ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดชัยนาท

เมืองชัยนาทเป็นเมืองโบราณ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ตรงทางแยกฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเมืองสรรค์ (ปากคลองแพรกศรีราชาใต้ปากลำน้ำเก่า) เมืองนี้ตั้งขึ้นภายหลังเมืองพันธุมวดี (สุพรรณบุรี) เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัยจากศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมีแต่ชื่อเมืองแพรก ส่วนเมืองชัยนาท เพิ่งมาปรากฏในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 1890 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าเลอไทสวรรคต กรุงสุโขทัยเกิดการแย่งชิงราชสมบัติสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงยกกองทัพเข้ายึดเมืองชัยนาท หลังจากพระยาลิไทขึ้นครองราชย์ ทางกรุงศรีอยุธยาซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้สถาปนาให้เป็นราชธานีมีกำลังเข้มแข็งมาก จึงได้โปรดให้ขุนหลวงพะงั่วซึ่งครองเมืองสุพรรณบุรียกทัพมาตีเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของ กรุงสุโขทัย เมืองชัยนาทจึงตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา โดยมีขุนหลวงพะงั่วเป็นผู้รักษาเมือง เมื่อกรุงสุโขทัยสงบแล้วพระยาลิไทได้ส่งทูตมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเจรจาขอเมืองชัยนาทคืนให้แก่กรุงสุโขทัย โดยจะยอมให้เป็นอิสระและมีสัมพันธไมตรีต่อกัน กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างก็มีอิสระต่อกัน ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาได้คืนเมืองชัยนาทให้แก่กรุงสุโขทัย นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าการที่แคว้นกัมพุช (ลพบุรี) เข้าร่วมมือในการรบ ประกอบกับกรุงศรีอยุธยากำลังสถาปนาได้ไม่นาน ถ้ามีศึกขนาบสองด้านจะสร้างปัญหาให้ไม่น้อย ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาคืนเมืองชัยนาทแก่กรุงสุโขทัยโดยดี

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องเมืองชัยนาท ระหว่างกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาก็หาได้ยุติไม่ เพราะในปี พ.ศ. 1912 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จสวรรคตทำให้สถานการณ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยกลับตึงเครียดขึ้นอีก เมื่อขุนหลวงพะงั่วขึ้นครองราชย์แล้วได้เสด็จยกทัพมาโจมตีกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1914 แต่ไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะสงครามยืดเยื้อกันมาเป็นเวลานานจนขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคต นักประวัติศาสตร์ เข้าใจว่าเมืองชัยนาทกลับเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอสรุปได้ว่า เมืองชัยนาทแต่เดิมเป็นเมืองลูกหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช โอรสองค์ที่ 5 ของขุนหลวงพระงั่ว

พระองค์เข้าพระทัยว่าในการข้างหน้ากรุงสุโขทัยจะต้องไม่มีเชื้อพระวงศ์สุโขทัยปกครองอีกต่อไป เพื่อที่จะให้ราชโอรสทั้ง 3 ของพระองค์ได้ครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ และคุ้นเคยกับการปกครองบ้านเมือง จึงโปรดให้โอรสองค์ใหญ่ ซึ่งทรงพระนามว่าเจ้าอ้ายพระยาไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา โอรสองค์ที่ 2 ไปครองเมืองแพรก หรือ ตรัยตรึงษ์ (อำเภอสรรคบุรีในปัจจุบันนี้) เจ้าสามพระยา โอรสองค์ที่ 3 ไปครองเมืองชัยนาท

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคต ความทราบถึงเจ้ายี่พระยาก่อนจึงได้เตรียมการที่จะขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทนต่อจากพระราชบิดา ฝ่ายเจ้าอ้ายพระยาเมื่อสืบทราบว่า พระราชอนุชายกกองทัพไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อต้องการจะครอบครองราชย์สมบัติ จึงรีบยกกองทัพไปบ้าง ประสงค์จะขึ้นครองราชย์สมบัติเช่นกันกองทัพทั้งสองพบกันที่ตำบลปาถ่าน แขวงกรุงศรีอยุธยา จึงเกิดรบพุ่งกัน ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ลงทั้งสองพระองค์พร้อมกันด้วยการกระทำยุทธหัตถี

ฝ่ายเจ้าสามพระยา ซึ่งขณะนั้นครองเมืองชัยนาทอยู่ เมื่อสมเด็จพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์แล้ว จึงได้ขึ้นเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทนพระราชบิดาทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

พ.ศ. 1994 พระเจ้าติโลกราช ครองเมืองเชียงใหม่ยกทัพมาตีเมืองกำแพงเพชรได้แล้ว ส่งกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้คนถึงเมืองชัยนาท เข้าใจว่าเมืองชัยนาทจะถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างในคราวนั้นเอง

เวลาได้ล่วงมาได้ประมาณ 100 ปีเศษ ถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิครองกรุงศรีอยุธยา ทรงสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ เพื่อเตรียมต่อสู้กับพม่า จึงเสด็จขึ้นไปกระทำพระราชพิธีมัธยมกรรมที่ตำบลชัยนาทบุรี แล้วตั้งเมืองชัยนาทขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองเดิม

พ.ศ. 2127 พระเจ้าเชียงใหม่ (มังนรธาช่อ) ได้ยกกองทัพหลวงมาตั้งที่เมืองชัยนาท ครั้นทัพหน้าที่เข้ามาตั้งที่ปากคลองบางพุทราถูกพระราชมนูตีถอยกลับไปแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่ก็ถอยทัพไปตั้งที่กำแพงเพชร

