ทำให้เสียรูปแบบของละครพูดด้วย

ละครเสภา

ละครเสภามีต้นกำเนิดมาจากการเล่านิทาน เมื่อมีผู้นิยมเล่ามากขึ้นจึงมีการปรับปรุงให้เกิดการแข่งขัน บางคนจึงใส่ทำนอง มีเครื่องประกอบจังหวะ หรือแต่งนิทานเป็นกลอนส่งประกวด เครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่นิยม คือ กรับ จึงกลายเป็นการขับเสภาขึ้น

เสภามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยอยู่ในพระราชานุกูลของพระเจ้าแผ่นดิน ดังจะเห็นได้จากรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถมีข้อความกล่าวว่า “หกทุ่มเบิกเสภา ดนตรี” ซึ่งหมายความว่า มีการนิยมขับเสภาในเขตพระราชฐานนั่นเอง ในอดีตเสภาไม่มีการบรรเลงดนตรีประกอบ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้มีการใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ

โรงละคร ใช้แสดงบนเวที มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง

การแต่งกาย ผู้แสดงแต่งกายตามเนื้อเรื่อง

การแสดง มีทั้งที่ผู้แสดงร้องเองและมีผู้ขับร้องให้ ดำเนินเรื่องด้วยการขับเสภาประกอบกับการขับร้อง มีการร่ายรำประกอบการแสดงเล็กน้อย ท่าทางการรำงดงามเหมือนกับละครใน อาจมีบทตลกสอดแทรกได้ เรื่องที่นิยมแสดงคือ เรื่อง ขุนช้างขุนแผน

ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบด้วยกรับเสภา ต่อมาในรัชกาลที่ 2 นำกลองสองหน้ามาตีประกอบจังหวะแทนตะโพน

การละครสากล

ละครสากลเกิดจากการบูชาเทพเจ้าแห่งการเกษตรเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ โดยเริ่มจากการสวดสดุดี ต่อมามีผู้คิดแต่งคำร้องที่ใช้ในการสวดเพื่อให้ผู้ร้องหรือกลุ่มนักร้อง ได้ใช้ร่วมกัน หลังจากนั้นมีการสร้างตัวละครให้มีบทเจรจาโต้ตอบกับกลุ่มนักร้อง ผู้นำในการแสดงเป็นตัวละครตัวแรกชื่อ เธสพิส (Thespis) จึงถือว่า เธสพิส คือ ตัวละครตัวแรกของละครสากล ซึ่งอ้างอิงจากการค้นพบในสมัยกรีกมีความเรืองอำนาจ

ละครสากลมีวิวัฒนาการ ดังนี้

1. ละครแทรจิดี (tragedy) เกิดในสมัยกรีกเรืองอำนาจเช่นเดียวกับละครคอมิดี ละครประเภทนี้เป็นละครที่สอนให้คนมองเห็นสัจธรรมในชีวิต จัดเป็นละครทางศาสนา บทละครไม่ได้มุ่งการสั่งสอนโดยตรง แต่มักเป็นเรื่องที่คนดูดูแล้วเกิดความกลัวที่จะทำผิด ตัวเอกของเรื่องจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา เช่น มีบารมี มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นปุถุชน ผลแห่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ ทำให้ชีวิตประสบหายนะในบั้นปลายซึ่งได้รับจากการกระทำของตัวเอง บทละครประเภทแทรจิดีจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของวรรณกรรม เช่น เรื่อง แฮมเล็ท ของวิลเลียม เช็กสเปียร์

2. ละครคอมมิดี (comedy) เกิดในสมัยกรีกเรืองอำนาจ เริ่มจากการฉลองเทพเจ้าไดโอนีซัส ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตร เป็นละครที่มีเนื้อเรื่องตลกชวนให้สนุกสนานเฮฮา เนื้อเรื่องมักเป็นเรื่องเสียดสีหรือล้อเลียนบุคคลในสมัยนั้น ๆ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใกล้ตัว เช่น เรื่อง พิงค์แพนเตอร์ เรื่องเดอะคิด ของชาร์ลี แชปลิน ในปัจจบันมีละครประเภทคอมมิดีเกิดขึ้นมากมาย เพื่อสร้างความผ่อนคลายและสบายใจ

3. ละครไมม์ (mime) เริ่มที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ลักษณะการแดงเป็นละครเรื่องสั้น ๆ มุ่งความตลก สนุกสนานแก่ผู้ชม ใช้ภาษาไม่สุภาพ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผิดศีลธรรม การแต่งกายเป็นการแต่งกายเลียนแบบของชาวกรีก สวมหน้ากาก ใส่วิกที่บ่งบอกอายุของผู้แสดง

4. ละครแพนโทไมม์ (pantomime) เป็นละครที่ใช้ท่าทางประกอบเพลง แสดงความหมายโดยใช้กลุ่มนักร้องที่เรียกว่า คอรัส เป็นผู้ดำเนินเรื่อง เรื่องที่แสดงมักมาจากตำนาน ภายหลังละครไมม์และแพนโทไมม์ หมายถึง ละครใบ้ คือผู้แสดงไม่ต้องพูดหรือร้อง และแสดงกิริยาท่าทางประกอบการร้องและดนตรีอย่างเดียว

