ประวัติความเป็นมา

ลักษณะภูมิประเทศ


จังหวัดชัยนาทมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่สูง ที่ราบ ที่ราบลุ่มและมีพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น มีภูเขาสลับเป็นบางช่วง โดยมีลักษณะที่สูงจากทิศตะวันตกและทิศเหนือลาดสู่ที่ราบส่วนใหญ่ตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนริมแม่น้ำเป็นเวลานานจนตื้นเขินกลายเป็นที่ราบ โดยสรุปแบ่งสภาพภูมิประเทศออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. บริเวณที่ราบลุ่ม พื้นที่ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด ได้แก่ พื้นที่ตอนกลาง ตอนใต้ และตะวันออกของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบจนถึงพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น

  2. บริเวณที่ราบสลับเนินเขาเตี้ย ประกอบด้วยพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นถึงลึก สลับที่ราบและภูเขาลูกรังกระจายอยู่ทั่วไป ลาดเทสู่ที่รายภาคกลางครอบคลุมพื้นที่ทิศตะวันตกและด้านเหนือของจังหวัด

นอกจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบแล้ว ยังมีเนินเขาเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1 - 3 กิโลเมตร กระจายอยู่ทั่วไปที่สำคัญ ได้แก่ เขาธรรมามูล เขาพลอง เขาท่าพระ เขากระดี่ เขาไก่ห้อย เขาสารพัดดี เขาราวเทียน เขาแก้ว และเขาสรรพยา เป็นต้น

โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ประมาณ ร้อยละ 99.06 ของพื้นที่ทั้งหมด ได้แก่ พื้นที่ตอนกลาง ตอนใต้และตะวันออก ภูมิประเทศของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบจนถึงพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาด มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ไหลผ่านพื้นที่อำเภอต่าง ๆ เช่น

แม่น้ำเจ้าพระยา : ไหลผ่านอำเภอมโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ อำเภอเมืองชัยนาท และอำเภอสรรพยา ไปจังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร

แม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำมะขามเฒ่า : ไหลผ่านอำเภอวัดสิงห์ อำเภอเมืองชัยนาทและอำเภอหันคา ไปจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

แม่น้ำน้อย : ไหลผ่านอำเภอเมืองชัยนาท และอำเภอสรรคบุรี ไปจังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร

คลองชลประทาน ซึ่งมีหลายสายไหลผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย คลองอนุศาสนนันท์คลองมหาราช คลองพลเทพ เป็นต้น