ตามหลักฐานของกรมศิลปากร จังหวัดชัยนาทเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2319 ตรงกับวันเสาร์ เดือน 9 ขึ้น 12 ค่ำ (วันที่ 28 กรกฎาคม 2319) พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่ ซึ่งกำลังรบติดพันกับไทยที่นครสวรรค์ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จมาถึงเมืองชัยนาทแล้ว ทัพพม่าได้ข่าวก็ตกใจเกรงกลัวจึงละทิ้งค่ายที่นครสวรรค์แตกหนีไปทางเมืองอุทัยธานี พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงยกกองทัพติดตามข้าศึก จนถึงบ้านเดิมบางนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี และเข้าโจมตีข้าศึกจนแตกยับเยิน ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดชัยนาทจึงถือว่าวันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวัน “สถาปนาจังหวัด”

โดยที่เมืองชัยนาทตั้งอยู่ทางตอนเหนือของภาคกลางตั้งอยู่ระหว่างกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยา ในยามใดที่กรุงสุโขทัยเรืองอำนาจ ก็ยึดเอาเมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่าน แต่ยามใดที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจและกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง เมืองชัยนาทก็จะเป็นเมืองสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ของกรุงศรีอยุธยาแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีเมืองชัยนาทก็ยังเป็นที่ตั้งทัพหลวงในการทำศึกกับพม่าด้วยเหตุนี้เมืองชัยนาทจึงได้รับความกระทบกระเทือนจากสงครามอย่างมากเป็นเวลานับร้อยปี

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่ตำบลบ้านกล้วย ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงตั้งกองทหารราบที่ 16 ขึ้นที่เมืองชัยนาท ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน และเมื่อกองทหารราบที่ 16 ได้ย้ายไปที่นครสวรรค์จึงย้ายศาลากลางไปตั้งในบริเวณที่เป็นกองทหารราบที่ 16

สำหรับเมืองชัยนาทนี้ จะได้นามมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอน ถ้าจะแปลความหมายของ “ชัยนาท” ก็น่าจะได้ความว่า เมืองที่มีชื่อเสียงในทางความมีชัย เป็นที่น่าสันนิษฐานว่าชื่อเมืองชัยนาทนี้คงจะได้ตั้งขึ้นภายหลังจาก พ.ศ. 1702 แต่คงไม่ถึง พ.ศ. 1946 กล่าวคือ ขุนเสือ ขวัญฟ้า หรือเจ้าคำฟ้า กษัตริย์เมืองเมาเข้าทำสงครามกับอาณาจักรโยนกเจ้าเมืองฟังคำ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรโยนก หลังจากฟังคำแตก เจ้าเมืองฟังคำจึงอพยพผู้คนลงมาที่เมืองแปบ (กำแพงเพชร) แล้วสร้างเมืองตรัยตรึงษ์ ที่ตำบลแพรก (ต.แพรกศรีราชาในปัจจุบัน) หลังจากนั้นคงจะได้สร้างเมืองชัยนาทขึ้น และเหตุที่ตั้งชื่อชัยนาทคงเนื่องจากการรบชนะเจ้าของท้องถิ่นเดิม ส่วนที่กล่าวว่านามชัยนาทคงจะได้มาก่อน พ.ศ. 1946 นั้น เนื่องจากสมเด็จพระนครินทราธิราชได้โปรดให้เจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาท ตามความในประวัติศาสตร์พอจะเป็นสิ่งที่สันนิษฐานกันได้ว่า คำว่าชัยนาท คงจะได้ชื่อมาก่อนปี พ.ศ. 1946 อย่างไรก็ตาม คำว่า “ชัยนาท” ก็เป็นนามที่เป็นสิริมงคลมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน เพราะชัยนาทก็ยังบันลือไปด้วยชัยชนะต่อความอดอยากหิวโหย ยังความผาสุกให้แก่ชาวชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียงตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อย จนถึงปัจจุบัน

โบราณสถานวัดมหาธาตุ สรรคบุรี
วัดปากคลองมะขามเฒ่า - หลวงปู่ศุข

ภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดชัยนาทมีลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีพื้นที่ประมาณ 99.06 ของพื้นที่ทั้งหมด ได้แก่ พื้นที่ตอนกลางตอนใต้และตะวันออกของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบจนถึงพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดมีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ไหลผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกอำเภอ เช่น

  • แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านอำเภอมโนรมย์ วัดสิงห์ เมืองชัยนาท และสรรพยา

  • แม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่านอำเภอวัดสิงห์ และหันคา

  • แม่น้ำน้อย ไหลผ่านอำเภอสรรคบุรี

  • คลองชลประทาน ซึ่งมีหลายสายไหลผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ คลองอนุศาสนนันท์ คลองมหาราช คลองพลเทพ เป็นต้น ล้วนเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเกษตรกรรมตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วไป

นอกจากลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบแล้ว ยังมีเนินเขาเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1 – 3 กิโลเมตร กระจายอยู่ทั่วไปที่สำคัญได้แก่ เขาธรรมามูล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดชัยนาท เขาพลอง เขาขยาย เขากระดี่ เขาใหญ่เขารัก เขาดิน เขาหลัก เขาไก่ห้อย เขาสารพัดดี เขาราวเทียน เขาสรรพยา และเขาแก้ว เป็นต้น

อาณาเขต

จังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคกลางตอนบน ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นตอนเหนือสุดของภาคกลาง บนเส้นรุ้งที่ 15 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 16.854 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 2,469.746 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,543,591 ไร่หรือเท่ากับร้อยละ 15.5 ของพื้นที่ในภาคกลางตอนบนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1,219,669 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 79.02 ของพื้นที่ทั้งหมด ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 195 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์

  • ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสิงห์บุรี

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี


แผนที่จังหวัดชัยนาท