5. ละครศาสนา (liturgical) เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 11-13 เพราะในช่วงนี้ศาสนามีอิทธิพลมากจึงเกิดการละครที่ใช้ในโบสถ์ เรื่องที่แสดงจะเกี่ยวกับศาสนา เช่น กำเนิดและความเป็นไปของพระเยซูเจ้า โดยใช้บาทหลวงแสดง ต่อมาเมื่อมีผู้ชมมากขึ้น พื้นที่ในโบสถ์ไม่พอที่จะรองรับผู้ชม จึงได้ย้ายออกไปแสดงนอกโบสถ์ และไม่ใช้บาทหลวงแสดง ชาวบ้านจึงได้รับช่วงการแสดงต่อไป แต่เนื้อเรื่องก็ยังมีจุดหมายเพื่ออบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ผู้ชม ซึ่งภายหลังมีเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยสอดแทรกบ้าง

6. ละครพื้นเมือง (folk drama) เป็นละครที่แสดงถึงความกล้าหาญ การผจญภัยของวีรบุรุษในแต่ละท้องถิ่น

7. ละครฟาร์ส (farce) เป็นละครที่มีเนื้อเรื่องกระทบล้อเลียนเสียดสีนิสัยที่ไม่ดีของมนุษย์ โดยสะท้อนออกมาเป็นละครที่ให้ข้อคิด จัดเป็นละครเชิงตลกเสียดสี

8. ละครอินเทอร์ลูด (Interlude) เป็นละครที่มีคณะรับจ้างแสดงตามบ้านผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือขุนนาง หรือผู้ที่มีเงินจ้างในสมัยนั้น

9. ละครโอเปรา (opera) หรือละครอุปรากร เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 16 ละครโอเปราเรื่องแรกคือเรื่องดาฟเน (dafne) ผู้ประพันธ์บทร้องโอเปราเรื่องนี้ คือ ออตตาริโอ รีนุชชินี (ottario Ranuccini) ผู้ประพันธ์ด้านดนตรี คือ จาโคโป เปรี (Jacopo Peri) และจูลิโอ คัชชินิ (cuilio Caccini) ซึ่งเป็นชาวอิตาลีเกือบทั้งหมด การแสดงละครโอเปราต่างจากละครทั่วไปตรงที่บทสนทนาโอเปราจะใช้ร้อยกรองและบทขับร้อง ส่วนสำคัญคือผู้แสดงจะต้องร้องเอง เสียงที่ร้องมี 6 ระดับเสียง แบ่งเป็นเสียงของผู้ชาย 3 ระดับ ได้แก่ เสียงเทนเนอร์ บาริโทน และเบส และเสียงผู้หญิงมี 3 ระดับเสียง ได้แก่ โซปราโน เมซโซ และอัลโต

10. ละครโรมานซ์ (romance) เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 18 เป็นลักษณะละครเพ้อฝัน เรียกว่า ละครอิงนิยาย พระเอกของเรื่องมีความเก่งกล้า สง่างาม เสียสละ จิตใจสูงส่ง นางเอกมีความสวยงามอยู่ในวัยทำงาน มีจิตใจงดงาม มีความเป็นเลิศในทุกด้าน สถานที่ในเรื่องจะมีความสดชื่น งดงาม ห่างไกลความเป็นจริง มักเป็นฉาก แสง สีงดงามอลังการ รวมทั้งการแต่งกายหรูหรา ตอนจบของเรื่องจะเน้นข้อคิด ธรรมะย่อมชนะอธรรม

11. ละครเมโลดรามา (melodrama) เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 19 เป็นละครที่มีลักษณะสนุกสนานเนื้อเรื่องเรียบง่าย มีการเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างความดีกับความชั่ว เป็นละครที่ดูง่าย เข้าใจง่าย พระเอกมีลักษณะท่าทางบุคลิกดีทั้งรูปร่าง หน้าตา ฐานะ การศึกษา เช่นเดียวกับนางเอก มีความให้อภัยมีจิตใจงดงาม ผู้ร้ายจะมีลักษณะร้ายมากโดยเฉพาะกับนางเอกและพระเอก จบลงด้วยความสนุกสนาน

12. ละครโมเดิร์นดรามา (modern drama) หรือละครสมัยใหม่ แบ่งออกเป็นหลายแนว เช่นละครเรียลิซึม (realism) เป็นละครที่เน้นให้เห็นข้อเสียของสังคม และข้อความแก้ไข ลักษณะการแสดงจะแสดงลักษณะจริงที่ปฏิบัติอยู่ การจัดฉาก การแต่งกาย ให้ดูเป็นเรื่องสมมุติที่เป็นจริง ต่อมาละครแนวเรียลิซึมไม่เป็นที่นิยม จึงเกิดละครแนวขึ้นใหม่เรียกว่า ละครแอนติเรียลิซึม (antirealism) ละครแอนติเรียลิซึมมีหลายรูปแบบ เช่น ละครเอกซ์เพรสชันนิซึม (expressionism) ละครเอพิค (apic)

ที่มา : หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน นาฏศิลป์ ชั้น ม.4-6 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)