น้ำปู๋

น้ำปู หรือน้ำปู๋ เป็นเครื่องปรุงรสที่สำคัญในอาหารไทยภาคเหนือ ทำจากปูนา โดยนำปูนาที่ล้างสะอาด ใส่ครกตำกับตะไคร้ เพื่อดับกลิ่นคาว อาจใส่ใบขมิ้น ใบมะกอกหรือใบฝรั่งด้วยก็ได้ น้ำที่ได้นำมากรองกากออก นำมาเคี่ยวให้ข้น ใส่เกลือ น้ำมะกรูด น้ำปูที่เคี่ยวจนได้ที่แล้วจะเป็นสีดำ ข้นหยดลงบนใบมะม่วงแล้วไม่ไหล ทางจังหวัดน่าน มีน้ำปูที่เรียกน้ำปูพริก ซึ่งใส่พริกป่นกับกระเทียมลงในน้ำปูที่เคี่ยวจนเกือบแห้ง แล้วเคี่ยวต่อจนได้ที่ น้ำปูเป็นเครื่องปรุงรสที่สำคัญของอาหารไทยภาคเหนือ ใช้แทนกะปิ น้ำปลา ปลาร้า[1] และเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำพริกน้ำปู๋ ส้มตำ และใช้ปรุงรสในส้าหรือยำชนิดต่างๆ

น้ำปู อ่านว่า น้ำปู๋ เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวล้านนา ใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารบางอย่าง เช่นเดียวกับกะปิ โดยมากจะทำน้ำปูในช่วงฤดูฝน หรือฤดูทำนา ชาวล้านนา นิยมนำน้ำปูมาตำน้ำพริก เรียกว่า น้ำพริกน้ำปู ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ตำส้มโอ ตำกระท้อน

ส่วนผสม

1. ปูนา 3 กิโลกรัม

2. ใบตะไคร้ซอย 2 ต้น

3. ใบขมิ้นซอย 1 ถ้วย

4. เกลือเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีการทำ

1. โขลกใบขมิ้นและใบตะไคร้

2. ล้างปูนาให้สะอาด โขลกรวมกันให้ละเอียด

3. นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำ กรองเอาแต่น้ำปู

4. เคี่ยวน้ำปูโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียว เป็นสีดำ

เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม

เคล็ดลับในการปรุง

การเคี่ยวน้ำปู ไม่ควรใช้ไฟแรง เพราะจะทำให้น้ำปูมีกลิ่นคาว

เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม

ต้องใช้ปูเป็น ในการทำน้ำปู